- Sense of Self หรือ พัฒนาการด้านตัวตน หมายถึง การที่มนุษย์รู้สึกมีตัวตน ส่งผลต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ บุคคลแรกๆ ที่จะสามารถสร้างตัวตนให้ลูกได้ คือ พ่อแม่
- ครูหม่อม หรือ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร จะพาเราไปรู้จักกับวิธีสร้างตัวตนให้ลูก ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้กับลูก ซึ่งก็ได้มาจากวิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่
- การที่ลูกเข้ามาอ้อนพ่อแม่เป็นสัญญาณว่าลูกกำลังเสียเซลฟ์และต้องการให้พ่อแม่ช่วย เพราะการที่มีคนทำอะไรให้ตามที่ลูกร้องขอ ตัวตนของลูกจะกลับมา เช่น บอกให้พ่ออุ้มแล้วพ่อก็อุ้ม
ภาพ: พิศิษฐ์ บัวศิริ
เคยไหมที่รู้สึกว่าไม่กล้าเข้าหาใครเพราะกลัว หรือเคยไหมเวลาที่เจอปัญหาอุปสรรคแล้วไม่กล้าสู้กับมันเพราะคิดว่าทำไม่ได้
ทุกสิ่งที่เรารู้สึกหรือตัดสินใจมาจากตัวตนของเรา การที่เรารู้สึกมีหรือไม่มีตัวตนนั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตในสังคม ถ้าเราไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวตนเรา จะทำให้เราไม่มั่นใจในตัวเอง ส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่กล้าเข้าหาคนอื่น ไม่กล้าตัดสินใจอะไรเอง เป็นต้น ซึ่งบุคคลแรกๆ ที่สามารถสร้างการรู้สึกมีตัวตนให้เราได้ คือ พ่อแม่ ผ่านการเลี้ยงดู
งานเสวนา ‘ตัวตนของลูกผ่าน EF ของพ่อแม่’ โดย ครูหม่อม หรือ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ณ SCB academy จัดโดย ชมรมห้องเรียนพ่อแม่ไทยพาณิชย์ จะพาเราไปรู้จักกับ sense of self หรือการพัฒนาด้านตัวตน ขั้นตอนในการสร้าง ทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้กับลูกได้ และเทคนิค “เมื่อไหร่ปลอบ เมื่อไหร่สอน”
Sense of Self พัฒนาการด้านตัวตน มีผลต่อการตัดสินใจ
“พวกเราเคยเสียเซลฟ์ (self) กันไหม”
คำถามแรกที่ครูหม่อมถามกับพ่อแม่ในชั้นเรียน ก่อนจะอธิบายว่า sense of self หรือการพัฒนาด้านตัวตน หมายถึง การที่มนุษย์รู้สึกมีตัวตน รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ซึ่งความรู้สึกพวกนี้มันมีผลต่อการตัดสินใจ การใช้ชีวิต บุคคลแรกๆ ที่จะสร้างเรื่องนี้ได้คือ พ่อแม่ ผ่านการเลี้ยงดู
นอกจากการเลี้ยงดูแล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลในการสร้างตัวตนก็คือสภาพแวดล้อม ครูหม่อมยกตัวอย่างการเลือกที่นั่งในห้องเรียน ทำไมคนเลือกที่จะนั่งหลังห้องมากกว่าหน้าห้อง? ทั้งที่จริงๆ แล้วการนั่งหน้าห้องจะช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีกว่า ครูหม่อมอธิบายว่าเพราะเคยเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี ถูกทำให้เสียเซลฟ์ เช่น การถูกประจาน หรือเวลาที่ครูพูดว่าใครมีอะไรสงสัยถามได้ พอถามไปแล้วโดนครูตอบกลับว่าทำไมไม่ฟัง สุดท้ายไม่มีนักเรียนคนไหนกล้าถาม ลงเอยที่ครูต้องเดินไปถามนักเรียน หรือเจออาการหลบสายตาและหนีไปนั่งหลังห้องเรียนแทน
ครูหม่อมอธิบายต่อว่า ถ้าเด็กคนไหนรู้สึกว่าเขาเสียเซลฟ์ในเรื่องอะไรก็ตาม จะส่งผลทำให้เขาไม่มีพัฒนาการหรือการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ พ่อแม่เป็นคนที่สามารถช่วยสร้างตัวตนหรือ self ของลูกขึ้นมาได้ ทำให้ลูกสามารถเดินไปในสังคมอย่างมีตัวตนได้ ซึ่งการจะพัฒนาตัวตนลูกก็ขึ้นอยู่ที่ EF (Executive Functions การทำงานของสมองส่วนเหตุผลและการกำกับตัวเอง) ของพ่อแม่ ใช่แล้ว… EF ของพ่อแม่ ไม่ใช่ของลูก
พ่อแม่บางคนอาจเคยถูกเลี้ยงดูด้วยวิธีที่ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น การใช้อำนาจ การไม่ฟังเสียงลูก เป็นต้น หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะนำไปเลี้ยงลูกตัวเองต่อ ส่งต่อประสบการณ์ที่ไม่ดีไปให้กับลูก ทำให้เซลฟ์ หรือตัวตนของลูกไม่มั่นคง ครูหม่อมแนะนำว่า ต้องเริ่มจากการแก้ประสบการณ์การเลี้ยงดูแบบเดิมของพ่อแม่ เรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูใหม่ ในแบบที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้กับลูก
ขั้นตอนการพัฒนาตัวตนของลูก ผ่าน EF ของพ่อแม่
ก่อนที่พ่อแม่จะสร้างประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพให้กับลูก อยากให้พ่อแม่ลองกลับมาสำรวจประสบการณ์เดิมของตัวเองเป็นอย่างไร ย้อนกลับไปตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน? มีอะไรที่เราชอบไม่ชอบบ้าง ถ้ามีประสบการณ์ที่เราไม่ชอบ รู้สึกไม่ดี สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ ลบมันออกไป เรียนรู้วิธีการเลี้ยงใหม่ เป็นการสร้าง EF ของพ่อแม่ ถามตัวเองทุกครั้งที่สอนลูกว่าเรากำลังเสริมทักษะหรือซ้ำเติมลูก? คำพูดหรือการกระทำสามารถทำให้ลูกรู้สึกมีตัวตนหรือลดทอนความมั่นใจตัวเขาได้
ขั้นตอนการพัฒนาตัวตน ครูหม่อมอธิบายว่า มีอยู่ 4 ขั้นด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในช่วงทารก สมองของเขาจะทำงานแบบอัตโนมัติ การแสดงอารมณ์จะไม่สลับซับซ้อนมาก หิว เสียใจ หรือดีใจ ลูกจะแสดงออกผ่านการร้องไห้ ช่วงเวลานี้พ่อแม่สร้างตัวตนให้เขาได้โดยให้ลูก ‘รับรู้ว่ามีอยู่จริง’ หมายความว่า ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเขามีตัวตนอยู่จริง แม้จะไม่ได้อยู่ในสายตา
ยกตัวอย่างเวลาที่ลูกร้องไห้เพราะหิวนม ถ้าแม่เดินมาหาลูก อุ้มเขาขึ้นมา ป้อนนมให้เขากิน เขาเกิดความสุข ลูกจะรับรู้ว่ามีเขามีแม่เพราะแม่อยู่ในสายตาเขา ซึ่งขั้นตอนแบบนี้พ่อแม่ทำซ้ำทำวนไปจนลูกอายุ 8 เดือน พอถึงจุดนั้นเวลาที่ลูกร้องไห้พ่อแม่แค่ส่งเสียงมาเขาจะหยุดร้องทันที เพราะเขารู้แล้วว่าพ่อแม่กำลังมาทำให้เขามีความสุข ลูกสามารถดึงข้อมูลจากสมองส่วน EF มาใช้ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ อาการแบบนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า ความมั่นคงทางจิตใจ หรือ trust
จาก 8 เดือนไปจนถึง 2 ขวบ ลูกจะเข้าสู่ขั้นตอน การพัฒนาความสัมพันธ์ หรือ object relations พอมีพ่อแม่แล้วลูกจะเกิดความรู้สึกคิดถึงกัน สมองจะเกิดการทำงานที่ดีถ้าพ่อแม่ใส่ประสบการณ์ที่ดีกับลูก เช่น พอเด็กร้องไห้พ่อแม่ก็เดินมาหา ถ้าเจ็บปวดพ่อแม่ก็มาหา เป็นต้น ระหว่างนี้พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน (ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม) จะเริ่มขึ้นแล้ว
“ยกตัวอย่างสามครอบครัว ครอบครัวที่หนึ่ง เวลาที่ลูกเดินแล้วล้ม พ่อแม่จะเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่าไม่เป็นไรนะเอาใหม่ๆ การแสดงออกของพ่อแม่ทำให้การตัดสินใจของลูกที่จะก้าวข้ามอุปสรรค์มีสูงเพราะมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ครอบครัวที่สอง ลูกล้มแล้วไม่มีใครมาช่วย การตัดสินใจก้าวเดินอีกทีลูกจะคิดเยอะ ครอบครัวที่สาม ทุกครั้งที่ลูกล้มจะถูกดุตลอด การที่ลูกจะตัดสินใจเดินหรือให้ความร่วมมือจะไม่มี” ครูหม่อมยกตัวอย่าง พร้อมกับให้พ่อแม่ลองถามตัวเองว่าเป็นแบบบ้านไหน
เมื่อลูกอายุ 3 ปีจะเข้าสู่ขั้นตัวตนถูกแยกออกมา เด็กจะเริ่มแยกตัวเองออกจากพ่อแม่และรับรู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับพ่อแม่ (เซลฟ์ใครเซลฟ์มัน) พอถึงอายุ 5 ปี จะเข้าสู่ self-concept เริ่มมองว่าตัวเองเป็นใครแบบไหน เช่น เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นลูกใคร พร้อมกับพัฒนา self-esteem ฉันทำอะไรได้บ้าง ตัวเองมีคุณค่ากับใคร ช่วงนี้พ่อแม่สามารถทำให้ลูกรู้ว่าตัวเขาเป็นที่รักของพ่อแม่ การโดนดุหรือไม่ฟังสิ่งที่ลูกพูดจะทำให้ลูกไม่มั่นใจในตัวเอง เด็กจะเกิดอาการเสียเซลฟ์
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ปฏิกิริยาตอบกลับของพ่อแม่ที่แสดงให้เห็นว่าฟังสิ่งที่ลูกพูด เช่น ลูกบอกกินข้าวอิ่มแล้ว ถ้าพ่อแม่ตอบกลับด้วยการให้ลูกกินข้าวต่อ ‘อีกสองคำ’ ตัวตนของลูกไม่ได้ถูกให้เกียรติ เขาไม่ได้มีตัวตน
“ถ้าลูกบอกว่าอิ่ม แต่จริงๆ เขารีบไปเล่น ต้องถามพ่อแม่ก่อนว่าเราอยากสอนลูกเรื่องอะไร สิ่งที่เราจะพูดออกไปกำลังจะเสริมทักษะอะไรให้ลูก เช่น เรากำลังสื่อสารกับลูกว่าการกินนั้นจะกินเป็นมื้อ ให้ลูกตัดสินใจให้ดีๆ ถ้าลูกเลือกเล่น พ่อแม่อาจจะตอบว่า “มื้อนี้จบแล้วนะ มื้อต่อไปอีกสี่ชั่วโมง” ถ้าเขายืนยันจะเล่นก็ต้องปล่อยไป ถ้าลูกเล่นเสร็จแล้วบอกหิว พ่อแม่ก็ตอบว่าให้อดทน ซึ่งอยู่ที่น้ำเสียง ท่าทาง และสายตา ให้รู้ว่าพ่อแม่กำลังเสริมทักษะไม่ใช่ซ้ำเติมลูก ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน มีจุดยืดหยุ่นได้ บอกลูกว่า “รู้ว่าหิว กินน้ำไปก่อน มื้อหน้าค่อยกิน”
“หรือถ้าจะสอนให้ลูกกินข้าวให้หมด พ่อแม่ลองเปิดโอกาสให้ลูกเป็นคนตักข้าวเอง ให้เขาประเมินตัวเอง บอกลูกก่อนตักว่าให้ถามตัวเองว่าหิวไม่หิว ตักกี่ทัพพีดี ถ้าลูกตักเยอะไปกินไม่หมด พ่อแม่ก็บอกลูกว่าวันนี้เยอะไปพรุ่งนี้ลองตักใหม่ คุณค่าอยู่ที่ให้ลูกได้รู้จักตัวเอง ลองผิดลองถูก” ครูหม่อมกล่าว
ลูกอ้อนเมื่อไหร่แปลว่าเขากำลังเสียเซลฟ์: ขอให้พ่อแม่เติมเซลฟ์ให้กับเขา
“แม่ตักข้าวให้หน่อย พ่ออุ้มหนูหน่อย”
การที่ลูกอ้อนหรือมาขอให้พ่อแม่ทำอะไรให้ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองทำได้ ครูหม่อมบอกว่าเป็นสัญญาณแสดงว่าลูกกำลังเสียเซลฟ์ เขาต้องการให้พ่อแม่ช่วย พ่อแม่อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าลูกขี้เกียจหรือเรียกร้องความสนใจ เพราะการที่มีคนทำอะไรให้ตามที่ลูกร้องขอ ตัวตนของเขาจะมา เช่น บอกให้พ่ออุ้มแล้วพ่อก็อุ้ม ตัวตนของลูกจะกลับมาและเขาจะมั่นใจในตัวเอง
“หรือเวลาที่ลูกแสดงอารมณ์สุดโต่ง เช่น น่าเกลียดที่สุด แย่ที่สุด เขาต้องการอะไร? เขาต้องการให้พ่อแม่ช่วยเพราะเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ การที่พ่อแม่รู้จักพัฒนาการเด็กเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ สิ่งที่เราจะสอนลูกคือทักษะ คำพูดที่พ่อแม่พูดออกไปกำลังสอนทักษะเขาหรือซ้ำเติมอารมณ์เขา?” ครูหม่อมกล่าว
คำถามต่อมาคือ แล้วพ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเสียเซลฟ์? ครูหม่อมยกตัวอย่าง 3 ข้อที่พ่อแม่ทำเมื่อไหร่จะทำให้ลูกเกิดอาการเสียเซลฟ์ทันที
- พ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้า
- ไม่ได้มีเวลาอยู่ด้วยกันหรือต่างคนต่างอยู่
- ช่วงนั้นเราเข้มงวดอะไรบางอย่างกับลูก
อีกเทคนิคหนึ่งที่ครูหม่อมแนะนำให้กับพ่อแม่ คือ เมื่อไหร่ปลอบเมื่อไหร่สอน แม้ว่าทุกการกระทำของพ่อแม่ กำลังเสริมทักษะบางอย่างให้กับลูก แต่ก็ต้องพิจารณาว่าตอนไหนที่ควรเติมหรือตอนไหนที่ควรปลอบ ครูหม่อมแนะนำว่าต้องดูที่อารมณ์ลูกเป็นหลัก สมมุติถ้าเขากำลังโกรธกระทืบเท้า พ่อแม่พูดอะไรไปเขาก็จะไม่ฟัง เพราะกำลังมีแต่อารมณ์ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ พูดถึงสิ่งที่ลูกกำลังทำ ‘รู้ว่าโกรธเลยกระทืบเท้า’ เท่านี้พอ ไม่ต้องทำอะไรต่อ รอให้ลูกอารมณ์เย็นลง แล้วถึงจะพูดกับเขาใหม่ค่อยเสริมทักษะตอนนั้น
“กุญแจสำคัญของการเป็นพ่อแม่ คือ ทำใจยอมรับในพัฒนาการของลูก ลูกเกิดมาแล้วหน้าที่พ่อแม่ดำเนินต่อไป เวลาพ่อแม่อยากได้อะไรจะผิดหวังทันที เช่น เคยคิดไหมเมื่อไหร่ลูกจะเดินได้สักที อยากให้ลูกกลับไปเป็นเด็กทารก มันทำให้พ่อแม่ท้อ” ครูหม่อมกล่าว
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้พ่อแม่หลายๆ คนคงเกิดความรู้สึก ทำไมยากจัง? ฉันจะทำได้ไหมนะ? อยากบอกไว้ตรงนี้ว่าพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง พวกเรามีสิทธิที่จะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกของเราเอง การเลี้ยงดูต้องอาศัยเทคนิค ‘ทำซ้ำวนไป’ ทำวนไปจนลูกเกิดความชินและเขาจะเรียนรู้ แม้ว่าพ่อแม่อาจจะเคยผ่านวิธีการเลี้ยงดูที่ไม่ดี แต่เราก็สามารถสร้างใหม่ได้เพื่อลูกของเราเอง