- ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ เป็นทักษะที่คนทุกช่วงวัยต้องให้ความสำคัญ เพราะการเรียนรู้นั้นไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากมนุษย์คนหนึ่งออกจากระบบการศึกษา แต่เกิดขึ้นตลอดทุกช่วงชีวิต
- หัวใจสำคัญคือการวางรากฐานตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าเรียน คือการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน สังคม และช่วงการศึกษาในระบบ ที่ครูควรออกแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ ฝึกทักษะในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
- เป้าหมายการศึกษา ต้องเปลี่ยนจาก ‘ค่านิยมแห่งความสำเร็จ’ ในลักษณะของการสอบได้คะแนนดี ไปสู่ ‘ค่านิยมแห่งการเติบโต’ ที่เน้นการงอกงามความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้าน
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงพลิกผัน โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มอัตราเร่งอยู่ตลอดเวลา ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ถือเป็นทักษะที่ควรติดตั้งให้กับเด็กๆ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งมีทักษะนี้จะส่งผลดีทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม เขาจะใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และกลายเป็นบุคคลคุณภาพของสังคมต่อไป
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการมอบทักษะนี้ให้กับเด็กๆ นอกจากครอบครัวแล้ว ‘คุณครู’ คือผู้วางรากฐานสำคัญให้เขากลายเป็นนักเรียนรู้ที่สามารถต่อยอดการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ในเวทีวิชาการในโครงการราชบัณฑิตสัญจร สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บรรยายพิเศษเรื่อง ‘ครูกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) พร้อมชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาไทยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยทั้งหมด

ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดจากการวางรากฐานที่ดี
การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะการเรียนรู้นั้นไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากมนุษย์คนหนึ่งเรียนจบจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องตลอดทุกช่วงชีวิตของมนุษย์ ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น Continuum
ศ. นพ.วิจารณ์ แบ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตออกเป็น 3 ช่วง เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
“เริ่มต้นจาก ช่วงวางรากฐาน เป็นช่วงก่อนเข้าเรียนในระบบการศึกษา คือการเรียนรู้ในครอบครัว ชุมชน สังคม ตอนช่วงนี้จะเห็นว่าก่อนเข้าระบบการศึกษา เด็กจะได้รับการเรียนรู้จากจากที่บ้านมาก่อน ช่วงที่สองคือช่วงการศึกษาในระบบ และช่วงที่สาม ช่วงต่อยอดหลังทำงาน
จริงๆ มันไม่ได้แยกเป็น 3 ตอนออกจากกัน แต่จะเป็นการดำเนินต่อเนื่องกันไป ช่วงที่ต่อเนื่องจะมีการทับซ้อนกันด้วย เช่น ช่วงวางรากฐานจะทับกับช่วงการศึกษาในระบบ
หัวใจสำคัญคือถ้าหากวางรากฐานไม่ได้ในช่วงแรกๆ คือช่วงวางรากฐานและช่วงการศึกษาในระบบ Lifelong Learning (LLL) ที่เกิดขึ้นหลังจากไปทำงานจะไม่แข็งแรง
เพราะฉะนั้น ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาโฟกัสกันเฉพาะแค่ช่วงที่การศึกษาจบปริญญาไปแล้วหรือทำงานแล้ว แต่ต้องวางรากฐานตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา”
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า เรื่องของการวางรากฐานเรียกว่า งอกงาม (Grow) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้าง 4 ทักษะที่สนับสนุนให้มนุษย์มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย
- Growth Mindset การที่มีจิตใจและความเชื่อว่าตัวเราและทุกอย่างพัฒนาได้
“Lifelong Learning ที่มีพลัง ต้องการ Growth Mindset หรือความเชื่อในความงอกงามของสมองและความสามารถของมนุษย์”
- Grit การชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เราสามารถมีพลังได้มากถ้าเรามี Grit ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ Passion ความหลงใหลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กับ Perseverance ความอดทน มานะพยายามที่จะทำเรื่องใดให้บรรลุเป้าหมายให้ได้
