- มีความเชื่อเกี่ยวกับ ‘คำสาปดาราเด็ก’ ว่าพวกเขามักโตมากลายเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาหรือชีวิตจบไม่สวย
- ในช่วงวัยรุ่นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างวัยรุ่นทั่วไป อยากทำอะไรแปลกๆ สมวัย แต่การมี ‘ภาพจำ’ ในบทบาทบางอย่างจำเพาะมากจากสาธารณชนก่อให้เกิดความกดดันมหาศาล แฟนคลับบางคนถึงกับรู้สึกว่า ‘ถูกหักหลัง’ ที่ดาราวัยรุ่นทำตัวบางอย่างที่เป็นการทำลายภาพจำดาราเด็กในความคิดของตัวพวกเขา
- คำตอบเรื่องการแก้คำสาปเด็กดัง อยู่ที่ความผูกพันและการปฏิบัติต่อกันที่ดีของคนในครอบครัว และการหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยมุมมองต่องานและต่อโลกที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆ
มีความเชื่อเกี่ยวกับดาราเด็กในฮอลลีวูดอยู่เรื่องหนึ่งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ไม่น้อยเรียกว่า ‘คำสาปดาราเด็ก’ (The Curse of the Child Star) ซึ่งอธิบายได้สั้นๆ ว่า เด็กที่มาเล่นหนังแล้วโด่งดัง มักจะกลายเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาหรือชีวิตจบไม่สวย
ก่อนอื่นคงต้องเคลียร์กันตรงนี้ก่อนว่า นี่ไม่ใช่ ‘กฎ’ และเราก็เห็นดาราเด็กที่กลายเป็นดาราวัยรุ่นและดาราผู้ใหญ่ที่ดี ชื่อเสียงไม่ด่างพร้อยอยู่มากมายหลายคนเช่นกัน ทั้งดาราฮอลลีวูดและดาราไทย แต่ก็มีคนที่ไม่ผ่าน ‘ด่าน’ อันยากลำบากนี้ และจบลงด้วยชีวิตที่เหลวแหลก ติดเหล้าติดยา ติดคุก มีปัญหาทางจิตประสาท หรือแม้แต่เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด หรือฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุต่างๆ
คำถามสำคัญคือ ความแตกต่างของการโตไปเป็นดาวค้างฟ้าหรือกลับกลายเป็นดาวหางดิ่งลงเหว พวกนี้เกิดจากอะไรกันแน่? และจะมีวิธีการที่สามารถช่วยป้องกันได้หรือไม่?
ข้อมูลเกี่ยวกับนักแสดงเด็กมีบันทึกกลับไปได้ถึงยุควิกตอเรียที่เด็กๆ ที่มีความสามารถพิเศษหรือได้รับการฝึกฝนจะได้แสดงตามโรงละครหรือไม่ก็ไปกับกองคาราวานที่เดินทางไปทั่ว การใช้แรงงานเด็กในยุคนั้นสามารถทำได้แม้กับเด็กเล็กๆ [1] หันกลับมาดูในเมืองไทยเราก็อาจพบเห็นได้ในคณะเชิดสิงโตที่มีการต่อตัวและเด็กตัวเล็กสุดที่ขึ้นไปอยู่บนสุดก็อาจอายุแค่เพียงไม่กี่ขวบเท่านั้น
กฎหมายป้องกันการใช้แรงงานเด็กในสังคมตะวันตกฉบับแรกออกมาได้ยังไม่ครบศตวรรษดี คือออกมาในราวทศวรรษ 1930 [1] ในยุคนั้นเด็กบางคนจึงกลายมาเป็นแหล่งรายได้ของครอบครัวที่มักจะมีลูกมากเสียด้วย เพราะอุปกรณ์คุมกำเนิดยังใช้การไม่ดีและไม่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ บางครอบครัวในยุคนั้นจึงมองเด็กที่ดังขึ้นมาจากการแสดงความสามารถราวกับเป็นเครื่องเอทีเอ็มของพ่อแม่ทีเดียว
แจ็กกี้ คูแกน (Jackie Coogan) เป็นดาราเด็กชาวอเมริกันที่โด่งดังในยุคหนังเงียบ มีรายได้มากกว่าล้านเหรียญขณะอายุได้เพียง 10 ปี ต่อมาเมื่อโตขึ้นก็เป็นโจทก์ฟ้องร้องแม่แท้ๆ และพ่อเลี้ยงเรื่องรายได้จากการแสดงภาพยนตร์ของเขาที่ทั้งสองคนนำไปใช้ราวกับเป็นเงินของตัวเอง
