- The Greatest Game Ever Played สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของฟรานซิส อุยเม็ต ตำนานนักกอล์ฟสมัครเล่นชาวอเมริกันที่หักปากกาเซียนคว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่นในปี 1913 ด้วยวัยเพียง 20 ปี
- สิ่งสำคัญที่ทำให้เขาคว้าชัยชนะเหนือนักกอล์ฟอาชีพ คือการที่เขาสามารถควบคุมสมาธิ และจดจ่ออยู่กับเกมของตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ล่อลวงให้เขาหลุดโฟกัสไปจากปัจจุบันขณะ
- นอกจากเรื่องการแข่งขัน ภาพยนตร์ยังสะท้อนความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยระหว่างพ่อกับฟรานซิส เนื่องจากพ่อไม่สนับสนุนให้เขาทำตามความฝันและเชื่อว่ากอล์ฟไม่สามารถช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีเท่ากับการทำธุรกิจ
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]
“กอล์ฟคือกีฬาที่เล่นในหมู่ผู้ดี(มีเงิน) ไม่ใช่คนอย่างเธอ”
แม้คำพูดของชายสูงศักดิ์ที่กล่าวกับเด็กยากจนในฉากเปิดภาพยนตร์ The Greatest Game Ever Played จะไม่น่าฟังนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในสมัยนั้นกอล์ฟเป็นกีฬาที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเป็นกิจกรรมยามว่างของบรรดาผู้มีอันจะกิน
ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องจริงของ ฟรานซิส อุยเม็ต (1893-1967) ที่คนอเมริกันยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งกอล์ฟสมัครเล่น’ ผู้สร้างปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญด้วยการเป็นมือสมัครเล่นที่คว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่นในปี 1913 โดยชัยชนะครั้งนั้นจุดประกายให้ผู้คนในสหรัฐฯ สนใจกีฬากอล์ฟมากขึ้น ก่อนที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันสนับสนุนจนทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจด้านกอล์ฟในปัจจุบัน
ฟรานซิสเกิดในครอบครัวชนชั้นล่างจากบอสตัน บ้านของเขาอยู่ตรงข้ามกับกอล์ฟคลับชื่อดัง ทำให้เขาคอยเฝ้าดูและหลงใหลเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ตั้งแต่เด็ก
ด้วยฐานะที่ไม่เอื้ออำนวย ฟรานซิสในวัยประถมพยายามหาทางเข้าใกล้กอล์ฟ ด้วยการรับจ้างเป็นแคดดี้ให้เศรษฐี แต่ในขณะเดียวกันก็อาศัยการ ‘ครูพักลักจำ’ วิธีการเล่นของพวกเขา และฝึกฝนการเล่นกอล์ฟด้วยอุปกรณ์มือสองที่ได้รับบริจาคมาและสร้างทักษะจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
หลายปีต่อมา ฟรานซิสยังคงทำงานพิเศษเป็นแคดดี้และหลงใหลกอล์ฟไม่เปลี่ยน พร้อมกับหาเวทีให้ตัวเองแสดงผลงานด้วยการสมัครแข่งขันกอล์ฟระดับมัธยมปลายและคว้าแชมป์มาครอง
แม้ภาพยนตร์จะเล่าเรื่องในวัยเด็กค่อนข้างรวดเร็ว แต่ก็เพียงพอให้ผู้ชมเห็นถึงทักษะการจัดการตัวเองอย่างดี ระหว่างการเรียน การทำงาน รวมถึงการฝึกซ้อม โดยเฉพาะอย่างหลังที่เต็มไปด้วยแพสชัน และ ‘วินัย’ ที่เกิดจากความปรารถนาภายในของเจ้าตัวโดยไม่มีใครมาบังคับจนสามารถประสบความสำเร็จในฐานะนักกอล์ฟเยาวชน
