- ‘ปรัชญา’ ไม่ใช่แค่การตั้งคำถาม แต่คือการตั้งคำถามในคำถาม ซึ่งการใช้เหตุผลที่ดีจะนำไปสู่การตั้งคำถามที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้เราหาคำตอบที่ตอบโจทย์ความอยากรู้ของเราได้อย่างแท้จริง
- The Potential คุยกับ ดร.ปิยฤดี ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจแง่มุมของปรัชญา ที่ทำให้เราไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ และเปิดรับมุมมองใหม่ๆ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
- ปรัชญายังช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ แม้คิดต่าง ยอมรับความแตกต่างทางความคิด มองเห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อสร้างสังคมที่เคารพในความคิดเห็นของกันและกัน
เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ‘เราเกิดมาทำไม?’ ‘ชีวิตที่ดีคืออะไร?’ หรือแม้แต่ ‘เราทำงานหนักไปเพื่ออะไร?’ คำถามเหล่านี้อาจจะฟังดูเหมือนคำถามโลกแตก แต่จริงๆ เมื่อเริ่มตั้งคำถามก็ถือว่าเราได้ออกเดินก้าวแรกในการใช้ ‘ปรัชญา’ ในฐานะศาสตร์การคิดที่ให้เครื่องมือสำหรับสำรวจ ตั้งคำถาม และหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตแล้ว
ดังนั้น ‘ปรัชญา’ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวและซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด The Potential ชวนปรับทัศนคติต่อวิชาปรัชญา กับ ผศ.ดร.ปิยฤดี ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ก่อนอื่น อยากสื่อสารไปถึงคนที่คิดว่าปรัชญาดูเป็นสิ่งไกลตัวและซับซ้อน ว่าจริงๆ แล้วปรัชญาไม่ได้ไกลตัว และที่ว่าซับซ้อนก็อาจจะมีส่วนจริงแต่ไม่ใช่ในความหมายแบบที่เข้าใจกัน ที่เราคิดแบบนี้ น่าจะเป็นเพราะยังไม่คุ้นเคยกับปรัชญา ไม่เคยทดลองนำมาใช้งานแล้วเห็นผล แต่ถ้าได้นำมาใช้จนเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยการคิด ก็จะพบว่าปรัชญาเป็นกระบวนการที่ฝึกให้เราได้เรียนรู้ที่จะคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนอื่น เกี่ยวกับโลกที่เราอยู่ ดังนั้นที่ซับซ้อนจริงๆ อาจจะไม่ใช่ปรัชญา แต่คือสิ่งเหล่านี้ที่ปรัชญาช่วยเราคิดเกี่ยวกับมันได้ ซึ่งพอเอาปรัชญาไปจับก็เลยทำให้ปรัชญาดูเหมือนซับซ้อนมากกว่าที่เป็นจริงๆ”
จริงหรือไม่คะที่กล่าวกันว่า หัวใจสำคัญของวิชาปรัชญาคือการตั้งคำถาม
การพูดว่าวิชาปรัชญาสำคัญที่การตั้งคำถาม หรือปรัชญาเริ่มต้นที่การตั้งคำถามเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว ที่ครบถ้วนกว่าคือพูดว่า ปรัชญาคือการตั้งคำถามในคำถามอีกที การที่เราจะรู้จักตั้งคำถามที่ดีได้ต้องอาศัยการใช้เหตุผลที่ดีก่อน การใช้เหตุผลที่ดีจะทำให้รู้ว่าต้องถามคำถามแบบไหนถึงจะนำไปสู่คำตอบที่ได้มาแล้วตอบสนองความอยากรู้ที่นำมาซึ่งการตั้งคำถามในตอนแรกได้ มีนักปรัชญาชื่อ Charles Sanders Peirce เคยพูดไว้แบบนี้ แต่ครูไม่จำเป็นต้องอ้างเขา เพราะมีประสบการณ์ตรงเป็นเครื่องพิสูจน์อยู่แล้ว
ในชั้นเรียนวิชาการใช้เหตุผลของนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะอักษรศาสตร์ บางทีครูเห็นนิสิตหน้าตาดูง่วงๆ ก็จะโยนคำถามให้ เพื่อปลุกให้ตื่น บางคำถามเป็นปริศนาเกมไพ่ บางคำถามเป็นปริศนาที่เข้ารหัสคำไว้ คำถามพวกนี้ถ้าไม่ตั้งคำถามในคำถามก่อน แทบไม่มีทางที่จะตอบถูกได้ และครูพบว่านิสิตที่ตอบคำถามแบบนี้ได้เป็นคนแรก คือ คนที่คิดออกก่อนใครว่าคำถามในคำถามที่ต้องถามคืออะไร แล้วใช้เหตุผลค่อยๆ ไล่ตอบคำถามนั้นจนไปพบคำตอบที่ไขปริศนา ส่วนเพื่อนคนอื่นในห้อง ครูก็เชื่อว่าถ้ามีเวลาคิดนานกว่านี้ ก็จะตอบได้เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ คือ เวลาที่มีคำถามชนิดนี้ นิสิตจะหายง่วงกันเกือบทั้งชั้นเรียน
การตั้งคำถามในคำถามใช้ได้กับเนื้อหาทุกเรื่องไหมคะ
ใช้ได้ทุกเรื่องรวมถึงความเชื่อที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งความเชื่อเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนอื่น เกี่ยวกับสิ่งที่เราเคยถูกสอนมาทั้งหมด จนถึงความเชื่อเกี่ยวกับสังคม การที่เราไม่ได้มองเห็นความเชื่อเหล่านี้เป็นปริศนา ก็เพราะมันยังไม่ถูกคนอื่นท้าทาย และตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ปรัชญาสามารถมีคุณูปการที่สำคัญที่ทำให้ในโลกยุคปัจจุบันเราขาดปรัชญาไม่ได้
การใช้เหตุผลที่พูดถึงในปรัชญามีความหมายเฉพาะ คือเป็นเรื่องของการหาข้อสนับสนุนให้กับสิ่งที่เชื่อและทำ ซึ่งสิ่งที่ว่าอาจจะมีข้อสนับสนุนที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้
สิ่งสำคัญคือคนที่ใช้เหตุผลชนิดนี้จะไม่ใช่เป็นเจ้าไอเดีย เจ้าความคิดสร้างสรรค์ และถ้ามีนิสัยแบบนี้ก็เพราะมันตามมาจากนิสัยที่คอยมองหาเหตุผลสนับสนุนอันที่ดีสำหรับความเชื่อ ทัศนคติและการกระทำของตัวเอง พอทำแบบนี้อยู่เสมอๆ ย่อมเป็นไปได้สูงที่วันหนึ่งจะมีสิ่งภายนอกมาทำให้เกิดหวั่นไหวในความเชื่อที่เคยมี
ห้องเรียนปรัชญาเร่งกระบวนการนี้โดยพยายามทำให้ความเชื่อต่างๆ ที่นักศึกษามีเผชิญกับข้อโต้แย้งที่เป็นไปได้ให้เร็วที่สุด
ถ้าเรารักความเชื่อเรื่องไหนมาก เราจึงยิ่งต้องคอยตรวจสอบเหตุผลสนับสนุนที่เรามีสำหรับมัน ซึ่งก็ต้องทำโดยคอยมองหาเหตุผลดีๆ ที่จะมาแย้ง และหากวันหนึ่งเกิดเราพบกับข้อโต้แย้งที่หนักแน่นมากๆ ที่ไปกันไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องยอมทิ้งความเชื่อที่ถูกหักล้างนั้น สิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากในเรื่องนี้คือ สำหรับคนที่ลงทุนทั้งชีวิตไปกับความเชื่อหรือการกระทำ หรือเป้าหมายทางสังคมบางอย่าง การต้องมาฟังว่าสิ่งที่ลงทุนมาทั้งชีวิตมันอาจจะไม่ใช่ หรือผิด หรือก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าดี ย่อมเป็นอะไรที่ทารุณจิตใจ เขาจึงมีเหตุผลเต็มเปี่ยมที่จะปกป้องความเชื่อแบบหัวชนฝา และสิ่งที่มักจะตามมาด้วยคือมองคนที่มาท้าทายว่าเป็นศัตรู
