- “โดนบูลลี่มาตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะมองว่าเราพิการ ตอนเด็กๆ จะรู้สึกโกรธและโมโหมาก เวลาโดนบูลลี่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้”
- เรื่องราวของ สายทอง-วิลาวรรณ แก้วยองผาง หญิงสาวที่ประสบปัญหาด้านการพูดและการเดิน อีกทั้งยังต้องทนทุกข์จากการถูกตีตราจากสังคม
- แผลใจที่ถูกบูลลี่มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอเอาตัวเองออกจากสังคมรอบตัว และเริ่มมีปัญหาในการเข้าสังคม การได้โอกาสจากโครงการเพาะกล้าครีเอเตอร์ชุมชน สร้างคนต่อยอดภูมิปัญญา เป็นเหมือน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่คอยเติมเต็มพลังบวกให้กัน และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะด้านการเป็นครีเอเตอร์ชุมชน
ความพิการไม่ได้ทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของใครลดน้อยลง แต่สังคมที่พิการและเต็มไปด้วยอคติต่างหากที่ทำให้คนพิการกลายเป็นคนด้อยโอกาสและถูกลดทอนคุณค่า
‘สายทอง’ หรือ วิลาวรรณ แก้วยองผาง อายุ 32 ปี หญิงสาวชาวลำพูนที่ประสบปัญหาด้านการพูดและการเดิน คือคนหนึ่งที่ต้องทนทุกข์จากการถูกตีตราจากสังคม เธอเล่าว่า ‘คุณค่า’ ในชีวิตของเธอค่อยๆ หายไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ด้วยความที่เธอเป็นคนพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง เวลาเดินก็เหมือนจะล้ม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เธอหยุดหายใจไปเกือบ 20 นาทีหลังคลอด นั่นหมายความว่าสมองเธอขาดออกซิเจนไปนานพอสมควร โดยหมอระบุว่าเธอจะเติบโตได้ไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป
“โดนบูลลี่มาตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะมองว่าเราพิการ ตอนเด็กๆ จะรู้สึกโกรธและโมโหมาก เวลาโดนบูลลี่ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้”
สายทองแก้ปัญหาด้วยการเอาตัวเองออกจากสังคมรอบตัว พูดคุยและเล่นกับเพื่อนให้น้อยที่สุด พอโตขึ้นมาหน่อยเธอก็เริ่มอ่านหนังสือธรรมะ ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับจิตวิทยา เพื่อหาทางหลุดพ้นจากความเครียด แล้วก็พบว่าในหนังสือที่มีตัวอย่างของคนที่ ‘แย่กว่า’ เธออีกหลายเท่า ทำให้เริ่มคิดบวก ให้อภัยคนที่เคยบูลลี่เธอมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แต่สิ่งที่ยังทำให้เธอไม่สามารถหลุดพ้นได้คือ การเข้าสังคม
“กลัวค่ะ กลัวว่าจะได้รับสิ่งที่ไม่ดีเหมือนตอนเด็กๆ กลัวคนหัวเราะเยาะเวลาเราพูดไม่ชัด”
เหตุนี้เธอจึงเลือกใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ด้วยการเปิดร้านขายน้ำ อยู่กับลูกและครอบครัว จนกระทั่งได้รับการชักชวนจาก ‘พี่กัล’ กัลยา ขาวโสม วิสาหกิจชุมชนสุขศิริ จังหวัดลำพูน ผู้รับผิดชอบโครงการเพาะกล้าครีเอเตอร์ชุมชน สร้างคนต่อยอดภูมิปัญญา หนึ่งในโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้เข้ามาร่วมเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพ และการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม
สายทองใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอนั่งมองปลาทองที่เลี้ยงไว้ว่ายวนไปมาอยู่ในตู้… “เราก็คิดว่า เรามีมือ มีเท้า เราจะอยู่ในตู้แบบปลาทองไม่ได้” เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
ทว่าด้วยแผลใจที่ถูกบูลลี่มาตั้งแต่เด็ก วันแรกที่เดินเข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้ เธอกวาดสายตามองทุกคนด้วยความไม่ไว้ใจ แต่ตรงกันข้ามทุกคนต่างยิ้มให้ กล่าวทักทาย ทำให้เธอรู้สึกได้ทันทีว่า ที่นี่คือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ความกังวลจึงเริ่มคลี่คลาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะด้านการเป็นครีเอเตอร์ชุมชน โดยเฉพาะทักษะการขายของออนไลน์ การถ่ายทำคลิปวิดีโอ การตัดต่อและการโพสต์ ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ที่มากกว่านั้นคือความภูมิใจในตัวเอง
สายทองบอกว่า จากเดิมที่เปิดร้านขายกาแฟสด เครื่องดื่ม น้ำชง ภายในชุมชน มียอดขายต่อวันไม่มากนัก แต่เมื่อได้เรียนรู้เรื่องการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,500 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นยังได้นำทักษะการทำขนมปังและวาฟเฟิลที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองมาปรับสูตร จัดทำเป็นหลักสูตรสอนทำขนมออนไลน์ทำให้มีรายได้เพิ่มจากการขายหลักสูตรออนไลน์ด้วย
“การได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กับหน่วยจัดการเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนสุขศิริ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น สามารถลบคำสบประมาทจากคนรอบข้างที่เขามองว่าเราพิการ เปลี่ยนจากคนที่ไม่กล้าเข้าสังคมก็มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น
สามารถเพิ่มยอดขายจากช่องทางออนไลน์และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนทักษะอาชีพที่หลากหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตอย่างคาดไม่ถึง”
สายทองยังบอกด้วยว่า ช่วงแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ รู้สึกกลัวมากและกังวลว่าจะเจอสังคมบูลลี่ เจอคำดูถูกอย่างที่เคยพบมาตลอด แต่กลับพบว่าที่หน่วยจัดการเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนสุขศิริเป็นสังคมที่เกื้อกูลและหนุนเสริมกัน เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คอยเติมเต็มพลังบวกให้แก่กันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้ว่าจะจบโครงการฯ ไปแล้วแต่ทุกคนก็พร้อมให้ความช่วยเหลือกันอยู่ตลอด เป็นโครงการฯ ที่ทำให้เธอมีความสุขมาก
เมื่อถามถึงเป้าหมายในการต่อยอดทักษะอาชีพในอนาคต แสงทองให้คำตอบว่าเธออยากมีแบรนด์กระเป๋าเป็นของตนเองโดยการนำเศษผ้าจากลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอมาตัดเย็บเป็นกระเป๋า เพราะถึงแม้พี่น้องชาวปกาเกอะญอจะมีลวดลายผ้าทอที่เป็นจุดเด่นแต่ก็ไม่นิยมนำมาใส่ทุกวันแต่หากนำมาต่อยอดเป็นของใช้ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็จะช่วยส่งเสริมอาชีพการทอผ้าและทำให้สินค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย
“หากไม่มีหน่วยจัดการเรียนรู้สุขศิริคิดว่าตัวเองยังอยู่จุดเดิมและยังคงกลัวการเข้าสังคม แต่เมื่อได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลาย การได้พบเจอสังคมใหม่ๆ ทำให้อยากพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าคนอื่นเขาจะมองว่าเราพิการแต่ก็เชื่อว่ามีแต่ตัวเราที่ทำให้ตัวเองดีขึ้น คนอื่นจะมองอย่างไรก็ช่าง แต่เราจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น” แสงทอง กล่าวทิ้งท้าย