- สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์ ไม่ได้มีมาแต่กำเนิดแล้วคงอยู่ตลอดไป แต่พรสวรรค์พัฒนาให้มีความพิเศษยิ่งขึ้นได้ ‘จากการฝึกฝนอย่างจริงจัง’
- ในทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สมองวัยเยาว์มีศักยภาพในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อใยประสาทอย่างขนานใหญ่ ที่พร้อมรับแรงกระตุ้นจากประสบการณ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง หากแรงกระตุ้นนั้นถูกต้อง เหมาะสม และต่อเนื่องเพียงพอ
“พรสวรรค์มีจริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด เพราะพรสวรรค์ที่แท้จริงคือ ‘ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง’ เพื่อพัฒนาไปสู่สมรรถนะที่ยอดเยี่ยม มหัศจรรย์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”
ในอดีตคนเราเชื่อว่า ‘ความเก่ง’ หรือ ‘ความฉลาด’ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่สามารถสร้างหรือพัฒนาได้ แต่โลกยุคปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด มนุษย์เราจะเก่งได้ต้องพบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวด้วยกันทั้งสิ้น
ดังตัวอย่างจากหนังสือเรื่อง ‘เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่’ ที่ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เขียนไว้ว่า Growth Mindset (กระบวนทัศน์พัฒนา) คือ ความเชื่อเรื่อง ‘พรแสวง’ ที่ทำให้คนเรามีความอดทน มานะพยายาม หมั่นฝึกฝนตนเอง พยายามเรียนรู้กลยุทธ์ที่ดีในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งตรงข้ามกับ Fixed Mindset (กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง) หรือความเชื่อใน ‘พรสวรรค์’ ที่ว่าคนเก่งเก่งมาตั้งแต่เกิด เก่งแล้วเก่งเลย ทำให้เด็กคนนั้นไม่มีความมุมานะพยายามที่จะพัฒนาตนเอง มองความยากลำบาก ความล้มเหลวไปในด้านลบ คือนำไปสู่ความท้อถอย และความล้มเหลวในชีวิต
การเลี้ยงเด็กให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่หรือบุคคลใกล้ชิดที่อยู่รายล้อมรอบตัวเด็กต้องช่วยกันปรับความเชื่อใหม่ จากเชื่อเรื่อง ‘พรสวรรค์’ (talent, gifted) มาเป็นเชื่อ ‘พรแสวง’ ที่เด็กต้องผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำ จากเชื่อเรื่อง ‘สมองดี’ แต่กำเนิด มาเป็นเชื่อใน ‘สมองดี’ ผ่านความมานะพยายามฝึกฝน เพราะไม่ว่าเด็กที่สมองดีแต่กำเนิด สมองปานกลาง หรือสมองช้า หากได้รับการเลี้ยงดู และการศึกษาแบบฝึกกระบวนทัศน์พัฒนา ภายหลังเขาอาจกลายเป็นคน ‘สมองดี’ ก็ได้
‘พรสวรรค์’ ในความหมายทางวิทยาศาสตร์
ตัวอย่างจากหนังสือ Peak: Secrets from the New Science of Expertise บท Introduction; The Gift เล่าเรื่องพรสวรรค์ของนักดนตรีอย่างโมสาร์ท (Wolfgang Mozart) ที่เดิมเชื่อกันว่า เขาเป็นอัจฉริยะเรื่องการประพันธ์เพลง เพราะมีพรสวรรค์ มีความสามารถในการแยกเสียงดนตรี ที่เรียกว่า Absolute Pitch (AP) หรือ Perfect Pitch มาแต่กำเนิด และเชื่อว่ามีคนที่เกิดมามีพรสวรรค์แบบนี้เพียง 1 ในหมื่นคน
แต่ผลการวิจัยของ อะยะโกะ ซะกะกิบะระ (Ayako Sakakibara) บอกว่า ‘ไม่จริง’ ผลการทดลองของเธอในเด็กอายุ 2-3 ขวบ จำนวน 24 คน บอกว่า เด็กทั้ง 24 คน สามารถแยกเสียงดนตรีได้ทุกคน โดยเด็กบางคนแยกเสียงได้หลังจากใช้เวลาฝึกฝนไม่ถึงปี และคนที่ใช้เวลาฝึกฝนมากที่สุดคือ 1 ปีครึ่ง
แอนเดอร์ส อีริคสัน (Anders Ericsson) ผู้เขียนหนังสือ Peak บอกว่า ผลการวิจัยนี้ประกอบกับการวิเคราะห์ชีวิตของโมสาร์ท สรุปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์ด้านดนตรีนั้น ไม่ได้มีมาแต่กำเนิดแล้วคงอยู่ตลอดไป แต่พรสวรรค์สามารถพัฒนาให้มีความพิเศษยิ่งขึ้นได้จากการฝึกฝนอย่างจริงจัง
ดูเหมือนว่าความเข้าใจใหม่เรื่องพรสวรรค์มาบรรจบกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองที่ระบุว่า สมองในวัยเยาว์มีศักยภาพในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อใยประสาทอย่างขนานใหญ่ หรือที่เรียกว่า Brain Adaptability หรือ Plasticity ที่พร้อมต่อการรับแรงกระตุ้นจากประสบการณ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ให้บรรลุสภาพที่ทำบางสิ่งได้ดีอย่างมหัศจรรย์ หากแรงกระตุ้นนั้นถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่องเพียงพอ
ในขณะเดียวกัน หากสมองที่ดีไม่ได้รับการกระตุ้นและใช้งาน เซลล์ประสาทก็จะถูกทำลายไป คนที่มีพรสวรรค์จึงอาจไม่สามารถพัฒนาต่อได้หากไม่ได้รับการกระตุ้นและฝึกฝนอย่างถูกต้อง
จะเห็นได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีพรสวรรค์ คือ ‘สมอง’ ที่พร้อมจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงจนเกิดความสามารถพิเศษในด้านใดด้านหนึ่งได้ พรสวรรค์อยู่ที่ธรรมชาติของสมองมนุษย์ แต่จะเกิดผลสู่ความสามารถพิเศษหรือไม่ อยู่ที่การฝึกฝนและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย