- การเตรียมพร้อมเด็กให้มีสมรรถนะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 และพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต โรงเรียนต้องกล้าเปลี่ยนทั้งระบบ
- ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ครูสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้อยู่ที่การบริหาร ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ หรือวิธีการอื่นๆ แต่ตัวแปรที่มีน้ำหนักที่สุด คือเป้าหมายระยะยาวของเขา ซึ่งหมายถึงคุณค่าระยะยาวของการเป็นครู
- ‘เครื่องมือวัดผลลัพธ์การเรียนรู้’ เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่นอกจากจะช่วยประเมินว่าเด็กเรียนรู้เนื้อหาได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน ยังส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เด็กบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ การเรียนรู้จากการท่องตำราคงไม่เพียงพอ เด็กต้องได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติ รวมถึงการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อให้มีสมรรถนะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 และพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต แต่การที่ผู้เรียนจะสร้างผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ ‘โรงเรียนต้องกล้าเปลี่ยนทั้งระบบ’
สร้างนิเวศการเรียนรู้ สานอุดมการณ์ครู พลังขับเคลื่อนสู่ ‘ผู้ก่อการ’
ในงานมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน ‘All For Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นักการศึกษาหลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเพื่อการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน’
เริ่มจาก รศ. ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ที่ผ่านมามีโอกาสทำงานเรื่องการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในโครงการก่อการครู เป็นโครงการที่ตั้งใจช่วยให้ครูมีพื้นที่การพัฒนา และเป็น community ให้ครูที่มีใจอยากพัฒนาการศึกษาในหน้างานของตัวเองได้ริเริ่มลงมือปฏิบัติการ ซึ่งคำว่าก่อการมีความหมายแฝงของคำว่า ‘ริเริ่ม’ หรือริเริ่มทำสิ่งที่เหมาะสม
“ผมได้มีโอกาสอ่านงานของคุณหมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) ที่เล่าถึงความเป็น teacher agency หรือความเป็นผู้ก่อการของครู ในหนังสือบอกว่าการที่ครูจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงมันมีปัจจัยหลายอย่างมาก ไม่ใช่ว่าครูคนหนึ่งอยากจะทำอะไรแล้วลุกขึ้นมาทำได้เลย แต่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศ หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่โอบล้อมรอบคุณครูอยู่
หมอวิจารณ์ใช้คำว่า ‘เอื้อระบบนิเวศให้คุณครูเป็นผู้ก่อการ’ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจทำวิจัยว่าในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวครูนั้น อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ครูเกิดการเปลี่ยนแปลง”
จากการวิจัยกับคุณครูจำนวน 200-300 คน ที่ รศ. ดร.สิทธิชัย มีโอกาสทำงานด้วยและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตัวเอง พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ครูสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้อยู่ที่การบริหาร ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ หรือวิธีการอื่นๆ แต่ตัวแปรที่มีน้ำหนักที่สุด คือเป้าหมายระยะยาวของเขา ซึ่งหมายถึงคุณค่าระยะยาวของการเป็นครู
“คำถามที่เขาถามตัวเองว่าเป็นครูไปเพื่ออะไร การศึกษามีไว้เพื่ออะไร โรงเรียนมีไว้เพื่ออะไร สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ครูลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน”
นอกจากอุดมการณ์คุณค่าของความเป็นครูแล้ว ‘ประสบการณ์ทางวิชาชีพ’ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครู โดยประสบการณ์วิชาชีพหมายถึง การที่คุณครูได้รับการพัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ที่นำไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงหรือใช้ทำงานกับเด็กได้ แต่ว่าในส่วนนี้ยังมีความสำคัญน้อยกว่า ‘อุดมการณ์ในความเป็นครู’
รศ. ดร.สิทธิชัย ยกตัวอย่าง กลุ่มก่อการครูกาฬสินธุ์ คุณครูกลุ่มนี้ทำงานบนพื้นฐานว่า อยากให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แล้วเชื่อมโยงตนเองกับพื้นที่ของตนเองให้ได้ ซึ่งในช่วงนั้นมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ครูอยากให้นักเรียนเข้าใจว่า PM2.5 เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง สิ่งที่ครูทำคือขับรถพาเด็กๆ ไปที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อไปเจอกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และจัดกิจกรรมเรียนรู้ว่าระบบนิเวศป่าเป็นยังไง เวลาเกิดไฟไหม้ป่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
