- ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ ไม่ได้หมายถึงเพศสรีระหรือเพศสภาวะของเพศชาย แต่เป็นคำที่มักใช้เพื่อเปรียบเปรย-เสียดสีผู้ชายที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนับสนุนและเคารพความเท่าเทียมทางเพศ
- ในช่วงที่ผ่านมาก็มีประเด็นคนดังถูกนิยามว่าเป็น ‘ชายแทร่’ จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนมีชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่าการเรียนชายล้วนอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลายเป็น ‘ชายแทร่’
- The Potential ชวนหาคำตอบกับ อาจารย์นีท – ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คนๆ หนึ่งมีนิสัย ‘ชายแทร่’
ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ หรือ X และเป็นหนึ่งในคำยอดฮิตที่ได้รับความสนใจจนเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “ทำไมผู้ชายบางคนจึงมั่นหน้าเป็นชายแทร่อยู่ได้ ทั้งๆ ที่กระแสสังคมทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม สิทธิสตรี รวมถึง LGBTQ+”
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจนิยามของคำว่า ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ กันสักนิด คำนี้คือสแลงในโลกโซเชียล ที่ไม่ได้หมายถึงเพศสรีระหรือเพศสภาวะของเพศชาย หรือเหมารวมผู้ชายทุกคน แต่เป็นคำที่มักใช้เพื่อเปรียบเปรย-เสียดสีผู้ชายที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนับสนุนและเคารพความเท่าเทียมทางเพศ หรือผู้ชายที่มีทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ มีพฤติกรรมที่เรียกว่า Toxic masculinity (ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ) Anti Feminist (ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยม) รวมถึงมองว่าผู้หญิงเป็น Sex Object (วัตถุทางเพศ)
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีประเด็นคนดังหรือบุคคลสาธารณะถูกนิยามว่าเป็น ‘ชายแทร่’ จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนมีชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกต แล้วเหมารวมว่า การที่ผู้ชายอยู่ในสังคมเพื่อนผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเรียนในโรงเรียนชายล้วนนั้น อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลายเป็น ‘ชายแทร่’
The Potential ชวนหาคำตอบกับ อาจารย์นีท – ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คนๆ หนึ่งมีนิสัย ‘ชายแทร่’ (ชายแท้)
อาจารย์คิดว่าการเรียนในโรงเรียนชายล้วนจะทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะติดนิสัย ‘ชายแท้’ ไหม?
โดยรวมแล้ว ปัจจัยของพัฒนาการทางการเรียนรู้เรื่องบทบาททางเพศและเรื่องการเติบโตเนี่ยไม่ได้เกิดแค่โรงเรียนที่เดียวนะคะ เพราะฉะนั้นจึงตัดสินไม่ได้ว่า เด็กที่เรียนชายล้วน จะมีผลลัพธ์ที่ดีหรือแย่กว่าเด็กโรงเรียนสหศึกษา เพราะมันก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งครอบครัว ชุมชน หรือเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน ซึ่งทุกอย่างจะประกอบกันเป็นเด็กคนหนึ่ง