เส้นบางๆ ของความหวังดีที่อาจกลายเป็นทำร้ายโดยไม่ตั้งใจ
การคว้าแชมป์ระดับมัธยมปลายทำให้ฟรานซิสภาคภูมิใจในตัวเองไม่น้อย แต่ไม่ใช่กับพ่อที่มองว่ากอล์ฟเป็นกีฬาของคนรวย ต่อให้พยายามากแค่ไหนก็ยากจะประสบความสำเร็จ และไม่น่าสร้างรายได้เท่ากับการทำธุรกิจ ดังนั้นพอรู้ว่าลูกจะลงแข่งกอล์ฟสมัครเล่น พ่อจึงยื่นคำขาดว่าหากเขาตกรอบจะต้องเลิกเล่นกอล์ฟและกลับมาโฟกัสในสิ่งที่ถูกที่ควร
“ฉันเองก็มีฝันฟรานซิส ไม่ว่าแกทำอะไร เขาไม่มีวันให้แกได้ข้ามถนนนั่น(ชนชั้น)…สัญญากับฉัน ถ้าแกแพ้ก็เลิกกอล์ฟ เลิกเล่นกีฬาโง่ๆ นี้ซะ และมาเรียนรู้เรื่องการค้าขายแล้วนำค่าจ้างที่ได้จริงๆ กลับมาบ้าน”
ผมค่อนข้างเห็นใจฟรานซิสที่ถูกพ่อยื่นคำขาดให้ต้องชนะและเข้ารอบ เพราะในฐานะที่ชอบดูกอล์ฟรวมถึงเคยหัดเล่นกอล์ฟมาบ้างเล็กน้อย ต้องบอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสภาพสนาม หรือดินฟ้าอากาศ แต่นั่นก็ไม่เท่ากับศัตรูสำคัญ นั่นคือ ‘สภาพจิตใจ’ ของผู้เล่น ที่หากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็อาจกลายสภาพเป็นหมูสนามจริงได้ง่ายๆ
เมื่อต้องแข่งขันภายใต้ความกดดันที่ไม่อาจแพ้ได้ ภาพยนตร์จึงค่อยๆ ถ่ายทอดความท้าทายทางอารมณ์ โดยเฉพาะความกดดันภายในที่ปะทุออกมาในช็อตสำคัญ ภาพของพ่อที่จู่ๆ ก็ซ้อนทับขึ้นมากลางฝูงชนทำให้ฟรานซิสหน้าถอดสี ก่อนที่เขาจะตีพลาดจนตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย
หลังตกรอบอย่างน่าเจ็บใจ ฟรานซิสยอมทำตามสัญญาที่ให้กับพ่อ กระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับเชิญให้ร่วมแข่งขันรายการยูเอสโอเพ่นในฐานะผู้เล่นท้องถิ่น ฟรานซิสจึงแอบกลับมาซ้อมกอล์ฟอีกครั้ง ทำให้พ่อของเขาที่มารู้ภายหลังโกรธถึงขั้นขู่ไล่เขาออกจากบ้าน
“คิดว่าจะเก็บความลับกับฉันได้เหรอ ชื่อแกหราในหนังสือพิมพ์ แกแอบทำลับหลังฉัน แกต้องยุติเรื่องนี้ทันที …นี่เพื่อตัวแกเอง ฉันพยายามปกป้องแกนะ…คนพวกนั้นไม่จำเป็นต้องหาที่อยู่บนโลกใบนี้ มันเป็นของพวกเขา เราไม่ใช่คนพวกนั้น แกจงไปบอกพวกเขาว่าแกแข่งไม่ได้ มันเป็นความผิดพลาด แกให้สัญญากับฉันแล้ว ถ้างั้นช่วยฉันหน่อย เมื่อจบเรื่องแล้วช่วยหาที่อยู่ใหม่ด้วย”
ดูเหมือนว่านอกจากพ่อจะไม่ยินดีด้วยแล้ว พ่อยังสร้างแรงกดดันให้เขาเพิ่มเติม นั่นคือการไล่ออกจากบ้านล่วงหน้า แน่นอนว่าถ้ามองในมุมพ่อ เขาย่อมคิดว่าตนได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูก แม้ว่าวิธีการนั้นจะไม่ถูกใจฟรานซิสก็ตาม ประกอบกับการที่กอล์ฟในยุคนั้น(1913) ยังเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่มของชนชั้นสูง ทำให้พ่อยิ่งโมโหที่ฟรานซิสไม่รู้จักเจียมตัว หากถลำลึกต่อไปก็รังแต่จะทำให้เสียอนาคต
“พวกเขาพากันพูดเรื่องของแก มันลงว่าถึงแกชนะแกก็ไม่ได้เงิน คนอื่นทำเงิน แกไม่ได้อะไร มันพิสูจน์อะไรเหรอ พวกเขาไม่ได้จ่ายแกด้วยซ้ำ งานประเภทไหนกัน!”
