- โสกราตีสสลับขั้ว เป็นเรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นของ โคทาโร อิซากะ เล่าเรื่องราวที่สะท้อนอคติของครูที่ปิดกั้นศักยภาพของเด็กนักเรียน และการเรียนรู้แบบโสกราตีสที่เริ่มต้นจากการ ‘รู้ว่าตัวเองไม่รู้’
- การยึดติดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างนำไปสู่อคติ การถ่อมตนว่ายังไม่รู้ คือจุดเริ่มต้นของการเปิดใจ และเป็นวิธีเดียวที่จะทำลายอคติที่บั่นทอนศักยภาพของคนอื่น
- สิ่งที่เราได้จากการรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรของโสกราตีส ก็คือ ‘สัจธรรม’ หรือ ความรู้ที่สมบูรณ์แบบตายตัวอาจไม่มีอยู่จริง
มนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพอยู่ในตัว ศักยภาพที่จะเติบโตเป็นคนดี คนเก่ง คนที่มีความสุข คนที่มีความมั่นใจ หรืออะไรก็ได้ที่ใจตัวเองอยากให้เป็น
แต่รู้มั้ยครับว่า มีสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ และมักจะบ่อนทำลายศักยภาพในตัวคนได้อย่างง่ายดาย สิ่งนั้นก็คือ ‘อคติ’ หรือความเชื่อแบบผิดๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการตัดสินคนอื่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อคติที่มาจากคนที่เป็นครู ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเด็กๆ ที่ยังไม่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง
“พวกเราได้รับอิทธิพลจากใครสักคนอยู่เสมอ เราเผลอสนใจว่าคนอื่นคิดยังไงมากกว่าตัวเองคิดยังไง”
ประโยคในเครื่องหมายคำพูดข้างบน มาจากปากของ ‘อันไซ’ ซึ่งเป็นตัวละครหนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘โสกราตีสสลับขั้ว’ ผลงานเขียนของ โคทาโร อิซากะ แปลเป็นไทยโดย ชุติภัค ฉายวิโรจน์
ครั้งแรกที่เห็นชื่อหนังสือ ผมอดงุนงงไม่ได้ โสกราตีส ปรัชญาเมธีชาวกรีก ผู้ได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งวงการปรัชญาตะวันตก มาเกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนี้ด้วย แล้วทำไมต้องสลับขั้วด้วย สลับขั้วแล้วความหมายมันเปลี่ยนไปอย่างไร
และที่สำคัญ โสกราตีส กับ อคติ ที่ผมเกริ่นนำในตอนต้นของบทความ มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร นั่นคือสิ่งที่บทความชิ้นนี้จะเล่าให้ฟังครับ
-1-
คุรุเมะ เป็นครูประจำชั้นเรียนประถมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาเป็นครูหนุ่มไฟแรง อายุแค่สามสิบกว่า เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งก็กลายเป็นความมั่นใจที่มากเกินไป และนำไปสู่อคติที่เชื่อว่า ตัวเองคือผู้ตัดสินความถูกต้องทุกอย่างในชั้นเรียน
คุซาคาเบะ อาจไม่ใช่เด็กฉลาดที่สุดในห้อง แต่เขาไม่ใช่เด็กเกียจคร้าน ตรงกันข้าม คุซาคาเบะตั้งอกตั้งใจเรียน จนหลายๆ ครั้งที่เขาสามารถตอบคำถามยากๆ ในชั้นเรียนได้