แต่แน่นอนว่าถ้าบ้านไหนที่มีแนวคิดแข็งแกร่งในการเน้นย้ำบทบาททางเพศที่ชัดเจน ว่า “เราเป็นผู้ชาย เราต้องดูแลปกป้อง ต้องทําหน้าที่เป็นผู้นํา” แล้วส่งลูกไปเรียนโรงเรียนชายล้วนอีก ก็อาจจะมีแนวโน้มทําให้แนวทางของเด็กคนนั้นชัดขึ้นว่า เขาเชื่อมั่นในแนวทางของเขาด้วยสังคมครอบครัวและโรงเรียนบวกกัน แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถเหมารวมได้ว่า “อ๋อ เพราะเขาเรียนชายล้วนไง เขาถึงเป็นแบบนี้” เพราะองค์ประกอบร่วมของการเติบโตทางพัฒนาการของคนๆ หนึ่งไม่สามารถบอกจากแค่ปัจจัยเดียว การที่เรียนอยู่ในโรงเรียนชายล้วน อาจจะเป็นสังคมรวมกลุ่มผู้ชายเพศเดียวกันก็จริง แต่มันก็แล้วแต่แต่ละกลุ่ม แล้วแต่ว่าเขาจะเรียนรู้และเลือกที่จะเป็นแบบไหน
ถ้าอ้างอิงจากงานวิจัย โรงเรียนชายล้วนหลายโรงเรียนพยายามที่จะสอดแทรกประเด็นการให้เกียรติผู้อื่น โดยให้คํานิยามของคําว่าความเป็นผู้ชายคือ ‘ความเป็นสุภาพบุรุษ’ ดังนั้นโรงเรียนที่มีการเน้นย้ำในประเด็นพวกนี้ เด็กก็จะไม่ได้เติบโตหรือออกมาด้วยความรู้สึกว่า ฉันเป็นผู้นํา เป็นใหญ่เหนือกลุ่มอื่น หรือเหนือคนต่างเพศ
โรงเรียนที่มีความเข้าใจว่าจุดด้อยของการเป็นโรงเรียนชายล้วนคืออะไร เขาก็จะพยายามเติมเต็มและเสริมสร้างลูกผู้ชายที่เป็นมิตรต่อสังคม แต่ก็มีโรงเรียนที่อาจจะเน้นวิชาการ ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญอะไร แต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่อะไร เพราะมองว่าท้ายที่สุดแล้วเด็กก็จะเติบโตในรูปแบบของเขาเอง
ซึ่งคอนเซ็ปต์เรื่องคบคนพาลพาไปหาผิดมันก็ยังคงอยู่ในสังคมเราค่ะ ดังนั้นถ้าจะมองในแง่ของว่าเด็กชายล้วนมีแนวโน้มที่จะพากันไปทําพฤติกรรมที่ข่มเหงเพศหญิงก็ไม่แน่เสมอไป เพราะว่าเด็กโรงเรียนสหก็มีทําเหมือนกัน จึงไม่สามารถเหมารวมได้ขนาดนั้นค่ะ
สาเหตุของการที่ทำให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็น ‘ชายแท้’ คืออะไร?
นอกเหนือจากการเลือกคบกลุ่มเพื่อน และตัวอย่างในครอบครัวอย่างที่กล่าวไปว่า ถ้าบ้านไหนที่มีแนวคิดแข็งแกร่งในการเน้นย้ำบทบาททางเพศที่ชัดเจนเด็กก็จะมีแนวโน้มมีความคิดแบบนั้น แล้วอีกสิ่งหนึ่งคือ ‘สื่อ’ เพราะเด็กเขาสามารถเลือกที่จะเสพสื่อที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่โรงเรียนและครอบครัวมอบให้ได้ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าลูกวัยรุ่นของเราดูอะไรบ้าง เขาอาจจะไปเสพสื่อหรือทำตามเทรนด์ที่เป็นที่นิยมซึ่งอาจจะในทางถูกหรือผิดก็ได้
เด็กอาจจะเสพคอนเทนต์บางอย่างแล้วมองว่า ทําแล้วเท่จัง ทำคอนเทนต์แบบนี้แล้วมีคนกดติดตามเยอะ แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในด้านพัฒนาการ เวลาที่เด็กทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บางครั้งเกิดจากการที่เขาเข้าใจว่า ถ้าทำแล้วจะได้ชื่อเสียง ได้การยอมรับ ดูเท่ในสายตาเพื่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากนะคะสำหรับวัยรุ่น
อย่างล่าสุดที่มีคนที่เคยทําวิดีโอคลิปที่เหยียดหรือบูลลี่คนอื่น แต่ก็ยังมีคนชอบ มีคนติดตามเป็นหมื่นเป็นแสน ก็อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งเราทําไม่ได้ผิด
เพราะเด็กวัยรุ่นมีความสุ่มเสี่ยงอย่างหนึ่งคือ อะไรที่เขาได้รับการตอบสนอง ก็จะเข้าใจว่านี่เขามาถูกทางแล้ว
ช่วงปีที่ผ่านมามีประเด็นคนดังหลายคนถูกขุดอดีตว่ามีนิสัย ‘ชายแท้’ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
สิ่งที่เป็นประเด็นในตอนนี้คือ สิ่งที่เขาทําไปแล้วในอดีตกลับมีผลในปัจจุบัน เพราะเขากลายเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นดาราเป็นศิลปินมีชื่อเสียง แล้ว Digital Footprint (ร่องรอยดิจิทัล) ของสิ่งที่เคยทำก็จะเข้ามาทําร้ายเขาในปัจจุบันแม้จะมาสำนึกทีหลังว่าสิ่งที่ทํามาตลอดมันผิดก็ตาม หลายคนเลยเขียนจดหมายขอโทษสิ่งที่ทําในอดีต แต่นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขาทําตอนนั้นก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าทําได้ ไม่ได้มีฟีดแบคอะไรที่ไปกระทุ้งสามัญสํานึกในอดีตว่าสิ่งที่เขาทํานั้นผิด จนกระทั่งวันหนึ่งทัวร์ลง
การที่เด็กคนนึงเขาเดินทางผิด เช่น แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กดขี่คนอื่น พูดจาไม่ดี หรือทําให้ตัวเองดูโดดเด่น แน่นอนเขาอาจจะเป็นที่ยอมรับกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนอีกกลุ่มนึงก็คงไม่ใช่
ในที่สุดแล้วเด็กทุกคนก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในแบบของตัวเอง แล้วเด็กที่เติบโตมาในทางที่ผิด ท้ายที่สุดก็จะมีกระบวนการทางสังคมที่บอกเขาเองว่าถ้าอยากจะไปทางดี อยากเป็นคนมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ เขาควรจะต้องมี Crisis Management ในการจัดการสิ่งที่เคยทำในอดีต ว่าหากถูกทัวร์ลง ถูกเอาอดีตมาเปิดเผย จะขอโทษยอมรับผิดอย่างไรบ้าง
ยิ่งการบูลลี่ในสังคมออนไลน์เนี่ย เด็กหลายคนจะมองว่าฉันไม่ได้มีตัวตนที่สามารถโยงมาถึงตัวจริงของเราได้ เวลาทําแล้วสนุก แต่ว่าอาจจะไม่ได้สะท้อนตัวตน คืองานวิจัยเริ่มมีมากขึ้นว่า อัตลักษณ์ที่เป็นในสังคม กับอัตลักษณ์ในออนไลน์อาจจะคนละเรื่องกันเลย เด็กบางคนที่เขาเรียก ‘เกรียน’ ในออนไลน์เนี่ย บางทีในชีวิตจริงเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสทำก็ได้ เพราะฉะนั้นก็พูดยากเหมือนกันว่าตัวตนออนไลน์สามารถสะท้อนสังคมได้มากน้อยแค่ไหน
เด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นเด็กที่ยังไม่รู้ว่า ผลลัพธ์มันจะไปได้ไกลขนาดไหนนะคะ บางทีเขาเห็นคนที่โพสต์อะไรประมาณนี้แล้วยอดไลค์ดี ยอดรีทวีตเยอะ เลยทำให้รู้สึกเร้าใจ รู้สึกว่าการที่ปากแจ๋ว ทําให้มีชื่อเสียง ซึ่งอาจเป็นภาพสะท้อนของการที่ไม่ได้รับความสนใจในโลกของความเป็นจริง
ถ้าเขาไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอในสังคมพื้นฐาน เช่น ครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน เขาก็อาจจะไปทําอะไรที่ Extreme (สุดโต่ง) ในโลกเสมือนจริง ซึ่งเขาลืมคิดไปว่าถ้ามันเป็นคดีความขึ้นมาเราก็สามารถขุดได้ว่าเป็นใคร
