- ‘ท็อกซิก’ (Toxic) หรือ ‘ความเป็นพิษ’ เป็นคำที่ถูกใช้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่รัก ครอบครัว หรือการทำงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีความท็อกซิกบางอย่างในตัวเองอยู่แล้ว เราจะมีบางส่วนในตัวเราที่ไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น แม้จะพยายามจะแก้ไขแต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัวเองอยู่
- ชัค ชัชพงศ์ ชวนสังเกตความท็อกซิกในตัวของเรา ให้รู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้เราหยุดพฤติกรรมที่เป็นพิษแล้วใช้วิธีที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น
- ความต้องการที่มากเกินไปมักจะเป็นบ่อเกิดของความท็อกซิก และความน่ากลัวคือการที่ไม่รู้ทันความต้องการตัวเอง แล้วเผลอทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว
ทุกวันนี้คำว่า ‘ท็อกซิก’ (Toxic) หรือความเป็นพิษเป็นคำที่ถูกใช้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่รัก ครอบครัว หรือการทำงาน จนบางครั้งก็ดูเหมือนมากเกินไปจนเราไม่รู้ว่าความท็อกซิกจริงๆ คืออะไรกันแน่ แล้วต้องรุนแรงแค่ไหนถึงควรจะเรียกว่าท็อกซิก บางพฤติกรรมไม่ได้ท็อกซิกแต่อาจเป็นเพราะไม่ชอบก็ได้ หรือถ้ารับบางพฤติกรรมได้ก็อาจจะไม่ได้มองว่ามันท็อกซิก ถ้ามองแบบเป็นกลางจะเห็นว่าแต่ละคนจะตีความหมายของความท็อกซิกต่างกันออกไป บางคนแค่นอนตื่นสายก็มองว่าตัวเองเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบจนด่าว่าตัวเอง แต่บางคนก็ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา เราจึงควรรู้ขอบเขตตัวเองว่าแบบไหนที่เรารู้สึกโอเค แบบไหนที่เรารับไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีความท็อกซิกบางอย่างในตัวเองอยู่แล้ว เราจะมีบางส่วนในตัวเราที่ไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น แม้จะพยายามจะแก้ไขแต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัวเองอยู่
บางคนก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองท็อกซิก จากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ผ่านมา ผมพบว่าคนที่มีความท็อกซิกหลายคนก็ไม่ได้อยากจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบนั้น แต่เป็นเพราะเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตนถึงเป็นแบบนี้ รู้ตัวอีกทีก็เป็นแบบนี้ไปแล้ว แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้
ผมลองประยุกต์แนวคิดของคาเลน ฮอร์นาย (Karen Horney) นักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกัน มาชวนสังเกต 10 ลักษณะความต้องการที่มักจะเป็นพิษต่อตัวเอง ความต้องการเหล่านี้มักเป็นความต้องการที่ทุกคนมีเหมือนกัน แต่ถ้าหากมากเกินไปมักจะส่งผลต่อให้รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมากขึ้น และอาจทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ด้วย ความต้องการที่มากเกินไปมักจะเป็นบ่อเกิดของความท็อกซิก และความน่ากลัวคือการที่ไม่รู้ทันความต้องการตัวเอง แล้วเผลอทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว เช่น คุณอาจต้องการความสนใจ แต่คุณไม่รู้ทันความต้องการตัวเองรู้ตัวอีกทีก็ออกไปโอ้อวดความเก่งตัวเองเพื่อให้คนอื่นยอมรับ
1) ความต้องการความรักและการยอมรับ
คนที่ต้องการความรักและการยอมรับมากเกินไปมักจะกลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการโดนวิจารณ์ หรือคนอื่นจะไม่พอใจ ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะกลัวโดนทอดทิ้ง ซึ่งก็อาจจะเห็นได้บ่อยในคนที่ชอบเอาใจคนอื่นมากๆ (people pleaser)
2) ความต้องการมีคู่
คนที่ต้องการมีคู่มักจะกลัวการถูกทอดทิ้งและการอยู่คนเดียว มักจะมีความเชื่อหรือเห็นความสำคัญของความรักมากเกินความเป็นจริงไป อาจมีความเชื่อว่าความรักจะเยียวยาทุกปัญหาในชีวิต หรือถ้าเรามีความสัมพันธ์ คนนั้นก็จะช่วยจัดการทุกปัญหาที่เราเจอ
3) ความต้องการที่จะจำกัดตัวเอง
ข้อนี้ฟังดูแปลกมันคือความต้องการที่จะจำกัดตัวเองอยู่ในวงแคบ วางตัวไม่เด่น ไม่ต้องเป็นที่สนใจ ไม่ต้องการ/กล้าเรียกร้องอะไร เขามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความต้องการและความรู้สึกตัวเอง ถ้าแรงมากก็อาจจะด้อยค่าความสามารถ หรือคุณค่าตัวเองด้วย เขาจะไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งหรือทำอะไรได้ดีแม้จะมีหลักฐานมากเพียงใดก็ตาม แม้มีคนชมก็จะไม่สามารถรู้สึกดีกับคำชมได้