ปรัชญาโดยเฉพาะวิชาการใช้เหตุผลช่วยเอื้อให้การคิดใหม่เป็นไปได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องมองคนที่คิดแย้งกับเราว่าเป็นศัตรู สามารถมองเลยความเห็นต่างส่วนตัวไปเห็นถึงประโยชน์ของความคิดต่างได้ว่ามาช่วยเราคิด ทำให้เราไม่ถลำตัวไปเชื่อผิดหรือทำผิดชนิดที่จะต้องกลับหลังหันแบบ 180 องศาในอนาคต การรู้ทันปัญหาของความคิดที่เป็นปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่า
ในสังคมสมัยใหม่เราแก้ปัญหาโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวไม่ได้ทุกเรื่อง ปรัชญาช่วยบ่มเพาะให้เรามีทัศนคติต่อคนอื่นที่เราไม่มีความสัมพันธ์อะไรเลยได้ในแบบที่ถึงจะคิดต่างก็อยู่ร่วมกันได้ หรือต่อให้เป็นคนคิดต่างที่มีความดันทุรังสูง ก็ยังอยู่ด้วยกันได้ ช่วยกันแก้ปัญหาที่เผชิญร่วมกันได้ ไม่จำเป็นว่าคิดต่างแล้วจะต้องทำร้ายกันด้วยคำพูดหรือลงไม้ลงมือใส่กัน
จะเห็นว่าประโยชน์อันนี้ก็ยังเป็นอันเดียวกับที่พูดมาคือ การช่วยเราคิดใหม่ แค่เปลี่ยนเป็นเกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับโลกภายนอกและโดยเฉพาะเกี่ยวกับมนุษย์คนอื่นว่ามีศักยภาพที่จะช่วยเราก่อรูปความเชื่อที่มีเหตุผลสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ ช่วยให้เราไม่เชื่อผิดและทำผิดจนต้องกลับหลังหันแบบ 180 องศาในอนาคตทั้งที่เรารู้ตัวเร็วกว่านั้นได้
เวลาที่เราอ่านงานปรัชญาแล้วรู้สึกว่าซับซ้อนส่วนหนึ่งจึงอาจมาจากการที่นักปรัชญาเมื่อเขียนงานก็มักจะนำคำตอบที่ตัวเองได้จากการคิดใหม่ (conceptualization) มาคุยกัน และเพราะมันผ่านการถามคำถามมาหลายชั้นแล้ว คนที่ยังไม่ได้เริ่มถามแม้แต่ชั้นแรกเลยจะรู้สึกไม่คุ้นเคยย่อมเป็นเรื่องธรรมดา
อาจารย์คิดว่าปรัชญาช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง รวมถึงแก้ pain point ในชีวิตได้ไหม และทำไมถึงช่วยได้
ถูกต้องเลยค่ะ พูดถึงโลกข้างนอกและคนอื่นแล้ว สุดท้ายก็ต้องพูดถึงตัวเราเอง ว่าปรัชญาช่วยอะไรเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มี pain point เป็นของตัวเองได้
ก่อนอื่นต้องถามว่า pain point ที่พูดถึงนี้คืออะไร คำๆ นี้เพิ่งถูกใช้มากในช่วงหลังมานี้เอง พจนานุกรม Merriam-Webster นิยามคำนี้ว่าหมายถึงปัญหาที่ไม่ยอมหายไปเสียทีหรือกลับมาเรื่อยๆ ที่ทำให้ผู้บริโภค (ผลิตภัณฑ์หรือบริการ) ไม่สะดวกหรือรำคาญใจ เช่น ในประโยค สำหรับธุรกิจในตลาดโตเต็มที่แล้ว จะมีผู้บริโภคที่โตเต็มที่แล้ว คุณสามารถค้นพบความต้องการและ pain points ของพวกเขาได้บนเว็บไซต์สำหรับรีวิวสินค้าของคู่แข่ง ซึ่งฟังดูเป็นมโนทัศน์การตลาดและเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับการบริโภค ครูเลยไม่แน่ใจว่าเราคิดถึงคำนี้ในความหมายเดียวกันหรือเปล่า
สิ่งหนึ่งที่ครูมั่นใจว่าเป็นปัญหาเพราะรับรู้จากประสบการณ์ตรง คือ นิสิตบางคนมีแววตาเปลี่ยนไปเวลาที่ครูเปิดคลิปวีดีโอ Lisa Blackpink หรือ Jenny Blackpink ให้ดูในช่วงเบรก นิสิตเหล่านี้มีทั้งคนที่ฉลาด หัวดีมากๆ และคนที่โดดเด่นในด้านอื่น เช่น มนุษยสัมพันธ์ ความฉลาดทางอารมณ์ แต่แววตาของพวกเขาบอกครูว่าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองยังขาดบางสิ่งบางอย่างไป ถ้า pain point หมายถึงอะไรแบบนี้ ครูคิดว่าปรัชญาน่าจะช่วยในการจัดการกับมันได้
สมมติก่อนว่าในโลกนี้ไม่มีปรัชญา ไม่มีวิธีทางปรัชญาที่จะนำมาใช้จัดการกับ pain point แบบนี้ เรามีทางเลือกแบบไหนบ้าง ทางหนึ่งคือพึ่งศาสนา เข้าวัด ฟังธรรม จนรู้สึกปล่อยวาง ปล่อยมือจากสิ่งที่เราเคยอยากได้อยากมีที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
ครูเคยเล่าให้นิสิตในชั้นเรียนวิชาหนึ่งฟังว่า มีเพื่อนเคยอกหักหนักมาก เลยเข้าไปไหว้พระในวัดเล็กๆ แล้วมีอุบาสิกาท่าทางใจดีท่านหนึ่งทักว่า หนูร้องไห้ทำไมคะ เพื่อนครูก็ตอบว่า หนูอกหักค่ะ อุบาสิกาท่านนั้นก็เดินเข้ามาจับมือแล้วพูดว่า ไม่เป็นไรนะหนู คนอื่นไม่รักเราไม่เป็นไร แต่พระพุทธเจ้ารักเรา คำพูดนี้อาจดูน่าขัน แต่ถ้าฟังดีๆ มันเป็นการแก้ pain point ของการที่คนไม่รักได้แบบหนึ่ง เพราะบอกว่าเพื่อนของครูไม่ได้ขาดความรักนะ ยังมีพระพุทธเจ้าที่เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งปวงที่รักเค้า ทีนี้ สมมติเพื่อนครูคนนี้หายจากความทุกข์เพราะความเชื่อนี้ แล้ววันหนึ่งเกิดไปอ่านบทความวิจัยทางศาสนาที่บอกว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยมีคำสอนแบบนี้ และในวันนั้นนี่คือความเชื่อเดียวที่ค้ำจุนจิตใจเพื่อนของครู pain point อันเดิมก็คงกลับมาอีกใช่ไหมคะ
ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าถ้าเราคิดโดยใช้ปรัชญา เราจะมองคนอื่นเป็นคนที่มีศักยภาพที่จะเป็นคู่คิดได้ ในโลกที่ไม่มีปรัชญา เพื่อนครูอาจจะหันไปหาไลฟ์โค้ช (ซึ่งคำนี้ก็เป็นมโนทัศน์ด้านการตลาดพอ ๆ กับ pain point) ที่นำประสบการณ์ส่วนตัวมาแชร์ ซึ่งคล้ายกับที่เพื่อนครูมี เพื่อนครูจึงเชื่อข้อคิดที่ไลฟ์โค้ชตกผลึกแล้วมาแนะนำ ถ้าพูดด้วยภาษาการใช้เหตุผลก็คือนำข้อสรุปส่วนบุคคลของไลฟ์โค้ชมาเป็นข้อสรุปสำหรับตัวเอง เพื่อนครูอาจจะรู้สึกว่า เขายังคิดเอง ยังไตร่ตรองด้วยตนเองว่าจะเชื่ออันไหนหรือไม่เชื่ออันไหน ซึ่งครูมีความเห็นสองข้อสำหรับคำตอบแบบนี้