อย่างไรก็ตาม ผมชื่นชอบการที่แม่ของฟรานซิสได้ถามสามีแทนใจผู้ชมหลายคนว่า ตกลงแล้วเขายินดีกับลูกไหม หรืออยากเห็นลูกตกรอบถึงจะสาแก่ใจ พร้อมกับขอร้องสามีให้สนับสนุนฟรานซิสสักครั้ง
“ฉันสนับสนุนเขา เขามีพรสวรรค์ที่พระเจ้าให้มา และนี่คือโอกาสเดียวที่จะให้มันแสดงออก เขาแค่พยายามทำให้คุณภูมิใจ” แม่กล่าว
ผมคิดว่าลูกๆ หลายคนน่าจะมีพ่อแม่ที่มีนิสัยใจคอคล้ายกับพ่อของฟรานซิส รักเราแต่ก็กดดันข่มขู่ให้กลัวเหลือเกิน ห่วงเราแต่มักแสดงออกด้วยความรุนแรงคล้ายกับเราไม่ใช่ลูก
ซึ่งการจะเข้าใจหัวอกพ่อแม่ประเภทนี้เป็นเรื่องยากและซับซ้อน เพราะลึกไปในความรักที่พ่อแม่แสดงออก เราอาจพบส่วนผสมทางความรู้สึกชนิดอื่นปะปนเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอคติส่วนตัว ความเห็นแก่ตัว ความอยากให้ลูกเป็นหน้าเป็นตา (เอาไว้คุยโม้โอ้อวดกับชาวบ้าน) หรือแม้กระทั่งการอยากเอาชนะลูก ฯลฯ
แน่นอนว่าผมไม่เห็นด้วยกับความรักแบบนี้ เพราะผมเชื่อว่าความรักที่แท้จริงไม่ใช่การทำให้คนที่เรารักกลัว แต่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยและความสบายใจแก่กันเสมอ ดังนั้นจึงน่าเสียใจที่พ่อแม่บางคนชอบนำอคติส่วนตัวเหล่านั้นเข้ามาเบียดบังความรักอันบริสุทธิ์ และกลายเป็นพ่อแม่ที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘พ่อแม่จอมบงการ’ ที่ชอบกำหนด ควบคุม หรือแทรกแซงการตัดสินใจของลูกในนามของความรัก โดยไม่ให้ลูกมีโอกาสกำหนดเส้นทางชีวิตตัวเอง
ควบคุมจิตใจได้คือชัยชนะที่แท้จริง
ในการแข่งขันยูเอสโอเพ่น คู่แข่งคนสำคัญที่สุดของฟรานซิสคือ ‘แฮร์รี่ วาร์ดอน’ นักกอล์ฟอาชีพชาวอังกฤษที่ถูกขนานนามว่าเก่งที่สุดในโลก ณ เวลานั้น
แม้ฟรานซิสจะมีแรงกดดันเรื่องพ่อ แต่แฮร์รี่ วาร์ดอน เองก็แบกความคาดหวังของชาติ รวมถึงข้อเสนอในการยกระดับสถานะหากคว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่น โดยวาร์ดอนได้แสดงวิธีควบคุมสิ่งเร้าภายใน-ภายนอก ด้วยการปรับใจให้สงบนิ่ง และเมื่อสงบนิ่ง ภาพของผู้ชมในสนามหรือแม้แต่ภาพความกดดันต่างๆ ในหัวก็จะหายไป ราวกับเขากำลังฝึกซ้อมคนเดียวบนผืนหญ้าอันกว้างใหญ่ ซึ่งนั่นทำให้เขาทำผลงานได้ดีและจบด้วยตำแหน่งรองแชมป์
“เกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คุณจะได้เล่น ก็คือเกมที่เล่นกับตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าชื่นชมไม่แพ้กัน คือทัศนคติของวาร์ดอนที่ให้เกียรติคู่แข่งที่ได้ชื่อว่าเป็นมือสมัครเล่นผู้มากับดวงอย่างฟรานซิส หลังมีคนดูถูกว่าชนชั้นล่างอย่างฟรานซิสไม่มีทางที่จะคว้าแชมป์ยูเอสโอเพ่นได้
“ถ้ามิสเตอร์อุยเม็ตชนะวันพรุ่งนี้ ก็เพราะว่าเขาเป็นยอดฝีมือ เพราะเขาเป็นตัวเขา ไม่ใช่ว่าพ่อเป็นใคร ไม่ใช่ว่าได้เงินเท่าไหร่”