4) ความต้องการอำนาจ
เขาให้คุณค่ากับความเข้มแข็ง มองว่าอำนาจ การสามารถควบคุม หรือมีอิทธิพลต่อคนอื่นได้คือสิ่งที่ดี ด้วยความสุดโต่งจึงมักมองสิ่งที่ตรงข้ามอย่างความอ่อนแอเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี เขามักจะกลัวความรู้สึกสิ้นหวัง การไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ หลายครั้งก็จะเอาเปรียบคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจหรือเหนือกว่า
5) ความต้องการเอาเปรียบผู้อื่น
เขามองความสัมพันธ์เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนบางอย่างที่เขาต้องการ เวลามีความสัมพันธ์ก็มักจะคิดว่าคนนั้นจะสามารถให้อะไรเขาได้บ้าง และมักภูมิใจที่ตัวเองสามารถเอาเปรียบคนอื่นได้ หรือบงการคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้บางอย่างที่ต้องการได้สำเร็จ
6) ความต้องการการยกย่อง
หากสังคมให้การยกย่องเขาก็จะยิ่งภูมิใจ เขามักจะมองคุณค่าตัวเองและคนอื่นผ่านการที่คนอื่นยกย่อง ให้คุณค่า หรือมีจดจำเขาได้มากแค่ไหน เขามักจะกลัวการไม่ถูกจดจำ การสูญเสียภาพลักษณ์หรือสถานะทางสังคม
7) ความต้องการชื่นชมตัวเอง
เขามักจะมีความต้องการที่จะชื่นชมตัวเอง มีมุมมองต่อตัวเองที่เป็นบวกมากเกินความเป็นจริง เขาต้องการถูกชื่นชมบนภาพที่เขามองตัวเองไม่ใช่ความเป็นจริงของเขา
8) ความต้องการประสบความสำเร็จ
เขามักจะกลัวความล้มเหลวและไม่มั่นคง จึงพยายามกดดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จให้มากที่สุด แม้จะประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็จะพยายามผลักดันตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก โดยที่ไม่สามารถหยุดตัวเองจากการล่าเป้าหมายได้ง่ายๆ
9) ความต้องการเป็นอิสระ
เขามักจะแยกตัวออกจากคนอื่น ต้องการเป็นอิสระ พยายามไม่พึ่งพาคนอื่น ซึ่งอาจเกิดจากการผิดหวังในความสัมพันธ์ ทำให้คิดว่าอยู่คนเดียวน่าจะดีกว่า การอยู่กับคนอื่นหรือขอความช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ดี
10) ความต้องการความสมบูรณ์แบบ
คนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมักจะกลัวความล้มเหลว และยึดติดคุณค่าตัวเองไว้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เขามักมีความเครียดและวิตกกังวลที่สูง เป็นคนที่มองหาข้อบกพร่องในตัวเองและสิ่งที่ทำได้เสมอ
ความต้องการที่มากเกินไปมักจะเกิดจากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองในวัยเด็ก เอาง่ายๆ คือ เขาอยากได้แต่ไม่ได้รับ จนทำให้ต้องการสิ่งนั้นมากขึ้น ความต้องการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
เป็นสิ่งที่คอยผลักให้เราทำ คิด หรือรู้สึกบางอย่างเสมอ อย่างที่บอก ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการพื้นฐาน แต่ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้เรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แล้วยิ่งทำให้มีความวิตกกังวล
การรู้ทันความต้องการที่มากเกินไปของตัวเองจะทำให้เราหยุดพฤติกรรมที่เป็นพิษต่อตัวเองแล้วใช้วิธีที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น
สมมุติคุณรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมากเกินไปให้ลองถามตัวเองดูว่าผลกระทบของมันคืออะไรบ้าง คุณรู้สึกเครียดไหมเวลาที่ทำงาน คนรอบข้างคุณเขารู้สึกอย่างไร คุณจะมีวิธีไหนไหมที่ทำงานได้ดีไม่ต้องเครียดมากเกินไป มันเป็นเพราะคุณเอาคุณค่าตัวเองผูกไว้กับผลลัพธ์มาเกินไปไหม แล้วถ้าคุณอนุญาตให้ตัวเองทำงานที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบมากเกินไปบ้างจะเป็นไรไหม แต่ละคนจะมีวิธีจัดการความต้องการที่มากเกินไปในแบบของตัวเอง ถ้าเรารู้ทันความต้องการที่มากเกินไปจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ทันความคิดและความรู้สึกที่ท็อกซิกของตัวเอง
ผมมี 5 คำถามที่เอาไว้สังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกท็อกซิก
1) คุณกำลังต้องการอะไรอยู่ ? (จาก 10 ความต้องการด้านบน)
2) คุณมักจะทำอย่างไรเพื่อให้ความต้องการนั้นได้รับการตอบสนอง ?