จนในที่สุดเกิดกฎหมายคุ้มครองดาราเด็กขึ้นมาเรียกว่า ‘พระราชบัญญัติคูแกน (Coogan Act)’ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ร่างกฎหมายนักแสดงเด็กแคลิฟอร์เนีย (California Child Actor’s Bill) ที่น่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองดาราเด็กฉบับของโลกใน ค.ศ. 1939 [2]
กรณีตัวอย่างดาราเด็กที่โดนกระทำอย่างไม่เหมาะสมในฮอลลีวูดในรูปแบบต่างๆ มีอยู่มาก จะขอยกตัวอย่างแค่เพียงเล็กน้อยดังนี้ กรณีแรก แม่ของเชอร์ลีย์ เทิมเพิล (Shirley Temple) ดาราเด็กที่ดังอย่างสุดๆ คนหนึ่งโดนกีดกันออกจากฉากขณะแสดง เพื่อไม่ให้คัดค้านใดๆ ได้หากไม่เห็นด้วยกับผู้กำกับ ขณะที่จูดี้ การ์แลนด์ (Judy Garland) ขณะอายุ 16 ปีและเล่นเรื่องพ่อมดแห่งออซนั้น ครั้งหนึ่งเคยโดนผู้กำกับตบหน้า เพียงเพราะว่าหัวเราะขณะถ่ายทำเท่านั้น [1]
แต่รายที่หนักหนาที่สุดและกลายมาเป็นรอยแผลในใจจนโตจากการแสดง น่าจะเป็นกรณีของนักแสดงชื่อ พอล พีเทอร์สัน (Paul Peterson) ที่ขณะอายุแค่เพียง 10 ปี เขาต้องแสดงเป็นเด็กที่ต้องเห็นพ่อตัวเองผูกคอตาย เพื่อที่จะให้เด็กชายพอลแสดงได้สมบทสมบาทจริงๆ มีการนำพ่อของเขามาแขวนห้อยต่องแต่งตายปลอมๆ ให้เขาดู
เขาจำฉากนี้ติดตาไปอีก 50 ปีไม่ลืมเลือน!
ดังที่เจ้าตัวเขียนเล่าไว้ว่า “แม้อีกห้าสิบปีต่อมาผมก็ยังจดจำเหตุการณ์นั้นได้ ไม่ใช่ในฐานะของฉากหนึ่งในการแสดง แต่ในฐานะของเด็กผู้ชายอายุ 10 ขวบคนหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานการแขวนคอตายของพ่อตัวเอง…เกิดความรู้สึกถูกทอดทิ้ง เกิดความกลัวว่าแม่ตัวเองจะโดนทิ้งให้ยากจนอยู่ข้างหลัง…” [3]
คงต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า การเรียนเรื่องการแสดง การเป็นนักแสดงไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายนะครับ มีการศึกษาติดตามในเด็กมากกว่า 25,000 คนที่แสดงให้เห็นว่า เด็กอายุ 8-12 ปีที่เข้ากิจกรรมการแสดงในโรงเรียน เป็นกลุ่มที่เข้าใจตัวเองได้ดี มีทักษะในการอ่าน มีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ และมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เข้าเรียนเรื่องการแสดง [3]
อย่างไรก็ตาม แม้คล้ายว่าจะมีความเกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องบอกว่างานวิจัยนี้ไม่ได้ชี้ถึงความเป็นเหตุและผลอย่างชัดเจนนะครับว่า การเข้าเรียนวิชาการแสดงหรือฝึกหัดเรื่องการแสดงเป็นเหตุให้ได้ผลลัพธ์ดังกล่าว ชี้แค่ว่ามีแนวโน้มไปในทางเดียวกันแค่นั้น
แถมยังมีผลการศึกษาที่ให้ผลตรงกันข้ามด้วยนะครับ เช่น การศึกษาในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 554 คน พบว่านักเรียนการละครมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับร่างกายและความสามารถของตัวเองมากที่สุด เมื่อเทียบกับเด็กทั่ว ๆ ไปหรือเด็กที่เรียนเก่งเป็นพิเศษ [4]
เรื่องการเรียนการแสดงช่วยหรือไม่ช่วยจึงยังคลุมเครืออยู่บ้าง
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาในอดีตนักแสดงเด็กจำนวน 74 คน ที่เป็นสมาชิกของ Screen Actors Guild โดยให้ตอบแบบสอบถามที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ในครอบครัว ความสามารถในการปรับตัวในทางจิตวิทยา การเสพแอลกอฮอล์และยาเสพติด และความสัมพันธ์กับเพื่อน [5]
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามทำให้รู้ว่า คนกลุ่มนี้มีการปรับตัวทางจิตวิทยาที่ดีและมีทักษะในการจัดการกับปัญหาที่ดี อย่างไรก็ตาม พบด้วยเช่นกันว่าคนกลุ่มนี้มีอัตราการติดแอลกอฮอล์และยาเสพติดสูงกว่านักแสดงเด็กร่วมรุ่นที่ไม่โด่งดังอย่างเห็นได้ชัด
ความรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จในฐานะนักแสดงเด็กหรือไม่ ดูจะขึ้นอยู่กับแม่ของเด็กพวกนี้อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งได้รับบทนำหรือบทสำคัญ แม่ของพวกเขาก็จะยิ่งให้ความสำคัญกับพวกเขามากยิ่งขึ้นเท่านั้น อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ มีอยู่ราวครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ทีเดียวที่ระบุว่า เพื่อนในตอนเด็กแทนที่จะเป็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันกลับเป็นผู้ใหญ่มากกว่า
ข้อเท็จจริงทั้งสองข้อนี้สัมพันธ์กับความรู้สึกเป็นตัวตนของเด็กเหล่านี้มาก เหมือนพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกมายามากกว่าชีวิตจริงอย่างที่ควรจะเป็น คือเติบโตขึ้นท่ามกลางเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน
นักวิจัยสรุปว่าความเชื่อที่ว่าดาราเด็กเหล่านี้มีความสามารถในการรับมือความเครียดและความกดดันดีกว่าเด็กทั่วไป หรือดาราเด็กพวกนี้สามารถชดเชยกับสิ่งที่เสียไปหรือความกดดันเหล่านี้ได้ด้วยความรู้สึกเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเองได้นั้น เป็นเรื่องโกหกทั้งเพเลยครับ [5]
เมื่อดาราเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นวัยรุ่นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างวัยรุ่นทั่วไป อยากทำอะไรแปลกๆ สมวัย แต่การมี ‘ภาพจำ’ ในบทบาทบางอย่างจำเพาะมากจากสาธารณชนก่อให้เกิดความกดดันมหาศาล ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียแล้ว ยิ่งหนักหนาสาหัสทีเดียว แฟนคลับบางคนถึงกับเป็นเดือดเป็นแค้นหรือรู้สึกว่า ‘ถูกหักหลัง’ ที่ดาราวัยรุ่นทำตัวบางอย่างที่เป็นการทำลายภาพจำดาราเด็กในความคิดของตัวพวกเขา
ด้วยเหตุนี้ดาราวัยรุ่นบางคนอาจรู้สึก ‘สูญเสียตัวตน’ หรือหาตัวตนไม่เจอเลยทีเดียว
เมื่อไปสัมภาษณ์ดาราเด็กที่ดูจะรักษาภาพลักษณ์ได้ดี เติบโตกลายเป็นนักแสดงคุณภาพอย่าง แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Rafcliffe) ที่แสดงเป็นแฮร์รี พอตเตอร์ และอีไลจาห์ วูด (Elijah Wood) ที่แสดงเป็นโฟรโด ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริง ก็ได้รับคำตอบคล้ายคลึงกันว่า สายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก [6, 7]
อีไลจาห์เล่าว่าคุณแม่เลี้ยงดูเหมือนเป็นเด็กทั่วไป ให้ความสำคัญมากที่สุดมาเป็นอันดับหนึ่งคือ การเติบโตเป็นคนดี เมื่อรู้ว่าเป็นดาราเด็ก เขาก็มักได้รับข้อเสนอสิทธิพิเศษ เช่น การลัดคิวให้ แต่คุณแม่ไม่เคยยอมให้เขาได้รับสิทธิแบบนั้นเลย
นอกจากนี้ เขาต้องเก็บผ้า พับผ้าหรือแขวนเสื้อผ้าตัวเองให้เรียบร้อย
