- PM Ranger คือกลุ่มนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่เทย จังหวัดลำพูน ที่อาสาเผยแพร่ความรู้เรื่อง PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่มีครูท็อป ทศพร ทองสอน เป็นผู้ดูแล
- ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ออกแบบการเรียนรู้ โดยบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงการลงมือปฏิบัติ
- ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าความรู้ คือความตระหนักรู้ จิตสำนึก ทักษะ และความภาคภูมิใจของนักเรียน ในนามขบวนการ PM Ranger ที่อาสาปกป้องโลกใบเล็กของตัวเอง
เด็กน้อยในหมวกสีต่างๆ อธิบายที่มาและวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 อย่างคล่องแคล่ว พวกเขาตระหนักดีว่ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องแก้ไขปัญหานี้
เด็กๆ เหล่านี้คือ ‘PM Ranger’ แห่งโรงเรียนบ้านแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผลผลิตจากโครงการ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัทเติมเต็มวิสาหกิจ โดยมี ‘ครูท็อป’ ทศพร ทองสอน รับหน้าที่หัวขบวน ชวนเด็กๆ มาออกแบบกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่นให้กับเพื่อนๆ ครอบครัวและชุมชน
“จุดประสงค์นอกจากให้เด็กๆ เป็นกระบอกเสียงในการบอกต่อให้กับผู้ปกครองและชุมชนแล้ว เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตเขาจะมีจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองของโลก ในเรื่องของการป้องกันฝุ่น PM 2.5”
ครูท็อป เล่าว่าตนเองมีพื้นเพเป็นคนลำพูน แต่เพิ่งย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านแม่เทยได้ 2 ปี เพราะเริ่มแรกได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งที่นั่นสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างหนัก มีการเผาที่ค่อนข้างรุนแรง จนเด็กๆ เรียกว่า ‘หิมะดำ’
“บางทีเราเปิดประตูจากบ้านพักครูลงมาสอนหนังสือจะมีเศษเหมือนหิมะดำ เป็นเศษการเผาอ้อยเผาอะไรร่วงลงมา แต่ตอนอยู่ที่อุทัยธานี อาจจะไม่มีใครพูดถึงมากนัก เมื่อย้ายกลับมาภาคเหนือก็ดีใจที่โรงเรียนในภาคเหนือตื่นตัวเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 มีการจัดโครงการเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 รองรับ
แล้วจังหวัดลำพูนเองก็ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เหมือนกัน เด็กๆ เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในมลภาวะอย่างนี้อยู่แล้ว การที่โรงเรียนของเราเข้าโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะครับ เกิดจากการที่ สสส. เขาส่องจุดฮอตสปอตผ่านดาวเทียม ซึ่งโรงเรียนของเราเป็น 1 ในจุดที่มีฝุ่น PM 2.5 กระจายอยู่หนาแน่นครับ จึงได้เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กอยู่แล้ว”
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ครูท็อปที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 แต่ความตั้งใจนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งจากผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนบ้านแม่เทย เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า ในระยะยาวหากต้องการสร้างสังคมแวดล้อมที่น่าอยู่ ต้องเริ่มจากการสร้างเจตคติที่ดีให้กับเด็กๆ
“เป็นความโชคดีที่ท่านผู้บริหารและคณะครู รวมถึงบุคลากรที่โรงเรียนค่อนข้างแอ็กทีฟ อย่างผมเป็นเจ้าของโครงการได้นำเรื่องนี้ไปบอกเล่าให้กับคุณครูในโรงเรียน เขาก็เห็นพ้องต้องกันว่า มันเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กอยู่แล้วนะ และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ตัวเด็ก ตัวครูเองและครอบครัวก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ อยู่แล้ว จึงถือว่าเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง”
ทั้งนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคู่มือการจัดการเรียนรู้เรื่องฝุ่น PM 2.5 เริ่มตั้งแต่การให้นิยามของฝุ่น PM 2.5 สาเหตุที่มา ผลกระทบต่อสุขภาพ วิธีการป้องกันตนเอง ระบบการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศต่างๆ เช่น ระบบธงสีสุขภาพ รวมไปถึงในเรื่องของการทำสื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์
ซึ่งโรงเรียนบ้านแม่เทยถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มากกว่าความรู้ คือความตระหนักรู้ จิตสำนึก ทักษะ และความภาคภูมิใจในตัวเองของนักเรียน-ขบวนการ PM Ranger ตัวน้อย ที่อาสาปกป้องโลกใบเล็กๆ ของตัวเอง
เมื่อได้แนวทางของ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ มาแล้ว โรงเรียนบ้านแม่เทยวางแนวทางการจัดการเรียนรู้อย่างไร
เรามีการบูรณาการไปในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และทุกช่วงชั้น อย่างที่โรงเรียนจะมีตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งปฐมวัยจะเริ่มจากการทำความรู้จักกับฝุ่นก่อน นิยามของฝุ่น ผ่านการเล่านิทานเรื่องสั้นๆ บทร้องเพลงอะไรต่างๆ พอขึ้นมาเป็นระดับชั้นประถมศึกษาจะเรียนในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น จะบูรณาการไปในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ
เช่น ผมสอนวิชาภาษาไทย ก็บูรณาการครบเลยทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน จะมีการให้เด็กๆ เรียงความเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำรายงาน จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก คำคม รวมถึงทำคลิปวิดีโอพูดนำเสนอ
ภาษาอังกฤษจะเป็นการศึกษาคำศัพท์เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ภาษาอังกฤษ ส่วนคณิตศาสตร์จะมีการเก็บสถิติฝุ่นต่างๆ ในแต่ละวัน นำมาพล็อตเป็นกราฟ จากเมื่อก่อนที่เรื่องของฝุ่น PM 2.5 จะอยู่เป็นหัวข้อเล็กๆ ในรายวิชาสุขศึกษา ซึ่งไม่ค่อยมีคนสนใจ ตอนนี้เราพยายามขยายเข้าไปในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ให้บูรณาการเป็นองค์รวมครับ
และที่โรงเรียนจะมีการจัดกิจกรรมวันฝุ่น PM 2.5 หนึ่งวัน โดยมีการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยดับไฟป่า และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาให้ความรู้กับนักเรียนครับ แล้วก็มีการจัดแสดงผลงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนตรงนี้
ในการจัดการเรียนรู้เรื่องฝุ่น เด็กๆ มีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง และคุณครูทำอย่างไรให้เด็กๆ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้
เราใช้การเรียนรู้แบบ Active Learning อย่างแรกเลยเราพยายามหาอะไรที่เป็นจุดสนใจของเด็กๆ ก่อน อย่างเรื่องของฝุ่น PM 2.5 นั้นจริงๆ แล้วรัฐบาลได้พยายามประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด แต่ว่าสิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนคือ การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐยังไม่กระแทกใจยังไม่ทัชใจกับคนในชุมชนกับคนหมู่มากครับ จึงนำตรงนี้มาเป็นเป้าหมายก่อน
เริ่มแรกเราชวนเด็กๆ มาทำเป็นขบวนการหมวกสีสุขภาพ ตั้งชื่อว่า PM Ranger จำลองมาจาก Power Ranger เพราะว่าค่าฝุ่น PM 2.5 มีอยู่ 5 สีพอดี แล้วก็เลือกนักเรียนแกนนำมาเป็นทีมเรนเจอร์ก่อน เหมือนกับเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ในการออกไปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 เป็นการดึงความสนใจของนักเรียนให้มาร่วมตรงนี้ก่อน ซึ่งก็จะเห็นว่าเด็กๆ คนไหนที่ได้เป็น PM Ranger เขามีความภูมิใจ เหมือนเป็นแรงดึงดูดให้เด็กๆ มาสมัครเป็น PM Ranger มากมายเลย
เด็กๆ เหล่านี้ก็จะทำหน้าที่ออกไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ตั้งแต่ช่องทางปกติคือออกไปเดินรณรงค์ภายในชุมชน ประกาศหน้าเสาธง เผยแพร่ความรู้ในห้องเรียน รวมถึงรูปแบบออนไลน์ด้วย เรามีการให้เด็กๆ ทำคลิปวีดีโอ โดยที่เด็กเป็นผู้เล่าเรื่อง เป็นผู้แสดงเอง แล้วอัปโหลดเข้าไปในออนไลน์ซึ่งจะแพร่กระจายสู่คนหมู่มาก แต่เราไม่ได้มุ่งหวังว่าจะให้คนทั่วประเทศมาดู เรามุ่งแค่ชุมชนเล็กๆ ก่อน ดังนั้นเมื่อบุตรหลานของเขาเป็นผู้แสดงเองจึงเป็นการดึงความสนใจของของคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้เรายังพัฒนาต่อไปอีก คือทำเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ โดยใช้รูปภาพของเด็กๆ ของเรานั่นแหละครับ PM Ranger ของเรานั่นแหละ ทำเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ แล้วแต่ละวันเด็กๆ ก็จะเช็คฝุ่นจากแอปพลิเคชันแล้วส่งเข้าไปในไลน์กลุ่มผู้ปกครอง
หมวกสีสุขภาพ พัฒนามาจากระบบธงสีสุขภาพ?
ระบบธงสีสุขภาพ เป็นระบบที่ใช้แจ้งเตือนคุณภาพอากาศ โดยเด็กๆ จะไปดูระดับคุณภาพอากาศที่เครื่องวัดอากาศก่อน จากนั้นจะแปลผลออกมาเป็นค่าสี เช่น 26-37 เป็นสีเขียว เท่ากับอากาศยังดีอยู่ แล้วมีการไปเชิญธงสีตามจุดต่างๆ ในโรงเรียน เพื่อเป็นการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ แต่ว่าที่โรงเรียนบ้านแม่เทยของเรามีการพัฒนาตรงนี้ เพราะมองว่าแค่ระบบธงสีสุขภาพที่ทาง สสส.กำหนดมานั้นยังไม่เพียงพอ ธงเป็นสื่อที่อยู่กับที่ใช่ไหมครับ ถ้าเราไม่สังเกตเราจะไม่เห็น แล้วบางทีเราเชิญธงสีขึ้นไป ชาวบ้านในชุมชนผ่านไปผ่านมาเขาไม่เข้าใจความหมายของแต่ละสีครับ มันก็เหมือนกับเป็นสื่อที่แทบจะไม่มีประโยชน์เลย
ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนใหม่ ให้เด็กๆ ใส่เป็นหมวกสีสุขภาพแทนครับ เพราะว่าหมวกเป็นสื่อที่หาได้ง่ายแล้วมีสีสันสะดุดตา เวลาให้เด็กๆ สวมแล้วก็เดินไปเดินมาในโรงเรียนหรือในชุมชนก็เป็นจุดสังเกตนะครับ แล้วเด็กๆ ที่สวมหมวกส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนแกนนำที่มีความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 อยู่แล้ว จึงมีโอกาสใช้ตรงนี้เผยแพร่ความรู้ไปด้วย
หลังจากออกแบบการเรียนรู้เรื่องฝุ่นในลักษณะนี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างไรบ้าง
อย่างแรกเลย เมื่อก่อน ฝุ่น PM 2.5 แทบจะไม่มีใครพูดถึงเลย แต่ตอนนี้เราสังเกตเด็กๆ ในโรงเรียน พอมี PM Ranger มา และมีเครื่องวัดค่าฝุ่นเช้ามา เขาจะพากันไปมุงดูที่เครื่องวัดค่าฝุ่นแล้วเขาจะแปลความหมายเลย วันนี้สีอะไร เขาจะแย่งกันเชิญธงสี และจะมีเวรไปประกาศหน้าเสาธงครับ
สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือ เมื่อก่อนเวลาเด็กๆ สวมหน้ากากอนามัยมาโรงเรียน มันจะเป็นหน้ากากอนามัยที่ป้องกันแต่โควิดเท่านั้นใช่ไหมครับ พอมีความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 เริ่มเปลี่ยนเป็นหน้ากากที่มีเส้นใยละเอียดมากขึ้น เป็นหน้ากาก N95 บ้าง เป็นหน้ากากอย่างอื่นบ้าง พอได้รับความรู้จากคุณหมอแล้วว่า N95 มันอาจจะแพงเกินไป ถ้าเด็กๆ อยากจะป้องกันฝุ่นเพียงแค่เอากระดาษทิชชู่รองไปใต้แมสก์ เราก็จะเห็นเด็กบางคนมีกระดาษรองใต้แมสก์ หรือบางทีพอเขาเห็นตรงไหนเผา ในชุมชนหรือใกล้ๆ โรงเรียน เขาก็จะวิ่งมาฟ้องครูละว่า ครูครับมันมีการเผาเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในเด็ก คือเขาก็ตระหนักถึงฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น
อย่างเมื่อสักครู่มีคนมาถามเด็กเรื่องค่าฝุ่นหรืออะไรสักอย่าง เขาก็ตอบฉะฉาน คือเหมือนการที่เขาได้ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ เอง ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ มันทำให้เขามีความกล้าคิดกล้าแสดงออก
อีกอย่าง PM Ranger เราทำงานเป็นทีม เวลาไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีรูปแบบการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน เราเคยไปทั้งเดินรณรงค์ ทั้งไปออกรายการโทรทัศน์ แล้วก็มีสัมภาษณ์สื่อออกสถานีวิทยุชุมชนบ้าง เราก็ให้บทบาทเด็กในการเป็นคนครีเอทว่าใครจะพูดตรงไหนอย่างไร จะลำดับเรื่องราวอย่างไร โดยเราให้คำชี้แนะเล็กๆ น้อยๆ ที่เหลือเขาจะแบบวางแผนของเขาเอง เช่น ฉันพูดก่อนนะแล้วก็ตามด้วยเธอ เธอทำอย่างนี้นะ แล้วก็ปิดท้ายด้วยเธอนะ เราจะเริ่มต้นด้วยการแปลงร่างก่อนนะรอบนี้ เราจะเริ่มต้นด้วยการร้องเพลงก่อนนะ อะไรอย่างนี้ครับ มันก็ทำได้เด็กได้ทักษะตรงนี้ไปด้วย
เหมือนครูเป็นแค่คนคอยซัพพอร์ท เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดและลงมือทำด้วยตนเอง
ใช่ครับ แรกๆ อาจจะไกด์ให้หน่อย แต่ว่าหลังๆ พอเขาเริ่มเป็นงานแล้วก็ปล่อยเลย ทำเต็มที่ ทุกวันนี้ใครถามตรงไหนตอบได้หมด เขารู้หมด เพราะว่าเขาได้ทำเองจริงๆ
ครูท็อปมองว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ในลักษณะนี้ ต่างจากการเรียนการสอนที่ครูเป็นคนให้ความรู้แบบเดิมๆ มากน้อยแค่ไหน
ผมว่าการที่ให้เด็กได้มีพื้นที่ในการแสดงออกแบบนี้ ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ มันเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่คงทน ถ้าเรานั่งเรียนนั่งสอนเฉยๆ แล้วไม่ได้ลงมือปฏิบัติ คือเหมือนเราเรียนแต่ไม่ได้เอาไปใช้ นานๆ ไปก็ลืมก็เลือนหายไป แต่อย่างนี้ถ้าเขาได้มารับความรู้แล้วได้ออกไปเผยแพร่ความรู้กับชุมชนต่างๆ มันก็จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่คงทนและเชื่อว่าอีกสัก 10 ปี 20 ปี เขาคงจะไม่ลืม เพราะว่าอย่างน้อยประสบการณ์ตรงนี้เขาได้แล้ว
คือระหว่าง ‘เข้าใจ’ กับ ‘เข้าใจแล้วสามารถเอาไปสอนคนอื่นต่อได้ เอาไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อได้’ อันนี้เป็นความรู้ที่คงทนมากกว่าสำหรับผม
ผู้ปกครองรวมถึงชุมชนมีฟีดแบคอย่างไรกับการที่เด็กๆ กลุ่มนี้เป็น PM Ranger
ชุมชนมีฟีดแบค อย่างเช่นเวลาโรงเรียนจะเข้าร่วมกิจกรรมอะไร เขาจะสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนมาดำเนินกิจกรรมตรงนี้ต่อบางส่วนแม้จะไม่มาก แต่ก็สนับสนุนเพราะเห็นบุตรหลานของเขามีส่วนร่วมกับโรงเรียน และจะมีผู้ปกครองบางคนมาพูดให้ฟังว่า เด็กกลับบ้านไปเห็นตายายจะเผาใบไม้ ก็ห้ามก็บอก เป็นเหมือนกับมีส่วนร่วมตรงนี้
แสดงว่าในการเรียนรู้เรื่อง PM2.5 เด็กๆ เขาตระหนักถึงความรับผิดชอบของตัวเองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย?
ใช่ครับ เราสอนสาเหตุหลายๆ อย่างเลย นอกจากการเผา บางครั้งการสูบบุหรี่ก็ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ครับ ก็สอนเด็กในองค์รวม ควันพิษจากเครื่องยนต์ การดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้ปล่อยมลพิษ จะสอนทุกอย่างซึ่งอยู่ในหลักสูตรของห้องเรียนสู้ฝุ่นด้วย แต่เรื่องการเผา ในชุมชนกึ่งชนบทก็ต้องยอมรับว่ายังใช้วิธีนี้อยู่
แล้วเด็กๆ เขาไม่ตั้งคำถามกับครูเหรอคะว่า “จะบอกกับพ่อแม่ยังไงดี จะแก้ได้ยังไง”
ตรงนี้เราสอนไปเชื่อมโยงกับนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาจะมีในสิ่งที่เรียกว่า กระจายการเผา เป็นการให้กระจายวันกันเผา เพื่อไม่ให้มลพิษทางอากาศมันหนาแน่นจนเกินไป มันจะมีการกำหนดช่วงเผาอะไรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาตรงนี้
แต่ในระยะยาวเราก็หวังว่าวันหนึ่งเขาโตขึ้นมา เขาอาจจะเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตรงนี้ อาจจะมีการคิดนวัตกรรมที่จะช่วยลดการเผาได้ แต่ ณ ปัจจุบันนี้เราให้ความรู้เบื้องต้นก่อน ให้เด็กเขา ‘อิน’ ให้เขาซึมซับตรงนี้ก่อน
เคยเช็คความอินของเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้างไหมคะ ตอนนี้ถึงขั้นไหนแล้ว มีดุครูบ้างรึยัง?
