- เมื่อเรามองอีกมุมหนึ่ง ‘บาดแผล’ อาจไม่ใช่เพียงรอยแผลที่น่าเกลียด แต่คือแหล่งพลังงานอันยิ่งใหญ่ที่หล่อหลอมชีวิตเราให้แข็งแกร่งและงดงามที่จะเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นพลังให้เราเติบโตและค้นพบความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของชีวิต
- การเติบโตงอกงามจากปัญหาต้องไม่ได้เกิดจากการที่ถูกยัดเยียด และการให้เวลากับความโศกเศร้าเสียใจก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป โดยเฉพาะการเจอเหตุการณ์ที่เลวร้าย
- การเยียวยาไม่ใช่การลืมเลือน แต่คือการยอมรับ และเติบโตไปพร้อมกับความเจ็บปวดนั้น
“ในความมืดมิดที่สุด มักมีแสงสว่างรำไร”
ประโยคนี้คงเป็นเพียงถ้อยคำปลอบโยนที่เลื่อนลอยไร้ความหมาย หากคุณกำลังจมดิ่งอยู่ในห้วงอารมณ์ของความทุกข์จากเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ความคิดที่ว่าจะเติบโตงอกงามจากความเจ็บปวดอาจดูห่างไกลความเป็นจริงราวกับเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ หรืออาจรู้สึกเหมือนมีคนมาบอกให้ “สู้ๆ” ทั้งที่กำลังรู้สึกว่า “จะสู้กับอะไร แค่นี้ก็ไม่ไหวแล้ว”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับบางคนบาดแผลทางจิตใจจะยังคงอยู่ แต่ผมอยากชวนมองอีกมุมหนึ่ง มุมที่บาดแผลไม่ใช่เพียงรอยแผลที่น่าเกลียด แต่คือแหล่งพลังงานอันยิ่งใหญ่ที่หล่อหลอมชีวิตเราให้แข็งแกร่งและงดงามที่จะเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นพลังให้เราเติบโตและค้นพบความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของชีวิต
การเติบโตงอกงามจากบาดแผล (Post-traumatic Growth) คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลสามารถปรับตัวและเติบโตขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เลวร้ายโดยตรง แต่เกิดจากการต่อสู้ดิ้นรนกับความเจ็บปวด การตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำๆ ว่า
“ทำไมต้องเป็นเรา?”
“เราจะผ่านมันไปได้อย่างไร?”
กระบวนการเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อหลอมเราให้เติบโต เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ต้องเผชิญกับพายุ หากพายุไม่รุนแรงพอ ต้นไม้อาจไม่จำเป็นต้องปรับตัว แต่เมื่อต้องเผชิญกับพายุที่โหมกระหน่ำ ต้นไม้จะถูกบังคับให้หยั่งรากลึกลงดิน เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาออกไป เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้
เช่นเดียวกับมนุษย์ ระหว่างที่คุณกำลังอยู่ในห้วงอารมณ์ที่ดำดิ่ง แล้วคุณพยายามดิ้นรนต่อสู้กับมันนั่นแหละที่ทำให้คุณเติบโต นั่นหมายความว่า ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นแล้วเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร หรือปัญหาไม่ได้ใหญ่มากพอที่จะสั่นสะเทือนหรือทำให้เครียดในระดับที่สูงก็จะไม่ได้ทำให้เราเติบโต เพราะเราก็อาจจะคิดว่าวิธีคิดในการใช้ชีวิตแบบเดิมดีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร
มนุษย์ทุกคนเติบโตมาพร้อมกับความเชื่อบนโลกนี้ที่ต่างกันออกไป ตามสถานการณ์ที่เคยเจอและการรับรู้ตีความของตัวเอง
บางคนอาจโตมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่า หากเราไม่ยอมเสียสละความต้องการตัวเองเพื่อให้คนอื่นมีความสุข เราก็จะไม่ถูกรัก เขาก็จะพัฒนาบุคลิกภาพที่ยอมคนอื่น ไม่มีจุดยืนในตัวเองที่ชัดเจน จุดแข็งที่มีของบุคลิกภาพแบบนี้คือการเป็นคนที่ดูอ่อนโยน ใจดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเสี่ยงที่จะโดนเอาเปรียบ หรือโดนมองข้ามหัวจนสะสมเป็นความรู้สึกโกรธคนอื่นอยู่ลึกๆ วันหนึ่งเขาเจอเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนความเชื่อเขาว่า ‘เขาจะเป็นที่รักหากยอมตามคนอื่น’ เขาเจอว่าคนที่เขารักและยอมตามมากที่สุด นินทาว่าร้ายเขา แน่นอนว่าเขาก็คงจะล้มทั้งยืน ความเชื่อนั้นของเขาก็คงแตกสลาย มุมหนึ่งเหตุการณ์นี้โหดร้ายมากเพราะมันคือการทำลายตัวตนของเขา แต่อีกมุมหนึ่งเหตุการณ์นี้ก็จะทำให้เขาได้กลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดในการใช้ชีวิตของเขาว่า ‘มันจริงไหมกับการที่เราไม่เป็นตัวเองยอมตามคนอื่นแล้วคนอื่นจะรักเรา’ ซึ่งมันอาจเปลี่ยนชีวิตเขาให้ไปอีกทางเลยก็ได้ และหากเขาไม่เจอเหตุการณ์ที่รุนแรงมากพอ เขาก็อาจจะไม่ได้กลับมาทบทวนมุมมองต่อชีวิตอย่างจริงจัง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เขาเจ็บปวดเพราะมันคือการสูญเสียตัวตนและสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา
การเติบโตงอกงามจากบาดแผลทางจิตใจเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุการณ์ เช่น เจ็บป่วยเป็นโรคร้าย สูญเสียความสัมพันธ์ทั้งคนรัก ครอบครัว เพื่อน การโดนทารุณกรรมทั้งทางเพศ ทำร้ายร่างกาย หรือถูกเพิกเฉย การเติบโตงอกงามของแต่ละคนล้วนต่างกัน ซึ่งสามารถส่งผลต่อชีวิตในแง่มุมต่างๆ ได้ดังนี้
1) การรู้สึกขอบคุณชีวิต หมายถึง การเห็นคุณค่าของของชีวิตแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ ที่อาจจะเคยมองข้าม ขอบคุณการมีอยู่ของชีวิต เห็นว่าแค่การได้ตื่นมาและได้ใช้ชีวิตทำสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองต้องการก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ แล้ว
2) การเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ จากที่จะมองว่าการไปกินข้าวกับที่บ้านเป็นเรื่องธรรมดาก็จะเห็นความหมายที่ลึกซึ้งว่ามันคือการเติบเต็มความสัมพันธ์ทั้งตัวเองและครอบครัว เพราะรู้ดีว่าความสัมพันธ์มันสำคัญต่อชีวิตมากแค่ไหน เพราะเราไม่รู้เลยว่าวันไหนจะเป็นวันสุดท้าย และตระหนักได้ว่าสิ่งที่น่าเสียดายมากที่สุดคือการที่เราไม่ได้ใช้เวลาดูแลคนที่เรารักแม้จะเคยมีโอกาสมากเพียงใดก็ตาม
3) การเห็นจุดแข็งของตัวเอง เมื่อผ่านจุดที่ยากลำบากคุณจะพัฒนาความเชื่อว่าตัวเองก็มีความเข้มแข็งและมีความสามารถที่จะก้าวข้าวปัญหาได้อารมณ์เหมือน ‘ยากกว่านี้ก็เจอมากแล้ว’ และการที่คุณเข้มแข็งไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถเปราะบางได้ กลับกันเลย การที่คุณสามารถเผชิญหน้ากับความเปราะบางขนาดนั้นได้นั้นคือความเข้มแข็งที่แท้จริง
4) การเห็นความเป็นไปได้ใหม่ในชีวิต จากที่เคยใช้ชีวิตแบบเดิม หรือไม่กล้าออกไปทำอะไร คุณอาจจะเจอตัวเองในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบความชอบ เส้นทางอาชีพ หรือความเชื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการพยายามรับมือกับเหตุการณ์ที่เลวร้าย
5) การเปลี่ยนแปลงในด้านจิตวิญญาณ คุณอาจจะค้นพบความหมายทางจิตวิญญาณ หรือทำให้เกิดความเข้าใจและความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง หรือหากคุณไม่ได้นับถือศาสนาคุณก็อาจจะค้นพบหรือเข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม
สิ่งที่ทำร้ายเราไม่ได้ทำให้เราเติบโตขึ้นเสมอไป บางครั้งมันทำให้เราแย่กว่าเดิมซะด้วยซ้ำ หัวใจสำคัญของการที่จะทำให้คนๆ หนึ่งเติบโตงอกงามจากบาดแผลทางจิตใจ มีดังนี้
1) การใช้ความคิดเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ เนื่องจากความเชื่อเดิมหรือวิธีการมองโลกแบบเดิมอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์แล้ว คุณอาจต้องพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ คิดวนไปมาว่าทำไมถึงเกิดขึ้นเหตุการณ์นี้ เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อคุณอย่างไร กระบวนการนี้อาจใช้เวลานานเป็นเดือนหรือปี
2) การได้แบ่งปันเรื่องราวความรู้สึกให้คนรอบข้างฟัง โดยเฉพาะคนที่เคยมีประสบการณ์คล้ายกัน หรือคนที่มีความเข้าอกเข้าใจ เพราะมันจะทำให้คนเล่ารู้สึกว่าความรู้สึกหรือบาดแผลทางจิตใจที่เป็นส่วนลึกได้ถูกเยียวยาและทำความเข้าใจ
3) วิธีการรับมือปัญหา (coping strategies) การพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ในเชิงบวก ยกตัวอย่าง การปรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ การตีความหมายสถานการณ์ในเชิงบวก เช่น ก่อนหน้านี้คุณตีความการที่คุณถูกเลี้ยงดูอย่างเพิกเฉยว่าพ่อแม่ไม่รัก คุณก็อาจจะทำความเข้าใจใหม่ว่าการที่พ่อแม่ทำแบบนั้นเป็นเพราะเขาต้องเอาเวลาไปทำงาน ไม่ใช่เพราะเขาไม่รักหรือคุณไม่ดีพอให้เขารัก
การเติบโตงอกงามจากปัญหาต้องไม่ได้เกิดจากการที่ถูกยัดเยียด เช่น ให้มองโลกในแง่บวก หาความหมายหรือเหตุผลของปัญหา ทั้งที่ตัวเขาไม่ได้พร้อม มันเหมือนการที่เรายัดเยียดให้คนขาหักต้องเดินสองขาทั้งที่เขาเดินไม่ไหว นั่นยิ่งจะทำร้ายเขามากกว่าเดิม การให้เวลากับความโศกเศร้าเสียใจจึงไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไปโดยเฉพาะการเจอเหตุการณ์ที่เลวร้าย
และที่สำคัญการเติบโตงอกงามเกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าสิ่งเลวร้ายหรือความรู้สึกแย่จะหายเสมอไป แต่เราจะเข้าใจธรรมชาติของปัญหา และมีจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผมทำ self-analysis ผมเผชิญหน้ากับปัญหาที่เป็นบาดแผลทางจิตใจในหลากหลายมิติ เรียกได้ว่ามันคือประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิต เจ็บปวดชนิดที่ว่าถ้ารู้ว่าการเป็นนักจิตวิทยาเจ็บขนาดนี้คงไม่เลือกที่จะเริ่มต้น แต่เชื่อไหมครับ มองจากตอนนี้ที่ผมผ่านมาแล้ว (แม้จะต้องอยู่ต่อก็ตาม) นี่คือประสบการณ์ที่มีความหมายที่สุดในชีวิตผมเช่นกัน ผมเรียนรู้ว่าในการเป็นนักจิตวิทยา บาดแผลทางจิตใจอาจเลือนลางจางไป แต่จะไม่มีวันหายไปไหน มันยังคงอยู่ แต่ไม่ใช่ในฐานะบาดแผลที่เจ็บปวด แต่เป็นบาดแผลที่งดงาม
ผมเรียนรู้ว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตจะส่งเรื่องที่ท้าทายความเชื่อเรามาเสมอเพื่อย้ำเตือนและบอกเราว่า ชีวิตจะไม่มีทางสมบูรณ์แบบ เราจะเจอเรื่องที่ไม่ถูกใจเสมอ เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างให้เป็นดั่งใจ ชีวิตจะส่งด่านที่ยากขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อทำให้เราได้เรียนรู้จักความจริง
ชีวิตเต็มไปด้วยความท้าทาย ผิดหวัง แต่ในความมืดมิดนั้นก็ยังมีมิตรภาพ ความหวัง ความรัก ความห่วงใย เหนือสิ่งอื่นใด ผมได้เรียนรู้ว่าการเยียวยาไม่ใช่การลืมเลือน แต่คือการยอมรับ และเติบโตไปพร้อมกับความเจ็บปวดนั้น
อ้างอิง
Henson, C., Truchot, D., & Canevello, A. (2021). What promotes post traumatic growth? A systematic review. European Journal of Trauma & Dissociation, 5(4), 100195.
Tedeschi, R. G., & Calhoun, L. G. (2004). ” Posttraumatic growth: conceptual foundations and empirical evidence”. Psychological inquiry, 15(1), 1-18.
[หมายเหตุ: self-analysis คือ กระบวนการทำจิตบำบัดให้นักจิตวิทยาโดยนักจิตบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้นักจิตวิทยาเข้าใจตัวเองได้ลึกซึ้งขึ้น ด้วยความเชื่อที่ว่าหากนักจิตวิทยาไม่เข้าใจตัวเองก็คงจะไม่สามารถช่วยเหลือหรือเข้าใจผู้ใช้บริการได้]