- ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม วัยรุ่นจึงมีความเปราะบางกับโรคซึมเศร้ามากที่สุด โดยมีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 3 สิ่ง เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา’
- สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาคือ ‘ช่วงเวลาแห่งความเสี่ยง’ เมื่อวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงมากก็ก่อให้เกิดความเปราะบางได้เช่นกัน หากมีเรื่องเข้ามากระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการได้
- แต่หากเราผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้และได้วางรากฐานที่แข็งแรง เราก็จะได้ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นแล้วสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาจึงเป็น ‘ช่วงเวลาแห่งโอกาส’ ด้วยเช่นกัน
“เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ซึมเศร้า เสียใจก็ซึมเศร้า อกหักก็ซึมเศร้า เครียดก็ซึมเศร้า”
คำกล่าวในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นกับคนที่เบื่อหน่ายการกล่าวถึงโรคซึมเศร้าและคิดว่าเป็นเพียงแค่กระแสสังคม เพราะเมื่อก่อนไม่เห็นมีใครพูดถึง แต่ปัจจุบันกลับมีคนพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คืออุปาทานหมู่หรืออย่างไรกัน
จากการศึกษาการเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้าทั่วโลกระหว่างปี 1990-2017 พบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจาก 172 ล้านเคสในปี 1990 พุ่งขึ้นไปถึง 258 ล้านเคสในปี 2017 (เพิ่มขึ้นถึง 49.86%)
อีกทั้งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีประชากรทั่วโลกประสบกับโรคซึมเศร้ามากถึง 280 ล้านคนในปี 2023 และมีมากกว่า 700,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้าในทุกๆ ปี
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก การทำความเข้าใจต้นตอของโรคซึมเศร้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไรกันแน่?
Dr. Roselinde Kaiser นักจิตวิทยาคลินิกและนักประสาทวิทยาศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยที่มุ่งศึกษาความผิดปกติทางอารมณ์ ชี้ว่าโรคซึมเศร้าไม่สามารถวินิจฉัยได้ทางกายภาพ เช่น ไม่สามารถเจาะน้ำไขสันหลัง เอกซเรย์ หรือตรวจดูพันธุกรรมเพื่อวินิจฉัยและคาดการณ์การเป็นโรคซึมเศร้าได้
ดังนั้นแล้ว จึงเชื่อว่าการจะเข้าใจโรคซึมเศร้าต้องไปดูว่าโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในชีวิตช่วงไหน และมีเหตุปัจจัยใดที่เกิดในช่วงเวลานั้นและมีความเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า
Dr. Kaiser กล่าวว่าช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม วัยรุ่นจึงมีความเปราะบางกับโรคซึมเศร้ามากที่สุด โดยมีเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 3 สิ่ง เรียกว่า ‘สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา’ (Bermuda Triangle) ประกอบไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางสมอง การพัฒนาฟังก์ชันการรู้คิดขั้นสูง และ การเปลี่ยนผ่านทางสังคม
สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาในช่วงวัยรุ่น
ในช่วงวัยรุ่นเกิด ‘การเปลี่ยนแปลงทางสมอง’ หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ‘การแตกเนื้อหนุ่มสาว’ (Puberty) ซึ่งหมายถึงการหลั่งไหลของฮอร์โมนต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การทำงาน และการสื่อสารของสมอง
โดยปกติแล้วสมองของเราจะทำงานเป็นส่วนๆ ไม่ได้ทำงานพร้อมกันทั้งก้อน สมองแต่ละส่วนจึงจำเป็นต้องสื่อสารระหว่างกันในการทำงาน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น สมองแต่ละส่วนเริ่มสื่อสารกับสมองส่วนอื่นๆ มากขึ้นกว่าในวัยเด็ก และสื่อสารกับส่วนที่ไกลออกไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่ง
สมองแต่ละส่วนพัฒนามาให้เป็นเลิศในการทำงานด้านใดด้านหนึ่งอยู่แล้ว และเมื่อมีการเชื่อมต่อกันของสมองหลายๆ ส่วน ก็จะยิ่งเอื้อให้เราพัฒนาการรู้คิดที่ซับซ้อนขึ้นได้ เช่น การจัดการอารมณ์ การปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในอนาคต
เมื่อสมองแต่ละส่วนเชื่อมต่อกันได้ดีจะทำให้วัยรุ่นสามารถ ‘พัฒนาฟังก์ชันการรู้คิดขั้นสูง’ (Higher-Order Cognitive Functions) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการคิดขั้นสูงเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดย Dr. Kaiser มุ่งไปที่ความสามารถใน ‘การกำกับควบคุมตัวเอง’ (Self-regulation)
วัยรุ่นต้องพบเจอกับเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เครียดเป็นปกติ ในตอนแรกเขาอาจไม่สามารถจัดการกับมันได้ดีพอ ยังกำกับควบคุมอารมณ์และแรงกระตุ้นภายในตัวเองไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นเครียดคือ ‘การเปลี่ยนผ่านทางสังคม’ วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านและต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เขาต้องเจอผู้คนมากหน้าหลายตา เข้าไปในสังคมใหม่ เจอกับประสบการณ์ใหม่ รักครั้งแรก ทุกอย่างครั้งแรก ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเครียด และการจะผ่านไปได้ต้องใช้การกำกับควบคุมตัวเองที่ดีอย่างยิ่งยวด
ดังนั้นแล้ว เหตุปัจจัยทั้งสามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงวัยรุ่น และมีความเกี่ยวข้องกันอย่างตัดกันไม่ขาด
แล้วสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าอย่างไร?
