- เมื่อบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ความทุกข์ใจของเด็กน้อยในวันนั้นกลายเป็นบาดแผลในใจและความรู้สึกไม่ดีพอจนกัดกร่อนความมั่นใจในตัวเอง
- หลังจากได้ฟังมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวจาก นพ.สุริยเดว ทริปาตี ปมในใจก็เริ่มคลี่คลาย กลายเป็นเรื่องราวที่เขาอยากสื่อสารให้พ่อแม่ที่อาจจะยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กได้รับรู้ และตระหนักว่าทุกการกระทำของพ่อแม่คือร่องรอยที่ประทับลงในใจลูกเสมอ
ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยและพ่อแม่คือคนที่ผมอยู่ด้วยแล้วรู้สึกกลัวมากกว่าอุ่นใจ
พ่อแม่เลี้ยงผมมาแบบค่อนข้างเผด็จการ ห้ามพูดห้ามเถียงห้ามตั้งคำถาม และไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจผมยามมีเรื่องทุกข์ใจ ไม่ว่าจะเรื่องเรียนที่พ่อแม่บังคับให้ผมเจริญรอยตามพี่ชาย เรื่องที่ผมถูกรุมทำร้ายในโรงเรียนบ่อยๆ รวมถึงการบังคับให้ผมทำสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่เองก็ไม่เคยทำเป็นตัวอย่างให้เห็นสักครั้ง
แน่นอนว่าหลายครั้ง ผมพยายามเปิดใจคุยกับพ่อแม่เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจเหล่านี้ แต่เชื่อไหมครับว่าทุกครั้งต้องจบลงด้วยน้ำตาแห่งความเสียใจของผม เพราะพ่อแม่ไม่เพียงแต่ไม่เคยรับฟังจนจบ แต่ยังดุด่าผมราวกับผมเป็นต้นเหตุของปัญหา
เช่น หากผมโดนเพื่อนรุมทำร้ายเพราะผมไม่ยอมให้เงิน…พ่อแม่จะคิดไปเองว่าเป็นเพราะผมมันเกเร ไม่ตั้งใจเรียน และชอบไปกวนตีนเพื่อน หรือหากผมได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ต่ำกว่าพี่ชาย…พ่อแม่ก็จะด่าว่าเป็นเพราะผมไม่ตั้งใจเรียนโตมาคงเป็นได้แค่คนเหลวแหลกที่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่สนใจว่าเกรดวิชาภาษาไทยกับวิชาประวัติศาสตร์ของผมได้คะแนนสูงจนติดท็อป 3 ของห้อง
ระหว่างนั้นหากผมพูดเสียงดังหรือพูดไม่ถูกหูในเรื่องที่ผมเจ็บปวดเป็นพิเศษ ฝ่ามือของพ่อก็จะฟาดมาที่ผมข้อหาพูดจาไม่มีมารยาทกับพ่อแม่ ขณะที่พ่อแม่กลับมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะขึ้นเสียงหรือพูดจาหยาบคายยังไงกับผมก็ได้ หรือถ้าพ่อแม่รู้ตัวว่าผิดและไม่สามารถแก้ต่างให้ตัวเองได้…คำว่า “กูสั่งให้มึงหุบปาก” จะถูกนำมาใช้เป็นไพ่ตายเสมอ
เมื่อไม่กี่เดือนก่อนผมลองเอาเรื่องนี้ไปคุยกับแม่อีกครั้ง เพราะอยากให้รู้ว่าผมรู้สึกแย่แค่ไหนในตอนนั้น เชื่อไหมครับว่าผลลัพธ์ที่ได้คือการไม่รับฟัง การปฏิเสธราวกับว่าไม่เคยมีเหตุการณ์นั้น พร้อมขึ้นเสียงใส่ผมว่า “อย่ามาใส่ร้ายพ่อแม่นะ” จนผมรู้สึกว่าคุยกันต่อไปก็ไร้ประโยชน์
ถ้าถามว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำกับผม ส่งผลกระทบอะไรกับผมบ้าง ผมอยากบอกว่าผมค่อยๆ เปลี่ยนจากคนร่าเริงในช่วงประถมกลายเป็นคนหม่นหมองในวัยมัธยม ก่อนจะใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงและมองโลกในแง่ร้ายมาถึงปัจจุบัน
เรียกได้ว่าทุกวันนี้ต่อให้ผมนั่งพักหรืออยู่เฉยๆ คนเดียวในวันหยุด ผมมักเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก นั่นคงเพราะตอนเด็กๆ หากผมนั่งว่างๆ โดยไม่อ่านหนังสือเรียนหรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ (ในสายตาพ่อแม่) พ่อแม่ก็มักจะโผล่มาจากข้างหลังและด่าผมเสียงดังเป็นประจำว่าผมมันก็แค่คนขี้เกียจที่เอาแต่ผลาญเวลาไปวันๆ พร้อมกับสั่งให้ผมหยิบหนังสือเรียนมาอ่านหรือลงโทษให้ผมไปทำงานร้อนๆ กับลูกน้องของพ่อ