อย่างแรกคือ ถ้าเป็นอย่างที่ว่าจริง แสดงว่าไลฟ์โค้ชจริงๆ อาจไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ เรานั่งเปิดใจคุยกับ ChatGPT อาจจะได้ประโยชน์พอกันหรือมากกว่า อีกข้อหนึ่งคือ ทัศนคติที่เราไปคิดว่าเขาพูดดีมาก พูดจริงมาก พูดถูกมาก เราได้ตรวจสอบที่มาที่ไปของสิ่งที่เขาลงข้อสรุปแล้วหรือว่าเป็นแบบนั้นจริงไหม หรือต่อให้พูดจริงก็กลับไปที่ข้อแรกว่า ข้อคิดจากประสบการณ์ของเขาทำไมจึงคิดว่ามันใช้กับเราได้มากกว่าถ้าเรานั่งลงแล้วคิดเอง
ทีนี้ สมมติว่าในโลกมีปรัชญา แต่เราเข้าหาปรัชญาโดยไม่ใช้เหตุผล คือ เลือกชอบอันที่ตรงกับจริตของเรา และรับวิธีตั้งปัญหาของเขามาใช้ แล้วบอกว่านี่แหล่ะปัญหาของฉันและของโลกใบนี้ ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการเข้าหาไลฟ์โค้ชที่พูดสิ่งที่เราอยากฟัง คนสองคนที่เผชิญกับความรักที่ไม่สมหวัง อาจไม่ได้กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน คนแรกอาจความรักสมหวังแต่มีอุปสรรคเพราะพ่อแม่อีกฝ่ายไม่ชอบ คนที่สองไม่สมหวังเพราะตัวเองมีแฟนแล้วแต่ถูกหลอกโดยคนที่สามและจะโวยก็ไม่ได้เพราะตัวเองก็มีแฟนแล้ว คนที่สองนี้ก็อกหักคนละแบบกับคนที่สามที่คบเผื่อเลือกและวันหนึ่งคนที่ตัวเองชอบที่สุดทิ้งไปทั้งที่กำลังจะไปขอแต่งงาน การที่เราอ่านงานปรัชญาในลักษณะที่ว่าเขาเขียนทัชใจเรา หรือเขามองโลกตรงกับเราว่าความรักเป็นทุกข์ ต้องมีความรักแบบนั้นแบบนี้ถึงจะไม่เป็นทุกข์ ยังไม่ทำให้พูดได้ว่าปรัชญาทำให้เราค้นพบตัวเองในระดับที่ลึกลงไป เราแค่ค้นพบคนที่เหมือนกับเราในบางแง่ ซึ่งอาจเป็นแง่ที่ผิวเผินก็ได้ การรับเอาปรัชญานั้นมาเป็นของเราเลยโดยไม่ตรวจสอบก่อนว่ามีเหตุผลสนับสนุนที่ดีจริงไหม ไม่สามารถทำให้เราค้นพบตัวตนจริงแท้ (authentic) ของเราได้
Jean-Jacques Rousseau เขียนไว้ในนิยายเรื่อง Emile ที่มีอิทธิพลมากต่อปรัชญาการศึกษาว่า ผู้สอนจะต้องไม่สอนให้ผู้เรียนรู้จักกับมโนทัศน์ทางทฤษฎีใดทั้งสิ้นก่อนที่เขาจะประสบกับสิ่งที่มโนทัศน์นั้นชี้ถึงในประสบการณ์จริงก่อน รุสโซเชื่อว่าการสอนให้คนๆ หนึ่งเติบโตมาเป็นคนที่สามารถคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองโดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลจากสิ่งภายนอกเลยมีแค่วิธีนี้วิธีเดียว