“ผมถามเด็กที่ไปว่า “ร้อนขนาดนี้ ทำไมถึงออกมาเรียนกับครู” เด็กๆ ตอบว่า “การที่ได้ออกมาเรียนรู้ข้างนอกแบบนี้ ทำให้เขาเรียนรู้คือเขาได้เรียนรู้ตัวเอง ได้เป็นตัวเอง และมีโอกาสได้เจอกับคนที่ทำงานจริง ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้บอกว่า “ในชีวิตการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาไม่เคยได้ทำหน้าที่แบบที่คิดฝันเหมือนวันนี้เลย การได้ขึ้นไปบนภูเขาแล้วบอกเด็กๆ ว่า ไฟไหม้แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ทำงานดับไฟป่ากันอย่างไร เขาภูมิใจมากที่ได้มาเป็นครูอีกคนหนึ่ง”
“เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าครูไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเป้าหมายของการเป็นครูที่จะทำให้นักเรียนคนหนึ่งได้รู้จักตัวเอง ได้รู้จักชุมชน ได้เข้าใจว่าตนเองอยู่ในสังคมยังไง และสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าครูคนนั้นรู้สึกว่าเป็นภาระ ต้องขออนุญาต ต้องทำหนังสือเยอะแยะมากมาย แล้วไม่ได้ตำแหน่งวิชาการใดๆ จากงานนั้นด้วย
ผมว่าสิ่งสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ครูลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือก่อการ คือความรู้สึกว่าเขาเป็นครูเพื่ออะไร แล้วบทบาทของการศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร”
การวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ควรเป็นกระจกสะท้อนไม่ใช่การตัดสิน
‘เครื่องมือวัดผลลัพธ์การเรียนรู้’ เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ช่วยประเมินว่าเด็กเรียนรู้เนื้อหาได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เด็กบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง
ดร.ณัฐา เพชรธนู รักษาการผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สำนักทดสอบทางการศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการสะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ว่ากระบวนการพัฒนาที่คุณครูวางไว้เกิดผลลัพธ์กับผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน ในอดีตเราอาจมองว่าสำนักทดสอบทางการศึกษามุ่งประเมินผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลในเชิงปริมาณ แต่จริงๆ จะเห็นว่าการสะท้อนผลลัพธ์ของผู้เรียนหมายรวมถึงข้อมูลในเชิงคุณภาพด้วย เช่น การซักถาม พูดคุย ซึ่งก็คือความงอกงามเช่นกัน
“ปัจจุบันเราได้พัฒนาหรือว่าจัดกลุ่มตัวชี้วัดซึ่งเป็นเป้าหมายให้เกิดผลลัพธ์กับผู้เรียน ทำให้ครูเห็นชัดว่า เป้าหมายตัวไหนที่สามารถสะท้อนภาพผู้เรียนให้เป็นในเชิงปริมาณได้ ซึ่งแต่ละผลลัพธ์จะมีระยะเวลาในการเห็นความงอกงามที่แตกต่างกัน บางผลลัพธ์อาจใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง แต่บางผลลัพธ์อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น บางผลลัพธ์เราใช้ตัดสินความเจริญงอกงามนั้นได้ แต่บางผลลัพธ์เราอาจจะมองได้แค่ว่าเขามีพัฒนาการมากน้อยแค่ไหน
ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างความเข้าใจให้คุณครูใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพราะตัวหลักสูตรเองก็มีลักษณะของผลลัพธ์ของผู้เรียนที่แตกต่างกัน เครื่องมือของคุณครูก็ควรจะต้องสะท้อนภาพผลลัพธ์ให้ตรงกับสิ่งที่หลักสูตรอยากสะท้อนให้เห็น
อย่างไรก็ดีการที่เรามองผลลัพธ์ของผู้เรียนระยะสั้นด้วยเครื่องมือเชิงปริมาณอาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่าแน่นอน ถ้าหากผลลัพธ์นั้นมุ่งที่การพัฒนาก็ต้องเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ แน่นอนว่าครูแต่ละคนจะมีความถนัดในการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้เราอยากให้คุณครูสร้างสมดุลระหว่างข้อมูลในเชิงปริมาณและคุณภาพ”
ในส่วนของการประเมินระดับชาติ ขณะนี้สำนักทดสอบทางการศึกษาได้พัฒนา ‘เครื่องมือการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test: RT)’ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อช่วยในการวางแผนพัฒนาทักษะด้านการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในระยะยาว
“บางคนอาจจะมองว่าเด็กเพิ่งขึ้น ป.1 จะวัดประเมินผลเด็กแล้วเหรอ แต่อย่างที่บอกว่ากระจกสะท้อนมีหลากหลายมิติ เครื่องมือประเมินความสามารถด้านการอ่านไม่ได้มุ่งหวังสะท้อนเพื่อเป็นการตัดสิน แต่เรามุ่งหวังให้คุณครูใช้เพื่อสะท้อนผลลัพธ์และวางแผนระยะยาวในการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้เรามีเครื่องมือประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT: National Test) ที่วัดความสามารถเมื่อนักเรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เน้นความสามารถด้านการอ่าน และการคิดคำนวณ ซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีหากคุณครูใช้เครื่องมือประเมินที่เป็นกระจกสะท้อนอย่างถูกต้องเหมาะสมตามระยะเวลาของการใช้ เชื่อว่าจะช่วยให้ครูสามารถวางแผนการเรียนการสอนที่ทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนงอกงามไปตามช่วงวัยได้อย่างแน่นอน”