แม้จะพลาดแชมป์ แต่ในฐานะแฟนกีฬาประเภทนี้ ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียหายอะไร เพราะนักกอล์ฟที่เก่งไม่ใช่นักกอล์ฟที่คว้าแชมป์ทุกรายการ แต่เป็นนักกอล์ฟที่ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอในทุกการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันวาร์ดอนได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานกอล์ฟที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก
ย้อนกลับมาที่ฟรานซิส เขาเองก็ตระหนักว่ากอล์ฟคือกีฬาที่แข่งขันกับตัวเอง โดยก่อนการแข่งยูเอสโอเพ่น เขาเองก็นำหนังสือของวาร์ดอนมาอ่านเพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการเล่น รวมถึงความสงบที่ฟรานซิสได้เรียนรู้จากวาร์ดอน
“มีนักกีฬาเพียงสองประเภท ผู้ที่ควบคุมความตื่นเต้นไว้ได้ และเป็นผู้ชนะเลิศ กับอีกประเภทคือผู้ที่ทำไม่ได้” วาร์ดอนกล่าวในหนังสือ
ถ้าไม่นับฝีมือที่เกิดจากการฝึกซ้อมและสภาพสนามที่คุ้นเคยมาทั้งชีวิต ฟรานซิสยังมีแคดดี้คู่ใจวัย 10 ขวบที่แม้จะเป็นเด็กประถม แต่ก็คอยดึงสติและให้ข้อคิดกับฟรานซิสเสมอ
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่แฟนกีฬากอล์ฟ อาจเข้าใจว่าแคดดี้เป็นเพียงคนแบกถุงกอล์ฟและทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับนักกีฬา แต่แท้จริงแล้วแคดดี้จะต้องมีความรู้เรื่องสภาพสนาม ไลน์สนาม จุดบอดที่สุ่มเสี่ยง รวมถึงให้กำลังใจนักกีฬาอย่างเหมาะสม
ในหลายๆ หลุมที่ฟรานซิสออกอาการตื่นเต้นและกังวลกับผู้ชมที่มีทั้งคนดังไปจนถึงประธานาธิบดี รวมถึงเสียงเปรียบเทียบซุบซิบถึงคะแนนของเขากับผู้เล่นคนอื่นๆ จนเล่นผิดฟอร์ม แคดดี้มักจะเป็นคนเรียกสติให้ฟรานซิสกลับมาอยู่กับร่องกับรอย และโฟกัสกับปัจจุบันขณะ
“ใครจะมองก็ปล่อยให้เขามองไป คุณเสมอและยังต้องเล่นต่อไป ฟังผมนะ อย่าคิดมากนัก คุณจะทำครั้งเดียวรวดไม่ได้ คุณต้องตีทีละครั้ง”
เมื่อฟังคำพูดต่างๆ ของแคดดี้ ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงการสัมภาษณ์ ผศ.วิมลมาศ ประชากุล หรือ อาจารย์ปลา นักจิตวิทยาการกีฬาที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาไทยหลายคน โดยช่วงหนึ่งอาจารย์ปลาบอกว่า ‘เราไม่สามารถควบคุมผลการแข่งขันได้ แต่เราควบคุมวิธีการเล่นของเราได้’ ดังนั้นเมื่อพบกับกำแพงปัญหา สิ่งสำคัญคือการไม่เอาหัวไปชน แต่เป็นการหาวิธีในการก้าวข้าม…ซึ่งอาจเริ่มจากการกลับมาอยู่กับลมหายใจเพื่อควบคุมโฟกัสของตัวเอง
ดังนั้นความสำเร็จที่แท้จริงของฟรานซิสไม่ได้เกิดจากการคว้าแชมป์ในฐานะมือสมัครเล่นที่อายุน้อยที่สุดในโลก แต่เป็นการเอาชนะความสงสัยในตัวเอง การเอาชนะแรงกดดันทางสังคม และอุปสรรคในใจที่คอยล่อลวงฉุดรั้งเขาจากฝั่งฝัน
นอกจากนี้การที่เขากล้ายืนหยัดในความฝันอย่างมีวินัยเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับชีวิต ยังช่วยพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง