- เมื่อประตูสู่โอกาสของการศึกษาในระบบไม่สามารถเปิดต้อนรับเด็กๆ ที่มีเรื่องราวในชีวิตต่างออกไป ‘ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง’ จึงขยายบทบาทของตัวเองจากครูในระบบสู่การเป็นครูนอกกรอบของโรงเรียนขยายโอกาส
- ศูนย์การเรียนแห่งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ส่วนชื่อเล่นคือ ‘โรงเรียน 4 ตารางวา’ สื่อว่าขนาดของพื้นที่และงบประมาณไม่ใช่ข้อจำกัดในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
- “เด็กควรที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นคนชั่วคนเลว หรืออยู่ภายใต้เส้นที่เราขีดไว้ไหม …ศูนย์เราทำหน้าที่คล้ายๆ กับป่าชายเลนอนุบาลเด็กไว้ เราเติมเต็มให้เขาเติบโต และพร้อมที่จะไปต่อ”
“เด็ก Drop Out หลายคน พอเดินกลับเข้ามาที่โรงเรียน ประตูของการเข้ารอบสอง มันเปิดน้อยมาก แล้วไม่มีหลักประกันว่าเขาจะอยู่จนจบ”
ประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนกับบทบาทครูฝ่ายปกครองสะกิดใจให้ ‘ครูติ๊ก’ ชัชวาลย์ บุตรทอง เริ่มตั้งคำถามกับการศึกษาในระบบที่ไม่เปิดกว้างเพียงพอสำหรับเด็กๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย และมองหาการศึกษาทางเลือกรูปแบบอื่นที่สามารถมอบโอกาสในการมีชีวิตที่ดีในแบบของตัวเอง จนเป็นที่มาของการออกแบบการเรียนรู้ภายใต้ร่ม ‘โรงเรียนขยายโอกาส’ ที่ใช้ชื่อแบบไม่เป็นทางการว่า ‘โรงเรียน 4 ตารางวา’ …โรงเรียนที่ขนาดของพื้นที่ไม่สำคัญเท่าขนาดของหัวใจ(ความเป็นครู)
“ตอนแรกผมบรรจุเป็นครูอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี แล้วได้กลับมาบ้านที่อุตรดิตถ์ในโครงการครูคืนถิ่น ทำงานที่โรงเรียนตามปกติ ผ่านไปหลายปี ได้เจอเด็กที่เขาทำผิดต้องเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม พอวันที่กลับออกมาเขาขอให้เราบอก ผอ.ว่าขอเข้ามาเรียนได้ไหม ปรากฏว่า ผอ. ก็ไม่เอานะครับ ไม่รับเพราะว่ากลัวเป็นปัญหา… มันเป็นความหวาดกลัวของระบบการศึกษา”
“ตรงนั้น ก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเรามีพื้นที่สักที่นึงที่เป็นโรงเรียนเพื่อรองรับน้องๆ กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะออกมาจากกระบวนการยุติธรรมหรือหลุดออกจากระบบด้วยสาเหตุอื่น เขาสามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการเรียนรู้ได้”
ในที่สุด ครูติ๊กก็เลือกแนวทางการจัดการศึกษานอกระบบในรูปแบบศูนย์การเรียน ซึ่งต่อมาได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยใช้ชื่อว่า ‘โครงการจัดการเรียนรู้นอกระบบ เพื่อพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นและการเห็นคุณค่าในตนของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม’
คำถามแรกที่เชื่อว่าหลายคนก็คงอยากรู้ ทำไมถึงเรียก ‘โรงเรียน 4 ตารางวา’
ชื่อศูนย์จริงๆ คือ ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ซึ่งยาวมาก วันนึงมีการถ่ายวิดีโอกันโดยให้เด็กพูดชื่อศูนย์ เด็กๆ ก็พูดไม่ได้ จำไม่ได้ เราก็เลย อืม…โรงเรียนเรามันเล็กๆ นะครับ ก็เลยตั้งชื่อว่า ‘โรงเรียน 4 ตารางวา’ เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่า พื้นที่แค่ 4 ตารางวาก็สามารถออกแบบการเรียนรู้จัดการศึกษาได้ ไม่จำเป็นต้องใหญ่เหมือนโรงเรียนที่มีสนามกว้างๆ ให้เด็กวิ่งเล่น แต่ว่าเราใช้พื้นที่ที่เรามีอยู่อย่างจำกัดนี้ ในการออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งเราอาจจะต้องทำเรื่องของกลไกในการทำงานให้มันเป็นระบบ เพื่อที่จะรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาที่ทางเขตเขากำกับดูแลเราด้วย
ที่ตั้งชื่อนี้ก็อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยากทำงานการศึกษาทางเลือกเห็นว่า การศึกษามันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาพร้อมกับเงินทองมากมายนะครับ จริงๆ ไม่มีอะไรเลยก็ทำโรงเรียนได้ และโรงเรียนที่เราทำมีความหมาย เพราะว่าเด็ก 35 คน หรือในอนาคตจะมากกว่านั้นก็ได้มีโอกาสเติม ได้มีโอกาสสานต่อความฝันของตัวเอง แล้วก็ก้าวไปข้างหน้าเด็กบอกผมว่า “ถ้าครูไม่ได้กลับมาจากนนทบุรี หนูคงไม่ได้เรียนหนังสือละ”
ศูนย์การเรียนจัดการศึกษาในลักษณะไหน
ศูนย์การเรียนจัดตั้งภายใต้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 12 ซึ่งให้สิทธิบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งศูนย์ของเราอยู่ในร่มขององค์กรเอกชน โดยสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคมได้ขอจัดตั้งศูนย์การเรียนและเปิดทำการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565
ตอนนี้ศูนย์การเรียนมีเด็กอยู่ 42 คน มีทั้งเด็กในพื้นที่และเด็กที่อยู่ไกล โดยศูนย์จะใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็จะเป็น ม.ต้น – ม.ปลาย โดยเราใช้หลักสูตรของ กศน. ซึ่งในแต่ละระดับชั้นจะมีอยู่ 20 รายวิชา วิชาส่วนใหญ่จะเป็นวิชาทักษะการเรียนรู้ วิชาพัฒนาทักษะอาชีพ วิชาสุขศึกษา แล้วก็วิชาการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีเงื่อนไขของกระทรวงศึกษาว่าน้องๆ ต้องมีสถานะเป็นนักเรียนของศูนย์เท่าไหร่ และจะต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง ถึงจะมีสิทธิได้รับวุฒิการศึกษา ก็คือ ม.3 กับ ม.6
ที่ศูนย์เราถ้าน้องๆ อยู่ประมาณ 8 เดือนก็เหมือนอยู่ 2 เทอมนะครับ เพราะว่าเราออกแบบการเรียนรู้ไม่นับวันหยุด เราคิดว่าการหยุดก็ไม่ได้หยุดเรียนรู้ เราไม่ได้ให้นั่งเรียนเหมือนโรงเรียนไงครับ เรานับทุกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของเด็ก การทำงานการใช้ชีวิตการทำกิจกรรมก็เทียบโอนมาทั้งหมดเลย
นอกจากนี้เราก็มีการออกแบบตัวระบบที่เรียกว่า D Learning คือน้องที่ไม่ได้มาทำกิจกรรมต้องเข้าไปทำงานในระบบ ระบบก็จะเปิดให้เข้าไปได้ตลอด แต่ท้ายสุดคือทุกคนต้องเข้าไปสอบเพราะว่าเป็นเงื่อนไขของการจบการศึกษา เราก็ต้องรายงานต่อ สพม. ว่าน้องได้รับการทดสอบแล้วนะ ผ่านแล้ว อย่างนี้ครับ
ครูติ๊กวางแนวทางจัดการเรียนรู้ไว้อย่างไร เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยปัญหาที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
ก่อนที่จะมาทำงานนี้ผมเป็นครูฝ่ายปกครองอยู่พักนึง แล้วก็มีครูบางคนที่อยากให้ไล่เด็กออกให้หน่อย ผมบอกว่าผมเป็นครู ผมจะไม่มีวันไล่เด็กออก แต่พอวันที่เด็กออกเราก็ไม่ได้สนใจมากมาย จนกระทั่งในวันที่เด็กเขาอยากจะกลับเข้ามาเนี่ยมันติดเงื่อนไขมากมาย
เด็กหลายคนที่เป็นเด็ก Drop Out พอเดินกลับเข้ามาที่โรงเรียน มันมีอุปสรรคปัญหาที่ทำให้เขาเข้ามาไม่สำเร็จ เนื่องจากประตูของการเข้ารอบสองมันเปิดน้อยมากสำหรับน้องๆ แล้วบางทีพอเข้ามาแล้วก็ไม่มีหลักประกันว่าเขาจะอยู่จนจบ อย่างกระทรวงก็เคยตามน้องกลับมาเรียน แต่น้องหลายคนกลับมาแล้วก็ไม่ได้จบ เพราะว่ากลไกข้างในโรงเรียนมันยังเหมือนเดิม มันยังไม่ได้ยืดหยุ่นที่จะรองรับน้องๆ กลุ่มนี้
ผมคิดว่าการศึกษาที่ยืดหยุ่น มันอาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กยังคงอยู่ในระบบการศึกษาได้ ฉะนั้นศูนย์การเรียนเราออกแบบการเรียนรู้โดยพยายามยืดหยุ่นให้มากที่สุดครับ เปลี่ยนวิธีการเรียนแบบเดิมให้เป็นแบบใหม่ จากที่นั่งเรียนแล้วก็มีครูสอนก็เปลี่ยนรูปแบบไปเลย เช่น ใช้กิจกรรมของชุมชนร่วมด้วย หรือน้องบางคนที่ทำงานอยู่แล้วก็เทียบโอนสิ่งที่น้องเขาทำงาน ซึ่งหลักสูตรของศูนย์การเรียนเปิดโอกาสให้มีการเทียบโอนผลการเรียนได้ จากทั้งประสบการณ์และสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว
ตอนที่เราได้ทุนสนับสนุนจาก กสศ. เราก็ชวนน้องๆ ทำงานที่ชุมชน จริงๆ ตอนแรกเราอยากจะเติมเรื่องของเซลฟ์อย่างเดียวครับ แต่พอเติมไปปุ๊บ เราเห็นว่าตัวน้องเองพอเขาเติบโต เขาอยากจะทำอะไรบางอย่าง เลยชวนเขาทำงานที่ชุมชน จริงๆ ไปทำไม่กี่ครั้งแต่เราเห็นว่าน้องเป็นคนนำเด็กๆ ในชุมชนได้ จากที่เราคิดว่าเราจะสอนเขาให้เขานั่งฟัง ซึ่งเรามองภาพอย่างนั้น เพราะว่าเราไม่มีประสบการณ์เรื่องการทำงานกับน้องๆ นอกระบบ แต่พอได้ทำงานจริงๆ เราได้เรียนรู้ว่าไอ้แบบนี้ไม่ตอบโจทย์เขาละ เขาอยากทำมากกว่า ก็เลยชวนเขามาทำ ซึ่งน้องๆ หลายคนก็มีศักยภาพมาก
