- การสอนแบบสนุกเฮฮามีส่วนช่วยให้จดจำได้ดีขึ้นหรือไม่? หรืออันที่จริงแล้ว ก็แค่สนุก แต่ไม่ได้ช่วยให้จำอะไรได้ดีขึ้นกันแน่? หรือแม้แต่จำได้แย่ลงหรือไม่? ถ้าอยากให้สนุกด้วย จำได้ดีด้วย จะต้องทำอย่างไร?
- อารมณ์ขันในห้องเรียนส่งผลกับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เรียน ทำให้สามารถเรียนได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้นและส่งผลให้ความทรงจำที่เกิดขึ้นกลายไปเป็นความจำแบบระยะยาวได้ดีขึ้น
- มุกตลกที่นำมาใช้จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือเสริมกับเนื้อหา จึงจะมีส่วนทำให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นหรือมากขึ้น
หากถามแต่ละคนว่าจำครูอาจารย์คนไหนได้บ้าง เชื่อว่าคงต้องมีหลายคนสามารถที่จดจำครูที่สอนสนุก เฮฮา มีการยิงมุกตลก ปล่อยเรื่องขำขันเป็นระยะๆ บางคนได้แน่
คำถามสำคัญน่าจะได้แก่ การสอนแบบสนุกเฮฮามีส่วนช่วยให้จดจำได้ดีขึ้นหรือไม่? หรืออันที่จริงแล้ว ก็แค่สนุก แต่ไม่ได้ช่วยให้จำอะไรได้ดีขึ้นกันแน่? หรือแม้แต่จำได้แย่ลงหรือไม่? ถ้าอยากให้สนุกด้วย จำได้ดีด้วย จะต้องทำอย่างไร?
จะขอเริ่มจากการอ้างอิงว่ามีงานวิจัย [1] ที่ยืนยันว่า นักเรียนนักศึกษาจำห้องเรียนและครูอาจารย์ที่มีอารมณ์ขันและห้องเรียนที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายได้ดี พูดเข้าใจง่ายๆ คือ เป็นห้องเรียนที่ชวนให้ประทับใจนั่นเอง
เรื่องที่น่าสนใจคือ นักเรียนนักศึกษามักจะให้เครดิตกับครูอาจารย์กลุ่มนี้ว่าเก่งกว่าอีกด้วย แม้ว่าความจริงครูอาจารย์พวกนี้อาจจะไม่ได้เก่งกว่า มีภูมิความรู้สูงกว่า แต่เป็นพวกที่สื่อสารผ่านบทเรียนตลกๆ สนุกๆ ได้ดีกว่า ซึ่งก็สำคัญมากเช่นกัน
อารมณ์ขันในห้องเรียนส่งผลกับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เรียนนะครับ
หลักฐานคือมีการศึกษาฮอร์โมนในร่างกายผู้เรียนที่แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ขันและความรู้สึกสนุกสนานของนักเรียนนักศึกษาทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง ไม่ว่าจะเป็นคอร์ติซอล โดแพ็ก (dopac) และเอพิเนฟรีน (epinephrine) และในทางกลับกันก็ไปเพิ่มฮอร์โมนโดพามีน (dopamine) ที่อยู่ในระบบให้รางวัลของสมอง [2] ทำให้รู้สึกมีความสุข ความพึงพอใจมากขึ้น
แต่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ยังส่งผลต่อเนื่องทำให้สามารถเรียนได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้นและส่งผลให้ความทรงจำที่เกิดขึ้นกลายไปเป็นความจำแบบระยะยาวได้ดีขึ้น [3]
สมองเรามีความความจำแบบระยะสั้นที่จะลืมไปอย่างรวดเร็ว เช่น เบอร์โทรศัพท์หรือรหัสพาสเวิร์ดบางอย่างที่ต้องใช้เฉพาะหน้า แต่อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกในอนาคต และอีกแบบหนึ่งคือระบบความจำระยะยาว เช่น เกี่ยวกับเรื่องงานที่ทำซ้ำๆ หรือเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับคนนั้น เช่น ความทรงจำเรื่องช่วงเวลาดีๆ กับคนรักหรือคนในครอบครัว หรือรหัสเข้าใช้งานคอมพิวเตอร์หรือรหัสเอทีเอ็ม
กล่าวได้ว่าประโยชน์ของอารมณ์ขันในห้องเรียนนี่ ชัดเจนแจ่มแจ๋วแบบไม่ต้องเถียงกัน อันที่จริงจากประสบการณ์ตรงหลายคนก็คงรู้สึกเช่นนั้น ไม่เช่นนั้นพวกนักเรียนคงไม่ไปเรียนกับพวกติวเตอร์ที่ปล่อยมุกตลกได้เป็นระยะๆ ตลอดการสอนแน่
มีงานวิจัยที่รู้จักกันดีเพราะค้นพบกันมาอย่างยาวนานว่า การยิ้มหรือหัวเราะยังทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เอนดอร์ฟิน (endorphin) ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดและความเครียดได้อีกด้วย แต่เรื่องที่คนจำนวนมากยังไม่ค่อยรู้กันก็คือ เอนดอร์ฟินช่วยกระตุ้นสมองส่วนหน้าและช่วยเพิ่มความจดจ่อหรือสมาธิให้มากขึ้นด้วย [4]
อันที่จริงมีการทดลองหนึ่งที่นักวิจัยเขียนคำแนะนำการทำข้อสอบแบบขำๆ หรือเขียนเนื้อหาในตัวข้อสอบแบบขำๆ แทนที่จะเขียนแบบเรียบๆ หรือเป็นทางการอย่างที่ทำกันเป็นปกติ ผลก็คือพบว่าช่วยลดความเครียดของนักเรียนที่ทำข้อสอบได้ ส่งผลให้ทำคะแนนสอบได้มากขึ้นอีกด้วย [5]
พอจะเรียกได้ว่าอารมณ์ขันเปลี่ยนจากสถานการณ์สอบที่เป็นเรื่องทางการและน่าเบื่อหน่ายไปเป็นเรื่องที่ผ่อนคลายให้ความรู้สึกสบายๆ มากขึ้นได้บ้าง
ยุคนี้มีการสอนออนไลน์กันมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 กว้างขวางเท่าเดิมแล้วก็ตาม ศาสตราจารย์มาร์ค แชตซ์ (Mark Shatz) และแฟรงก์ โลชิเอโว (Frank LoSchiavo) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ แสดงให้เห็นว่าอารณ์ขันในห้องเรียนแบบนี้ ช่วยเพิ่มความตั้งใจและการร่วมมือของนักเรียนได้อย่างเห็นได้ชัด [6]
มองออกไปไกลกว่าห้องเรียน มีการสำรวจของพิวรีเสิร์ช [7] ที่พบว่า เมื่อผู้ชมได้ชมรายการโทรทัศน์ (อาจเป็นรายการข่าวหรือรายการโชว์ต่างๆ ก็ได้) ที่พิธีกรเจืออารมณ์ขันเข้าไปด้วย เช่น เดอะเดลี่โชว์ (The Daily Show) ของอเมริกันที่เอาข่าว เรื่องของนักการเมืองและใครต่อใครเอามาเล่าแบบขำๆ หรือเสียดสี หรืออีกรายการคือ เดอะโคลเบิร์ตรีพอร์ต (The Colbert Report) ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ ตลกๆ จิกกัด ซึ่งมีสตีเฟน โคลเบิร์ต เป็นพิธีกร ก็จะทำให้ผู้ชมจดจำ ‘เนื้อข่าว’ ได้ดีกว่า หากเทียบกับการดูข่าวจากซีเอ็นเอ็น ฟอกซ์นิวส์ หรือสถานที่โทรทัศน์ท้องถิ่นอื่นๆ รวมไปถึงการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย
หากเทียบกับอาหาร การใส่อารมณ์ขันในรายการโทรทัศน์ก็เหมือนการเพิ่มน้ำจิ้มหรือเครื่องเทศบางอย่างให้อาหารกลมกล่อมมากขึ้นนั่นเอง
แต่การนำความตลกขบขันเข้าสู่ชั้นเรียนมีเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัย และข้อที่ 2 คือเรื่องนั้นต้องมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน จึงจะช่วยให้จำได้ดีขึ้น
มีงานวิจัยที่จับเอาเด็กอนุบาลกับเด็กชั้นประถมปีที่ 1 มานั่งดูรายการเด็ก เซซามีสตรีท (Sasame Street) โดยให้ดูท่อนที่มีแก๊กตลกกับท่อนที่ไม่มี ผลคือกลุ่มที่ได้ดูท่อนที่มีเนื้อหาขำๆ จะจดจำเนื้อเรื่องได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ดูแต่ท่อนที่ไม่มีมุกตลก [8]
แต่ที่ดีไปกว่านั้นก็คือ ความสามารถในการจดจำเนื้อหาที่ได้ยังลากยาวไปถึงส่วนที่ไม่ตลกด้วยสำหรับเด็กที่ได้ดูท่อนที่ตลก ผู้สร้างรายการรู้เรื่องนี้ดี จึงแทรกมุกตลกอยู่เป็นระยะๆ เพื่อสร้างการจดจำสำหรับเด็กๆ
