- ‘นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น’ เป็นการปรับรูปแบบการเรียนให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล ทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และสามารถพัฒนาทักษะอาชีพให้สามารถเลี้ยงตนเองได้ตลอดชีวิต ซึ่งตอบโจทย์ผู้ที่มีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่าง
- ในเวทีเสวนาของ กสศ. ได้ยกตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นมาประยุกต์ใช้ เช่น TK Park Yala ที่สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เปิดกว้าง บริษัทอัตลักษณ์ ที่พัฒนาทักษะอาชีพให้กับกลุ่มเปราะบาง และ Café Amazon For Chance ที่สร้างโอกาสในการทำงานให้กับผู้พิการทางการได้ยินและผู้สูงอายุ
- ความสำเร็จของแต่ละโครงการ เกิดจากความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่กว้างขึ้น
ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย หนึ่งในนั้นคือปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างการศึกษาที่อาจไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน ทำให้มีคนหลายกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเต็มที่
หนึ่งในอุปสรรคที่ขัดขวางโอกาสในการเรียนรู้ก็คือการมีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ หรือความพร้อมส่วนบุคคล ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเรียนไม่จบตามเกณฑ์ที่กำหนด ยังรวมถึงการไม่สามารถกลับเข้าสู้เส้นทางการเรียนรู้ได้ ภายใต้โจทย์นี้ การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น (Flexible Learning) จึงเป็นทางเลือกที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม โดยเมื่อเร็วๆ นี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เปิดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิตด้วย Long Life Learning’ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องขัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะถูกมองข้ามและขาดโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเหมาะสม
TK Park Yala จุดประกายความรู้ สู่สันติสุข
ศูนย์การเรียนรู้ ‘ทีเค ปาร์ค ยะลา’ (TK Park Yala) นับเป็นหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจของนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น ที่จะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย วธนัน ถ้วนทวิล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา เล่าว่า ที่นี่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การศึกษาในพื้นที่เปราะบาง เพราะเล็งเห็นว่า การเข้าถึงการศึกษาอย่างเต็มที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนหลายกลุ่มในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องด้วยเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และยังคงมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่อยู่เนืองๆ
ทีเค ปาร์ค ยะลา จึงได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทเฉพาะของชุมชน เพื่อสร้าง ‘สังคมแห่งการเรียนรู้’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยเน้นการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ที่เปิดกว้าง หลากหลายและยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้เรียน
“ทีเค ปาร์ค ยะลา เป็น ‘การศึกษาตามอัธยาศัย’ จัดตั้งโดยเทศบาลจังหวัดยะลา เพื่ออำนวยให้ประชาชนทุกภาคส่วนที่อยากจะเรียนรู้ให้สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ค่ะ” วธนัน กล่าว
ที่นี่มีทรัพยากรและกิจกรรมที่หลากหลายรองรับ เช่น ห้องสมุดดิจิทัล ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงภาพยนตร์และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นจริง
“นอกจากการทำทีเค ปาร์ค ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ก็มีการทำโครงการอื่นๆ เพื่อกระจายโอกาสทั้ง 4 มุมเมืองของยะลา โดยทำ มินิ ทีเค ตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ชายขอบ เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ผ่านกระบวนการทำกิจกรรม เพื่อช่วยดึงเด็กเหล่านั้นเข้ามาสู่การเรียนรู้ รวมถึงทำโครงการ Mobile Library & Activity จัดนิทรรศการให้โรงเรียนได้เรียนรู้ และส่งหนังสือให้ตามโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย”