สุดท้าย สมมติว่าในโลกนี้มีปรัชญาและเป็นปรัชญาแบบโสเครติคคือมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล และใช้เหตุผลขับเคลื่อนบทสนทนา ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์จริงกับทุกเรื่องก่อน การใช้เหตุผลจะทำให้คนทุกคนเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองเชื่อเหมือนเป็นสิ่งใหม่ในชีวิตได้ สิ่งนี้เป็นกับเป้าหมายของชีวิตด้วย นักปรัชญา John Rawls บอกว่าเราต้องคิดถึงมนุษย์ทุกคนว่ามีอำนาจในการกำหนดก่อรูป แสวงหาและปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตที่ดีของตัวเอง ปรัชญาจึงช่วยให้เราคิดใหม่เกี่ยวกับเป้าหมายการมีชีวิตอยู่ของตัวเองได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอย่างใกล้เคียงกับที่ตัวตนจริงแท้ของเราจะเลือกมากที่สุด และการที่ Rawls ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยน มันก็บอกในตัวเองอยู่แล้วว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็น pain point ของเราในวันนี้ วันหนึ่งในอนาคตเราอาจจะเปลี่ยนความคิดความเชื่อเรื่องนี้ก็ได้
แล้วที่ว่าปรัชญาเป็นทักษะที่จำเป็น ปรัชญาเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างไรในโลกยุคปัจจุบัน
คำว่าจำเป็นคือไม่มีไม่ได้ ครูคิดว่าปรัชญาจำเป็นเพราะมีบางอย่างที่ไม่มีกิจกรรมทางปัญญาอื่นใดที่ทำแบบที่ปรัชญาทำ
ในหลักสูตรปริญญาตรีของคณะอักษรศาสตร์ ก่อนที่นิสิตจะแยกย้ายกันไปเรียนในสาขาเอก ทุกคนต้องเรียนวิชาการใช้เหตุผล สำหรับนิสิตที่เลือกเรียนเอกในสาขาปรัชญา จะถือว่ามีพื้นฐานมาแล้ว เมื่อเข้าไปเรียนวิชาเอกของภาค ก็สามารถศึกษาทำความเข้าใจประเด็นทางปรัชญาได้ สามารถสร้างข้อโต้แย้ง สร้างการอ้างเหตุผลเพื่อไปสู่ข้อสรุปที่เป็นความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น หรือความเชื่อที่มีเหตุผลสนับสนุนมากขึ้นได้ ทักษะเหล่านี้ศาสตร์ที่เรียนเนื้อหาเกี่ยวกับโลกภายนอกอย่างเดียวให้ไม่ได้ และศาสตร์ที่เรียนเกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ในเชิงประจักษ์อย่างเดียวก็ให้ไม่ได้ หรือศาสตร์ที่เรียนเกี่ยวกับจิตวิญญาณมนุษย์อย่างเดียวก็ให้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันต้องใช้ทุกด้านนี้พร้อมกันหมด ดังนั้น จึงต้องอาศัยสาขาที่ข้ามศาสตร์อย่างปรัชญา ปรัชญาผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันเพราะโจทย์ของปรัชญาค่อนข้างครอบคลุมกว้างขวาง และ on top of that คือการคิดเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ แบบที่พูดมาแล้ว
ทักษะทางปรัชญาทำให้พูดคุยกับคนได้กว้างขวาง สื่อสารกับคนต่างชาติต่างภาษาได้ เพราะการใช้เหตุผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม แม้ว่าจะต้องมีความอ่อนไหวต่อวัฒนธรรมด้วยในการเลือกรูปแบบของการสื่อสาร ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมตะวันออกหรือตะวันตก เวลาต้องใช้เหตุผลเพื่ออธิบายหรือโต้แย้งอะไรสักอย่าง โครงสร้างการคิดมันจะคล้ายๆ กัน การโน้มน้าวชักจูงกันข้ามภาษาและวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นได้
