- หากจะนำเกมมาสู่บทเรียน ในฐานะครู จำเป็นต้องมองไปให้ถึงว่า ‘เกมกำลังนำเสนอมุมมองต่อโลกอย่างไร’ แต่ละเกมพาให้ผู้เล่นได้กระทำการ ต่อรอง มองเห็น รับรู้ ได้ยิน และรู้สึกแตกต่างกันออกไปอย่างไร ผ่านกลไกล เงื่อนไข เนื้อหา รูปแบบการเล่นแบบไหน
- ยกตัวอย่าง ‘This War of Mine’ วีดีโอเกมชื่อดังจากค่าย 11bit studio ที่ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นคนธรรมดาสามัญที่ต้องเอาชีวิตรอดในแต่ละวันท่ามกลางฉากหลังของสงคราม และมีเหตุการณ์ทางศีลธรรมที่ทำให้เราต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำอย่างไร
- เกมนี้กำลังเสนอการเรียนรู้ที่พาให้เรามองโลกที่มีชีวิตของคนอื่นๆ อยู่ด้วย โลกที่เราไม่สามารถมองคนอื่นในฐานะจำนวน (units) เหมือนเกมสงครามอื่นในท้องตลาดที่ทำให้จริยธรรมในการตัดสินใจเป็นแค่เรื่องระหว่างใครเป็นพวก ใครเป็นศัตรู
ท่ามกลางการสู้รบ สงคราม และซากปรักหักพัง
ตอนนี้น้องของคุณกำลังป่วยหนัก คุณได้ยินมาว่าบ้านหลังหนึ่งมียารักษา คุณจึงรีบมุ่งหน้าไปที่บ้านหลังนั้นทันที เมื่อคุณไปถึง คุณขอยาจากหญิงสาวเจ้าของบ้าน อันที่จริงเธอมีคุณตาที่กำลังป่วยอยู่เช่นกัน (มาจับการ์ดดูว่า ผลลัพธ์ที่ขอจะเป็นอย่างไร?)
…(แต่แล้วการ์ดที่สุ่มออกมา) เธอปฏิเสธคำขอของคุณ ในตอนนั้นคุณคิดว่าหากคุณไม่ได้ยากลับไป น้องของคุณก็จะตายในที่สุด ‘ฉันควรขโมยหรือไม่?’ (ถ้าเลือกจะขโมย คุณก็ต้องทิ้งการ์ดศีลธรรมในมือมา)
“ครู! พวกหนูเลือกไม่ถูกเลย จะทำยังไงดี” … เสียงหนึ่งแทรกขึ้นมา
เป็นเสียงที่แสดงความสับสนของนักเรียน ชั้น ม.1 เมื่อพวกเขาต้องคิดและตัดสินใจในกิจกรรมสถานการณ์จำลองในชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษา ที่ผมตั้งใจให้นักเรียนได้ถกเถียงถึงหลักการ ความถูกต้อง และความยุติธรรม ว่าเขาจะมองเห็นและพิจารณามันอย่างไร
จริงๆ แล้วบทเรียนนี้ ผมหยิบยืมแนวคิดจากวีดีโอเกมชื่อดังอย่าง ‘This War of Mine’ จากค่าย 11bit studio ที่ผู้เล่นจะต้องสวมบทบาทเป็นคนธรรมดาสามัญที่ต้องเอาชีวิตรอดในแต่ละวันท่ามกลางฉากหลังของสงคราม
ความพิเศษของเกม คือการมีเหตุการณ์ทางศีลธรรมที่ทำให้เราต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำอย่างไร ในตอนที่เล่นเกมนี้ ผมต้องออกไปหาของ โดยเฉพาะยารักษาโรค หากไม่ได้มันกลับมา ตัวละครอีกตัวในบ้านของผมจะต้องตายในไม่ช้า คืนนั้นผมได้เข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ชายแก่เจ้าของบ้านสังเกตเห็นผม และถืออาวุธเดินตรงเข้ามาหาทันที ในตอนนั้นผมลังเลว่าจะทำอย่างไรดี หากไม่ได้ยากลับไปคนที่อยู่ที่บ้านก็อาจตายได้ แต่นั่นก็หมายถึงผมต้องทำร้ายหรือฆ่าเขา? หรืออาจเป็นผมที่ถูกเขาฆ่าตายเสียก่อน? ผมจึงตัดสินใจ…
ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบเล่นเกมหรือวีดีโอเกมมากๆ ในช่วงวัยเด็ก หากไม่ออกไปเล่นกับเพื่อน ผมมักจะใช้เวลาอยู่หน้าคอมเพื่อเล่นเกม เกมที่ผมเล่นบ่อยๆ ในช่วงนั้นคงหนีไม่พ้น Yuri Battle Realms Age of Empire เกมแนวสู้รบ สงคราม เกมยิงมุมมองที่หนึ่งอย่าง Counter Strike รวมไปถึงเกมฟุตบอลชื่อดังอย่าง FIFA และ PES แต่หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนจบผมก็แทบไม่ได้เล่นมันอีกเลย ในช่วงที่เป็นครูผมมีโอกาสได้กลับมาเล่นอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับเกมที่ใส่ระบบการตัดสินใจทางจริยธรรมเข้าไปกับตัวเกมด้วย นั่นคือเกมจากผู้พัฒนา 11bit studio ในเกมชูโรง ‘This War of Mine’ และ ‘Frost punk’ เกมที่เราต้องบริหารเมืองท่ามกลางโลกที่ล่มสลายภายใต้อุณหภูมิติดลบ โดยเราต้องคอยตัดสินใจเลือกใช้นโยบายต่างๆ เช่น จะใช้เด็กเป็นแรงงานหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งสองเกมพาให้ผู้เล่นอย่างผมตื่นเต้นไปกับเรื่องราว วิธีการนำเสนอ และรูปแบบการเล่น มันเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ต่างไปจากเกมที่เคยเล่น และแน่นอนว่า เกมพาให้ผมเจอกับความรู้สึกกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ยากที่จะตัดสินใจ ประสบการณ์ที่เกมเหล่านี้หยิบยื่นให้ โดยเฉพาะ ‘This War of Mine’ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบยืมแนวคิดและวิธีการบางส่วนมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยสถานการณ์จำลองขึ้นมา