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับการเติม Self esteem ก่อนเป็นอันดับแรก
ผมเข้าใจว่าน้องๆ ที่ผ่านระบบโรงเรียน บางคน Self esteem จะหายไป คุยกับคนทำงานการศึกษาทางเลือกด้วยกันครับ อย่างลูกชายเขาเคยชอบกีฬาฟุตบอล แต่ว่าพอไปเล่นฟุตบอลปุ๊บ ครูบอกว่าไม่ให้เล่นละให้เรียนก่อน บางทีกระบวนการที่ครูเข้าใจว่าเป็นการอบรมสั่งสอน มันทำลาย Self esteem บางทีครูอาจจะพูดว่า เธอตัวเล็ก เธอไม่ควรจะเล่นฟุตบอล ควรจะเรียนหรือควรจะอ่านหนังสือให้ออกก่อน..อะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันทำลายเซลฟ์ หรือเด็กเอางานมาส่ง ครูด่าเลยเพราะเขียนผิด ไอ้เซลฟ์ตัวนี้มันหายไปทีละนิดทีละนิด เด็กก็เลยรู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง
ก็เลยนึกถึงช้างเวลาไปเที่ยวสวนสัตว์ ช้างตัวใหญ่ๆ ที่เขาถูกล็อกด้วยโซ่เส้นเล็กๆ ทำไมมันกระชากไม่ได้ ขณะที่ท่อนซุงใหญ่ๆ เขายังลากไหว ผมคิดว่าไอ้ตัวความเชื่อที่มันถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเขานั้นไม่มีความสามารถ ซึ่งเด็กนอกระบบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เกรดน้อย ติด 0 มาก่อน หรือว่าเกรด 1 อย่างนี้ครับ เขาเชื่อว่าตัวเลขที่โรงเรียนให้ตัดสินเขาไปแล้ว สังคมเองก็เชื่อว่า 1 หรือ 0 เนี่ยโง่แน่นอน เขาก็ต้องยอมจำนนว่า ไอ้สิ่งที่ยืนยันว่าเขาได้เกรด 1 หรือ 0 คือความความโง่ของเขาไงครับ ซึ่งสิ่งนี้ติดตัวระยะยาวนะ เปลี่ยนไม่ได้ จะย้อนกลับมาเปลี่ยนเกรดตอน ป. 1 ไม่ได้เลย แม้ว่าเขาจะมีศักยภาพนะครับ
ดังนั้นแล้วพอเด็กกลายเป็นเด็กนอกระบบ สังคมก็ประทับตราเขาว่าไม่เรียน เด็กเกเร อะไรอย่างนี้ ตัวเซลฟ์เขาก็ไม่เหลือ พื้นที่เดียวที่เขาจะมีคือพื้นที่ที่เพื่อนๆ จัดสรรให้นะครับ เช่น ตามท้องถนน ตามซุ้ม ตามอะไรแบบนี้
เด็กก็จะไปตรงนั้น เพราะเขาไม่มีพื้นที่ ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากไป แต่ว่าพื้นที่เดียวที่เขามีตัวตน ได้รับการยอมรับก็คือบริเวณนั้น
พอเราจัดพื้นที่เติมเซลฟ์ให้เขา โดยเราส่งเด็กไปทำกิจกรรมที่กิ่งก้านใบ 3 วัน 2 คืน เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ อย่างเรื่องมุมมองต่อการใช้ชีวิต เด็กบางคนที่เคยใช้กัญชาเขาเลิกใช้เลย แล้วก็อยากจะลาออกจากงานเพื่อที่จะไปอยู่ไร่กิ่งก้านใบ แต่ว่าพอเวลาผ่านไปเราก็ทำความเข้าใจว่า เราต้องมีชีวิตในแบบของเรานะ เราจะไปอยู่ที่โน่นไม่ได้ ปัจจุบันนี้น้องก็เลิกใช้กัญชาแล้วนะครับ แล้วก็มีมุมมองต่อชีวิตอีกแบบนึง
พอเซลฟ์มันถูกเติม ผมคิดว่าเด็กเขาก็เปลี่ยน แล้วระยะแรกถ้าเราไม่เติมเซลฟ์มาตั้งแต่ต้น เราจะทำกระบวนการขั้นที่ 2 ที่ 3 จะให้เขาไปทำงานชุมชนก็คงไม่ได้
หลังจากเติมเซลฟ์ให้เด็กๆ แล้ว กระบวนการขั้นต่อไปคืออะไร
ตอนแรกก็คิดว่าเดี๋ยวเราจะฝึกอาชีพละ แต่พอพาน้องไปทำงานฝึกอาชีพมันไม่ตอบสิ่งที่เขาอยากทำ ก็เลยมาวางแผนว่าจะทำอะไรดี ตอนนั้นเราไปเย็บกระเป๋าเล็กๆ ครับ เพ้นท์ผ้าเพ้นท์กระเป๋า เพื่อที่จะชวนกันคุยว่าเราจะทำอะไรต่อ น้องก็บอกว่าอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมสักอย่างนึง ป้าเรซึ่งทำงานกับเรา (เรวดี กล่ำศิริ รองประธานชุมชนเจริญธรรม) แนะนำว่า ชุมชนเจริญธรรมก็มีพื้นที่นะ แล้วก็คุยกันว่าเดี๋ยวเราชวนน้องๆ มาทำพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กๆ พอวันไปทำจริงๆ เราจัดงานเป็น ‘โครงการเจริญธรรมเจริญดี’ เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในพื้นที่ ปรากฏว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลย เด็กจัดการให้หมด ทั้ง Backdrop อะไรเขาขึ้นให้หมด
คือจากเด็กนอกระบบที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความฝัน ไม่มีพื้นที่สำหรับการทำงาน พื้นที่สำหรับการแสดงออก เขาเริ่มที่จะมีความรับผิดชอบในงานที่เขาได้ทำได้รับมอบหมาย เราแค่เป็นกลไกหนึ่งที่จัดประสบการณ์ให้เขาครับ
เหมือนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่ามีตัวตน?
ใช่ครับ คือเขากลายเป็นคนให้คนอื่น สอนเด็กคนอื่น การที่ตัวเองมีสิทธิได้สอนคนอื่นผมว่ามันป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง มีสิทธิทำให้คนอื่นมีความสุข แล้วน้องๆ ก็นับถือเขา น้องๆ ก็นับถือพี่ เด็กเขาจะมีบุหรี่ไฟฟ้าคนละอันห้อยคอ เขาจะไม่สูบ เพราะว่ามีเด็กตัวเล็กๆ เขาตระหนักว่าน้องตัวเล็กๆ ถ้าเห็นว่าเขาทำแบบนี้มันไม่ดี เพราะเขาเริ่มมีเซลฟ์อยู่ในตัวแล้วเขาจะไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นจะมองว่าเขาไม่ดี
เด็กเขาเริ่มมองเห็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น?
คือเด็กที่ไม่ได้เรียน มันไม่รู้จะออกแบบอนาคตยังไง เพราะว่าในบ้านเราถ้าไม่มีวุฒิการศึกษามันก็ไปต่อไม่ได้ เด็กที่ Drop out อยู่ ก็จะเที่ยวเตร่ไปวันๆ เพราะไม่รู้จะออกแบบชีวิต หรือวางแผนอะไรที่ไกลกว่านี้ เพราะมันไม่มีทางที่จะเป็นจริง อย่างสมมุติว่าอยากทำงานดีๆ เขาไม่มีทางที่จะออกแบบได้เลย เพราะว่าวุฒิ ม. 1 จะไปทำงานดีๆ ได้ยังไง พอเขาได้มีโอกาสกลับมาเรียน เขาเริ่มปะติดปะต่อได้ว่าเขาอยากจะเป็นอะไร
อะไรคือผลลัพธ์ที่ครูติ๊กคาดหวังกับเด็กๆ
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นตัวชี้วัดก็คือ เขาได้เริ่มวางแผนชีวิต แต่ไม่ใช่น้องๆ ทุกคนจะเริ่มไปถึงขั้นวางแผนได้นะครับ ก็มีน้องๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เริ่มวางแผนว่าจะไปยังไง การวางแผนของเขาหมายถึงเป็นสัญญาณนึงนะว่าเขามีความพร้อมที่จะไปต่อ
คือเด็กๆ พอออกจากระบบการศึกษาปุ๊บเขาก็ไม่รู้จะยังไง เขาเปราะบาง ศูนย์เราทำหน้าที่คล้ายๆ กับป่าชายเลนอนุบาลเด็กไว้นะครับ เราเติมเต็มให้เขาเติบโต พอเขาพร้อมที่จะไปต่อ ก็ควรที่จะให้เขาไปต่อ
ดังนั้น การศึกษาที่เราจัดไม่ควรจะยาวนานจนทำให้เขาท้อแท้ เด็กนอกระบบส่วนใหญ่อายุเยอะ ที่ศูนย์เรามีน้อง 13 คนเดียวที่อายุน้อย ที่เหลือมากสุดก็อายุ 24 ปีนะครับ ยังเรียน ม.ปลายอยู่เลย ถ้าเรายังให้น้องเรียนอยู่อีกตั้ง 3 ปีหมายความว่าเขาจะอายุ 27 นะครับ ไปต่อมามหาวิทยาลัยก็เป็นโอกาสที่ล่าช้าแล้วครับ
สำหรับครู อะไรคือความท้าทายของการทำงานกับเด็กนอกระบบ
ความท้าทายของการทำงาน ผมว่าคือการเข้าถึงน้องๆ ยากนะครับแม้ว่าจะเจอน้องและรู้ว่าเขาอยู่ตรงนี้ แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ ยิ่งน้องในกระบวนการยุติธรรมยิ่งเข้าถึงยากไปอีกครับ น้องกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษามากกว่ากลุ่มอื่นเลย บางครั้งน้องบางคนก็ไม่กล้าที่จะกลับเข้ามาเพราะว่าไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำได้สำเร็จ น้องที่ใช้ยาเสพติด เราชวนไปที่กิ่งก้านใบ แล้วเขามาขอว่าผมไม่ไปนะ เพราะผมก็ยังใช้ยาเสพติดอยู่ ไอ้เงื่อนไขที่เขามีในตัวเองก็เป็นความยาก ท้ายสุดเราต้องเปลี่ยนรูปแบบของการทำงาน ก็คือใช้กลไกของของภาคีที่อยู่ในชุมชน ซึ่งเรามีฐานอยู่แล้ว