Dr. Kaiser ชี้ว่าสามเหลี่ยมเบอร์มิวดาคือ ‘ช่วงเวลาแห่งความเสี่ยง’ (A Window of Risk) เมื่อวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงมากก็ก่อให้เกิดความเปราะบางได้เช่นกัน หากมีเรื่องเข้ามากระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการได้ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะสามารถผ่านไปได้อย่างสบายๆ ในผู้ใหญ่ก็ตาม
เปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน ในตอนเริ่มวางโครงสร้างซึ่งก็คือช่วงวัยรุ่น บ้านของเราจะเปราะบางมากที่สุด อะไรเข้ามากระทบหนึ่งเดียวก็อาจทำให้บ้านพังได้ แต่หากเราผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้และสามารถวางโครงสร้างบ้านที่แข็งแรง เราก็จะได้บ้านที่แข็งแกร่งมั่นคงมากเลยทีเดียว
ดังนั้นแล้ว สามเหลี่ยมเบอร์มิวดาเป็นได้ทั้ง ‘ช่วงเวลาแห่งความเสี่ยง’ และ ‘ช่วงเวลาแห่งโอกาส’ โอกาสที่เราจะวางรากฐานที่แข็งแรง เพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ดี หากผ่านช่วงเวลาวัยรุ่นไปแล้ว เราก็ยังพอมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่ Dr. Kaiser เปรียบเทียบกับเรื่องบ้านไว้ว่า “บ้านทุกหลังสามารถปรับเปลี่ยนใหม่ได้แม้จะสร้างมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม” ผู้ใหญ่เองก็เช่น สมองของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
เราจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคซึมเศร้าได้อย่างไร?
1. ดูแลตัวเอง – Dr. Kaiser แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารอย่างเหมาะสม ออกกำลังกาย อยู่กับคนไม่ท็อกซิก แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะดูเหมือนง่ายและคงไม่ส่งผลอะไร แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนละเลย การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์
2. ฝึกซ้อมรับมือกับความเครียด – ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป มันเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการรับมือ (Coping Skills) และการล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ (Resilience) การฝึกซ้อมรับมือกับความเครียดคือการฝึกเผชิญหน้ากับประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดและดึงวิธีที่เราจะใช้รับมือออกมา
เช่น เราอาจไปทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ โดยที่ก็ต้องตระหนักว่าเราอาจจะถูกปฏิเสธก็ได้ เมื่อถูกปฏิเสธเราก็หาวิธีฮีลใจให้ตัวเองผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ เช่น ไปอยู่กับครอบครัว ไปเดินเขา ไปเล่นกับหมา เป็นต้น
เมื่อเรามีทักษะการรับมือและการล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ หากเจอกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดโดยที่เราไม่ได้เลือก เราก็จะมีเครื่องมือที่ใช้ในการรับมือกับกับความเครียดนั้นได้อย่างเหมาะสม
3. ขจัดมุมมองด้านลบ – หลายๆ ครั้งการพูดถึงความเจ็บป่วยทางจิตมักถูกมองว่าเป็นบ้า เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้ปัญหายิ่งไม่ได้รับการแก้ไขเพราะไม่มีใครกล้าพูดถึง ต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ว่าจิตกับกายล้วนส่งผลซึ่งกันและกัน หรือที่กล่าวกันว่า ‘จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว’
โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นความเจ็บป่วยทางจิต ก็เป็นความเจ็บป่วยทางกายด้วยเช่นกัน โดยแสดงออกผ่านทางสมอง
โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ตราบใดที่สังคมเปิดโอกาสให้พูดถึงได้ไม่ต่างอะไรจากความเจ็บป่วยทางกาย พูดถึงได้โดยไม่ถูกตัดสิน และทุกคนให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น
แม้เราจะกล่าวได้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางสมองอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมองของเราพังหรือมีความผิดปกติ สมองของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เหมือนกับบ้านที่สามารถปรับเปลี่ยนสร้างใหม่ได้ตลอดแม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน
อย่าหยุดที่จะเติบโต เพราะสมองของเรากำลังเติบโตอยู่ตลอดเวลา
อ้างอิง
Liu, Q., He, H., Yang, J., Feng, X., Zhao, F., & Lyu, J. (2020). Changes in the global burden of depression from 1990 to 2017: Findings from the Global Burden of Disease study. Journal of Psychiatric Research, 126, 134-140.
TED. (2019). Teen Brains Are Not Broken | Roselinde Kaiser, Ph.D. | TEDxBoulder.
World Health Organization. (2023). Depressive disorder (depression).