พูดอีกแบบ This War of Mine กำลังเสนอการเรียนรู้ที่พาให้เรามองโลกที่มีชีวิตของคนอื่นๆ อยู่ด้วย โลกที่เราไม่สามารถมองคนอื่นในฐานะจำนวน (units) เหมือนเกมสงครามอื่นในท้องตลาดที่ทำให้จริยธรรมในการตัดสินใจเป็นแค่เรื่องระหว่างใครเป็นพวก ใครเป็นศัตรู
ในงานศึกษา Breaking Down the Enchantment: A Critical Autoethnography of Video Gaming โดย Kout ได้สำรวจอัตชีวประวัติของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกของเกมที่เขาเล่นผ่านมุมมองการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical pedagogy) และพบว่า การเข้าไปสู่โลกของเกม ‘This War of Mine’ ได้พาให้เขาสัมผัสกับ ‘เรื่องเล่ากระแสรอง’ ของสงคราม ที่ต่างจากวีดีโอเกมทั่วไปที่มักจะเล่าผ่านมุมมองของฮีโร่ หรือผู้นำทหาร อย่าง Call of duty แต่เกมนี้กลับนำเสนอเรื่องเล่าของ ‘คนธรรมดาสามัญ’ ที่มีภูมิหลัง มีชีวิต มีความสัมพันธ์ และต้องเผชิญชาตะกรรมของความอดยาก ความกลัว ความหดหู่สิ้นหวัง ที่เกมส่วนใหญ่ (และตัวเขา) มองข้ามไป ขณะที่เล่น เขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจทางจริยธรรม สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับความเข้าใจในสงครามที่เขาเคยรับรู้มาก่อน
เกมได้ทำให้กำแพงระหว่างโลกความจริงกับโลกในเกมของเขาพังลง และดำดิ่งไปสู่การเชื่อมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง โลกที่เขาไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้รู้สึก และไม่คุ้นเคยมาก่อน
ผมเขียนเรื่องเกมมาถึงตรงนี้ เพื่อต้องการเสนอว่าหากเราจะนำพาเกมมาสู่บทเรียน เราไม่อาจมองเห็นเกมหรือวีดีโอเกมแต่ละเกมเป็นเพียงแค่สิ่งไร้สาระ ไร้ความหมายต่อการสอน หรือด่วนปฏิเสธทันทีเมื่อเกมนั้นไม่ได้มีเนื้อหาหรือวิธีการเล่นที่สอดคล้องกับบทเรียน หรือหยิบฉวยเพียงเทคนิคมาสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ ในฐานะครู จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองไปให้ถึงว่า ‘เกมกำลังนำเสนอมุมมองต่อโลกอย่างไร’ แต่ละเกมพาให้ผู้เล่นได้กระทำการ ต่อรอง มองเห็น รับรู้ ได้ยิน และรู้สึกแตกต่างกันออกไปอย่างไร ผ่านกลไกล เงื่อนไข เนื้อหา รูปแบบการเล่นแบบไหน ดังเช่นเกมซีรีส์ชื่อดังอีกเกมอย่าง civilization เกมแนวตระกูล 4X ที่มีองค์ประกอบหลัก คือ Explore สำรวจ Expand ขยายดินแดน Exploit ใช้ประโยชน์ (ขูดรีด?) Exterminate กำจัด เกมที่หลายคนอาจมองว่าสามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โลกได้ดี เพราะช่วยให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์และมีเนื้อหาสอดแทรกตลอดทั้งเกม แต่อีกด้านหนึ่งความเป็น 4x ก็ได้เสนอวิธีการมองโลกแบบอาณานิคมหรือจักรวรรดินิยมเป็นหลักเช่นกัน นั่นจึงทำให้นักพัฒนาเกม Nikhil Murthy’s Syphilisation ได้สร้างเกมแนว ‘post-colonial 4X’ เพื่อเสียดสีวิธีคิดของ colonial 4X ที่มักให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว
การเข้าใจว่าเกมนำเสนอวิธีการมองโลกอย่างไร จึงเป็นความเป็นไปได้แบบหนึ่งที่จะเอื้อให้เราหยิบใช้มันมาสู่การสร้างสรรค์บทเรียนได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันการเข้าใจมัน ไม่จำเป็นต้องเดินสูตรสำเร็จที่เกมถูกออกแบบไว้เสียทั้งหมด แต่ผู้สอนสามารถท้าทายวิธีการมองโลก ด้วยการนำเสนอรูปแบบวิธีการเล่น เนื้อหา หรืออื่นๆ ขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน พูดให้เห็นภาพ หากเกมเก้าอี้ดนตรีที่เล่นอยู่เป็นการมองโลกแบบแข่งขันเพื่อเป็นผู้ชนะ จะเกิดอะไรขึ้น หากเรามองเห็นว่าโลกนี้ต้องไม่มีใครถูกทิ้งในฐานะผู้แพ้ เกมเก้าอี้ดนตรี มันควรจะเล่นใหม่อย่างไรดี?
อ้างอิง
Can you make an anti-imperial empire game?
https://www.eurogamer.net/can-you-make-an-anti-imperial-empire-game
Breaking Down the Enchantment: A Critical Autoethnography of Video Gaming