- การที่เราจำไม่ได้ เป็นเพราะไม่ใส่ใจจำมันต่างหาก! แต่เมื่อใดที่เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นสำคัญ เราอาจจดจำและทำให้มันกลายเป็นความทรงจำระยะสั้นและระยะยาวต่อไปได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด
- เราสามารถ ‘อัปเกรด’ ความทรงจำให้ยาวนานมากขึ้น โดยอาศัยการระลึกถึงหรือท่องจำซ้ำๆ และในกระบวนการก็ต้องใช้ความพยายามและอาจโดนรบกวนจากความทรงจำอื่นได้ด้วย
- สิ่งที่จะช่วยให้ความทรงจำดีขึ้น กลับเป็นเรื่องการออกกำลังอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้เลือดสูบฉีดไปยังสมองได้ดีขึ้น และการกินอาหารอย่างเหมาะสม มีแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอ เพราะการจดจำต้องใช้พลังงานและแร่ธาตุไม่น้อย
เคยสงสัยไหมครับว่า คำพูดอย่างที่บอกต่อไปนี้ อันไหนถูก อันไหนผิด
ฉันจำได้แม่นเลยเรื่องนั้น ไม่มีวันลืมเลือน
ฉันไม่มีวันเปลี่ยนใจหรอก ฉันเชื่อของฉันอย่างนี้
หมอนั่นมีความจำแบบภาพถ่าย
เล่นครอสเวิร์ดหรือซูโดกุสิ จะได้ไม่ความจำเสื่อม
อ่านอัดๆ มันเข้าไปก่อนสอบนี่แหละ จำได้ดีนัก
แทบทั้งหมดนั้น มีส่วน ‘ผิด’ มากกว่าถูก
ในสังคมสมัยใหม่ เด็กๆ ต้องเข้าโรงเรียน ต้องเรียนวิชาต่างๆ มากมายมหาศาล ระดับที่พวกเขาบอกว่า ต้องขอร้องชีวิตกันเลยทีเดียว!
พอเรียนจบ เข้าทำงาน ก็ยังต้องจดจำและเรียนรู้อะไรใหม่ที่ไม่เคยเรียนในสถาบันการศึกษาอีกมากมาย
การจะรับมือกับชีวิตประจำวันที่ต้องจดจำอะไรมากมายเข้าไปในหัวอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย แล้วจะมีวิธีการอะไรที่ทำให้เรื่องพวกนี้ง่ายดายมากขึ้น หรือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นบ้าง?
วิธีการที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ ต้องทำความเข้าใจว่าสมองของคนเราทำงานอย่างไรกันแน่ เราจดจำเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร หรืออะไรมารบกวนความแม่นยำในการจดจำลงบ้าง? การที่จะดึงเอาความทรงจำเหล่านั้นออกมาใช้งานได้ดังใจต้องทำอย่างไร? ฯลฯ
เราจะเริ่มกันตรงว่าความจำเกิดขึ้นได้อย่างไรและมีกี่แบบ เพราะความรู้เรื่องนี้สัมพันธ์โดยตรงกับการฝึกฝนให้ความจำดี
ความจำคืออะไรแน่?
นิยามความทรงจำแบบสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลและดึงข้อมูลนั้นกลับมาใช้งานได้เมื่อต้องการ
โดยทั่วไปมักแบ่งความทรงจำออกเป็นกว้างๆ เป็น 3 แบบคือ 1 ความทรงจำเพื่อการใช้งานแบบสั้นมากหรือเพื่อการใช้งานเฉพาะหน้า (working memory) 2 ความทรงจำระยะสั้น (short-term memory) และ 3 ความทรงจำระยะยาว (long-term memory) โดยแต่ละแบบอาจแบ่งย่อยได้อีกแล้วแต่จะจัดกันไป
บางคนแทนที่จะจัดแบบนี้ ก็อาจจะจัดให้ ความทรงจำจากประสาทสัมผัส (sensory memory) แทนที่ working memory โดยที่เรารับรู้ความจำแบบนี้อยู่ตลอดเวลาผ่านตัวรับต่างๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ความทรงจำแบบนี้จะคงอยู่เพียงแค่ไม่กี่วินาที แต่ก็อาจจะกลายมาเป็นความทรงจำระยะสั้นหรือระยาวต่อไปได้ หากเรา ‘เอาใจใส่’ กับมัน ‘เป็นพิเศษ’ และทบทวนข้อมูลนั้นซ้ำๆ ไปสักพัก
ตรงนี้เองที่เป็นประเด็นสำคัญมากที่ต้องจำใส่ใจไว้เสมอ
การที่เราลืมสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพราะเราความจำเสื่อม แต่เป็นเพราะข้อมูลมันมีมหาศาลตลอดเวลา เรารับรู้ข้อมูลพวกนี้ แต่มีความสามารถอย่างจำกัด จึงไม่สามารถจดจำทุกอย่างไว้ได้ และที่สำคัญที่สุดคือการที่เราจำไม่ได้ เป็นเพราะไม่ใส่ใจจำมันต่างหาก!