ความท้าทายอีกอย่างคือทัศนคติของคนทำงานครับ ตอนนี้เรามีคนทำงานอยู่ 3-4 คนแต่เป็นคนที่ไม่มีเงื่อนไขกับน้องๆ ถ้าสมมุติว่าคนทำงานอยู่บนพื้นฐานของความกลัว ทุกอย่างมันจะยาก เหมือนผมเมื่อก่อนไปทำงานก็กลัว กลัวว่าจะอย่างนู้นอย่างนี้อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ไม่กลัวแล้ว เพราะเราคิดว่าไอ้สิ่งที่คาดการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นเลย เราก็เลยออกจากความกลัว ทีนี้พอเราไม่มีความกลัวผมคิดว่ามันก็ไม่ยาก เพราะได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างน้องอยู่ที่ศูนย์ บางทีน้องก็หายไปเลย เมื่อเช้าทักมาบอกว่า ผมจะสมัครเรียนใหม่ทำยังไง ก็ให้มาสมัครเรียนใหม่ได้เลย
จริงๆ เริ่มแรกอาจจะยาก แต่ว่าศูนย์ก็ได้รับการช่วยเหลือจากหลายๆ คนที่เข้าใจน้องๆ คือเราทำงานในโรงเรียนเราจะรู้ว่าครูมองเด็กยังไง แต่ว่าเราไปบอกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเขาก็จะหาว่าเราเพ้อฝันอะไรอย่างนี้ แต่พอเรามาเจอคนทำงานเพื่อสังคม แม้เขาเป็นชาวบ้านไม่มีความรู้อะไรเลย เขาก็ยังมีมุมมองที่เข้าใจเด็กมากกว่า ในขณะที่เราเรียนมาสูงมากเลย เรียนจิตวิทยาการศึกษา เรียนเรื่องทุกอย่างทั้งหมดที่เกี่ยวกับการศึกษา แต่เรามองเด็กคล้ายๆ เป็นศัตรู เราใช้สิ่งที่เรามีเป็นอาวุธ แทนที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเด็ก เช่น เด็กเรียนไม่เก่งให้ 0 ซะเลย ใช้สิ่งที่เรามีอยู่เนี่ย ร่ำเรียนมาตั้ง 6-7 ปี เพื่อเป็นอาวุธในการประหัตประหารเด็กนะครับ พยายามขับให้เด็กหลายคนต้องออกจากระบบการศึกษา
โดยเฉพาะตอนนี้เจอปัญหาว่าเด็กพิเศษ มักจะถูกโรงเรียนขับออกจากระบบการศึกษา ด้วยการกดดันผ่านครอบครัวให้ย้ายโรงเรียน ซึ่งเราทำงานที่โรงเรียนก็เห็น ครูเขียนไปว่าเด็กมีพฤติกรรมแบบนี้นะ ย่าต้องเขียนตอบไปด้วยตัวหนังสือผิดๆ ถูกๆ เพื่อจะอธิบายว่าหลานเขาป่วยเป็นอะไร มีใบรับรองแพทย์ แต่คนที่มีความรู้ด้านการศึกษากลับไม่เข้าใจว่าเด็กเป็นอะไร ถามว่าทำไมเราต้องโอบอุ้มเด็กไว้ เพราะว่าระบบการศึกษามันต้องดูแลเด็กๆ เพื่อที่จะให้เขาขยับต่อไปได้นะครับ
ในฐานะที่เป็นครูในระบบด้วย อะไรคือนิยามความเป็นครูที่ตรงใจครูติ๊ก
คือผมเติบโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน เราหวังว่าเราจะเป็นครู ก็คือเรียนแล้วก็สอบรับราชการ แล้วก็คิดว่าชีวิตนี้สบายละ เรารับราชการเราเหนือกว่าใคร การทำงานในโรงเรียน จริงๆ ก็ช่วยเด็กได้ส่วนหนึ่ง แต่ว่าพอเราเข้ามาทำงานกับน้องๆ นอกระบบ เราคิดว่าการเป็นครูมันไม่ต้องยืนอยู่ แล้วก็มีเด็กแบบว่าอยู่เป็นบริวาร “ตักน้ำให้ครูหน่อย” “เธอจะเรียนไหม ถ้าไม่เรียนครูจะไม่สอน” อะไรอย่างนี้
คือทุกคนมันควรจะมีโอกาสเท่าเทียมกัน เด็กก็ไม่ต้องมาต่ำกว่าเรา เขาก็ควรเป็นเพื่อนของเราได้ มีพื้นที่ที่จะบอกเราว่าทำอะไรอย่างโน้นอย่างนี้ดีไหม มันมีประโยชน์มากกว่าที่จะเป็นครูที่คอยแต่สั่งคอยแต่กำกับ อันนี้ก็ผิดอันนั้นก็ผิด ชีวิตนี้เด็กไปโรงเรียน 200 วันต่อปี แทบจะไม่มีวันที่ทำอะไรถูกเลย เด็กจะเป็นอย่างไร
ครูในหมายความของผมก็คือ คนที่มองเด็กๆ ทุกคนว่า เขาก็เป็นเด็ก เขาควรที่จะได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่ว่าจะยากดีมีจน เป็นคนชั่วคนเลว หรืออยู่ภายใต้เส้นที่เราขีดไว้ไหม อย่างปกติเราเป็นครูเราจะขีดเส้นว่า ใครอยู่ข้างบนนี้คือคนดี ใครอยู่ข้างล่างคือคนไม่ดี เราก็ไปลบไอ้เส้นนั้นออกซะ เพราะว่าในสังคมหลายๆ กรณีมันแล้วแต่ว่าใครมีวิถีชีวิตแบบไหนมากกว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จบปริญญาตรีจะถูกนิยามว่าเป็นคนดี เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะถูกนิยามว่าไม่เป็นคนดี อันนี้ก็เป็นภาพที่สะท้อนว่าน้องๆ กลุ่มนี้ถูกประทับตรามาแบบนี้ครับ พอเขามาเจอโลกของการศึกษาที่ให้พื้นที่เขา เขาก็เลยเติบโต ผมคิดว่าเขากำลังเติบโต
ซึ่งมันก็เชื่อมโยงมาถึงแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย?
ผมคิดว่าเด็กควรจะได้เลือก ได้เลือกว่าจะเรียนแบบไหนมากกว่า คืออย่างประเทศเรานะครับ เด็กเกิดมาได้ 3 ขวบก็ถูกจับแต่งตัวชุดนักเรียนไปโรงเรียนละ จริงๆ เด็กวัยนี้เขาต้องได้เล่นนะครับ แต่พอไปโรงเรียนเขาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเล่นไปสู่การเรียน แม้สิ่งที่โรงเรียนทำจะถูกนิยามว่าเป็น Active Learning หรือทักษะศตวรรษที่ 21 ก็อาจเป็นแค่มายาคติที่ทำให้โรงเรียนได้ครอบครองพื้นที่การเรียนรู้ทั้งหมด จริงๆ เด็กอยู่ในชุมชนเด็กก็ได้เรียนรู้นะครับ วันเสาร์-อาทิตย์ก็ได้เรียนรู้ แต่ว่าการเรียนรู้แบบนี้มันไม่ถูกนับรวมว่าเป็นการเรียนรู้ของเด็ก หรือถูกพรากไปหรือถูกนิยามให้ไร้ค่า อย่างเด็กไปเล่นดนตรีก็ไม่มีความหมายในโรงเรียนนะครับ แม้ว่าจะเก่งดนตรีขนาดไหน ไอ้เกรดเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกมานับเป็นผลการเรียน
ผมคิดว่าถ้าการเรียนรู้ในโรงเรียนยังบังคับให้เด็กเรียนในสิ่งที่เขาไม่ชอบ วันนึงเขาก็ต้องออกจากระบบโรงเรียนไป แต่ว่าในอนาคต ระบบสังคมอาจจะยอมรับเรื่องการศึกษาทางเลือกมากขึ้น วันนี้อาจจะดีนิดหน่อย แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 5 – 10 ปีที่แล้ว การศึกษาทางเลือกแทบไม่ได้เป็นที่ยอมรับหรือรู้จักในอุตรดิตถ์เลย คนทำโฮมสคูลในอุตรดิตถ์ เด็กในโฮมสคูลจะถูกดูถูกว่าเป็นเด็กไม่มีเพื่อน พอวันนี้นะครับ เด็กในโฮมสคูล มีโอกาสที่จะไปเจอเพื่อนๆ มากมาย ในขณะที่เด็กในโรงเรียนถูกขังไว้ที่โรงเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น มีเวลาเล่นแค่ชั่วโมงเดียวคือพักเที่ยงเท่านั้นเอง
ผมว่าการศึกษาถ้าออกแบบให้มันยืดหยุ่น ออกแบบให้มันตอบโจทย์ชีวิตของน้องๆ หลายคนอาจจะหลั่งไหลออกมาอยู่แบบนี้ คือน้องๆ บางคนเขาขยาดกับการไปโรงเรียนแล้วนะครับ แม้ว่าโรงเรียนจะชวนเขากลับไปเขาก็ไม่อยากกลับ เพราะกลับไปก็เหมือนเดิม ท้ายสุดเขาอาจจะคิดว่าเขาต้องหลุดแน่ เพราะโรงเรียนมันไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เขาชอบ
ครูติ๊กมองบทบาทตัวเองในโรงเรียน 4 ตารางวาอย่างไร
เป็นครูครับ เป็นครูที่มีความสุขที่ได้ทำงาน เหมือนได้เติมเต็ม เพราะว่าในสังคมโรงเรียนเราไปมุ่งเน้นอย่างอื่นมากกว่าที่จะสร้างการเรียนรู้ อันนี้ก็ไม่ได้อันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ติดอันนั้นก็ติด เช่นการจะรับเด็กเข้าเรียน อย่างวันนั้นผมไปเจอเด็กเดินอยู่ตามทาง เขาขาดเรียนไปสักสองอาทิตย์ละ ผมถามว่า “หนูเรียนอยู่ที่ไหน” “ผมไม่ได้เรียนแล้วครับ ผมโดนไล่ออก ผมขโมยตังค์” ผมก็เลยถามว่า “หนูอยากเรียนไหม” “ถ้าอยากเรียนให้ไปหาครูที่โรงเรียน” (โรงเรียนในระบบที่ครูติ๊กทำงานประจำ)