น่าเศร้า ที่ความตั้งใจเรียนของคุซาคาเบะ ไม่เคยได้รับคำชมเชยเลยสักครั้ง เพราะครูคุรุเมะเชื่อว่า นั่นคือเรื่องฟลุ๊ค หรือเหตุบังเอิญที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง ในหัวของเขา คุซาคาเบะ คือเด็กเรียนไม่เก่ง เล่นกีฬาอะไรก็ไม่ได้เรื่อง มิหนำซ้ำบางครั้งยังแต่งตัวเฉิ่มๆ เชยๆ (ในความคิดของครูคุรุเมะ) มาโรงเรียนอีก
อันไซ เป็นเด็กนักเรียนชั้นเดียวกับคุซาคาเบะ เขาคือคนแรกที่มองเห็นอคติของครู ที่กำลังปิดกั้นศักยภาพในตัวของคุซาคาเบะ และเขาคือ คนแรกที่เรียกครูคุรุเมะว่า ‘โสกราตีส สลับขั้ว’
โสกราตีส คือ หนึ่งในนักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด แล้วทุกคนรู้มั้ยครับว่า หลักปรัชญา หรือความรู้ของโสกราตีส คืออะไร
สิ่งเดียวที่โสกราตีสรู้ คือ การรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คุณธรรมคืออะไร ความสวยงามคืออะไร ความรักคืออะไร หรือคำถามเชิงนามธรรมในเรื่องอื่นๆ ซึ่งการที่โสกราตีส ถ่อมตนว่าตัวเองไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้ จึงเปิดโอกาสให้ตัวเขาได้ช่องซักถามจากคนที่เชื่อว่าตัวเองคือผู้รู้จริงในเรื่องราวเหล่านี้
และโสกราตีสก็พบว่า ทุกคนที่กล่าวอ้างหรือเชื่อว่า ตัวเองรู้จริงในเรื่องต่างๆ สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้จริงอย่างสมบูรณ์เลยสักคนเดียว
สิ่งที่เราได้จากการรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรของโสกราตีส ก็คือ ‘สัจธรรม’ หรือ ความรู้ที่สมบูรณ์แบบตายตัวอาจไม่มีอยู่จริง
เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ใครสักคนจะทึกทักเอาว่า ตัวเองคือผู้รู้จริงถ่องแท้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และตัวเองเท่านั้นคือผู้ที่สามารถตัดสินความถูกผิด หรือความดีชั่วของผู้อื่น
หากมีใครที่คิดเช่นนั้น นั่นแปลว่า เขาผู้นั้นกำลังมีอคติอยู่ในใจ และวิธีเดียวที่จะรับมือกับอคตินั้น ก็คือ ทำลายมันเสีย
อันไซ วางแผนที่จะทำลายอคติของครูคุรุเมะ โดยเฉพาะอคติที่เขามีต่อคุซาคาเบะ ซึ่งอคติเหล่านั้น เกิดจากความเชื่อผิดๆ ของครูคุรุเมะ ที่คิดว่า ตัวเองรู้จริงถ่องแท้ในเรื่องต่างๆ จนสามารถบอกได้เลยว่า เด็กที่มีลักษณะเช่นนั้น คือ เด็กที่เรียนไม่เก่ง ต่อให้พยายามแค่ไหน ก็ไม่มีวันเก่ง ขณะที่มองว่า เด็กที่มีลักษณะอีกอย่าง คือ เด็กที่จะเติบโตไปกลายเป็นคนเก่งของสังคม
พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ครูคุรุเมะ คือ ขั้วตรงข้ามของโสกราตีส หรือเรียกอีกอย่างว่า โสกราตีสสลับขั้ว นั่นเอง
อันไซ เล่าให้ คางะ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้น ถึงสิ่งที่ตัวเองเคยดูมาจากในโทรทัศน์ว่า คำพูดของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะครู มีผลต่อพัฒนาการ หรือศักยภาพของเด็กนักเรียนได้จริง
“ถ้าครูปฏิบัติกับเด็กโดยเชื่อว่า นักเรียนคนนี้โตไปน่าจะเก่ง เด็กคนนั้นจะเก่งขึ้นมาจริงๆ… ในทางตรงกันข้าม ถ้าปฏิบัติกับเด็กโดยเชื่อว่า นักเรียนคนนี้เป็นเด็กไม่เอาไหน ต่อให้เด็กคนนั้นทำเรื่องดีๆ ครูก็จะคิดว่า บังเอิญน่ะสิ… วิธีปฏิบัติต่อเด็กของครู อาจมีอิทธิพลขนาดนั้นเลยก็ได้”
อันไซ โน้มน้าวและชักชวนเพื่อนๆ หลายคน โดยเฉพาะคุซาคาเบะ ให้เข้าร่วมในแผนพลิกทำลายอคติของครูคุรุเมะ โดยให้เหตุผลว่า การกระทำครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อคุซาคาเบะเพียงคนเดียว แต่เป็นแผนการเพื่อเด็กอีกหลายคน เพราะถ้าปล่อยให้อคติฝังหัวครูคุรุเมะต่อไป ในอนาคตข้างหน้า จะต้องมีเด็กอีกหลายคน ที่ถูกปิดกั้น หรือถูกทำลายศักยภาพที่จะเติบโตเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง นักกีฬาระดับประเทศ ผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม
และที่สำคัญที่สุด ศักยภาพที่จะเติบโตเป็นคนที่มีความสุขกับชีวิตที่ตัวเองเชื่อมั่น
แผนการของเหล่าเด็กๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายอคติของผู้ใหญ่ ไม่ใช่แผนที่คาดหวังจะบรรลุผลสำเร็จได้ในคราวเดียว ตรงกันข้าม เป็นแผนที่ค่อยๆ บั่นทอนความเชื่อมั่นของครูคุรุเมะ ซึ่งอันไซ ผู้เป็นต้นคิด กล่าวว่า เพียงแค่ทำให้ครูฉุกใจคิดว่า การด่วนตัดสินคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แค่นั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ครูคุรุเมะ ระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ก่อนที่จะใช้อคติตัดสินคนอื่นเหมือนที่ผ่านๆ มา
แน่นอนว่า อคติ ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นผิดที่ฝังลึกในใจคน ไม่ใช่สิ่งที่จะถูกทำลายได้ง่ายๆ ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ อันไซ และเพื่อนๆ ต้องใช้ความพยายามและแผนการหลายอย่างกว่าที่จะเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ในแผนการขั้นสุดท้าย
-2-
คุซาคาเบะ เป็นเด็กที่ชอบกีฬาเบสบอล แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า เขาเล่นเก่งหรือไม่เก่ง แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ครูคุรุเมะ ไม่เคยเอ่ยปากชมคุซาคาเบะแน่ จนกระทั่งวันหนึ่ง นักเบสบอลระดับประเทศคนหนึ่ง (ซึ่งในหนังสือไม่ได้เอ่ยชื่อ) เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนประถมทั่วประเทศ รวมทั้งทำกิจกรรมสอนเด็กนักเรียนหวดไม้เบสบอล
อันไซ กับ คางะ ไปดักเจอนักเบสบอลระดับประเทศคนนั้น เพื่อขอให้เขาเอ่ยปากชมคุซาคาเบะว่า เป็นเด็กที่มีศักยภาพในการเล่นเบสบอล เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ในความคิดของครูคุรุเมะ คุซาคาเบะ คือ เด็กที่นอกจากจะเรียนไม่เก่งแล้ว กีฬาก็ยังไม่ได้เรื่องอีก แต่ถ้านักกีฬาระดับประเทศเอ่ยปากชมคุซาคาเบะแบบนี้ อคติที่เขาใช้ในการตัดสินนักเรียน จะต้องถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงแน่
นักเบสบอลระดับประเทศ ฟังเรื่องราวที่อันไซเล่าให้ฟังแล้วก็พูดเพียงแค่ว่า เขายินดีที่จะกล่าวชมเด็กนักเรียน แต่เขาจะไม่พูดโกหกหากเด็กคนนั้นไม่มีศักยภาพอย่างที่คิด