ผมยังคงจมดิ่งอยู่กับความรู้สึกคาใจและเริ่มตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วอาจเป็นตัวผมก็ได้ที่เป็นตัวปัญหาอย่างที่พ่อแม่ชอบพูดบ่อยๆ กระทั่งไม่นานนี้ ผมได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของ ‘หมอเดว’ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเวชศาสตร์วัยรุ่น ที่พูดถึงประเด็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ทำให้ผมได้ปลดล็อกกับตัวเองว่า แท้จริงแล้ว…ผมไม่ได้เป็นคนผิดปกติหรือไม่ดีอย่างที่พ่อแม่กรอกหูมาทั้งชีวิต
หมอเดวบอกว่าสิ่งที่พ่อแม่มักเข้าใจผิดคือ การนิยามว่า ‘เด็กคือผ้าขาว’ ทำให้พ่อแม่หลายคนเลือกที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือถ้าในครอบครัวที่พ่อแม่มีลูกหลายคน แล้วประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกคนโตแบบนี้ พ่อแม่มักจะนำวิธีการเลี้ยงแบบเดิมมาใช้กับลูกคนถัดไปโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของลูกแต่ละคน
“อย่าลืมนะ เด็กไม่ใช่ผ้าขาว…อย่าเข้าใจผิด มันมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เลี้ยงง่ายเข้ากับระบบได้ แต่คุณไม่คิดเหรอว่านอกจากเด็กเลี้ยงง่าย มันมีเด็กอีก 3-4 สายพันธุ์คือ เด็กเลี้ยงยาก เด็กบ้าพลัง เด็กอ่อนไหวง่าย และเด็กที่ผีเข้าผีออก บางวันเลี้ยงง่ายบางวันเลี้ยงยาก”
หมอเดวบอกต่อว่าพ่อแม่หลายคนมักคิดว่าลูกคือต้นเหตุของปัญหาต่างๆ แต่กลับไม่เคยย้อนดูว่าแท้จริงแล้วตนอาจเป็นผู้ก่อปัญหาตัวจริง พร้อมกับแบ่งประเภทของพ่อแม่ที่สร้างพฤติกรรมเสี่ยงอันเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวอ่อนแอลง หรือมากกว่านั้นอาจกลายเป็น Toxic Parents ไปเลย
“จะมีพ่อแม่ 5 แบบที่มีพฤติกรรมเสี่ยงคือ หนึ่ง ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะในการเลี้ยงลูก สอง มีความรู้มีทักษะแต่ขี้เกียจเลี้ยงลูก สาม เสียโอกาสในการเลี้ยงลูก สี่ เลี้ยงแบบสำลักความรัก และสุดท้ายคือครอบครัวที่ไม่สมควรเป็นพ่อแม่ ไม่รู้เรียกว่าเป็นพ่อแม่ได้อย่างไร พ่อแม่ 5 ประเภทนี้กำลังสร้างพฤติกรรมเสี่ยงเต็มไปหมด
นอกจากนี้หนึ่งใน Hot Issue ที่เป็นประเด็นของประเทศคือ วิธีการสื่อสารภายในบ้าน ไม่น่าเชื่อนะว่าขนาดปัจจัยเกื้อหนุนคืออยู่ด้วยกันแท้ๆ แต่พร้อมบวกกัน ลูกกับพ่อแม่คุยกันไม่ได้ อยากถามพ่อแม่ทั้งหลายว่าท่านแน่ใจนะว่าท่านคุยกับลูกรู้เรื่อง”
ระหว่างที่หมอเดวกำลังอธิบายเรื่องเหล่านี้ ผมเกิดสะดุดใจกับตัวอย่างคำถามในงานวิจัยเรื่องทุนชีวิตที่หมอเดวทำต่อเนื่องมากว่า 16 ปี โดยคำถามนั้นระบุว่า “ฉันมีผู้ปกครองที่ปรึกษาได้ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่/ฉันมีพ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้/ฉันรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่อเข้าบ้าน” ซึ่งแน่นอนว่าผมให้คะแนนต่ำสุดในทุกคำถาม
หมอเดวเล่าต่อว่าหากพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนใจเย็น พูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผลโดยไม่ใช้อารมณ์ สิ่งสำคัญคือตัวพ่อแม่ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างก่อน เพราะที่สุดแล้วพฤติกรรมของพ่อแม่ย่อมมีค่ามากกว่าคำสอน
“วิธีการสร้าง Self ให้ลูก…ไม่เห็นยากตรงไหน มันยากตรงที่ทุกวันนี้บ้านมันไม่เป็นบ้าน แล้วจิตสำนึกของผู้ใหญ่มันไม่เปิด คือแม้แต่พ่อแม่เองก็รับคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ว่าตกลงฉันไม่ดีตรงไหน เขาไม่ได้ก้มลงมองดูตัวเองเลยนะว่าตัวเองนั้นกำลังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหรือไม่
หมอคิดว่าการสร้าง Self ข้อแรกคือ Open Mindset ผู้ใหญ่ก้มลงมองดูตัวเองสักหน่อย สองคือเมื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองก็เปิดโอกาสให้ลูกด้วยสิ มันไม่มีอะไรที่สำเร็จรูปตายตัวนะว่าถ้าคนพี่เก่งวิทย์คณิตแล้วลูกคนน้องต้องเก่งวิทย์คณิตตาม
ทำไมหมอถึงออกมาพูดว่าเด็กไม่ใช่ผ้าขาวเพราะหมอกำลังจะส่งสัญญาณให้กับพ่อแม่ว่าอย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ เพราะถ้าท่านเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ งานนี้มีเจ็บแน่นอน
แต่ที่มันยากเพราะหลายคนอัตตาสูง ฉันไม่ก้มลงมองตัวเอง แต่แกต้องทำ ฉันจะไม่ฟังเสียงแก ไม่ให้โอกาส เพราะฉันมีชุดความคิดว่าทั้งหมดจะต้องเรียนต้องทำงานสไตล์นี้ทั้งหมด คือถ้าชุดความคิดฟิกซ์แบบนี้ ไม่มีแม้กระทั่งการเปิดโอกาส Self พังครับ Self ไม่เหลือครับ เด็กจะมีภาวะซึมเศร้ารุนแรง คือซึมเศร้าตามชื่อ และการออกมาก่อการใช้ความรุนแรงแต่ก็ซ่อนนัยด้วยความเศร้า เพราะบางคนใช้ความรุนแรงเพราะ Self มันพังมันไม่เหลืออะไรดีเลย ดังนั้นดีไม่ได้ก็เลวไปซะให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย”
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าลูกแต่ละคนจะมีพื้นฐานจิตใจหรือผ้าสีอะไรติดตัวมาแต่เกิด หมอเดวมองว่าสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรมีเหมือนกันคือ 5 วิธีที่จะทำให้ครอบครัวกลายเป็นพื้นที่แห่งสันติสุขสำหรับเด็กๆ
“หนึ่งคือ รัก อบอุ่น และไว้วางใจ ซึ่งรักนั้นต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ไม่ใช่รักเอาแต่ความสุข เช่น การทำงานบ้านเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุข ยิ่งถ้าพ่อแม่ลูกทำด้วยกันหมดยิ่งมีพลังสูง ไม่ใช่ทุกคนทำแต่พ่อแยกตัวเพราะทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ดังนั้นถ้าพ่อแม่ทำต่อเนื่องด้วยลูกก็จะปฏิเสธยาก ความคุ้นชินจะมี พอโตขึ้นเขาจะมีความรับผิดชอบต่อตัวของเขาเอง
สองคือ ผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังให้มาก ฟังมีสามระดับนะคือฟังอย่างมีสติไม่ออกความเห็นใดๆ ระดับที่สองคือฟังแล้วสะท้อนความรู้สึกดีๆ ให้กำลังใจ และสามคือฟังแล้วเหลาความคิดคือใช้คำถามปลายเปิด แล้วลูกรู้สึกยังไง ถ้าลูกของแม่เจอปัญหานี้จะแก้ไขยังไง
สามคือ ตัวเองต้องเป็นต้นแบบที่ดี อยากให้ลูกเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบนั้น ยกตัวอย่างถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกควบคุมอารมณ์ได้ พ่อกับแม่ควบคุมอารมณ์ตัวเองยังไง พวกนี้มันต้องทำต้องจัดการตัวเองจนกลายเป็นต้นแบบที่ดีที่ทำให้ลูกดูจนกลายเป็นวิถีชีวิต
สี่คือ บ้านต้องมีวินัย โดยพ่อแม่ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นนะ เพราะพ่อแม่หลายคนเซ็ตวินัยไว้ให้ลูกเดินตาม แต่พ่อแม่คือข้อยกเว้น…แบบนี้เจ๊งเลย วินัยที่ออกแบบมานั้นไม่ใช่วินัยที่ใครคนใดคนหนึ่งออกแบบ แต่เป็นการออกแบบร่วมกันและยึดหยุ่นได้
ส่วนข้อที่ห้าคือ การยอมรับความสามารถของลูกที่หลากหลายและให้เกียรติลูก การให้เกียรติลูกหมายความรวมไปถึงเวลาคุณจะเอาภาพลูกไปลงในสื่อสาธารณะ คุณขออนุญาตลูกยัง พ่อแม่โปรดเข้าใจด้วยนะว่าลูกไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ที่คิดอยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่ต้องขออนุญาต อย่าเข้าใจผิด ลูกไม่ใช่ทรัพย์สมบัติแต่เป็นของขวัญของพ่อแม่ ถ้ามันเกิดข้อพวกนี้ได้นะ หมอไม่คิดว่าจะมีบ้านไหนที่พร้อมบวกกันภายใน มันจะกลายเป็นบ้านแห่งสันติสุขทันที”