ในวัยรุ่นยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก เพราะนักวิจัยพบว่าเป็นวัยที่มีตัวรับ (receptor) บนเซลล์ที่จับกับฮอร์โมนโดพามีนเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ จึงรู้สึกขำง่ายและขำมากเป็นพิเศษ เรื่องขำขันหรือมุกตลกจึงเวิร์กมากๆ สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ [9]
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ มุกตลกที่นำมาใช้จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือเสริมกับเนื้อหา จึงจะมีส่วนทำให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นหรือมากขึ้น จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจในคลาสที่สอนเกี่ยวกับ ‘การรายงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์’ [10] แต่แทนที่จะเล่าแบบตรงๆ นักจิตวิทยาชื่อ แรนดี้ การ์เนอร์ (Randy Garner) เลือกใช้วิธีเล่าเรื่องของนักโทษ 2 คนให้นักศึกษาฟังว่า มีนักโทษ 2 คนโดนขังอยู่ด้วยกันในคุกที่อยู่กลางทะเลทราย
นักโทษใหม่พยายามจะชวนนักโทษเก่าให้หนีไปด้วยกัน แต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจพยายามหนีไปคนเดียว แม้จะหลุดรอดออกจากคุกได้สำเร็จ แต่กลายเป็นว่าไปไหนไม่ได้อยู่ดี เพราะตัวคุกอยู่กลางทะเลทราย ห่างจากเมืองที่ใกล้สุดเป็นร้อยกิโลเมตร
สุดท้ายจึงโดนจับกลับมาและได้กลับมาอยู่ในห้องขังเดิม นักโทษที่อยู่มาก่อนจึงเล่าให้ฟังว่า เขาก็เคยพยายามหนีแบบนี้เช่นกันไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น แต่สุดท้ายก็ไปไหนไม่รอดด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้นักโทษใหม่ถึงกับร้องโวยวายว่า “เอ๊า แกก็ทำ! แกก็รู้! แล้วทำไมไม่บอกข้า?”
นักโทษที่อยู่มาก่อนก็ตอบว่า “ไอ้บ้า ใครเค้ารายงานผลการทดลองที่ล้มเหลวกันล่ะ แหม่!”
ใช่ครับ … ในวารสารวิทยาศาสตร์ทั่วไป ปกติจะเล่าว่านักวิจัย ‘ประสบความสำเร็จ’ อะไรบ้างกับการทดลองของตัวเอง แทบไม่มีใครรายงานความล้มเหลว จะมีก็เป็นส่วนน้อยมากๆ
เรื่องเล่านี้จึงมีเนื้อหาที่เสริมกับบทเรียนและช่วยให้นักศึกษาจดจำเรื่องการไม่รายงานผลการทดลองที่ให้ผลเป็นลบได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ครูอาจารย์ต้องทำตัวเป็นตลกหรือสแตนด์อัปคอมมีเดียน แค่เลือกเอาเรื่องขำขัน ตลกๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทเรียนในทางใดทางหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง ทำได้เพียงเท่านี้ ห้องเรียนก็จะน่าเรียน นักเรียนก็จะรักทั้งตัวครูและบทเรียนมากขึ้น
เกิดอาการ ‘ทั้งขำ ทั้งจำได้’ อย่างที่จั่วหัวไว้นั่นแหละครับ
เอกสารอ้างอิง
[1] Communication Education, 48:1, 48-62, DOI: 10.1080/03634529909379152
[2] https://www.nature.com/articles/nn0301_237
[3] https://www.nature.com/articles/nrn1406
[5] HUMOR: International Journal of Humor Research, 19, 425-454
[7] https://www.edutopia.org/blog/laughter-learning-humor-boosts-retention-sarah-henderson
[8] Journal of Educational Psychology, 72(2), 170–180. https://doi.org/10.1037/0022-0663.72.2.170
[9] Front. Hum. Neurosci., 12 February 2010, Volume 4 – 2010. https://doi.org/10.3389/neuro.09.006.2010