- คนที่รักความเพอร์เฟกต์มีแนวโน้มที่จะทำตัวไม่ยืดหยุ่นและตั้งค่ามาตรฐานกับสิ่งต่างๆ อย่างล้นเกิน จนแม้แต่ตัวเองก็มักทำได้ไม่ถึง นอกจากนี้ยังมักพกนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ติดตัว และมองโลกแบบแบ่งแยกเด็ดขาด คือหากไม่เพอร์เฟกต์ก็ใช้ไม่ได้!
- ความย้อนแย้งก็คือ เขาหรือเธอรู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องแบบนั้นมันยาก จึงมองหาสาเหตุที่ใช้อธิบายความล้มเหลวให้กับตัวเองอยู่เสมอ แต่ก็หยุดตั้งเป้าหมายแบบสมบูรณ์แบบอีกไม่ได้ เกิดเป็นวัฏจักร ตั้งเป้า-ล้มเหลว-แก้ตัว-ตั้งเป้า วนเวียนเช่นนี้ไปไม่รู้จบ
- มีสัญญาณอยู่ 5 แบบที่กำลังแสดงตัวให้เห็นว่า คุณกำลังหมกมุ่นกับเรื่องความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไปแล้ว จนควรกลับมาตั้งสติใหม่ก่อนจะสายเกินแก้
ในวงจรชีวิตของเรา ทั้งการเรียนและการทำงาน และในบางวงการ เช่น กีฬาหรือดนตรี การเรียกร้องหา ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ดูจะเป็นเรื่องยอมรับกันได้หรือแม้แต่ต้องเชิดชูและไปให้ถึงกันเลยทีเดียว
แต่เราสมควรใช้เรื่องความสมบูรณ์แบบเป็นเป้าหมายในชีวิตจริงหรือ?
มีเรื่องชวนขันเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการสมัครงานที่พวกฝรั่งบางคนชอบเล่าสู่กันฟัง นั่นก็คือเมื่อถามผู้สมัครถึงจุดแข็งของเขาหรือเธอแล้ว คณะกรรมการก็อาจจะถามถึงจุดอ่อน และคำตอบที่ได้ก็อาจเป็นว่า
“เอ่อ ผม (ดิฉัน) ก็คงต้องยอมรับว่า บางทีจุดอ่อนของตัวเองก็คือ ความต้องการทำอะไรให้มันได้สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็ทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้น”
ฟังคำถ่อมตัวแบบโม้ๆ ทำนองนี้แล้วอยากรีบรับเข้าทำงานเลยไหมครับ?
ความต้องการเป็นคนสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) นี่ เคยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนะครับ และอันที่จริงก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน มีงานวิจัยที่สรุปว่าความอยากสมบูรณ์แบบมีประโยชน์ต่อที่ทำงาน เพราะทำให้คนนั้นมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากกว่าคนทั่วไป สามารถทำงานได้อย่างยาวนานกว่าคนทั่วไป และเอาใจใส่กับงานมากกว่าด้วย [1]
งานวิจัยนี้ใช้หลักทางสถิติวิเคราะห์งานวิจัยอื่นก่อนหน้ารวม 95 งาน ไล่เรียงเวลาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ถึงปัจจุบัน ครอบคลุมจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองมากเกือบ 25,000 คนทีเดียว
ถ้างั้นก็ดีสิ!
เราก็ควรจะสนับสนุนให้ทุกคนเป็นคนที่มุ่งแสวงหาความสมบูรณ์แบบสิ แต่ความเป็นจริงอาจมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้นครับ หากดูที่ตัว ‘ผลงาน’ แล้ว คนที่มองหาความสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้ทำผลงานได้ดีกว่าพวกที่ไม่ได้มีมุมมองแบบนี้เลยอย่างมีนัยสำคัญเลย (แม้ว่าจะไม่ได้แย่กว่าก็ตาม)
คนที่รักความเพอร์เฟกต์มีแนวโน้มที่จะทำตัวไม่ยืดหยุ่นและตั้งค่ามาตรฐานกับสิ่งต่างๆ อย่างล้นเกิน จนแม้แต่ตัวเองก็มักทำได้ไม่ถึง นอกจากนี้ยังมักพกพาอุปนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ติดตัว และที่แย่สุดๆ ก็คือ การมองโลกแบบแบ่งแยกเด็ดขาด คือหากไม่เพอร์เฟกต์ (ซึ่งก็คือส่วนใหญ่) ก็ใช้ไม่ได้!