เพราะฉะนั้นโรงเรียนและครอบครัว รวมถึงสังคมเพื่อน จะเป็นตัวที่จะช่วยประคับประคอง แต่เด็กก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย เช่น ถ้าบูลลี่เพื่อนหรือพูดจาไม่ดีกับเพื่อน ก็จะถูกกระแสตอบกลับด้วยการที่เพื่อนไม่เล่นด้วย ซึ่งถ้าเป็นเด็กเล็กเราก็จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่อาจเล่นกันแรงๆ มีกลุ่มเพื่อนที่เฮไปกันกับเขา เด็กก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำมันไม่ดี หรือบางทีก็รู้ว่าไม่ดี แต่สมองของคนเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า Reward System (ระบบการให้รางวัลของสมอง)
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ขับรถเร็ว ขับรถไม่มีใบขับขี่ ลองสารเสพติด แอบไปเที่ยวกลางคืนโดยที่ยังอายุไม่ถึง หรือทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในวัยนั้นก็จะเกิดความสนุกจากพฤติกรรมเสี่ยงๆ ขึ้นมาค่ะ
แสดงว่าพัฒนาการทางสมองของวัยรุ่นก็มีผลทำให้ประพฤติตัวไม่เหมาะสมด้วยใช่ไหม?
ใช่ค่ะ คือในพัฒนาการของวัยรุ่น มีงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องการมี Awareness หรือ ‘การรับรู้ถึงความเสี่ยง’ ว่าจะมีพัฒนาการช้ากว่าสมองในส่วนหลังที่รับรู้เรื่อง Reward หรือ ความสะใจ ความตื่นเต้นที่ได้ทําสิ่งที่แหกกฎแหกคอก แล้วไม่มีใครจับได้ค่ะ นี่เป็นสิ่งที่ Reward System ในสมองบอกว่ามันทําได้ ทําเถอะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวมีปัญหาก็ค่อยไปแก้เอา ส่วนนี้พัฒนาแล้วตั้งแต่อายุ 12-13 ปี แต่สมองส่วนที่รับรู้ถึงความเสี่ยง ทำหน้าที่ในการมองอนาคต ตั้งคําถาม คิดถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ว่าถ้าโดนจับขึ้นมา ถ้าโดนแหกขึ้นมาล่ะ กว่าจะพัฒนาเต็มที่คืออายุประมาณ 25 ปี พัฒนาการของทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้นค่ะ
แต่ถ้าพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาในในกรอบที่ดี คุยกับลูกเนี่ย พ่อแม่สามารถช่วยฝึกให้ลูกคิดได้ว่า “ถ้าทําแบบนี้พ่อแม่รับไม่ไหวนะลูก” หรือว่า “ถ้าหนูท้องแล้วเรียนไม่จบ จบไม่ทันเพื่อน หนูโอเคหรือเปล่า” เป็นพ่อแม่กลุ่มที่พยายามสอนการคิดถึงอนาคต ให้เด็กเรียนรู้ถึงความเป็นไปได้อยู่เสมอ แต่พ่อแม่ที่ไม่คุยกับลูกก็อาจจะไม่ได้สอนเรื่องพวกนี้ให้ ดังนั้นสมองส่วน Awareness ก็จะคิดได้ช้าหน่อย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องของโรงเรียนและครอบครัวว่าจะฝึกเด็กยังไง เพราะถึงแม้เราจะรู้จากงานวิจัยว่าสมองส่วนนี้ยังไม่ฟอร์มเต็มที่ แต่ว่าถ้าเราฝึกให้เขาคิดถึงอนาคต สมองส่วนนี้ก็จะพัฒนาได้ดีและเร็วขึ้น
