- หลายๆ คนการมองโลกในแง่ดีอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจผ่านเรื่องราวร้ายๆ ต่างๆ จากชีวิตมามาก หรือมีธรรมชาติที่มักมองโลกในแง่ร้ายมาแต่เกิดไปแล้ว จะมีวิธีการแก้ไขพฤติกรรมแบบนี้ได้บ้างหรือไม่?
- วิธีหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็น ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก อาศัยความตั้งใจและความสม่ำเสมอในการลงมือทำ นั่นคือการสร้างสำนึกความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอในทุกวัน ช่วยลดระดับความเครียด ทำให้มีสุขภาพกายและใจดีขึ้นด้วย
- สิ่งที่คุณควรทำอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ‘ไดอารีคำขอบคุณ’ การบันทึกความคิดในแง่บวกวันละเพียง 5 นาที อาจสามารถเปลี่ยนอุปนิสัยและชะตาชีวิตของคุณได้ทีเดียว
เคยสังเกตคนใกล้ๆ ตัวหรือแม้แต่คนไกลตัวบ้างไหมครับว่า มีบางคนที่ไม่ว่าจะพบเจอปัญหาอะไรในชีวิต ก็กลับยังมองเห็นชีวิตเป็นสิ่งสวยงามและมีความหวังเสมอ มองโลกในแง่ดีได้ตลอดเวลาอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ขณะตกที่นั่งลำบากแสนสาหัสอยู่ ขณะที่บางคนที่เรามองว่าโชคดีมากๆ มีสารพัดสิ่งต่างๆ พรั่งพร้อมในชีวิต แต่ก็กลับหาความพออกพอใจในชีวิตแทบไม่ได้และมองโลกในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา
เราอาจเจอคนประเภทหลังได้ทั้งในชีวิตจริงและบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะประเภทหลังที่บางทีเราก็อาจงงว่า เรื่องที่คนส่วนใหญ่มองว่าตลกหรือไร้สาระ คนกลุ่มนี้กลับมองอย่างเอาจริงจังจนน่าแปลกใจและน่าตกใจ
เรื่องแบบนี้เป็นผลมาจากทั้งพันธุกรรมและจากการเรียนรู้ในชีวิตหรือการฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนแบบใดตามต้องการ
เรื่องผลจากพันธุกรรมที่ติดตัวมาแต่เกิดมีการศึกษาในอาสาสมัคร 200 คน โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียที่ตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 [1] โดยพบว่าเมื่อให้คนเหล่านี้ดูชุดคำที่แสดงนัยยะทางบวก ทางลบ และคำแบบกลางๆ ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว
ผลคือคนจำนวนหนึ่งรับรู้และจดจำคำในแง่ลบได้ดีกว่าคนที่เหลือ เมื่อตรวจสอบสารพันธุกรรมดูก็พบว่ามียีนชื่อ ADRA2b ที่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เหลือ
นักวิจัยกล่าวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้าให้คนเหล่านี้ไปจ้องมองฝูงชน พวกเขาและเธอก็จะมองเห็นคนที่หน้าตาบูดบึ้งหรือโกรธเกรี้ยวโดดเด้งออกมาจากคนอื่นในกลุ่มเลยทีเดียว ทั้งที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มไม่ได้แสดงสีหน้าท่าทางแบบนั้นเลย เวลามองเห็นสิ่งรอบตัวคนพวกนี้ก็จะประเมินในทางลบเป็นหลัก เช่น พื้นตรงนั้นน่าจะลื่น ก้อนหินก้อนนั้นไม่มั่นคงและจะหล่นใส่เมื่อไหร่ก็ได้ หรือคนคนนี้ไม่น่าไว้ใจ จนไม่อาจมองเห็นความงดงามของภาพรวมได้เลย!
มีงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ชี้อีกด้วยว่า คนแต่ละเชื้อชาติมีสัดส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายมากน้อยไม่เท่ากัน เช่น พบว่าคนกลุ่ม ‘คอเคเชียน’ หรือที่คนไทยดูปุ๊บบอกได้ปั๊บว่าพวกนี้ ‘หน้าตาฝรั่ง’ คนเหล่านี้จะมีสัดส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายมากเกินครึ่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนเชื้อชาติอื่น เช่น การทดสอบในคนรวันดาพบว่า มีเพียง 10% ที่มียีนลักษณะพิเศษนี้ [2] อย่างไรก็ตาม การศึกษา วัฒนธรรม และอารมณ์ความรู้สึกเฉพาะตัว ก็ส่งผลกระทบกับคนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ ‘บุญทำกรรมแต่ง’ มาแต่อย่างเดียว พูดอีกอย่างคือเราปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขธรรมชาติของการมองโลกในแง่ร้ายได้ดีได้ระดับหนึ่งเช่นกัน
สำหรับหลายๆ คนการมองโลกในแง่ดีและเห็นแง่งามในชีวิตอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจผ่านเรื่องราวร้ายๆ ต่างๆ จากชีวิตมามาก หรือมีธรรมชาติที่มักมองโลกในแง่ร้ายมาแต่เกิดดังกล่าวไปแล้ว จะมีวิธีการแก้ไขพฤติกรรมแบบนี้ได้บ้างหรือไม่?