เขายังได้รับการสอนให้ถ่อมตัว เขาเชื่อเสมอว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จเป็นเรื่องของโชคหรือโอกาสที่เขาได้รับมากกว่าจะเป็นเรื่องของฝีมือล้วนๆ และการที่เขาอายุเลย 40 แล้วยังคงทำงานในฐานะนักแสดงได้ ถือเป็นของขวัญในชีวิตที่ไม่อาจมองข้ามได้
ขณะที่แดเนียลมองว่าแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่เขามีมากเป็นพิเศษคือ เขารักที่จะอยู่ในกองถ่ายและชอบบรรยากาศที่นั่น ชอบที่จะแสดง ชอบคนในกองถ่าย และเห็นว่าสถานที่ทำงานของตัวเองนั้นเยี่ยมยอดมาก เขาจึงไม่รู้สึกว่ามีแรงกดดันแบบเดียวกับเพื่อนๆ บางคนที่ทนทำงานเพื่อตอบแทนความคาดหวังของคนรอบตัว โดยไม่รู้สึกรักหรืออินกับการแสดงอีกต่อไปแล้ว
ดูเหมือนเราจะได้คำตอบเรื่องการแก้คำสาปเด็กดัง นั่นก็คือความผูกพันและการปฏิบัติต่อกันที่ดีของคนในครอบครัว และการหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยมุมมองต่องานและต่อโลกที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆ นั่นเอง
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับดาราเด็กเท่านั้น ก็ดูว่าอาจจะห่างไกลกับตัวเราค่อนข้างมาก แต่หากจิตวิทยาของ ‘เด็กดัง’ แบบนี้เกิดขึ้นกับเด็กนักกีฬาที่ชนะได้เหรียญโอลิมปิกหรือเด็กนักเรียนที่ได้เหรียญโอลิมปิกวิชาการ แข่งชนะที่ 1 ในการประกวดหรือได้ที่ 1 ในชั้นเรียน ในโรงเรียน หรือแม้แต่ที่ 1 ประเทศ ฯลฯ และอาจจริงด้วยเช่นกันกับเด็กบ้านรวยหรือตระกูลเก่าแก่ที่บุญหนักที่โดนคนรอบตัวสปอยล์มาตลอดชีวิต
นี่อาจเป็นเคล็ดลับที่มีประโยชน์มาก สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางมากกว่าแค่ที่งานวิจัยตีกรอบไว้ แต่นั่นก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของงานวิจัยภายภาคหน้ายืนยันต่อไปนะครับ
เอกสารอ้างอิง
[1] https://shssharkattack.com/22358/oped/the-negative-effects-of-the-child-stars/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 25 พ.ย. 2024
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Jackie_Coogan เข้าถึงข้อมูลวันที่ 25 พ.ย. 2024
[3] Leslie Anderson (2011) Myself or Someone Like Me: A Review of the Literature on the Psychological Well-being of Child Actors. Medical Problems of Performing Artists. 26(3):146-9. DOI: 10.21091/mppa.2011.3023
[4] Robson B. E ad Gitrev M.: In Search of Perfection. Med Probl Perform Art 1991; 6(1):15-20
[5] Rapport L. J., Meleen M.: Childhood celebrity, parental attachment, and adult adjustment: the young performers study. J Pers Assess 1998; 70(3):484-505. doi: 10.1207/s15327752jpa7003_7.
[6] https://www.cbc.ca/arts/q/elijah-wood-reflects-on-how-he-avoided-the-curse-of-child-stardom-1.7282164 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 25 พ.ย. 2024
[7] https://www.huffpost.com/entry/daniel-radcliffe-what-if_n_5658336 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 25 พ.ย. 2024