เล่ามาถึงตรงนี้ ทุกคนคงพอเดาออกใช่มั้ยครับว่า เรื่องราวจะจบลงอย่างไร ใช่ครับ ในวันที่นักเบสบอลระดับประเทศเดินทางมาเยี่ยมโรงเรียน พร้อมสอนเด็กๆให้หัดหวดไม้เบสบอล ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำลายอคติของครูคุรุเมะได้จริง
พอถึงคราวของคุซาคาเบะ เขาหวดไม้ด้วยท่าทางเงอะงะ ครูคุรุเมะเห็นดังนั้น ก็พูดออกมาว่า คุซาคาเบะ หวดไม้เบสบอลเหมือนกับเด็กผู้หญิง ขณะที่เด็กคนอื่นๆ พากันหัวเราะ อันไซ รีบทักท้วงในทันที
“อย่าพูดเหมือนคุซาคาเบะทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องสิครับ… ผมไม่ขอให้ครูตั้งความหวังกับเด็กทุกคนหรอก แต่โดนตัดสินว่าไม่ได้เรื่อง มันอึดอัดนะครับ”
คุซาคาเบะ ได้มีโอกาสหวดไม้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น นักเบสบอลคนดัง จึงชวนคุยให้เขาหายประหม่า แล้วชี้แนะให้ลองขยับเปลี่ยนตำแหน่งข้อศอกและหัวไหล่ ซึ่งก็ทำให้คุซาคาเบะ หวดไม้เบสบอลได้ดีขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้
“เยี่ยม!” นักเบสบอลระดับประเทศ ถึงกับเอ่ยปากชม “ไว้ขึ้นชั้นม.ต้นแล้ว เธอจะเข้าชมรมเบสบอลก็ได้นะ เธอมีศักยภาพ”
-3-
รู้อะไรมั้ยครับ อคติ ไม่ได้มีอยู่แค่ในตัวคนอื่นหรอกครับ แต่มันยังฝังอยู่ในจิตใจของเราด้วย และมันก็เป็นอคติที่สมควรจะถูกทำลายเช่นกัน
ย้อนกลับไปตอนก่อนที่พวกเด็กๆ จะเริ่มวางแผนทำลายอคติของครูคุรุเมะ อันไซ ได้คุยกับคางะ เรื่องอคติที่เขาเคยพบเจอหลายครั้ง จากความที่ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ อันไซบอกว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนไหน ก็มีคนที่คิดว่าตัวเองสามารถตัดสินคนอื่นได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือนักเรียน ที่เที่ยวบอกกับคนอื่นว่า ทำอย่างนี้ไม่เท่เลย แต่งตัวแบบนี้เชยเป็นบ้า หรือท่าทางเนือยๆ แบบนี้ต้องเป็นเด็กเรียนไม่เก่งแน่ๆ
ถึงตอนนั้น อันไซ บอกกับคางะว่า เขามีเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้ไม่ถูกอคติของคนอื่นครอบงำจิตใจ และเคล็ดลับที่ว่า เป็นประโยคสั้นๆแค่ 5 พยางค์ ว่า…
“ฉันไม่คิดอย่างนั้น”
สมมติมีใครมาบอกว่า พ่อของนายเป็นคนน่าสมเพช เพราะต้องลาออกจากบริษัท หรือ เด็กผู้ชายใส่แจ็คเก็ตสีชมพู เหมือนกับเด็กผู้หญิงหน่อมแน้มเลย ก็ให้มองหน้าคนนั้น แล้วพูดออกไปช้าๆ อย่างหนักแน่นว่า…
“ฉันไม่คิดอย่างนั้น”
คำพูดสั้นๆ แค่ห้าพยางค์ ไม่เพียงแต่จะทำให้คนที่ชอบใช้อคติตัดสินคนอื่น ต้องหยุดคิดว่า มีคนที่คิดต่างจากตัวเองด้วย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คำพูดประโยคนั้น ยังช่วยให้ตัวเราไม่ถูกครอบงำโดยอคติของคนอื่น จนกลายเป็นอคติที่เราคิดกับตัวเองอีกด้วย
หลังจากที่นักเบสบอลระดับประเทศเอ่ยปากชมคุซาคาเบะ ครูคุรุเมะ ผู้ถูกสั่นคลอนความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง ยังไม่ยอมละทิ้งอคติง่ายๆ เขาพูดขึ้นมาว่า
“คุซาคาเบะ เธออย่าเชื่อจริงจังล่ะ เขาแค่ชมตามมรรยาทเท่านั้นแหละ”
ใช่ครับ ทุกคนทายถูกครับว่า คุซาคาเบะจะตอบอย่างไร เขามองหน้าครู แล้วพูดช้าๆอย่างหนักแน่น
“ครูครับ ผมไม่คิดอย่างนั้น”