น่าจะมีอยู่หลายวิธีทีเดียว แต่วิธีการหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็น ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตเลย เน้นอาศัยความตั้งใจและความสม่ำเสมอในการลงมือทำอาจจะพอช่วยได้ นั่นก็คือการสร้างสำนึกความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอในทุกวัน
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะรู้สึกขอบคุณหรือเป็นหนี้บุญคุณต่อสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต ก็จะส่งผลดีอย่างปัจจุบันทันทีเลยทีเดียว ซ้ำยังจะไปสร้างความรู้สึกเติมเต็มและสร้างความพึงพอใจขึ้นด้วย ส่งผลให้ช่วยลดระดับความเครียด ทำให้มีสุขภาพกายและใจดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน
ยกตัวอย่าง หลายคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในทรวดทรงหรือบางส่วนของร่างกาย ทำให้ไม่กล้าใส่ชุดบางอย่าง เช่น ไปเดินชายหาดก็ไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำ หรือออกไปวิ่งก็ไม่กล้าใส่ชุดวิ่งที่กระชับกับร่างกาย แต่หากคุณลองมองในมุมว่า การมีร่างกายที่ปกติดี เคลื่อนไหวก้มเงยได้ดังใจ เป็นเรื่องที่ควรต้องขอบคุณให้กับชีวิตนี้แล้ว เราจึงควรพึงพอใจกับร่างกายของเรา
เมื่อเริ่มมองในทางบวกมากขึ้นแล้ว ก็ง่ายขึ้นที่จะสร้างแรงจูงใจว่า เราอาจเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก โดยการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการมีสติและสมาธิ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายและจิตใจของเรามีสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีอื่นๆ ตามมาด้วยอีกเป็นอันมาก
แต่อยู่ดีๆ คนที่เคยมองโลกในแง่ลบอยู่เสมอ จะเปลี่ยนไปกลายเป็นคนมองโลกในแง่บวก อาจยากในตอนเริ่มต้นเช่นกัน และอาจไหลกลับไปอยู่โหมดมองโลกในแง่ร้ายได้อีกง่ายๆ อย่างรวดเร็ว
มีคำแนะนำอะไรที่เป็นรูปธรรมจนนำไปปฏิบัติได้บ้างหรือไม่?
นักจิตวิทยาแนะนำว่าเรื่องแบบนี้ต้องหมั่นทำทีละน้อย แต่ทำบ่อยๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย [3] อาจเริ่มจากวิธีการ ‘นับนิ้ว’ คือ มองหาเรื่องดีในชีวิตมา 10 อย่าง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดูเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด
บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะไม่ได้มีแต่คุณเพียงคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ อันที่จริงนักจิตวิทยาถึงกับตั้งชื่อเล่นให้กับความคิดลบและความคิดบวกว่าเป็น ‘ความคิดแบบเวลโคร (Velcro thought)’ และ ‘ความคิดแบบเทฟลอน (Teflon thought)’ ตามลำดับ
‘เวลโคร’ ก็คือ ชื่อเรียกตัวตะขอจิ๋วที่เห็นตามใช้กับกระเป๋า กางเกง หรือเป้ต่างๆ ซึ่งหากเราขยายภาพขึ้นมาดู ก็จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายตะขอจิ๋วๆ ที่ใช้เกี่ยวกันเองและเกี่ยวกับอย่างอื่นได้อย่างแข็งแรงมาก ซึ่งได้แนวคิดมาจากโครงสร้างของพืชจำพวกหญ้าเจ้าชู้ที่ติดตามเสื้อผ้าเวลาเราเดินทางนั่นเอง
ส่วนคำว่า ‘เทฟลอน’ นั้นแทบไม่ต้องอธิบาย มันคือสารเคลือบกระทะให้อาหารไม่ติดก้นกระทะนั่นเอง ความหมายในที่นี้คือ สำหรับคนทั่วไปแล้วความคิดลบนั้นติดง่าย เอาออกยาก ในขณะที่ความคิดบวกยากที่จะติดแน่น
การคิดบวกจึงต้องอาศัยการฝึกฝน โดยเฉพาะหากเกิดมาพร้อมกับแนวโน้มจะเป็นคนคิดลบมองโลกในแง่ร้ายเป็นพื้นเดิมในตัว
การที่คนมีแนวโน้มคิดลบนี่มีสาเหตุนะครับ แถมเป็นสาเหตุสำคัญเสียด้วย เพราะในทางวิวัฒนาการแล้ว ความคิดลบมีความจำเป็นมากสำหรับความอยู่รอด พวกที่มองโลกในแง่ดีมากจนเกินไป จึงน่าจะหลงเหลือสืบลูกหลานมาน้อย ไม่ต่างอะไรกับพวกที่มองโลกในแง่ร้ายมากจนเกินไป จนเครียดอยู่ตลอดไม่เป็นอันทำอะไรจริงๆ จังๆ เพราะมัวแต่กังวล
แต่การ ‘นับนิ้ว’ ยังน่าจะถือเป็นการวอร์มอัปเท่านั้น สิ่งที่คุณควรทำอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ‘ไดอารีคำขอบคุณ’ การบันทึกความคิดในแง่บวกวันละเพียง 5 นาที อาจสามารถเปลี่ยนอุปนิสัยและชะตาชีวิตของคุณได้ทีเดียว
แต่ละวันให้คุณเลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น อาจจะเป็น 5 นาทีก่อนนอน เพื่อจดสิ่งดีๆ เรื่องดีๆ ที่คุณพบเจอในวันนั้นออกมา หรือบางคนอาจถนัดทำอีกแบบคือ เลือกเป็นสมุดจดเล่มเล็กและพกติดตัวไว้ เมื่อเกิดเรื่องดีๆ ขึ้นก็หยิบมันขึ้นมาจดเอาไว้ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ดีเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้คงแล้วแต่ความสะดวกและความถนัดว่า คุณเป็นคนแบบไหน ถนัดวิธีการใดมากกว่า
หากทำไประยะหนึ่งแล้ว คุณอาจกำหนดเป้าหลวมๆ ขึ้นมาก็ได้ เช่น มองหาเรื่องดีที่เกิดขึ้นในวันนั้นจำนวน 5 เรื่องต่อวัน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด เช่น คนทำงานร่วมชั้นเดียวกันที่ไม่เคยทักทายกันมาก่อน วันนี้คุณเริ่มทักทายไปก่อนแล้วเขาหรือเธอคนนั้น ก็ทักทายกลับมาและยิ้มตอบให้เป็นครั้งแรก หรือแม้แต่ท้องฟ้าที่แจ่มใสหลังจากฝนตกติดกันมานานถึง 10 วัน ก็ได้เช่นกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ จำไว้ว่านี่คือบันทึกส่วนตัวอย่างแท้จริง คุณจะเขียนขอบคุณใครหรือเหตุการณ์อะไรก็ได้ ตามแต่ที่ใจคุณคิดว่าสิ่งนั้นช่วยสร้างวันดีๆ ให้กับคุณ
หากคุณทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ คุณจะเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ เช่น บางคนอาจจะหลับได้สนิทอย่างยืดยาวมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
การระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่คนอื่นทำให้ ยังกระตุ้นให้คุณอยากกล่าวขอบคุณด้วยวาจาอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการแพร่กระจายสิ่งดีๆ ออกไปรอบตัว ทำให้เกิดบรรยากาศดีๆ ในบ้านและที่ทำงาน รวมไปถึงทุกที่ที่คุณไปปรากฏตัว
คนที่ได้รับสิ่งดีๆ จากคุณก็มีแนวโน้มจะแผ่ความรู้สึกดีๆ ต่อไปยังคนอื่นอีกด้วย
ลองมองหาและขอบคุณผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตดู คุณอาจจะรู้สึกได้เองว่าชีวิตดีกว่าที่คุณเคยรู้สึกและอันที่จริงแล้ว คุณเองก็มีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งดีๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
[1] R. M. Todd, D. J. Muller, D. H. Lee, A. Robertson, T. Eaton, N. Freeman, D. J. Palombo, B. Levine, A. K. Anderson. Genes for Emotion-Enhanced Remembering Are Linked to Enhanced Perceiving. Psychological Science, 2013; DOI: 10.1177/0956797613492423
[2] https://www.sciencedaily.com/releases/2013/10/131010105039.htm
[3] Julie Bassett (2021) Gratitude Wellbeing. Psychology Now, vol. 1.