ที่พูดมานี้ก็เพื่อจะเชื่อมโยงเข้ากับเทรนด์ของเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดในปัจจุบัน คือปัญญาประดิษฐ์ชนิดโมเดลภาษาขนาดใหญ่ อย่าง ChatGPT ครูเคยทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ เกี่ยวกับ ChatGPT และพบว่าเวลาสอบถามข้อมูลจาก ChatGPT การที่เราเรียนวิชาการใช้เหตุผลมามันช่วยในการลำดับความคิด และทำให้สื่อสารกับ ChatGPT ได้ค่อนข้างมีประสิทธิผล ร่วมมือกันหาคำตอบสำหรับปัญหาทางเทคนิคที่ค่อนข้างยากได้
นักวิจัยสงสัยว่าตอนนี้ ChatGPT ใช้เหตุผลได้เหมือนมนุษย์หรือยังจึงทำการทดลองโดยเปรียบเทียบกันระหว่างให้ GPT-4 และ Claude ทำภารกิจทั่วๆ ไปที่ถูกฝึกมาให้ทำได้ดี เช่น เล่นหมากรุก ประเมินการเขียนโปรแกรม กับให้ทำภารกิจที่สมมติรายละเอียดบางอย่างให้ต่างไปจากสิ่งที่ถูกฝึกมา (เรียกว่าเป็น counterfactual scenarios) เช่น บวกเลขฐานแปลกๆ หรือเล่นหมากรุกที่วางหมากไว้ผิดตำแหน่งบนกระดาน และพบว่าเมื่อปรับเล็กปรับน้อยเช่นนี้แล้ว โมเดลจะทำผลงานได้ไม่ดีเท่ากับเมื่อทำภารกิจที่ถูกฝึกมาให้ทำได้ดี นักวิจัยจึงสรุปว่าตอนนี้โมเดลเหล่านี้ยังใช้เหตุผลแบบปรับได้กับสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายได้ดีไม่เท่ามนุษย์ แต่ก็ยังวางใจมากไม่ได้ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์พัฒนารวดเร็วแบบก้าวกระโดด เริ่มมีการพูดถึงการใช้เหตุผลในเชิงคุณภาพแล้ว จึงต้องรอดูต่อไป
ส่วนนิสิตปรัชญานั้นตั้งแต่ขึ้นปีสองก็จะถูกฝึกให้ใช้เหตุผลแบบสมมตินี้ซึ่งมีสถานการณ์ทุกรูปแบบทั้งในโลกนี้และนอกโลก ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ไปถึงตอนตายแล้ว ตั้งแต่ในฐานะมนุษย์ต่างดาวไปจนถึงมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ไปจนถึงสัตว์ สิ่งของ ฯลฯ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการสร้างข้อโต้แย้งสำหรับการอ้างเหตุผล และเป็นส่วนสำคัญมากของการสร้างมโนทัศน์ (conceptualization) ทางปรัชญาซึ่งเป็นโจทย์ทางปรัชญาที่ใหญ่ที่สุด การฝึกนี้ทำให้นักศึกษาไม่ใช่แค่มองเห็นและจำแบบแผนได้ แต่สามารถเข้าใจโครงสร้างในระดับที่ลึกลงไปกว่านั้นได้ ที่จะนำไปสู่การคิดใหม่แบบที่พูดไป นักปรัชญาที่เป็นตำนานคือคนที่มโนทัศน์ที่เขาสร้างขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ ไม่เพียงกระตุ้นความคิดแต่ยังทนทานต่อข้อโต้แย้งและข้อวิจารณ์ต่างๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ทำให้คุ้มค่าเสมอที่จะกลับไปอ่าน
สมมติว่าสังคมไทยอยากจะเริ่มต้นปลูกฝังให้เด็กมีทักษะการคิดการตั้งคำถามแบบปรัชญาควรเริ่มต้นอย่างไร?