“และเราไม่ได้ทำแค่ในเขตเทศบาลนครยะลาอย่างเดียว แต่รวมไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เขาเข้ามาเรียนรู้กับเรา และนอกจากนั้น เราก็ทำภารกิจต่างๆ โดยจุดมุ่งหมายคือการทำให้เด็กและเยาวชนเกิดฉุกใจคิด และทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเขาเองได้ โดยทีเคปาร์ค ยะลา ก็เป็นศูนย์ในการส่งต่อการเรียนรู้ให้กลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเรียนรู้ด้วย” วรนัน เล่า
ทีเค ปาร์ค ยะลา จึงเป็นสถานที่ที่มากกว่าห้องสมุด เพราะมีการส่งเสริมทักษะอาชีพ สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงการเรียนรู้ โดยมีกระบวนการทำงานและการจัดกิจกรรมต่างๆ จากโจทย์ของเทศบาลยะลา ที่ต้องการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
‘อัตลักษณ์’ สร้างอาชีพ สร้างอนาคตให้กลุ่มเปราะบาง
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่มีการทำงานร่วมกับกลุ่มเปราะบาง คือ นวัตกรรมของ ‘บริษัทอัตลักษณ์’ ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กในสถานพินิจ ผู้ต้องขังในเรือนจำ และผู้พ้นโทษ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพและฝึกอาชีพให้กับกลุ่มต่างๆ ตามโจทย์ชีวิตที่แตกต่างกัน
จุดเด่นของบริษัทอัตลักษณ์อยู่ที่การนำเอาหลักการพัฒนาธุรกิจมาผสมผสานกับการทำงานเพื่อสังคม ควบคู่ไปกับการออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตรงกับความต้องการของแต่ละกลุ่ม เพื่อมอบโอกาสใหม่ให้กลุ่มเปราะบางพัฒนาทักษะอาชีพ จนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเลี้ยงชีพตนเองได้ไปตลอดชีวิต
ดนุดา ดวงกมลศานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอัตลักษณ์ จำกัด (กลุ่มกิจการเพื่อสังคม) จังหวัดหนองบัวลำภู เล่าถึงจุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัทว่า เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวในการเป็นศิษย์เก่าอาชีวะที่ได้กลับไปช่วยสอนน้องๆ ที่โรงเรียนอาชีวะ ทำให้เธอเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของพวกเขา แต่ก็พบปัญหาว่าหลายคนที่สร้างสรรค์หรือผลิตผลงานขึ้นมานั้นขาดความรู้เกี่ยวกับช่องทางในการจำหน่าย เธอจึงริเริ่มก่อตั้งบริษัทอัตลักษณ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา โดยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสให้กับคนในชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และหลังจากนั้นก็มีการเข้าไปทำงานกับกลุ่มต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะอาชีพอย่างยั่งยืน
“ในปี 2563 เราได้รับโอกาสจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เลยลองเข้ามาทำดู ซึ่งในปีนั้นทำงานกับ ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ เพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้เราเข้าใจประเด็นของผู้หญิงมากขึ้น จนเกิดเป็น ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวังหินซา’ ซึ่งสามารถดูแลตัวเองได้มาถึงทุกวันนี้
และในปี 2565 ก็ได้ไปทำงานกับ ‘กลุ่มเด็กในสถานพินิจอุดรธานี’ สร้างโครงการขึ้นมาชื่อว่า ‘สร้างอาชีพ เปลี่ยนแนวคิด พลิกชีวิตเด็กหลงทาง’ โดยคอนเซ็ปต์คือการใช้อาชีพที่เราเชี่ยวชาญเข้าไปเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อให้น้องๆ มองเห็นว่าเขายังมีโอกาสอยู่ข้างหน้า เพราะเท่าที่เราเข้าไปทำงานมา น้องๆ หลายคนไม่ทราบเลยว่ามีอาชีพอะไรที่สามารถทำได้บ้าง หรือเขาต้องเรียนต่ออะไร เขาชอบอะไร ค้นพบอะไร ซึ่งเราใช้เทคนิคสร้าง ‘กระเช้าอาชีพ’ ที่หลากหลายจากผู้ประกอบการจริง และให้เขาเลือกสิ่งที่เขาอยากเป็น อยากทำ จนเกิดเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุดรธานี’
สุดท้ายเราก็เข้าไปทำงานกับ ‘กลุ่มในเรือนจำ’ ซึ่งก็ได้เรียนรู้ว่า เราไม่ได้แค่จัดการเรียนรู้ให้เขาอย่างเดียว แต่เหมือนจัดการเรียนรู้ให้ตัวเองด้วย เพราะเราก็ได้เรียนรู้จากเขา ทำให้ทั้งวิทยากร ทีมงาน และทุกๆ คนที่ทำงานตรงนี้ ต่างก็เปลี่ยนทัศนคติของตัวเองไปเลย มีความเข้าอกเข้าใจมากขึ้นและอยากจะมาทำ เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกดีๆ และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง ขยายโอกาสให้เขา”
ดนุดา เล่าว่า ในการทำงานกับผู้ต้องขัง เธอมักจะได้รับคำถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ต้องขังจะไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งเธอให้ความเห็นว่า การที่จะรับประกันว่าบุคคลหนึ่งจะไม่กระทำผิดซ้ำอีกนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นซับซ้อนและมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ แต่อีกมุมหนึ่ง การฟื้นฟูและการให้โอกาสผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
“เราชอบคำหนึ่งว่า ‘ผู้ต้องปล่อย’ พอได้ยินคำนี้ก็เอามาตีความลึกๆ ว่าหมายถึงการปลดปล่อยตัวเอง ซึ่ง ‘ปล่อย’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าปล่อยเขาออกสู่สังคมภายนอก แต่คือการที่เขาต้องปลดปล่อยตัวเองจากความคิดที่ว่าถูกมองในแง่ลบจากสายตาคนภายนอก รวมถึงสังคมก็ต้องปล่อยภาพจำทิ้งไปด้วย”
ในปี 2567 นี้ บริษัทอัตลักษณ์ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้พ้นโทษ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้และสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพจริง ซึ่งภายในเรือนจำจะมีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภายนอก รวมถึงบริษัทอัตลักษณ์ โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อผู้ต้องขังเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอาชีพ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินโครงการ ขณะที่บริษัทอัตลักษณ์ก็จะเข้ามาเติมเต็มโดยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมภายนอกให้มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อผู้พ้นโทษ
“เทคนิคที่เราใช้คือ ‘องค์กรกลาง’ เพราะจากการศึกษางานวิจัยและสัมภาษณ์พบว่าไม่อยากให้หน่วยงานจากเรือนจำเข้ามาติดต่อโดยตรงให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจทั้งผู้พ้นโทษและสังคมรอบข้าง องค์กรกลางนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวผู้พ้นโทษและสังคม ซึ่งผู้ที่มาทำองค์กรกลางก็คือคือผู้พ้นโทษที่แข็งแรงแล้ว และมารวมกลุ่มกันผลักดันองค์กรไปพร้อมๆ กับเพื่อนๆ เขาต่อไป” ดนุดา เล่า
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัทอัตลักษณ์ ไม่เพียงช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะอาชีพและสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำหลักการของการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคม
Café Amazon For Chance โอกาสที่รออยู่ในทุกๆ แก้ว
โครงการ Café Amazon For Chance เป็นโครงการที่นำหลักการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยมีแนวคิดในการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ขาดโอกาสในสังคม ผ่านการฝึกอบรมในรูปแบบที่สอดคล้องกับข้อจำกัดของคนแต่ละกลุ่ม และพัฒนาทักษะให้สามารถเป็นบาริสต้าในร้านกาแฟอเมซอนได้ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่การสร้างอาชีพ แต่จะเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมศักยภาพของผู้เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
ภูรี สมิทธิเนตย์ หัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เล่าว่าจุดเริ่มต้นของโครงการมาจากความต้องการที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยให้โอกาสกับกลุ่มคนที่อาจถูกมองข้าม เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เคยประสบปัญหาทางสังคม ได้มีโอกาสทำงานและมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งเป้าหมายหลักของโครงการ คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ และส่งเสริมการพัฒนาตนเองให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเอง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
“โครงการนี้เกิดเมื่อปี 2016 ช่วงที่ท่านเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นผู้บริหารปตท. ท่านบอกว่าเราได้ช่วยเหลือสังคมมาเยอะแล้ว แต่อยากทำโครงการช่วยสังคมในระยะยาวเพื่อที่จะทำให้เกิดการจ้างงาน เลยกลับมาดูความแข็งแกร่งของเรา ก็เห็นว่าเรามีร้าน Café Amazon ประมาณ 3,300 สาขา จึงอยากช่วยกลุ่มที่ด้อยโอกาส และมองเห็นว่า ‘กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน’ นั้นเป็นกลุ่มที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ซึ่งมีประมาณ 300,000 กว่าค และเป็นกลุ่มที่โตเร็วมากที่สุด เนื่องจากเมื่อมีอายุมากขึ้นก็มีผู้สูงวัยที่สูญเสียความสามารถทางการได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราเลยไปศึกษากลุ่มนี้ว่าเขามีความต้องการอะไรเป็นพิเศษบ้าง สิ่งที่พบคือ ความสามารถทางร่างกายด้านอื่นเขาก็ปกติเหมือนคนทั่วไปเลย แต่สิ่งแตกต่างคือความสามารถในการได้ยินและการสื่อสาร”