- Hidden Potential พลังซ่อนเร้นของมนุษย์ การมีสมรรถนะในการใช้ประสบการณ์ชีวิตยกระดับศักยภาพในการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด
- Learning Skills ทักษะในการเรียนรู้ หมายความว่า มนุษย์เราต้องฝึกทักษะในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การศึกษาต้องวางรากฐานทักษะในการเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนแบบจำ แต่ต้องเรียนแบบคิด สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญ เพราะ Learning Skills คือ Thinking Skills
กระบวนการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องใส่ใจตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ของเด็กผ่านการจัดการเรียนรู้ โดยครูสามารถวางรากฐานและออกแบบ ‘การเรียนรู้จากประสบการณ์’ (Experiential Learning) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนรู้ที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
‘การเรียนรู้จากประสบการณ์’ หมุนวรจรการเรียนรู้สู่ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นศาสตร์การเรียนรู้ที่ถูกพัฒนาตลอด 30 ปี เริ่มต้นจากการพัฒนาศาสตร์การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Adult Learning) แต่เมื่อดำเนินการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำไปเชื่อมโยงกับเรื่อง Learning Sciences ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ ในที่สุดก็พบว่า Adult Learning แท้จริงแล้วคือ Human Learning
“ธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยมนุษย์ทุกวัยเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นหลักใหญ่ หัวใจสำคัญคือเมื่อปฏิบัติแล้ว ตัวเองจะได้สาระอะไรบางอย่างจากการปฏิบัติ ผ่านประสาทสัมผัส (Sensory) ที่หลากหลาย แล้วพยายามหาความหมายจากสิ่งที่ได้รับนั้นโดยการสะท้อนคิดแล้วทำอย่างเป็นวงจร”
โดยวงจรการเรียนรู้ที่ถูกกล่าวถึงนี้เรียกว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle คิดค้นโดย David A. Kolb หลักการสำคัญคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เมื่อเรามีประสบการณ์ตรง (Concrete Experience) มนุษย์ทุกคนจะสังเกตและสะท้อนคิด (Reflective Observation) โดยอาศัยวิธีการตั้งคำถาม จากนั้นต้องได้รับการสะท้อนคิดจนตกผลึกเป็นหลักการเชิงนามธรรม (Abstract Conceptualisation)
ศ.นพ.วิจารณ์เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญคือต้องเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพื่อนำไปทดลองใช้ (Active Experimentation) เรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรได้รับการพัฒนา เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลอย่างเป็นวงจรไปเรื่อยๆ

“เมื่อทำอย่างนี้ไปจะทำให้เกิดปัญญา ผมคิดว่าเป็นวงจรที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมนุษย์”
นอกจากนี้ ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะ Knowledge หรือความรู้เท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้ครบทั้ง VASK คือ ค่านิยม (Values) เจตคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) และ ความรู้ (Knowledge)
“การเรียนรู้แบบองค์รวมทำให้เกิดทักษะที่สำคัญยิ่งต่อมนุษย์ในยุคปัจจุบันและอนาคต ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ก็คือ Future Skills ทักษะแห่งอนาคต”
การเรียนรู้แบบองค์รวมตอบโจทย์ต่อโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความต้องการทักษะใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ผู้เรียนที่สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ครบทั้ง VASK คือผู้ที่พร้อมสำหรับอนาคตมากที่สุด
ปลดล็อกระบบที่กดทับ สนับสนุนความเป็นผู้ริเริ่ม เติมความกล้าเรียนรู้ตลอดชีวิต
“สิ่งที่ทำให้การเรียนรู้ของคนไทยและคนอีกกว่าครึ่งโลกไม่แข็งแรงเท่าที่ควร คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การกดทับการเรียนรู้’
หนังสือเรื่อง Pedagogy of the Oppressed เขียนโดย เปาโล แฟร์ ชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษา ระบบสังคม ระบบการเลี้ยงดู กดทับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการเรียนรู้จากทุกสิ่งรอบตัว ระบบเหล่านี้ลดทอน ‘ความเป็นผู้ริเริ่ม’ (Agency) ทำให้ความ ‘กล้า’ ที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตลดน้อยลงไปด้วย”
