- ‘นิกเซน’ (Niksen) แนวคิดหนึ่งของชาวดัตช์ ที่มีความหมายแปลตรงตัวว่า ‘การไม่ทำอะไร’ และปลดระวางภาระอันหนักอึ้งที่ผูกติดตัว
- นิกเซนช่วยให้เรามองเห็นความงดงามของการอยู่เฉยๆ ได้ทบทวนตัวเอง โอบกอดชีวิตที่มีข้อจำกัด เยียวยาจิตใจกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
- มนุษย์มักมีแนวโน้มที่จะต้อง ‘ทำอะไรบางอย่าง’ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อป้องกัน เพื่อการมีความสุข โดยหารู้ไม่ว่าบางทีการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยต่างหากคือทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาบางเรื่อง
คุณเป็นอีกคนรึเปล่า? ที่เมื่อถึงเวลาว่างเมื่อไร เป็นต้อง ‘หาอะไรทำ’ อยู่ตลอด ว่างเป็นไม่ได้ รู้สึกแปลก รู้สึกผิด เหมือนเสียดายเวลา อยู่เฉยไม่ได้ สมองสั่งการให้ร่างกายต้องออกไปหาอะไรทำโดยอัตโนมัติ
แต่สิ่งนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วท่ามกลางโลกที่เร่งรีบ ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยอัตราเร่งที่นับวันมีแต่จะเร็วขึ้น พร้อมความคาดหวังของสังคมที่ตะโกนบอกให้เราควรหาอะไรทำอยู่ตลอด ต้องไปที่นั่น ต้องไปที่นี่ ต้องทำอย่างโน้น ต้องทำอย่างนี้
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่ามันก็มาพร้อมความเครียด ความกดดัน ความเหนื่อยล้า และหลายครั้งที่หลังจากทำอะไรเยอะๆ เสร็จแล้ว…กลับรู้สึกมีความสุขน้อยลงอย่างแปลกประหลาด
วันนี้จึงอยากมาแชร์แนวคิดหนึ่งของชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ที่เรียกว่า ‘นิกเซน’ (Niksen) มันเป็นแนวคิดที่ตอนแรกอาจฟังดูสวนกระแสไปบ้าง แต่เมื่อพิจารณาดีๆ บางทีนิกเซนอาจเป็นสิ่งที่พวกเราหลายคนกำลังต้องการในตอนนี้เลยก็ได้นะ
นิกเซน ศิลปะของการไม่ทำอะไร
นิกเซน เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตที่มาจากชาวดัตช์ มีความหมายแปลตรงตัวว่า ‘การไม่ทำอะไร’ (Doing nothing) เรียกว่าเป็นขั้วตรงข้ามของสเปกตรัมในการมองหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลาเลยก็ได้ เป็นแนวคิดที่ละทิ้งผลลัพธ์ความคาดหวัง และอยู่กับปัจจุบันตรงหน้า โฟกัสความเป็นไปตรงหน้า และแค่เอนจอยซาบซึ้งไปกับมัน…แค่นั้นเลย
นิกเซนเป็นแนวคิดที่อยู่คู่กับสังคมชาวดัตช์มานานแล้ว จึงเป็นประเทศที่ผู้คนมีระดับความสุขที่สูง มีบาลานซ์ระหว่างเรื่องงานและการพักผ่อนในชีวิตส่วนตัว แต่นิกเซนเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างและเข้าสู่กระแสหลักในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผู้คนทั่วโลกถูกล็อกดาวน์ต้องอยู่กับบ้าน เป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับการไม่ทำอะไร เพราะถูกจำกัดกิจกรรมและออกไปไหนไม่ได้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนได้กลับมา ‘อยู่กับตัวเอง’ เคลียร์สมองให้โล่ง ดีท็อกซ์จิตใจให้แจ่มใส
แนวคิดนิกเซนจึงเริ่มผลิบานอย่างแท้จริง เพราะมันช่วยให้เรามองเห็นความงดงามของการอยู่เฉยๆ ได้ทบทวนตัวเอง โอบกอดชีวิตที่มีข้อจำกัด เยียวยาจิตใจกับอนาคตที่ไม่แน่นอน พอเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่านิกเซนสามารถเอาไว้สู้กับความเหนื่อยล้า การทำงานหนักจนเกินไป การโฟกัสที่ปัจจุบันและไม่ยึดติดกับอนาคตที่ไม่แนนอน
แต่ขออธิบายก่อนว่า การไม่ทำอะไรในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการนอนติดเตียงหรือการนั่งนิ่งๆ อยู่เฉยๆ เสมอไป แม้ว่าเราจะสามารถทำแบบนั้นได้แบบสะดวกใจก็ตาม แต่นิกเซนเป็นการปลดระวางภาระอันหนักอึ้งที่ผูกติดตัวเราอยู่ที่คาดหวังให้มนุษย์เราควรหางานหากิจกรรมทำอยู่ตลอด
- มันคือการกระซิบบอกว่า วันหยุดยาวช่วงเทศกาล ไม่ต้องออกไปเบียดเสียดคนในห้างเพื่อกินร้านอาหารดีๆ มื้อพิเศษๆ ก็ได้…แต่เป็นการกินข้าวที่บ้านกับครอบครัวเงียบๆ ในมื้ออาหารปกติทั่วไปก็ยอดเยี่ยมแล้ว
- มันคือการบอกว่า วันหยุดเสาร์อาทิตย์เราไม่ต้อง ‘ใช้ให้คุ้ม’ ด้วยการทำโน่นทำนี่ให้ได้มากที่สุดในเวลาอันจำกัด
- มันคือการบอกว่า เมื่อย่างเท้าเดินเข้าขบวนรถไฟบีทีเอส เราไม่จำเป็นต้องหยิบมือถือขึ้นมาคุยงานเสมอไป หรือหยิบหนังสือเล่มเล็กๆ ขึ้นมาอ่าน หรือรีบกดฟังพอตแคสท์เพื่อเป็นการ ‘ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด’ ระหว่างเดินทาง แต่มันอาจเป็นแค่การเอนหลังพิงผนังและเสพวิวทิวทัศน์ของเมืองจากมุมสูงตามทางที่รถไฟแล่นผ่านไป…แค่นี้ก็เอนจอยชีวิตได้แล้ว
เพราะไม่ทำอะไร…จึงได้อะไร
ในเชิงการทำงานของสมอง ศิลปะการอยู่เฉยๆ แบบนิกเซน สมองยังคงประมวลผลทำงานอยู่ แต่ประสิทธิภาพการ ‘โฟกัส’ (Focus) จะเพิ่มขึ้นมาก เพราะสมองมนุษย์ทำงานดีที่สุดเมื่อคนเราทำทีละอย่าง นำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานหลังจากนั้นที่ดีขึ้น
สุดท้ายแล้วถ้าทำอะไรมากเกินไป ประสิทธิภาพจะเสื่อมลงตาม การได้มีเวลาอยู่เฉยๆ สมองจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นิกเซนยังช่วยเพิ่ม ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ได้อย่างน่าอัศจรรย์จากการปล่อยกายปล่อยใจให้ล่องลอย ที่สำคัญ ความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาที่เราได้พักผ่อนอย่างแท้จริงนี้เองเสมือนว่าเรารับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามามากพอถึงจุดหนึ่ง นิกเซนทำหน้าที่ให้เราหยุดคิดและตกผลึกขบคิดถึงเรื่องราวที่เข้ามา
อีกเหตุผลความเป็นไปได้ที่นิกเซนทำให้หลายคนมีความสุข (Happiness) คือ พอเราทำอะไรน้อยลง ปริมาณข้อมูลที่ได้รับก็น้อยลงตาม ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณข้อมูลที่สมองมนุษย์คุ้นเคยมาตั้งแต่อดีต เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาให้ทำอะไรเยอะแยะมากมายเหมือนปัจจุบันขนาดนี้ สังคมโบราณแบบชนเผ่าหาของป่าที่มนุษย์วิวัฒนาการมามักเป็นไปอย่างเรียบง่าย กิจกรรมไม่เยอะ จึงมีเวลาว่างเยอะ พอว่างก็แค่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร
โอบกอดนิกเซนเข้าสู่ชีวิต
เราสามารถสอดแทรกนิกเซนให้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราได้ ลองฝึกตัวเองให้พักผ่อนแบบพักผ่อนอยู่เฉยๆ จริงๆ เป็นการใช้เวลาว่างอย่างเปล่าประโยชน์อย่างแท้จริง พร้อมกับระงับความฟุ้งซ่านที่ว่าเราต้องคอย ‘หาอะไรทำ’ ไปเรื่อยอยู่ตลอดเวลา โดยไม่เคยฉุกคิดว่าทำไปเพื่ออะไรด้วยซ้ำ
บางทีคนเราเป็นทุกข์เพราะคาดหวังสูงลิบเกินไป แต่พอเราไม่ทำอะไร จึงเกิดความสบายตัวสบายใจจากการไม่ต้อง ‘คาดหวังผลลัพธ์’ ใดๆ เพราะไม่ได้คาดหวังอะไรแต่แรกอยู่แล้ว
ในสภาพสังคมที่วุ่นวาย ทำงานหนักไม่มีหยุด งานเก่าจบ งานใหม่มารอต่อคิวแล้ว บางทีทางออกของสังคมชีวิตแบบนี้อาจเป็นการไม่ต้องทำอะไรไปเลยต่างหาก ลองหาเวลาอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ในสภาพแวดล้อมที่ดี ในบรรยากาศที่เงียบ ฮีลใจให้เบิกบาน
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน บางสถานการณ์นิกเซนอาจช่วยให้เราไม่ติดกับดัก Action bias กล่าวคือ มนุษย์มักมีแนวโน้มที่จะต้อง ‘ทำอะไรบางอย่าง’ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อป้องกัน เพื่อการมีความสุข โดยหารู้ไม่ว่าบางทีการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยต่างหากคือทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาบางเรื่อง
จะว่าไปแล้ว พวกเราหลายคนเคยประสบนิกเซนมาแล้วโดยไม่รู้ตัว ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนตามต่างจังหวัด ขึ้นป่าเขาหรือลงใต้สู่ทะเล ในสถานที่ที่ปลีกวิเวก มีความเป็นส่วนตัว มีความสงบ ได้อยู่กับธรรมชาติ…ได้อยู่กับตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่เรามักจะ ‘เผลอไม่ทำอะไร’ บอกลารูทีนในชีวิตประจำวัน ทิ้งภาระงานออกไปก่อน และแค่เพลิดเพลินไปกับสภาพแวดล้อมตรงหน้า ช่วงเวลาแห่งนิกเซนนี้คือช่วงที่เรามักพูดแบบเต็มปากว่า ได้ ‘ชาร์จพลัง’ ตัวเองเต็มที่แบบสุดๆ
แน่นอนว่าเราไม่สามารถทำนิกเซนได้ตลอดเวลา เราไม่สามารถอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรทั้งวันได้ ยังไงชีวิตต้องมีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหว เกิดการลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่การระลึกถึงนิกเซนและสอดแทรกมันลงไปในลมหายใจของแต่ละวัน ก็น่าจะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างบาลานซ์และมีความสุขมากขึ้นได้นั่นเอง
อ้างอิง
https://time.com/5622094/what-is-niksen/
https://www.bluezones.com/2019/11/niksen-the-dutch-art-of-purposefully-doing-nothing/
https://www.bbc.com/travel/article/20230522-the-dutch-solution-to-busyness-that-captivated-the-world