เพื่อทำความเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้ระหว่างผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินกับผู้ที่มีการได้ยินปกติ อเมซอนจึงได้เข้าไปศึกษาที่ ‘วิทยาลัยราชสุดา’ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยินโดยเฉพาะ การศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า การสื่อสารและการเรียนรู้ของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้นมีความแตกต่างอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการอ่าน เนื่องจากภาษามือและภาษาไทยมีโครงสร้างทางภาษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินต้องใช้เวลามากกว่าในการอ่านและเข้าใจภาษาไทย
การปรับรูปแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของผู้เรียนจึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ต้องการความใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อเมซอนได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิม โดยนำภาษามือมาใช้ในการสอนสูตรและคำศัพท์ต่างๆ แทนการใช้ภาษาเขียน เนื่องจากภาษามือเป็นภาษาแม่ของผู้พิการทางการได้ยิน ทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
“เราต้องมีการจัดระบบการเรียนการสอนใหม่ เพื่อที่จะให้เขาอ่านเมนูหรือสูตรได้เข้าใจ โดยใช้ภาษามือมาสอนแทนสูตรภาษาไทย โดยที่ให้ล่ามภาษามือมาเรียนรู้กับเราก่อน จากนั้นก็ให้ถ่ายทอดต่อกับกลุ่มน้องๆ ในวิทยาลัยราชสุดา โดยเมื่อกลุ่มแรกเข้าใจ เขาก็จะกลายเป็นเทรนเนอร์ที่จะถ่ายทอดต่อให้คนอื่นๆ และวันนี้เราขยายโครงการ ‘Café Amazon For Chance’ ไปแล้ว 331 สาขา จ้างงานคนพิการ 200 กว่าคน และจ้างงานผู้สูงวัยเกือบ 400 คน
ซึ่งจริงๆ งานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้มีประโยชน์ที่ทำให้เขาเกิดรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เราช่วยพัฒนาในหลายๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ทหารผ่านศึก กลุ่มเด็กออทิสติก ให้สามารถกลายเป็นผู้จัดการสาขาได้ และได้เงินเดือนที่มั่นคงมากขึ้น เพราะถ้าเราพัฒนาความสามารถให้กลุ่มต่างๆ ไปเรื่อยๆ เขาก็จะมีโอกาสได้เงินเดือนที่สูงขึ้นได้ตามวุฒิการศึกษาและความสามารถ”
ภูรี เล่าว่า โครงการ Café Amazon For Chance ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี โดยเริ่มจากสาขาแรก และขยายสาขาออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาขาส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ที่เกิดจากความสนใจของภาคเอกชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม การขยายตัวของโครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความตื่นตัวของภาคเอกชนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน และผู้สูงอายุ
ปัจจุบัน Café Amazon For Chance มีสาขากว่า 331 สาขา ในจำนวนนี้มีสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ของภาคเอกชนประมาณ 50 สาขา และเพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อเมซอนจึงได้กำหนดมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับแฟรนไชส์ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าของแฟรนไชส์และพนักงาน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจและสามารถดูแลผู้พิการทางการได้ยินและผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จของโครงการ Café Amazon For Chance สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมเป็นไปได้และยั่งยืน การที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สังคมและการพัฒนาคน ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้ด้อยโอกาสอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆ ในการนำไปปรับใช้
โดยจุดเด่นของนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นในโครงการเหล่านี้คือการเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละกลุ่ม และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมและสร้างโอกาสให้กับทุกคน การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต