- ปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา คือ ‘ความยากจน’ แต่อีกมุมที่อาจมองข้ามไป นั่นคือ ‘ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา’ ที่ทำให้เด็กจำนวนมาก ‘ปฏิเสธ’ การศึกษาในระบบ
- ข้อค้นพบที่สำคัญในรายงานพิเศษ ‘ความจริงและเร่งด่วนปัญหาวิกฤตเด็กนอกระบบในประเทศไทย’ โดย กสศ. คือ ปัจจัยด้านครูและสถานศึกษา พบว่าการที่เด็กมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียน โรงเรียนและครูมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงเด็กไม่ให้หลุดจากการศึกษา
- แนวทางในการแก้ปัญหาความผิดหวังต่อระบบการศึกษา จึงควรปรับรูปแบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของเด็กทั้งกลุ่มที่ต้องการกลับสู่ระบบการศึกษา และที่ไม่มีความประสงค์จะเข้าสู่ระบบการศึกษาแต่มีความต้องการประกอบอาชีพ
ว่ากันว่ารอยรั่วเล็กๆ สามารถทำให้เรือจมได้ฉันใด ปัญหาเล็กๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจสะสมเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจนอาจแก้ไขไม่ได้อีกเลย
เช่นเดียวกับปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่หลายคนคงนึกถึงปัญหาใหญ่อย่างเรื่องความยากจนที่พรากโอกาสในการเรียนรู้ไปจากเด็กไทย แต่อีกมุมยังมีรอยรั่วเล็กๆ ที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไป นั่นคือ ปัจจัยด้านครูและสถานศึกษา ซึ่งล่าสุดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้นำเสนอรายงานพิเศษ ‘ความจริงและเร่งด่วนปัญหาวิกฤตเด็กนอกระบบในประเทศไทย’ โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า
หนึ่งในผลกระทบต่อโอกาสการศึกษาของเยาวชนผู้ด้อยโอกาสคือ ‘ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา’ ที่มุ่งเน้นเรื่องการแข่งขัน รวมถึงลักษณะของครูผู้สอนที่มีการใช้ความรุนแรงผ่านคำพูดและการกระทำจนทำให้บ้านหลังที่สองอย่างโรงเรียนไม่ใช่ Safe Zone หรือพื้นที่ปลอดภัยอีกต่อไป
พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บอกว่าปัจจุบันสถานการณ์ของเด็กเยาวชนนอกระบบ อายุระหว่าง 3-18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษามีจำนวน 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ของเด็กและเยาวชนอายุ 3-18 ปีทั้งหมด (12.2 ล้านคน) โดยสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษา อันดับ 1 มาจากความยากจน (ร้อยละ 46.70) รองลงมาคือ ปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 16.14) ออกกลางคัน/ถูกผลักออก (ร้อยละ 12.03) ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา (ร้อยละ 8.88) ปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 5.91) อยู่ในกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 4.93) และได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 3.63)
“เด็กนอกระบบส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ในระดับชั้น มัธยมต้น (ร้อยละ 24.25) ขณะที่ร้อยละ 10.63 ไม่เคยได้รับการศึกษาเลย เด็กนอกระบบที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนบุคคล ส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาสูงสุดในระดับประถมต้น (ร้อยละ 30.73) โดยอาชีพของผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ-รับจ้างรายวัน (ร้อยละ 47.11) สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้้านรายได้้ของครอบครัว อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เด็กออกนอกระบบการศึึกษา”
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณีพบว่า เด็กเผชิญกับปัญหาที่โยงใยซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา ซึ่งปัจจัยที่กระทบต่อการออกนอกระบบการศึกษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัญหาครอบครัวแตกแยก การใช้ความรุนแรง การย้ายถิ่นฐาน ทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา รวมไปถึงการให้ลูกออกมาทํางานช่วยเหลือครอบครัว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านพฤติกรรม สุขภาวะของนักเรียน เช่น เผชิญความเสี่ยงกับยาเสพติด ตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กพิการหรือเจ็บป่วย รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม การตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแก ถูกบูลลี่ ล้อเลียน เด็กโตเกินกว่าที่กลับมาเรียนซ้ำชั้น
“ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านครูและสถานศึกษา พบว่าการที่เด็กมีทัศนคติไม่ดีต่อการเรียน โรงเรียนและครูมีส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงเด็กไม่ให้หลุดออกไปจากการศึกษา ทำให้เห็นประโยชน์ของการเรียน
โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากขาดการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง หลักสูตรรายวิชาไม่ตอบโจทย์ชีวิต มุ่งเน้นเรียนเพื่อแข่งขัน ลักษณะของครูผู้สอน ทั้งการลงโทษ การใช้ความรุนแรงทั้งโดยวาจาและการกระทำ ภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบ้าน การส่งงาน เป็นต้น
สอดคล้องกับผลการศึกษาของโครงการวิจัยเรื่อง ‘การคาดการณ์อนาคตการศึกษาทางเลือก’ (Foresight for Alternative Education) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับกสศ. ระบุว่าหนึ่งในผลกระทบต่อโอกาสการศึกษาของเยาวชนผู้ด้อยโอกาส คือ ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา ซึ่งสร้างผลกระทบลบ ทำให้เยาวชนขาดแรงจูงใจ ความตั้งใจ และความทุ่มเทในการเข้ารับการศึกษาเพราะไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เยาวชนต่อต้านการศึกษาทุกรูปแบบ”
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาความผิดหวังต่อระบบการศึกษา ผู้ช่วยผู้จัดการกสศ. กล่าวว่าควรปรับรูปแบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของเด็กซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มเด็กที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และกลุ่มเด็กที่ไม่มีความประสงค์จะเข้าสู่ระบบการศึกษาแต่มีความต้องการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างแรงจูงใจต่อการศึกษาและประคับประคองไม่ให้เยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา
“การทำความเข้าใจเด็กนอกระบบ เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะปัญหานี้ซับซ้อน และสั่งสมมายาวนาน สำคัญที่สุดคือต้องช่วยอย่างเข้าใจในเงื่อนไขชีวิตเด็ก ออกแบบการเรียนรู้และให้การสนับสนุนเขาในแบบที่เหมาะสมกับตัวเขาที่สุด
ส่วนการส่งเสริมการศึกษาของเด็กกลุ่มที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีแรงจูงใจและความพร้อม แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการประกอบอาชีพโดยไม่ต้องการศึกษาต่อ จะยังขาดแรงจูงใจและความพร้อมในกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ควรได้รับการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษา ไปพร้อมกับรายได้จากการประกอบอาชีพตามเป้าหมายของตัวเอง
ทั้งนี้ รูปแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มดังกล่าวน่าจะต้องมีลักษณะ 3 ประการคือ ต้องให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ (anywhere) เรียนเมื่อไรก็ได้ (anytime) และเรียนอะไรก็ได้ตามที่ตนเองสนใจ (anything) รวมถึงอาจใช้รูปแบบการเรียนแบบออนไลน์ ระบบธนาคารหน่วยกิต (credit bank) เพื่อสะสมและใช้เทียบโอนคุณวุฒิการศึกษาสำหรับการสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไปได้ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมใช้เรียนได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง”
รายงานพิเศษความจริงและความเร่งด่วนของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย จัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562-2567 และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและและมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) |