บูรณาการบทบาทหน่วยงาน ยกระดับคุณภาพ ‘โรงเรียนและผู้เรียน’
เพราะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กล่าวถึงก้าวต่อไปในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและผู้เรียน โดยหยิบยกประสบการณ์ที่ได้จากเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้สรุปเนื้อหาออกมาเป็น 2 ภาพคือ ภาพแรกเป็นการถอดบทเรียนในลักษณะของ ‘ห่วงโซ่ผลสัมฤทธิ์ (Results chain)’ ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน ที่มีความเชื่อมโยงกัน ส่วนแรกคือปัจจัยนำเข้า (Input) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความคาดหวังจะเปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯ จากยุค 2.0 ให้เป็น 5.0 นั่นคือการใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งต้องสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาให้กับผู้เรียนด้วย
“ส่วนที่สอง คือ กิจกรรม (Activities) เน้นดำเนินการใน 2 เรื่อง คือการ ‘ลดภาระครู’ ซึ่งท่านรัฐมนตรีบอกว่า ‘เราต้องใช้ AI ในการสอนความรู้ และใช้ครูในการสอนความดี’ สองคือ ‘ลดภาระผู้ปกครองและผู้เรียน’ ทำอย่างไรให้เด็กเรียนจบมัธยมศึกษาได้ไวขึ้น เช่น ถ้าเด็กมีความสามารถก็ไม่จำเป็นต้องเรียนมัธยมปลายอีกสามปี และยังมีแนวคิดส่งเสริมให้เด็กหารายได้ระหว่างเรียน สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
ในส่วนของผู้บริหารหน่วยงานก็ต้องไม่ติดกับดักกับข้อระเบียบ ส่วนที่สาม คือ ผลผลิต (out put) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ‘การศึกษาเพื่อความมั่นคง’ ผู้ที่เรียนจบออกมาต้องมีความสามารถทางด้านวิชาชีพ ความสามารถทางการศึกษา และสิ่งสำคัญที่เอกชนสะท้อนมาคือความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน กลุ่มที่สองคือ ‘การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ’ ผู้เรียนต้องมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ มีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี และการวิเคราะห์ data analytic”
สำหรับส่วนที่ 4 คือ ผลลัพธ์ (Outcome) ที่ออกมา มุ่งหวังความพึงพอใจของผู้ปกครอง สถานประกอบการ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาที่รับผู้เรียนขั้นพื้นฐานเข้าสู่ระบบ และสุดท้ายส่วนที่ 5 คือ ผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้น คาดหวังว่าจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ดร.วรวิชช เล่าต่อถึงภาพที่สองว่า เป็นภาพการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เป็นองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการและองค์การมหาชนในกำกับ เพื่อให้เห็นการบริหารคุณภาพ หรือ Quality Management ในภาพรวม ถ้าเราเข้าใจระบบการประกันคุณภาพการศึกษา การควบคุมคุณภาพที่เน้นที่ตัวผู้เรียน ผมมองว่าสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. จะต้องให้ความสำคัญตรงนี้ เมื่อมีเป้าประสงค์ว่าผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นอย่างไร สทศ. ต้องมีบทบาทในการวัดผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน ส่วน สมศ. จะทำหน้าที่ในการฟีดแบค หรือประกันคุณภาพภายนอก ฟีดแบคผลลัพธ์ของผู้เรียนเพื่อส่งข้อมูลป้อนกลับไปยังส่วนที่เป็นกระบวนการ input หรือ activities
นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสำคัญ คือ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการประกันคุณภาพการเรียนรู้ รวมทั้งยังมีโรงเรียนมหิดลวิทยายุสรณ์ และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจต้องเข้ามาช่วยหน่วยงานหลักจัดการศึกษาเสริมความรู้ผู้เรียน ขณะที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติก็มีส่วนอย่างมากในเรื่องการปลูกฝังวินัย และที่สำคัญคือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีบทบาทช่วยดูแลทั้งสถานศึกษาและผู้เรียนที่ยังขาดความพร้อม
“การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องขับเคลื่อนร่วมกัน หากมองว่า 11 หน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเป็นนักฟุตบอล แน่นอนทุกคนมีตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ต้องสามารถส่งต่อลูกบอลให้กันเพื่อพาลูกบอลเข้าสู่ประตูชัยชนะให้ได้ ดังนั้นผมมองว่าความร่วมมือในการวางแผนคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพสถานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันวางแผนตั้งแต่ต้นทาง”