ก็มีบ้างนะครับ (หัวเราะ) เวลารถครูคนไหนพ่นควัน “คุณครูสร้างฝุ่น PM 2.5 นะ” จะเป็นอย่างนี้ครับ
โดยส่วนตัวครูท็อปเองคาดหวังอะไรในการเข้าร่วมโครงการนี้คะ
ผมอยากให้เด็กๆ รู้ในเรื่องของผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขาและคนรอบข้าง อยากให้เขามีความรู้ตรงนี้เอาไปป้องกันตนเอง แล้วก็มีจิตสำนึกในอนาคต เมื่อเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่จะได้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมในฐานะพลเมืองของโลกที่จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
ในฐานะครูรุ่นใหม่ คิดว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้ทั้งความรู้ ทักษะสมรรถนะ และความรับผิดชอบต่อสังคม
จำเป็นมากที่สุดเลยครับสำหรับผม คือมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ได้เกิดมาอยู่บนโลกนี้คนเดียว การเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับตนเองและผู้อื่น รวมถึงกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เขาปรับตัวอยู่ในสังคมได้
ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากการที่เราอาจจะเห็นแก่ตัว ไม่ได้คำนึงถึงผู้อื่นหรือว่าสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเด็กมีจิตสำนึกในฐานะพลเมืองโลก ไม่ได้เอาแต่เพื่อนฝูงครอบครัวตัวเอง จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้โลกในอนาคตมีความสงบสุขไม่เกิดปัญหา ผมว่าสำคัญมากๆ
ครูภูมิใจในวิชาชีพและในตัวเด็กมากน้อยแค่ไหนคะตอนนี้
ตอนนี้ภูมิใจค่อนข้างมาก คือเรามาเป็นครูเพราะว่าเราอยากเป็นครู เราไม่ได้ไม่รู้จะเป็นอะไรแล้วมาเป็นครู แล้วก็ได้มีโอกาสมาทำตรงนี้ก็อยากทำให้เต็มที่ แล้วก็ภูมิใจกับเด็กๆ ที่เป็นผลผลิตที่เราปั้นเขามา ภูมิใจ
หลังจากนี้มีโครงการอะไรที่อยากทำต่อไปอีก?
โครงการที่อยากทำเยอะแยะมากมายเลย ถ้าพูดถึงโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น อยากทำคอนเทนต์ต่างๆ เกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่เราอาจจะยังไปไม่ถึงตรงนั้น เรายังคาดหวังว่าทุกๆ โรงเรียนจะมี ‘ห้องปลอดฝุ่น’ หรือพื้นที่ที่เป็นห้องปรับอากาศให้เด็กเข้าไปหลบฝุ่นเวลาที่ฝุ่นหนัก แต่ว่าอาจจะยังติดด้วยเรื่องงบประมาณหรือความเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่งบอุดหนุนตรงนี้น้อย แต่ก็อยากให้มันไปให้ถึงตรงนั้นนะครับ
สิ่งที่อยากเห็นคือ หนึ่ง อยากเห็นให้ทุกโรงเรียนมีห้องปลอดฝุ่น สอง มีสิ่งที่เรียกว่า knowledge Center ให้เด็กๆ มีพื้นที่ได้ทดลองทำอะไรต่างๆ แล้วก็อยากให้เด็กมีพื้นที่ในการทดลองอาชีพมากยิ่งขึ้น เคยดูคลิปของต่างชาติ เขาจะมีเวิร์กช็อปเปิดให้เด็กได้ลองทำในสิ่งที่สนใจก่อนจะเลือกไปเรียนต่ออะไร เช่น อยากเรียนอิเล็กทรอนิกส์ใช่ไหม ลองเอาอุปกรณ์มาให้เด็กลองทำ อยากทำเบเกอรี่ก็มีห้องอบขนม อยากเป็นนักข่าวก็มีการฝึกตัดต่อ มีเวิร์กช็อปหลายๆ อย่าง
ตรงนี้มันทำให้เด็กได้รู้จักตัวเองรู้ความต้องการของตัวเอง เวลาไปเรียนจะได้ไม่เสียเวลาชีวิต หรือไม่ได้พัฒนาเต็มที่ ไม่อย่างนั้นสุดท้ายก็เปลี่ยนสายงาน ไม่มีความสุขในการทำงาน อยากให้เด็กๆ ทุกคนมีพื้นที่ในการค้นหาตัวเองให้เจอไวๆ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แล้วก็พัฒนาเต็มที่ นี่คือความคาดหวังครับ