3) ถ้าความต้องการคุณได้รับการตอบสนองแล้วจะเป็นอย่างไร ?
4) ประสบการณ์วัยเด็ก/อดีตอะไรทำให้คุณอยากได้ความต้องการนั้นขนาดนั้น ?
5) มีวิธีไหนไหมที่จะทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น ?
ยกตัวอย่าง คุณเป็นคนที่ต้องการจำกัดตัวเอง พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยเห็นคุณค่าตัวเอง เวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์คุณก็มักจะไม่เรียกร้องอะไร ถึงแม้คุณต้องการสิ่งนั้นมากแค่ไหน คุณก็จะพยายามควบคุมตัวเอง หาเหตุผลเพื่อที่จะละเลยความต้องการตัวเองอยู่เสมอ หลายครั้งก็ด้อยค่าตัวเอง ถ้าคุณจำกัดตัวเองคุณก็จะได้ปกป้องตัวเองจากความรู้สึกว่าคนอื่นจะไม่เห็นคุณค่าคุณ คุณปกป้องตัวเองด้วยการด้อยค่าตัวเองก่อนจะได้ไม่โดนคนอื่นทำร้ายเพราะมันเจ็บยิ่งกว่า ที่คุณทำแบบนั้นเพราะที่ผ่านมาคุณไม่เคยได้รับหรือถูกมองว่าความต้องการและความรู้สึกคุณเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่มักจะเอาความต้องการตัวเองมาก่อนคุณเสมอ
เมื่อเห็นภาพความต้องการและที่มาที่ไปชัดขึ้น คุณจะค่อยๆ เห็นภาพว่าคุณจะเปลี่ยนความต้องการที่เป็นพิษของตัวเองให้เป็นสิ่งที่เฮลตี้ขึ้นได้อย่างไร แต่ละคนจะมีวิธีที่ต่างกันออกไป จากตัวอย่างข้างบนคุณอาจลองให้ความสำคัญกับความต้องการตัวเองมากขึ้น อาจจะเริ่มจากเหตุการณ์ง่ายๆ อย่างเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน จากที่จะให้ความสำคัญกับเสียงของคนอื่นอย่างเดียว ก่อนถามคนอื่นให้ลองถามตัวเองดูว่าเราอยากกินอะไร แล้วค่อยๆ พัฒนาเรื่องที่ยากขึ้นไปอย่างการรู้ทันความต้องการเวลาในความสัมพันธ์
สิ่งที่ผมชอบบอกเวลาคนรอบข้างเจอความท็อกซิกในตัวเองคือ ความท็อกซิกไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในวันเดียว การจะเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้เวลาและความอดทนมาก ยิ่งกดดันยิ่งไม่ช่วยอะไร ไม่ต้องโทษที่เรามีความต้องการบางอย่างที่อาจเป็นพิษต่อตัวเองและคนอื่น ทุกคนล้วนมีความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องกลัวคนอื่นจะรู้สึกแย่กับเราเกินไปจนไม่เป็นตัวเอง สิ่งที่ย้อนแย้งของมนุษย์คืออยากจะเป็นคนที่ไร้ข้อบกพร่อง แม้รู้ว่าความเป็นจริงว่าเราไม่มีทางเป็นเช่นนั้น
เราอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราจะพยายามยอมรับมัน
ผมพยายามบอกตัวเองแบบนั้น เวลาเจอความเป็นพิษในตัวเอง