เริ่มต้นที่ครู โดยเฉพาะครูสอนวิชาพื้นฐานอย่างวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และประวัติวรรณคดี เด็กๆ นั้นเป็นนักตั้งคำถามอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ที่สำคัญคือเมื่อถามแล้วครูที่สอนสามารถตอบคำถามให้พวกเขาพอใจได้หรือเปล่า วิชาที่พูดมานี้มีองค์ประกอบเหมาะสมมากสำหรับกระตุ้นให้มีการคุยทางปรัชญาซึ่งจะกลับมาเสริมเนื้อหาที่เรียนโดยเอื้อให้นักเรียนสามารถเข้าใจโครงสร้างความเป็นจริงและมโนทัศน์ที่เรียนได้ดีขึ้น
เพื่อนของครูคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งมีคุณครูวิชาวิทยาศาสตร์ที่มาเรียนต่อปริญญาโทกับเขาเล่าถึงประสบการณ์ว่า ทุกเทอมคุณครูคนนี้ต้องสอนให้เด็กทำการทดลองเรื่องความเป็นกรดด่างโดยใช้กระดาษลิตมัส และแทบทุกเทอมเขาจะเจอเด็กถามคำถามเดียวกันเสมอว่า เราจะทำการทดลองไปทำไมในเมื่อทำออกมากี่ครั้งผลลัพธ์ที่ได้ก็เหมือนเดิม คุณครูไม่รู้จะตอบคำถามยังไงจึงตอบโดยอ้างหลักสูตรแทนว่าหลักสูตรกำหนดให้ต้องทำเพื่อให้เห็นด้วยตัวเอง และที่ผ่านมาก็ทำมาทุกปี ซึ่งเด็กก็ไม่พอใจ คุณครูเองก็ไม่พอใจคำตอบของตัวเอง
ถ้านำปรัชญาเข้าไปสู่ชั้นเรียนมากขึ้น เราก็อาจจะได้ฟังคำตอบที่ต่างออกไป คำตอบที่เป็นไปได้อันหนึ่งก็มาจากการคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์โดยนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชื่อคาร์ล ปอปเปอร์ (Karl Popper) ว่า เราทำเพื่อทดสอบว่าเป็นไปได้ไหมที่ถ้าปรับเงื่อนไขสักเล็กน้อย เช่น ปีนขึ้นไปทดลองบนยอดเขาหรือเปลี่ยนอุณหภูมิห้องแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนเดิม ฯลฯ ถึงตอนนั้นเราอาจจะเห็นเด็กนักเรียนแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมามากมายเพราะพวกเขาเห็นช่องทางการแสดงออกแล้วว่าคืออะไร
กับวิชาอื่นที่พูดมาก็เป็นแบบเดียวกัน วิชาเหล่านี้มีเนื้อหาที่ดีอยู่แล้ว แต่ปรัชญาจะช่วยให้เนื้อหาเหล่านี้กลายมามีชีวิตชีวามากขึ้นได้สำหรับผู้เรียน และทำให้เราได้ผู้เรียนที่เป็นนักคิดที่มีชีวิตชีวาและกล้าแสดงออก
สุดท้ายอยากให้อาจารย์สรุปความสำคัญของปรัชญาที่สามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตค่ะ
ในโลกยุคปัจจุบันนี้ที่เราต้องเผชิญกับข้อมูลมหาศาลทุกวัน และอาจจะเกินครึ่งในนั้นคือข้อมูลเท็จทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา และท่ามกลางสิ่งเย้ายวนมหาศาลซึ่งอาจจะเกินครึ่งในนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้สึกดึงดูดด้วยเลย ถ้าเข้าใจตัวเองดีว่าเราต้องการอะไร ทักษะที่ทำให้เราทำเช่นนี้ได้เป็นประโยชน์ แต่นอกจากนั้นก็ยังจำเป็นด้วยสำหรับโลกยุคปัจจุบัน