ยกตัวอย่าง มีการสำรวจว่าคนทั่วไปจำค่าพาย (pi) ได้ยืดยาวเพียงใด ปรากฏว่าในจำนวนคน 941 คนที่เข้ามาตอบแบบสอบถาม ปรากฏว่ามีคนราว 1 ใน 5 (19 %) ที่จำได้ถึงทศนิยมตำแหน่งที่ 5 คือจำคำตอบได้ว่าเท่ากับ 3.14159 และมีแค่เพียงราว 5% ที่จำได้ถึงทศนิยมตำแหน่งที่ 9 คือ 3.141592653 [1]
แม้แต่คนที่ทำงานในนาซา ส่วนใหญ่ก็จำถึงแค่ทศนิยมตำแหน่งที่ 6 เท่านั้น เพราะไม่คิดว่าจำเป็นต้องจำให้มากกว่านั้น ขณะที่คนที่จำค่าพายได้มากที่สุดเป็นคนอินเดีย สามารถจดจำได้มากถึง 70,030 ตำแหน่ง ทิ้งห่างคนอินเดียอีกคนที่ได้ที่ 2 ไปแค่ 30 ตำแหน่ง [2]
ตัวอย่างอื่น เช่น คนทั่วไปคงจำไม่ได้ว่าเช้านี้เดินออกจากบ้านโดยก้าวเท้าซ้ายหรือขวาก่อน ต่อให้โดนถามเมื่อก้าวไปไม่ถึง 10 ก้าว ก็คงตอบแบบไม่มั่นใจนัก เพราะเราไม่ได้เห็นว่าเรื่องแบบนี้สำคัญกับชีวิตของเราจึงไม่ได้ตั้งสติจดจำเอาไว้ การจะจดจำเรื่องแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ‘ตั้งใจจะจำ’ เท่านั้น เช่น หากเป็นคนเชื่อหมอดู และโดนหมอดูกำชับให้เดินโดยก้าวเท้าขวาออกจากบ้านก่อนเท่านั้น ก็อาจจำได้!
สรุปว่าเรื่องแรกที่ควรรู้คือ เราจำเรื่องอะไรตั้งมากมายไม่ได้ เพราะเรา ‘ไม่ได้ตั้งใจจำ’ มันไว้ ต่อเมื่อเรารู้สึกว่ามันสำคัญด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เราก็อาจจดจำและทำให้มันกลายเป็นความทรงจำระยะสั้นและระยะยาวต่อไปได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นอาจจะเล็กน้อยเพียงใด (เช่น จำค่าพายได้มากๆ หรือจำเท้าข้างที่ก้าวออกจากบ้านได้) หากเรามีสติมากพอ และมีความตั้งใจจะจดจำไว้มากพอ เราก็สามารถจะจดจำได้สารพัด
คราวนี้มาดูความจำที่ยาวขึ้นมาอีกเล็กน้อยคือ ความทรงจำระยะสั้น
ความทรงจำระยะสั้นอาจจะยาวได้ถึงสัก 20 วินาที เช่นเวลาที่เราต้องจดจำ OTP สั้นๆ (อาจจะแค่ 4 หรือ 6 ตัวอักษรหรือตัวเลข) เพื่อเข้าระบบหรือดาวน์โหลดอะไรสักอย่าง หรือจำเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อเร่งด่วนและไม่มีอุปกรณ์อะไรช่วยจด ต้องอาศัยการท่องไว้ในใจ
ความทรงจำระยะสั้นก็เหมือนกับ working memory ที่สั้นกว่าคือ เราก็จะลืมเลือนมันไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการทบทวนความจำส่วนนั้นในภายหลัง
ดังนั้น การทบทวนความรู้หลังจากได้เรียนไป จึงมีความสำคัญมาก [3]
เรื่องน่าสนใจต่อไปก็คือ ความทรงจำแบบนี้อาจจะโดน working memory รบกวนหรือแทรกแซงได้ด้วย จึงต้อง ‘ใส่ความพยายาม’ ในการท่องจำซ้ำหลายๆ หน เพื่อสร้างเส้นทางการส่งกระแสประสาทขึ้นในสมองให้ชัดเจน เมื่อทบทวนซ้ำๆ บ่อยเข้า สมองก็จะขยับขยายย้ายตำแหน่งความจำที่เก็บไว้ในส่วน พรี-ฟรอนทัลคอร์เทกซ์ (pre-frontal cortex) หรือเปลือกสมองส่วนหน้า ไปยังสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ที่เอาไว้จดจำและจัดระเบียบความจำระยะยาวแทน [3]
การซ้อมซ้ำๆ เช่น ซ้อมตีลูกเทนนิส ปั่นจักรยาน วิ่ง หรือทุ่มฝ่ายตรงข้ามในยูโด ฯลฯ ก็เป็นวิธีการทำให้กล้ามเนื้อจดจำการทำงาน จนเกิดเป็นทักษะอย่างที่เรียกว่า ‘ความทรงจำของร่างกาย (body memories)’ ขึ้น บางคนก็เรียกว่าเป็น ‘ความทรงจำของกล้ามเนื้อ’
ในทำนองเดียวกัน การทำโจทยคณิตศาสตร์บ่อยๆ ก็ทำให้สมองจดจำรูปแบบโจทย์ได้ และทำโจทย์ได้เร็วขึ้น ตอบได้แม่นยำขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น เรื่องสำคัญลำดับที่สองที่ควรจดจำไว้ในใจเสมอคือ เราสามารถ ‘อัปเกรด’ ความทรงจำให้ยาวนานมากขึ้น โดยอาศัยการระลึกถึงหรือท่องจำซ้ำๆ และในกระบวนการก็ต้องใช้ความพยายามและอาจโดนรบกวนจากความทรงจำอื่นได้ด้วย
สำหรับความทรงจำระยะยาว นอกจากการจดจำกระบวนการ เช่น วิธีการทรงตัวเพื่อขี่จักรยาน และการทำโจทย์คณิตศาสตร์ซ้ำๆ แล้ว ยังมีการจดจำชื่อ วันสำคัญ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันหรือได้รับการกระตุ้นอย่างแรงในทางอารมณ์ เช่น การจดจำรายละเอียดของการไปเดตแรกและจูบแรกในชีวิต หรือการประสบพบเจออุบัติเหตุหรือประสบการณ์เฉียดตาย
เมื่อเราตั้งใจจดจำเหตุการณ์ เนื่องจากผลของตัวกระตุ้นภายนอกใดๆ ก็ตาม ร่วมด้วยการระลึกถึงหรือท่องจำ เกี่ยวกับสิ่งนั้นอยู่อย่างซ้ำๆ สมองก็จะกระตุ้นเซลล์สมองที่จดจำเรื่องนั้นไว้ในตอนแรกสุด และสร้างเส้นทางการดึงข้อมูลออกมาใช้จากสมองส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ไม่ว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนของสมองก็ตาม เพราะการจดจำไม่ได้ใช้สมองส่วนใดส่วนหนึ่งเพียงส่วนเดียว)
นี่เป็นวิธีการเก็บและดึงข้อมูลออกมาใช้ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก [3]
เรื่องที่สามที่สำคัญจึงได้แก่ การจดจำให้ได้ในระยะยาวนั้น นอกจากอาศัยการท่องจำในเบื้องต้นแล้ว ยังต้องมีการนำออกมาใช้งานอยู่เรื่อยๆ ยิ่งบ่อยก็ยิ่งดี เพื่อทำให้กระแสประสาทวิ่งในวงจรประสาทจำเพาะบางเส้นทางได้คล่อง ซึ่งจะทำให้จดจำได้แม่นยำและดึงข้อมูลออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
แต่สมองของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ และการสร้างความทรงจำมีปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม ตัวกระตุ้น อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้แต่ความเชื่อและการตีความสถานการณ์นั้นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งการดึงข้อมูลออกมาใช้งาน ก็ต้องอาศัยสมองหลายส่วนทำงานไปพร้อมๆ กัน
ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงส่งผลกระทบ ทำให้ความแม่นยำของความจำลดลงไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นทุกครั้งที่เรานึกถึงเหตุการณ์ใดก็ตาม เราก็อาจนำเอาอารมณ์ ความรู้สึก มุมมอง ‘ใหม่ๆ’ ใส่เติมเข้าไปผสมรวมกับเหตุการณ์ ‘เก่า’ ที่จำเอาไว้ด้วย โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำให้ความทรงจำผิดเพี้ยนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ด้วย [3]
เราจึงไม่ได้จำเหตุการณ์ต่างๆ ได้แบบที่พวกมัน ‘เกิดขึ้นจริง’ เพราะความทรงจำนั้นได้ผ่านกระบวนการทำงานของสมอง มีการตีความและเติมอคติต่างๆ เข้าไปได้ตลอดเวลา ความจำจึงเชื่อได้พอสมควร แต่เชื่อไม่ได้ 100% เพราะอาจผิดเพี้ยนได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่านไปนานเข้า
ส่วนเรื่องความทรงจำแบบภาพถ่าย (photographic memory) นั้น มีคนที่จำเรื่องต่างๆ ได้ละเอียดลออมากอย่างไม่น่าเชื่ออยู่จริง แต่สมองก็ไม่เคยทำงานแบบการถ่ายภาพเลย คนพวกนี้จึงจำไม่ได้ ‘ทุกอย่าง’ เหมือนระลึกถึงภาพถ่ายขึ้นมาในหัวจริงๆ เพียงแต่จดจำรายละเอียดได้มากอย่างน่าทึ่ง
ปกติแล้วจะพบคนที่มีความสามารถแบบนี้ในกลุ่มเด็กมากกว่า และค่อนข้างจะหายากในผู้ใหญ่
เรื่องการบริหารสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุ ด้วยการแก้ปริศนาหรือเล่นเกมรูปแบบต่างๆ นั้น อาจ ‘ช่วยได้บ้าง’ ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ ‘ช่วยได้มาก’ ขนาดนั้น มีขอบเขตของผลกระทบที่แคบกว่านั้น เช่น คนที่เล่นครอสเวิร์ด ก็มีแนวโน้มจะเล่นเกมทำนองนี้ได้ดีขึ้น หลังเล่นไปสักพัก เพราะความคุ้นชิน แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ไปช่วยพัฒนาศักยภาพสมองให้เพิ่มขึ้นโดยตรง
การแก้ปริศนาจึงช่วยให้สมองกระฉับกระเฉงได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับช่วยให้ความจำโดยรวมดีขึ้น อันที่จริงแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้ความทรงจำดีขึ้น กลับเป็นเรื่องการออกกำลังอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้เลือดสูบฉีดขึ้นไปยังสมองได้ดีขึ้น และการกินอาหารอย่างเหมาะสม มีแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอต่างหาก
เพราะการจดจำต้องใช้พลังงานและแร่ธาตุไม่น้อย [3]
ความเชื่อเรื่องสุดท้ายที่อยากกล่าวถึงคือ การท่องจำเนื้อหาอย่างเข้มข้นก่อนการสอบนั้น สามารถช่วยให้จดจำได้ดีเป็นพิเศษ จริงหรือไม่?
คำตอบคือ เรื่องนี้ไม่จริงเลย อันที่จริงแล้วกลับเทียบไม่ได้กับการแบ่งเวลาศึกษาอย่างเหมาะสม และการได้พักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนการสอบ
วิธีการแบบหลังนี้มีส่วนช่วยให้สมองทำงานได้ดีกว่าอย่างชัดเจน ยิ่งการพักผ่อนนั้นปราศจากสิ่งรบกวน เช่น ไม่มีการเล่นมือถือ ปิดโทรทัศน์ และปิดม่านหน้าต่างให้ห้องมืดพอสมควร ทำให้ร่างกายได้รู้สึกผ่อนคลายอย่างแท้จริง ก็ยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนมาก [3]
หากทำทั้งหมดนี้ได้ ก็น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำและการทำงานของสมองให้ดีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เอกสารอ้างอิง
[1] https://fivethirtyeight.com/features/how-many-digits-of-pi-you-have-to-have-memorized-to-be-special/
[2] https://www.pi-world-ranking-list.com/?page=lists&category=pi&sort=digits
[3] Psychology Now (2022) Vol. 2, p.30-33