แต่เราก็จะมีเพื่อนหลายแบบที่มากระตุ้นสมองส่วนหลัง ที่ถ้าหากเราไม่ตามเพื่อน แล้วเกิดพรุ่งนี้เช้าไปโรงเรียนเพื่อนไม่ยอมรับขึ้นมาจะรู้สึกยังไง ก็เป็นทางแยกที่วัยรุ่นต้องตัดสินใจ แต่อย่างที่บอกว่า วัยรุ่นที่คุยกับพ่อแม่ เขาจะมี system ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เพราะพอเด็กเริ่มโต พ่อแม่ก็ไม่สามารถคุมได้ตลอดเวลา เด็กต้องคิดเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่พ่อแม่อบอุ่นเขาจะไม่ไปลองเสี่ยงนะคะ เขาก็จะลองเสี่ยงแต่จะมีลิมิตว่าได้แค่ไหน แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กอีกกลุ่มก็อาจจะเสี่ยงไปไกลเลยค่ะ เพราะเขาไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย ไม่มีสายสัมพันธ์ของพ่อแม่และลูกที่ต้องดึงเขาไว้ข้างหลัง
แล้วการเรียนโรงเรียนหญิง/ชายล้วนจะมีผลต่อพัฒนาการทางเพศของเด็กไหม?
จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีผลขนาดนั้นค่ะ เพราะถึงจะมีข้อจำกัดในการเรียนอยู่ในสังคมหญิงล้วนหรือชายล้วนก็ตาม แต่ตามกลวิธีทางสังคมของมนุษย์ ท้ายที่สุดเราก็จะพาตัวเองไปมีประสบการณ์ที่เราขาดอยู่เสมอ อย่างเช่น พ่อแม่ที่มีลูกคนเดียว ก็รู้อยู่แล้วว่าการมีลูกคนเดียวก็อาจจะทําให้ลูกเหงา ก็จะพยายามหาเพื่อนเล่นให้ลูกโดยพาไปเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน
ทำนองเดียวกันกับเด็กที่เรียนหญิง/ชายล้วน กระบวนการทางสังคมพวกนี้มันทดแทนกันโดยแบบอัตโนมัติอยู่แล้วค่ะ เช่น เด็กหญิงล้วนหรือเด็กชายล้วนบางกลุ่ม ในช่วงสอบเข้ามหาลัย เขาก็จะพยายามไปหาที่ติว เพื่อที่อาจจะได้เจอเพื่อนนอกกลุ่มหรือนอกโรงเรียน หรือแม้แต่โรงเรียนบางโรงเองก็มีการจัดกิจกรรม แคมป์ต่างๆ ให้พบปะโรงเรียนอื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน
จริงอยู่ที่สังคมในโรงเรียนมีข้อจํากัด แต่ว่ามันไม่ได้เป็นทั้งหมดของชีวิตเด็ก และถ้าพ่อแม่ตระหนักในประเด็นนี้ว่า เราต้องเติมเต็มประสบการณ์ของลูกให้ได้เจอเพื่อนเล่นทั้งหญิงชาย พาเด็กไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นสหศึกษา เช่น การรวมญาติ การเลี้ยงรุ่นที่พาลูกของเพื่อนไปเจอกัน ก็จะช่วยเติมเต็มได้ เพราะกระบวนการทางสังคมของมนุษย์ไม่ได้ถูกล้อมด้วยโรงเรียนหญิง/ชายล้วนอย่างเดียวเพียงเท่านั้น
และก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กพาตัวเองไปอยู่ในกิจกรรมแบบไหนด้วย เพราะสังคมเราก็มีกิจกรรมหลายอย่างให้เลือกทำได้ จึงไม่อยากให้เอากรอบเหมาว่าเด็กที่เรียนหญิง/ชายล้วนจะกลัวการเข้าหาเพศตรงข้าม หรือมีปัญหาในการเข้าสังคมขนาดนั้น เพราะสิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านว่าพาลูกไปเจอประสบการณ์แบบไหนบ้าง
โรงเรียนชายล้วนหญิงล้วนเป็นเพียงแค่เป็นเปลือกนอกมากกว่าค่ะ เพราะจริงๆ แล้วแก่นของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ว่าเลี้ยงดูมายังไงและหล่อหลอมให้เข้าใจความหมือนความต่างของกันและกันมากน้อยแค่ไหนมากกว่า
รวมถึงเด็กทุกคนก็เติบโตมาด้วยการเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย อาจารย์ก็เลยไม่ได้มองว่าการที่เราไปอยู่โรงเรียนเหล่านั้นจะถึงขั้นทําให้ทุกอย่างมันดู Extreme ขนาดนั้น และในทางจิตวิทยาสอนให้ไม่เหมารวม ต้องดูเป็นคนๆ ไปค่ะ
เราจะทำให้เด็กเติบโตมาบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศได้อย่างไร?