อีกวันเขามาจอดจักรยานรอที่หน้าประตูตั้งแต่เช้า ผมบอกให้เข้าไปสมัครเลย พอเข้าไปก็ติดเงื่อนไขคือต้องให้ผู้ปกครองพามาสมัครอีก อะไรอย่างนี้ ซึ่งน้องเขาพ่อพิการเดินไม่ได้ ก็ต้องมีคนหิ้วมา คือการเข้าเรียนมันมีเงื่อนไขมากมาย แต่ว่าศูนย์การเรียนผมบริหารจัดการเอง ผมอาจจะไปดูที่บ้านเองว่าน้องเขาอยู่ยังไง ก็แค่นั้น คือเราตัดสินใจเบ็ดเสร็จ เพราะว่าความเบ็ดเสร็จที่เราทำนั้นมันเป็นประโยชน์กับเด็ก การสร้างเงื่อนไขมากมายจริงๆ ไม่จำเป็นเลย การเซ็นชื่อใบสมัครก็ฝากเด็กเขาไปให้พ่อเซ็นมาก็ได้
อะไรที่มันเป็นประโยชน์กับเด็ก ไม่เห็นจำเป็นต้องมีเงื่อนไขเยอะนะครับ อย่างศูนย์ผมรับหมดเด็กทุกคน เด็กที่พอจะไปโรงเรียนได้ ผมก็จะไปไว้ที่โรงเรียนที่ผมทำงาน เด็กที่ไม่มีความพร้อมเลยก็จะให้มาที่ศูนย์การเรียนนี้ครับ
ความเป็นครู หรือความเป็นโรงเรียน เมื่อมันไม่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของเด็ก แล้วมันไปยึดโยงอยู่กับอะไร
คือครูในโรงเรียนเราทำงานแบบระบบราชการ ตอนเช้าเด็กเริ่มเรียน 8 โมงครึ่ง บ่าย 3 ครึ่งก็เลิกเรียน พอเป็นระบบราชการบางคนก็อาจไม่สนใจอะไร แล้วครูหลายคนก็อาจจะยังมีมุมมองต่อเด็ก เหมือนเป็นศัตรูกับเด็กนักเรียน ต้องมีการลงโทษ แถมบางทีผู้ปกครองก็มาบอกว่าตีได้เลยนะครู จริงๆ การลงโทษในโรงเรียนมันไม่ควรจะเกิดขึ้นนะครับ อีกอย่างครูมักจะเข้าใจว่าตัวเองถ่ายทอดความรู้ให้เด็กยังไงก็ได้ ด้วยวิธีการไหนก็ได้ จะไม่ถ่ายทอดให้ก็ได้ เพราะว่าความรู้เป็นของเรา เธอไม่ต้องเรียนถ้าเธอไม่พร้อม จริงๆ แล้วเราเป็นบริการที่รัฐจัดให้ประชาชน เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
ถึงที่สุดครูติ๊กคาดหวังอะไรจากโรงเรียน 4 ตารางวา
ความคาดหวังเริ่มแรกผมคิดว่าน่าจะเป็นที่ให้เด็กได้มาเรียนได้วุฒิการศึกษาแค่นั้นนะครับ หลังๆ พอทำงานไปเราก็คิดว่ามันน่าจะมากกว่านั้น อาจจะเป็นเรื่องของทักษะหรือการช่วยเขาออกแบบชีวิต
โรงเรียน 4 ตารางวาเป้าหมายก็คือการชวนเด็กๆ ที่อาจจะเป็นเด็ก drop out หรืออะไรแบบนี้ให้เขาได้ออกแบบชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เติมทักษะต่างๆ ที่เราพอจะมีเครือข่ายอยู่ให้เด็กได้ขยับต่อ แต่ที่สำคัญคือการมีวุฒิการศึกษา เพื่อรับประกันว่าเด็กสามารถที่จะเลื่อนชั้นต่อไปได้
เราเข้าใจเรื่องหลักสูตรเพราะเราเป็นครูไงครับ เราก็เลยมองว่าอันนี้ได้นะ เราทำแบบนี้ได้เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร แล้วเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกกฎหมาย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องวางแผน ผมคิดว่าอนาคตต่อไปเป้าหมายที่สำคัญ คือการไม่หยุดที่จะดูแลน้องๆ แม้ว่าเขาจะจบจากศูนย์เราไปแล้ว เพราะบางทีเขาก็ไม่รู้จะไปต่อยังไง ถ้ามีช่องให้เดิน เขาอาจจะเดินไปได้ไกลมากกว่านี้อีกครับ เราจะพยายามดูแลโดยใช้กลไกเครือข่ายเพื่อที่พยุงน้องๆ ให้ไปถึงเป้าหมาย บางคนอาจจะมีเป้าถึงปริญญาตรี บางคนอาจจะมีเป้าแค่ ปวส. บางคนจบ ม. 6 แล้วอยากไปทำงาน เราพยายามจะดูตรงนี้ แม้ว่าศูนย์จะไม่ได้ซัพพอร์ตเรื่องของเงินให้น้องได้ทั้งหมด
จากการทำงานภายใต้โครงการนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือทุกคนสามารถเป็นนักจัดการเรียนรู้ได้?
ผมคิดว่าเมื่อก่อน การศึกษาก็อยู่ตามบ้านตามวัด ตามสิ่งที่เขามีตามพื้นที่ต่างๆ พอการศึกษาในระบบยึดครองสิ่งเหล่านี้มา บ้านที่เคยเป็นพื้นที่การเรียนรู้มันถูกทำให้เป็นของไร้ค่า ไม่ว่าบ้านไหนจะมีความรู้เรื่องดนตรี แกะสลัก งานช่าง สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นของไร้ค่าทันทีเลย ทั้งที่ความรู้ที่เขาถ่ายทอดกันมามันก็เป็นความรู้ เมื่อก่อนเราจะเรียกว่าครู เป็นครูเพลง ครูดนตรี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าทุกคนมีความรู้ที่จะส่งต่อให้กับเด็กๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้แบบไหนนะครับ บางคนเก่งเรื่องสมุนไพร บางคนเก่งเรื่องทอผ้า บางคนเก่งเรื่องซ่อม เรื่องอะไรต่างๆ ก็ควรจะเป็นความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน แต่ว่าเราจะออกแบบยังไงให้สามารถบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรได้ เพื่อที่จะทำงานสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
มองกลับมาที่ตัวเอง ครูติ๊กเรียนรู้อะไรจากการทำงานตรงนี้คะ
ผมคิดว่าผมรู้จักเด็กนอกระบบมากกว่าเดิม คือเมื่อก่อนเรารู้ว่าเด็กนอกระบบก็คือเด็กที่ไม่เรียนหนังสือ ตอนมาทำงานใหม่ๆ ลุงผมบอกว่า ขี่รถมาโรงเรียนเนี่ยอย่าขี่ทางเดิมนะต้องสลับเส้นทางบ้าง เผื่อว่ามีคนดักทำร้าย อะไรอย่างนี้ คือมันก็เป็นภาพนึงนะครับที่คนเป็นครูมอง แล้วเราเป็นครูที่ทำงานแบบนี้ สมัยก่อนเขามองว่าเป็นการสงเคราะห์ เราต้องช่วยเหลือเด็กยากไร้ แต่จริงๆ เด็กหลายคนไม่ได้อยากให้เราสงเคราะห์นะครับ การทำงานการศึกษาต้องเข้าใจว่าเด็กหลายคนไม่ได้ต้องการการสงเคราะห์ แต่การศึกษาเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้เขาเท่านั้นเอง
ถ้าเราทำงานการศึกษาแบบสงเคราะห์ เด็กที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเขาจะตัวเหลือนิดเดียว เวลาเด็กมาหาเราเขาอาจจะคลานมาเพราะว่าซาบซึ้งในพระคุณ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมไม่อยากทำ เราอยากให้การศึกษาทำให้ทุกคนเท่าเทียมแล้วก็เติบโต
และผมเรียนรู้ว่าการเป็นครู ไม่ต้องให้เด็กมาไหว้ครูเพราะว่าเราเป็นผู้มีพระคุณ อย่างเด็กบอกอยากจะเรียนจบแล้วจะได้มาช่วยครูทำงานที่ศูนย์ เพื่อที่น้องๆ หรือเพื่อนๆ คนอื่นจะได้มีโอกาสมาเรียนบ้าง เราก็ดีใจแล้ว
พอทำงานไปมากๆ ผมก็ได้รู้ว่าในพื้นที่อุตรดิตถ์มีคนทำงานเพื่อสังคมอยู่ ไม่ใช่เราทำอยู่แค่คนเดียว แล้วก็มีหลายๆ หน่วยงานที่มาสนันสนุน หลายหน่วยงานที่พร้อมที่จะเคลื่อน ขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำมันสอนให้รู้ว่า การทำงานเล็กๆ ไม่ต้องมีตังค์อะไรก็สามารถที่จะขับเคลื่อนการศึกษาได้ แต่ว่าอาจจะต้องใช้การประสานทรัพยากรที่มีให้ดี
ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการทำศูนย์การเรียนที่ไม่มีพื้นที่เลย แล้ววันนึงก็พัฒนามาเป็นศูนย์ที่ด้านหน้าบ้าน และตอนนี้พัฒนาต่อมาจน คนในอุตรดิตถ์หลายคนรู้จัก อนาคตศูนย์การเรียนน่าจะเติบโต และเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ได้มากขึ้น ที่สำคัญคือเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากทำงานการศึกษา ว่าพื้นที่แค่ 4 ตารางวาก็สามารถออกแบบการเรียนรู้ได้