งานวิจัยนี้ยังชี้อีกด้วยว่า พวกรักความสมบูรณ์แบบมักจะมีระดับความเครียดและความกังวลใจสูง และหมดเรี่ยวแรงพลังหรือหมดไฟได้ง่าย
ฉะนั้น โดยรวมแล้วคนพวกนี้จะสร้างปัญหาให้กับตัวเองและคนรอบข้างมากกว่าจะเป็นผลดี
เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ ‘ราก’ ของความคิดหรือความต้องการไม่ให้สิ่งต่างๆ ผิดพลาดนั้น จำนวนมากเลยเกิดจาก ‘บาดแผล’ ในใจสมัยตอนเป็นเด็ก [2] เช่น เขาหรือเธออาจเติบโตมาในครอบครัวที่หย่าร้าง และโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุหรือทำได้ไม่ดีพอ จึงทำให้พ่อกับแม่ต้องแยกทางกัน
ดังนั้น ถ้าทำตัวสมบูรณ์แบบได้ ก็อาจแก้ไขเรื่องนั้นได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องร้ายๆ ทำนองนั้นขึ้นอีก ยังมีแรงขับอีกหลายแบบ อาทิ การเป็นเด็กที่ต้องวางแผนรับมือพ่อหรือแม่ที่ติดแอลกอฮอล์หรือติดยา และชอบลงมือทำร้ายคนในครอบครัว แต่อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่มองเห็นสาเหตุได้ชัดเจนขนาดนี้ บางคนอาจจะจำฝังใจในเรื่องที่ไม่รุนแรงและชัดเจนเท่า
ความย้อนแย้งสำคัญของการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบก็คือ เขาหรือเธอก็รู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องแบบนั้นมันยากหรือแม้แต่จะทำไม่ได้ในชีวิตจริง จึงมองหาสาเหตุที่ใช้อธิบายความล้มเหลวให้กับตัวเองอยู่เสมอ แต่ก็หยุดตั้งเป้าหมายแบบสมบูรณ์แบบต่อไปอีกไม่ได้ เกิดเป็นวัฏจักร ตั้งเป้า-ล้มเหลว-แก้ตัว-ตั้งเป้า วนเวียนเช่นนี้ไปไม่รู้จบ
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเด็กนักเรียนในอังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1989-2016 เกือบ 40,000 คน ทำให้รู้ว่ามีเด็กนักเรียนและวัยรุ่นราว 40% ที่ประสบผลเสียของเรื่องการทำตัวเพื่อให้สมบูรณ์แบบ [2, 3] โดยเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่าน่าจะเป็นผลจากระบบการเรียนการสอบวัดผลที่เน้นการแข่งขันเพิ่มขึ้น แถมยังเริ่มต้นในตอนที่เด็กอายุน้อยลงอีกต่างหาก เด็กจำนวนมากต้องไปโรงเรียนกวดวิชาหรือไม่ก็ต้องมีครูพิเศษมาติวที่บ้านเพื่อให้ชนะการแข่งขัน
อีกปัจจัยหนึ่งคือการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียที่ทำให้เด็กๆ เห็นเพื่อนโชว์ผลสำเร็จต่างๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
นักวิจัยแบ่งอาการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบออกเป็น 3 แบบคือ แบบที่ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง แบบใช้คนอื่นเป็นศูนย์กลาง และสุดท้ายคือ แบบใช้สังคมโดยรวมเป็นศูนย์กลางในการตัดสิน
พวกที่เอานิสัยแบบนี้มาจับกับเรื่องงานก็มีแนวโน้มจะเกิดความเครียดและความซึมเศร้า จนบางครั้งสำหรับในรายที่อาการหนัก อาจถึงกับทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ดังที่เราเคยได้ยินกรณีเด็กนักเรียนฆ่าตัวตาย เพราะคะแนนตกลงมากหรือไม่ได้อันดับดีๆ อย่างที่เคยได้
หากนำเอาแนวคิดเรื่องคุณค่าแบบนี้มาใช้กับทีม ในระยะสั้นอาจผลักดันจนเกิดความสำเร็จได้ แต่ในระยะยาวแล้วแทบจะหนีไม่พ้นว่า ความเครียดที่ก่อตัวขึ้นเป็นอย่างมากจะทำให้กลุ่มแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
มีตัวอย่างศิลปินดังที่เป็นโรคคลั่งไคล้ความสมบูรณ์แบบคือ คลอส โมเนต์ (Claude Monet) ในเดือนพฤษภาคม 1908 ซึ่งเขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแล้ว และกำลังจะจัดงานแสดงภาพในกรุงปารีส ภาพของเขาได้รับคำวิจารณ์ในทางที่ดีเป็นอย่างมากถึงความโดดเด่นของสไตล์
แต่ในวันก่อนเปิดนิทรรศการ เมื่อเขาเดินดูความเรียบร้อยของงานตัวเอง เขาก็พบ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ เต็มไปหมดในภาพวาดแต่ละรูป จนเขาทนไม่ได้และต้องใช้มีดกรีดงานเหล่านั้น!