กลับมาย้อนที่พื้นฐานคือ ‘ครอบครัว’ ค่ะ ในงานวิจัยแล้วพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกแบบครึ่งๆ คือแบ่งงาน ช่วยกันระหว่างพ่อแม่ จะมีแนวโน้มที่ลูกจะโตมากับความเข้าใจว่า ไม่ว่าเพศไหนก็ทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นสังคมยุคใหม่มันก็ค่อยๆ เริ่มทําความเข้าใจในประเด็นนี้
ลูกสาวที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาแบบเท่าเทียมก็จะมีไอเดียว่า เป็นผู้หญิงก็ทำหน้าที่ใหญ่ๆ ในสังคมได้เหมือนกัน หรือถ้าเป็นผู้ชายก็สามารถทำงานที่ดูละเมียดละไมแบบที่ผู้หญิงทําได้เหมือนกัน จะมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าฉันเป็นอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีเรื่องเพศมากำหนด และจะมีแนวโน้มลดไอเดียเรื่องการที่ผู้ชายทำกับข้าวหรือเช็ดก้นลูกแล้วเสียฟอร์ม ถ้าเด็กโตมาในครอบครัวที่เห็นพ่อเก็บแพมเพิร์สลูก ก็จะเข้าใจภาพรวมว่าเขาจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้งานวิจัยทั่วโลกชี้มาเหมือนกันว่าผู้ชายมีความรู้สึกสบายใจที่จะเปลี่ยนผ้าอ้อมลูก และอุ้มลูกได้มากกว่าผู้ชายยุคก่อนๆ ผู้ชายที่เป็น Stay Home Dad มีเยอะขึ้น
ถ้าเราอยากจะปลูกฝังอะไรให้ลูก ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี คือสร้างสิ่งแวดล้อมในครอบครัวให้ลูกเห็นว่า เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่บ้านไหนที่ยังเหมือนเดิมคือ ฝั่งหนึ่งกดอีกฝั่งหนึ่ง เด็กที่โตมาก็จะออกมาเป็นสองแบบ คือ ฉันจะไม่เป็นแบบพ่อแม่ เพราะเห็นแล้วว่าไม่เวิร์ก ถ้าฉันมีลูกเองจะพยายามสร้างสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น กับแบบที่ลูกทำตามตัวอย่างพ่อแม่เลย เช่น ผู้ชายที่โตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่กว่าแม่ เขาก็จะพยายามหาภรรยามาเป็นเบี้ยล่าง มาดูแลปรนนิบัติตัวเองแบบที่เคยเห็นค่ะ
จริงๆ แล้ว สังคมโรงเรียนไม่ได้เป็นปัจจัยทั้งหมดที่จะบอกว่าลูกเราจะเป็นคนแบบไหน แต่สิ่งที่สําคัญกว่าคือ ‘การสื่อสารกับลูก’ ศิลปะของการเลี้ยงลูกวัยรุ่น คือศิลปะของการเปิดกว้างให้ลูกได้มีวิถีทางที่เขาได้ทดลองทําในสิ่งที่เขาสนใจและสงสัย
ถ้าความสัมพันธ์ของเขากับพ่อแม่อยู่ในระดับที่พูดคุยกันได้เยอะ สิ่งที่เขาสงสัยก็จะได้คําตอบจากในครอบครัว อาจจะไม่ถึงขั้นเลยเถิดและทดลองด้วยตัวเอง เพราะเด็กเขาไม่จําเป็นที่จะต้องทดลองทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อรู้ว่าเป็นยังไง
แต่ว่าเด็กที่ที่ไม่ได้รับคําตอบจากผู้ใหญ่เลย เช่น ผู้ใหญ่ที่บอกว่า “อย่าเพิ่งรู้เลยยังเด็กอยู่” หรือว่าไม่ปล่อยให้เด็กได้ตัดสินใจอะไรเองเลย เด็กก็จะเกิดคําถามที่ไม่ได้รับคําตอบ ก็จะไปทําอะไรด้วยด้วยตัวเองแล้วบางทีปัญหามันไกลจนต้องมาตามทีหลังเนี่ยมันก็เกินกว่าที่พ่อแม่จะทําได้
แบบนี้อาจารย์คิดว่าในปัจจุบันยังจําเป็นอยู่ไหมที่เราจะต้องแยกโรงเรียนหญิง/ชายล้วน?
คิดว่าไม่จําเป็นนะคะ แต่ขอเท้าความก่อนว่าการแยกโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วน นั้นมีต้นตอมาจากโรงเรียนทางศาสนาในทางยุโรป ไม่ได้เป็นไอเดียไทยแท้ แต่เป็นไอเดียดั้งเดิมที่มาจากแนวคิดในยุคเก่า ที่เรื่องความความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ชัดเจน โดยโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนในยุคนั้น เกิดขึ้นเพื่อที่จะตอบรับประเด็นว่าเราผลิตผู้ชายมาเป็นชายชาติทหารปกป้องประเทศ เป็นผู้นําทางศาสนา ผู้นำทางการเมืองในประเทศนั้นๆ
โดยเริ่มต้นมาจากการมี Boy School ก่อน ซึ่งการมีโรงเรียนชายล้วนแบบนี้ก็สอดคล้องกับวิธีคิดในยุคโน้น ที่มองว่าชายเป็นใหญ่เป็นเรื่องปกติ และถูกสืบเนื่องกันมาเรื่อยๆ จากตะวันตกที่อยากเข้ามามีอิทธิพลในในประเทศเรา โดยการเผยแผ่ศาสนา ทำให้โรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนในบ้านเราเป็นโรงเรียนเซนต์ต่างๆ เพราะนำไอเดียของประเทศเขามาใช้กับเรา
แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยน ผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทํางานมากขึ้น จากสิ่งที่เคยปกติในอดีตก็ถูกมองเปลี่ยนไป ประเด็นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิทางเพศ และเฟมินิสต์ เข้ามาเป็นประเด็นหลักในสังคมมากขึ้น ทําให้คนเริ่มตั้งคําถามว่า การแยกสังคมเพศในวัยเรียนนั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่
แต่ว่าโรงเรียนที่เขามี Tradition แบบนี้อยู่เขาก็ยังคงเอาไว้เพราะที่มาของเขามาแบบนี้ แต่ถ้าในอนาคตกระบวนการของกาลเวลาเปลี่ยนไป แล้วโรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมต่อไปแล้ว เขาก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกับโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนที่ปิดตัวไปตามกระบวนการของสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ในปัจจุบันเท่าที่อาจารย์เฝ้าดู อัตราการรับเข้าของโรงเรียนไทยชายล้วนและหญิงล้วนก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย เนื่องจากเขามีข้อดีเรื่องคุณภาพทางการศึกษา เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมองเรื่องคุณภาพของโรงเรียนเป็นสําคัญมากกว่าคอนเซ็ปต์เรื่องชายล้วน หญิงล้วน เพราะฉะนั้นโรงเรียนต่างๆ ที่ยังอยู่มาได้ยืนนานเพราะว่าคุณภาพที่เขามอบให้มากกว่าค่ะ
ผู้ปกครองแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนส่งให้เรียนเพราะชื่อเสียงโรงเรียน บางคนก็ส่งลูกเรียนหญิงล้วนเพราะกลัวลูกมีแฟนหรือผู้ปกครองอาจจะเป็นศิษย์เก่า ก็แล้วแต่ทางเลือกค่ะ และทุกวันนี้ก็มีทางเลือกโรงเรียนรูปแบบใหม่มากขึ้น ทั้งโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษา เพราะฉะนั้นพ่อแม่ทุกท่านก็มีทางเลือก การที่เขาเลือกให้ลูกเข้าโรงเรียนนี้มันมีปัจจัยล้านแปด ไม่ใช่แค่เหตุผลเรื่องการแยกเพศอย่างเดียวค่ะ
สุดท้ายอาจารย์อยากฝากข้อแนะนำอะไรให้พ่อแม่ปกครองในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นบ้างไหมคะ?
สิ่งที่อยากจะฝากให้พ่อแม่ก็คือ การมีศิลปะของการหย่อนและการผ่อนค่ะ ตอนลูกยังเล็กเนี่ยเขาหันซ้ายหันขวาตามเรา บอกอะไรเขาก็ทําตาม แต่พอเริ่มเข้าโรงเรียน มีเพื่อน เด็กจะเริ่มมีคําถาม เริ่มเปรียบเทียบวิธีการที่ได้จากพ่อแม่กับเพื่อน และคิดว่าที่พ่อแม่ห้ามให้ทํามันจริงแค่ไหน
เพราะฉะนั้นศิลปะของการมีลูกที่เริ่มโตขึ้นคือการให้ความสนิทสนมกับเขา ให้เขารู้สึกว่าเราคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ห้าม บังคับทุกอย่าง เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับคําอธิบายที่ดีพอ เขาจะรู้สึกว่าเขาไว้ใจเราไม่ได้ และแอบไปทําอะไรที่เราห้าม ด้วยความที่กลัวว่าเราจะโกรธ คือเด็กวัยรุ่นเขาไม่บอกเราหมดอยู่แล้วค่ะ แต่ว่าอย่างน้อยถ้าเขามีอะไรยิ่งใหญ่แล้วมาบอกเราได้ แปลว่าเรายังเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือของเขาอยู่ เป็นศูนย์กู้ภัยให้เขาได้ ลูกวัยรุ่นก็จะไม่เลยเถิดไปไกลนะคะ เรายังสามารถที่จะมีสายใยที่ดึงกันไว้ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสําคัญ ไม่ว่าเด็กจะไปบูลลี่คนอื่น จะไปโพสต์อะไรในโซเชียลมีเดียที่ไม่ดีต่อตัวเอง แล้วได้รับผลเสียอะไรบางอย่าง เราก็จะสอนเขาว่า ถ้าพลาดแล้วเราจะจัดการยังไง
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ให้กําลังใจ ให้ความอบอุ่นเด็ก เขาก็จะไม่หลุดออกไปจากวงของเรานะคะ แต่ถ้าเกิดว่าเขาทําพลาดแล้วเราบอกว่า “เป็นยังไงล่ะ สมน้ำหน้า ฉันไม่ช่วยหรอก แกก็หาทางออกเอาเองนะ” อะไรอย่างนี้ เด็กก็จะเริ่มห่างจากเราไปเรื่อยๆ ซึ่ง ศิลปะของการเลี้ยงลูกวัยรุ่นคือการที่เราอยู่กับเขาไม่หายไปไหน แต่ก็ในขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยให้เขาได้ลองเรียนรู้ผิดบ้างค่ะ