การสร้างพลเมืองที่มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจแก่สังคม เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับเปลี่ยนภาพจำว่า ‘การเรียนรู้’ จบแค่ในห้องเรียนหรือหลังจบการศึกษาเท่านั้น เป็นการเรียนรู้อยู่ทุกที่รอบตัวตลอดชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้การเรียนรู้จะไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่ระบบการศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แข็งแรง
คำถามคือ ‘ระบบการศึกษาไทยควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต’
ศ. นพ.วิจารณ์ เสนอว่า ประเทศเราต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของการเรียนรู้ หลักการคือ
1. ต้องหนุนศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์จากประสบการณ์ตรงไม่ใช่ ‘ควบคุม’
2. เป็นระบบที่หล่อเลี้ยงความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) การกล้าทดลอง (Exploration) การมีแรงบันดาลใจภายใน (Inner Motivation)
3. เปลี่ยนจากระบบควบคุมจากภายนอก (External Control) ไปสู่ ระบบส่งเสริมจากภายใน (Internal Empowerment) เพื่อส่งเสริมให้ครูและโรงเรียนเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
ปรับ ‘เป้าหมายการศึกษา’ จากการสอบ สู่การงอกงามความเป็นมนุษย์
ศ. นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า สังคมส่วนใหญ่มองว่าเป้าหมายในการศึกษา คือการเรียนเพื่อสอบเข้าคณะหรือมหาวิทยาลัยดีๆ เพียงเท่านั้น ฉะนั้นต้องเปลี่ยน ‘ค่านิยมแห่งความสำเร็จ’ ไปสู่ ‘ค่านิยมแห่งการเติบโต’ ในลักษณะของการสอบได้คะแนนดีไปสู่ค่านิยมของการที่ได้งอกงามความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้าน
สังคมต้องยุติการยกย่องแต่คนที่สอบได้อันดับดี คะแนนดี เปลี่ยนไปเน้นที่สมรรถนะครบด้าน โดยสร้างวัฒนธรรมที่เคารพความหลากหลายทางความสามารถและวิธีเรียนรู้
“ต้องวัดผลจากพฤติกรรมไม่ใช่ข้อสอบ สอนเพื่อสอบเป็นพิษร้าย ต้องส่งเสริมสมองส่วนหน้า (Executive Function) ผ่านการอภิปราย เล่นแบบ Freeplay การตั้งคำถาม หรือทำโครงงาน”

ปรับ ‘บทบาทครู’ จากผู้ควบคุมชั้นเรียน เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้
ครูต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator of Human Growth) ไม่ใช่ผู้ควบคุมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเติบโตและสามารถพัฒนาศักยภาพของตนอย่างไร้ขีดจำกัด
“ครูต้องไม่เป็นผู้สอน แต่เป็น ‘นักฟัง’ ฟังแล้วตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่ได้รับ
เมื่อทำอะไรมี Action ต้องตามด้วย Reflection การสะท้อนคิดเกิดจากการตั้งคำถามเสมอ นั่นคือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นครูต้องมีความเชื่อว่า สมรรถนะความสามารถของตัวเองพัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุด หัวใจสำคัญคือครูสามารถพัฒนาตัวเองได้จากการเรียนรู้ร่วมกับลูกศิษย์ เพื่อนครู หรือ Stakeholders อื่นๆ เช่น พ่อแม่เด็ก ผู้นำชุมชน
ครูต้องเป็นนักออกแบบประสบการณ์ที่จะทำให้เด็กมีประสบการณ์และได้สะท้อนคิดจากประสบการณ์นั้น ดังนั้นมันจะไปโยงถึง ‘ระบบผลิตครู’ ที่ต้องปรับใหม่ ต้องยึดโยงกับความเข้าใจมนุษย์ในมิติที่ลึก ไม่ใช่แค่เรียนเน้นตัววิชา”
ปรับ ‘โครงสร้างโรงเรียน’ จากสถานที่เรียนรู้เชิงวินัย สู่พื้นที่ทดลองงอกงาม
“สนับสนุนให้โรงเรียนมี Learning Ecosystem ที่เด็กรู้สึกปลอดภัย ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง”
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า โรงเรียนต้องเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เอื้อต่อการเรียนรู้ หนุนให้เด็กงอกงามความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้าง ‘ความเป็นผู้ริเริ่ม’ ให้เขากล้าทดลองหรือคิดอะไรที่แตกต่างจากที่สังคมโดยทั่วไปพูดถึงกัน
“ให้เด็กได้มีโอกาสลองที่จะผิดพลาด ล้มเหลวแล้วนำเอาประสบการณ์ที่สำเร็จหรือผิดพลาด ล้มเหลว เอามาใคร่ครวญ ทบทวน ไตร่ตรอง (Eco Reflection) จะทำให้ห้องเรียนกลายเป็น Learning Studio ไม่ใช่ Classroom อย่างในอดีต”
การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้โรงเรียนเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ และครูคือนักออกแบบประสบการณ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเด็กอย่างแท้จริง