มีสัญญาณอยู่ 5 แบบที่กำลังแสดงตัวให้เห็นว่า คุณกำลังหมกมุ่นกับเรื่องความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไปแล้ว จนควรกลับมาตั้งสติใหม่ก่อนจะสายเกินแก้
สัญญาณแรกคือ ‘ความรู้สึกผิด’ คุณจะรู้สึกผิดอย่างซ้ำซาก และรู้สึกว่าไม่อาจทำอะไรได้เพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีพอ จนทำให้ตัวเองผิดหวังและรู้สึกห่อเหี่ยว
สัญญาณต่อไปคือ จู่ๆ คุณอาจรู้สึกว่าสิ่งที่ดูสมบูรณ์แบบตรงหน้า กลับกลายเป็นว่ามีความไม่สมบูรณ์แบบขึ้นมา จนทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ไอ้นู่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ได้ สัญญาณถัดไปคือ คุณบอกกับตัวเองซ้ำๆ ว่า คุณไม่พร้อมจะเริ่มต้นทำเสียที คุณจะบอกตัวเองซ้ำๆ ว่า “ฉันจะเริ่มเมื่อทุกอย่างพร้อมเท่านั้น” การผัดวันประกันพรุ่งเป็นความยุ่งยากสำคัญที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้
ปัญหาใหญ่สุดของพวกผู้ใฝ่หาความสมบูรณ์แบบก็คือ ‘ความกลัวล้มเหลว’
อีกสัญญาณที่ควรสังเกตคือ บางคนก็ต้องการกำลังใจอยู่ตลอดเวลา จึงเฝ้าถามคนอื่นว่า ฉันดี ฉันแจ๋ว ฉันสมบูรณ์แบบหรือยัง คนที่ทำแบบนี้จนไม่เป็นตัวของตัวเอง ลอยขึ้นลงไปมาตามคำชมเชยหรือคำติเตียนของคนอื่น ยากจะหาความสุขได้อย่างแน่นอน
สัญญาณข้อสุดท้ายคือ สำหรับบางคนจะเบี่ยงเบนคำวิจารณ์เรื่องความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองไปใส่คนอื่น เฝ้าแต่มองหาจุดผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในงานของเพื่อนร่วมงาน จนบางทีกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้อาจส่งผลเสียหายกับงานได้มากทีเดียว
การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดที่สุดคือ การเปลี่ยนวิธีมองโลก [2, 3] คุณต้องบอกกับตัวเอง หรือหากเป็นหัวหน้าก็ต้องบอกกับลูกน้อง ครูก็ต้องบอกกับนักเรียนเสมอว่า ยากจะหาอะไรที่สมบูรณ์แบบได้จริงๆ ไม่ว่าตัวเราเองหรือคนอื่น ต่างก็ผิดพลาดได้เสมอ ทำอะไรไม่สมบูรณ์แบบได้เสมอ
ความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากๆ สำหรับทุกคน
การตั้งเป้าหมายการทำงานหรือเป้าหมายชีวิตให้สมบูรณ์แบบจึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและรังแต่จะเป็นปัญหา ความไม่สมบูรณ์แบบไม่เท่ากับความล้มเหลว และแม้แต่ความล้มเหลวเองก็ไม่ใช่เครื่องหมายของความอ่อนแอ
เมื่อมีการบ้านหรืองานที่ต้องทำ ก็แค่ทำให้ดีที่สุด แต่ไม่ไปคาดหวังว่าจะได้คะแนนเต็มหรืองานไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นเลย ลองนึกถึงประสบการณ์รวมไปถึงความสำเร็จต่างๆ ในอดีตของตัวเองดูบ้าง
การยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ มีความอดทนต่อความผิดพลาดและคำวิจารณ์ เป็นวิถีชีวิตปกติธรรมสามัญที่สุดที่คนทั่วไปทุกคนต้องเผชิญ
ไม่ต้องจริงจัง เคร่งเครียด หรือซึมเศร้าไปกับเรื่องเหล่านี้เลย
เอกสารอ้างอิง
[1] https://hbr.org/2018/12/the-pros-and-cons-of-perfectionism-according-to-research
[2] Edoardo Albert (2022) The Dark Heart of Perfection. Psychology Now, vol. 3, pp. 28-31
[3] https://hbr.org/2018/01/perfectionism-is-increasing-and-thats-not-good-news