- นิสัยเสียบางอย่างติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด มันฝังอยู่ในยีน และเรามีแนวโน้มที่จะอยากทำแบบที่ฝังในยีนมากกว่า แม้จะถูกสอน ถูกห้ามอย่างไรก็ตาม หรือแม้ว่ามันจะส่งผลเสียกับเราก็ตาม
- เราถูกสอนว่าให้เป็นคนยุติธรรม อย่าเล่นพรรคเล่นพวก แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหายไป หรือเรารู้ว่าการเจ้าชู้คือสิ่งไม่ดี แต่คนเจ้าชู้ก็ยังมีอยู่เยอะแยะ หรือการเป็นคนขี้วิตกจนเกินเหตุที่มีแต่ผลเสียต่อตัวเอง นิสัยเสียเหล่านี้แก้ยาก แต่เคยมีประโยชน์มากในอดีต
- มนุษย์เรา ‘ฝืนธรรมชาติ’ มาไกลมากแล้ว เราจึงต้องฝืนปรับนิสัยตามไปด้วยในการอยู่ในสังคมสมัยใหม่ให้รอดและมีความสุข แม้จะยากแต่การฝืนธรรมชาติของมนุษย์นี้ก็สร้างสังคมสมัยใหม่ที่มอบความสุข ความสนุก ความสบายให้เราไม่น้อย
เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมมนุษย์เราถึงมี ‘นิสัยไม่ดี’ หลายๆ อย่างที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคสมัย นิสัยเหล่านั้นก็ยังอยู่คู่สังคมถึงแม้พ่อแม่ โรงเรียน หรือสื่อต่างๆ จะพยายามสอนหรือรณรงค์แทบตายนิสัยเหล่านั้นก็ไม่เคยหายไปจากสังคมเลย
เราถูกสอนว่าให้เป็นคนยุติธรรม อย่าเล่นพรรคเล่นพวก แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหายไปทั้งในชีวิตประจำวัน การทำงาน และลามไปถึงการเมือง หรือเราทุกคนรู้ว่าการเจ้าชู้คือสิ่งไม่ดี มีแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคู่ แต่คนเจ้าชู้ก็ยังมีอยู่เยอะแยะไม่เคยลด หรือเรื่องใกล้ตัวอย่างที่ว่าอย่ากินหวานกินมันเยอะ มันส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่มันก็อดไม่ได้ ที่แปลกไปกว่านั้นคือบางอย่างทำแล้วเจ้าตัวก็ไม่น่าได้รับผลดีอะไร แต่ก็ยังคงทำอยู่เรื่อยไป อย่างการเป็นคนขี้วิตกจนเกินเหตุ มีแต่เสียสุขภาพจิตลามไปถึงสุขภาพกาย บทความนี้ผมเลยมาชวนคุยเกี่ยวกับนิสัยเสียบางอย่างที่ติดตัวมนุษย์เรามาตั้งแต่เกิดกัน นิสัยเหล่านี้มันฝังอยู่ในยีนของเรา และนั่นแหละครับที่ทำให้มันเลิกยาก
เด็กไม่ใช่ ‘ผ้าขาว’ สิ่งมีชีวิตทุกประเภทไม่ได้เกิดมาแล้วนอนนิ่งทำอะไรไม่เป็นเลย แม้ว่าทารกของมนุษย์อาจจะทำได้น้อยถ้าเทียบกับสัตว์อื่นๆ อย่างลูกม้าที่เดินได้เลยตั้งแต่ออกจากท้องแม่ แต่เด็กทารกก็ร้องไห้เรียกร้องความสนใจจากแม่เป็น และตะเกียกตะกายไปกินนมแม่ได้ และพอถึงอายุวัยนึง แม้ไม่ต้องสอนเด็กก็จะเข้าใจภาษาที่คนรอบตัวพูดได้เองอย่างน่าทึ่ง สิ่งมีชีวิตนั้นมี ‘โปรแกรม’ ที่ถูกตั้งไว้แล้วอยู่ในยีนหรือรหัสพันธุกรรม ยีนเป็นเหมือนอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่อยู่ในเซลล์แทบทุกเซลล์ของเรา ซึ่งบันทึกไว้หมดว่าเราจะเกิดมาเป็นตัวอะไร หน้าตาแบบไหน มีอวัยวะอะไรบ้าง และอวัยวะแต่ละส่วนมีกลไกความสามารถบางอย่าง อย่างเรื่องของภาษาหรือการพยายามร้องขออาหารจากแม่อย่างที่ผมกล่าวไว้และมีอีกหลาย ๆ อย่างเลยที่มนุษย์ทำไปนั้น ก็เพราะได้รับผลจากสิ่งที่บันทึกอยู่ในยีนนั่นเองครับ
หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า ‘วิวัฒนาการ’ หรือการที่สิ่งมีชีวิตนั้นค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ทำให้อยู่รอด และสืบเผ่าพันธุ์ได้ดีที่สุด การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่อวัยวะต่างๆ แต่ยังรวมถึงความคิดหรือสิ่งที่อยู่ในสมองซึ่งจะแสดงออกมาเป็นการกระทำด้วย และศาสตร์ที่ศึกษาว่าการที่มนุษย์ทำหรือคิดสิ่งต่างๆ เพราะอะไร โดยอธิบายด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการก็คือ ‘จิตวิทยาวิวัฒนาการ’ (Evolutionary Psychology) ศาสตร์นี้เชื่อว่าพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์นั้นมีเหตุผลที่จำเป็นต่อความอยู่รอด เหมือนกับที่มนุษย์มีวิวัฒนาการในการเดินด้วย 2 เท้าหลังเพื่อให้ 2 เท้าหน้ากลายเป็นมือไว้หยิบจับ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสามารถในการถือเครื่องมือเป็นอาวุธมาทดแทนกำลังกายและเพิ่มโอกาสให้ความอยู่รอดจากผู้ล่า การที่เรามีบุคลิก อารมณ์ ความรู้สึก นิสัยหลายๆ อย่างก็ย่อมมีประโยชน์ในแบบของมันเช่นกัน
ผมขอเล่าพื้นฐานสำคัญของวิวัฒนาการอีกสักหน่อยนะครับเพื่อความชัดเจนในหัวข้อต่อๆ ไป ความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในการคงอยู่ต่อไป ไม่สูญพันธุ์ ขึ้นกับเรื่องหลักๆ สองเรื่อง อย่างแรกคือการเอาตัวรอดให้มีชีวิตอยู่ยืนนาน ไม่อดตาย ไม่ถูกฆ่าตาย ไม่ป่วยตาย แต่ต้องอายุยืนแค่ไหนถึงจะพอ สิ่งสำคัญคืออยู่นานพอที่จะมีลูกหลานสืบทอดยีนต่อไป และไม่เพียงแค่นั้น อย่างที่สองที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศคือการมีลักษณะที่คู่ที่จะหาคู่เพื่อมีลูกด้วยกันได้ พอมีลูกแล้ว ลูกนั้นเป็นผลรวมของยีนพ่อแม่ดังนั้นจะมีลักษณะบางอย่างของพ่อและแม่ผสมกัน ได้ข้อดีที่แตกต่างกันออกไป ลูกจึงไม่ได้เหมือนพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งทั้งหมด นอกจากนี้แต่บางตัวก็มีกลายกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ ทำให้เกิดความแตกต่างเพิ่มขึ้นไปอีก ลักษณะไหนทำให้โอกาสอยู่รอด และสืบเผ่าพันธุ์ได้ดีกว่า ลักษณะนั้นก็จะมีอยู่มากขึ้น ในทางตรงกันข้ามลักษณะไหนที่ทำให้อยู่รอดน้อย มีลูกไม่ได้ ลักษณะเหล่านั้นจะไม่ได้รับการถ่ายทอดและค่อยๆ หายไป นี่เป็นหลักสำคัญของทฤษฎีวิวัฒนาการที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ผ่านการส่งต่อลักษณะด้วยยีน
อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการเป็นกลไกที่ใช้เวลานานมากครับ ต้องใช้เวลาเป็นแสนเป็นล้านปีถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ดังนั้นมนุษย์นั้นมียีนไม่แตกต่างจากโลกใน 2 แสนปีที่แล้วที่โฮโม เซเปียน วิวัฒนาการขึ้นครั้งแรกเลย แม้ด้วยสติปัญญาของมนุษย์สร้างนวัตกรรมต่างๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกและสังคมมนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ และจากมนุษย์ในอดีตอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าเทียบในกรอบเวลาของวิวัฒนาการแล้วถือว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก มนุษย์เพิ่งสร้างชุมชน แยกตัวจากธรรมชาติเพียงหลักหมื่นปี และมีอารยธรรมที่อยู่กันเป็นเมืองขนาดใหญ่เพียงหลักพันปีเท่านั้น เวลาแค่นี้ยังไม่พอให้วิวัฒนาการเปลี่ยนยีนของมนุษย์เท่าไรนัก
ดังนั้นเราจึงบอกได้ว่าถ้ามีนิสัยที่ฝังอยู่ในยีนแล้ว มันย่อมมีประโยชน์ในแง่ของความเป็นอยู่ในแบบเดียวกับโลก 2 แสนปีที่แล้ว และนั่นเลยกลายเป็นปัญหาเพราะ นิสัยบางอย่างนั้นเคยมีประโยชน์มากในโลกดึกดำบรรพ์ แต่ไม่ใช่ในสังคมเมืองปัจจุบัน แต่ในเมื่อมันฝังอยู่ในยีน มันเลยเป็นคล้ายๆ กลับสัญชาตญาณของเรา คือ เรามีแนวโน้มที่จะอยากทำแบบที่ฝังในยีนมากกว่า แม้จะถูกสอน ถูกห้ามอย่างไรก็ตาม หรือแม้ว่ามันจะส่งผลเสียกับเราก็ตาม
เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่านิสัยอะไรบ้างที่มันไม่ดีในตอนนี้ แต่มันเคยมีประโยชน์มากในอดีต
1) ชอบของหวานของมัน กับเด็กๆ และวัยรุ่นที่เผาผลาญดี เรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหามาก แต่กับผู้ใหญ่นั้น เรากินของหวาน และของที่มีไขมันเยอะๆ มากไม่ได้ แต่เจ้ากรรมคือ ยีนของเรานั้นชอบทั้งของหวานของมันมากเหลือเกินครับ มันจึงทำให้เรารู้สึก ‘อร่อย’ และมีความสุขเวลากิน ในโลกยุคโบราณนั้นของหวานและของมันต่างเป็นอาหารที่ล้ำค่าเพราะให้พลังงานหรือแคลอรีสูง แม้ว่าคำว่าให้แคลอรีสูงจะฟังดูน่ากลัวสำหรับมนุษย์ในยุคนี้เพราะหมายถึงกินแล้วอ้วน แต่ในสมัยโบราณแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกประเภทประสบปัญหาเดียวกันคือการพยายามหาอาหารให้เพียงพอในแต่ละวัน สมัยก่อนการขาดแคลนแคลอรีเป็นปัญหาหลัก คนมักจะมีโอกาสอด มากกว่าอิ่ม ในสมัยโบราณ ความหวานหลักๆ ที่มนุษย์ส่วนใหญ่จะได้คือจากผลไม้สุก แต่ผลไม้มักจะถูกสัตว์อื่นกินไปก่อนจะสุกพอดี และผลไม้โบราณไม่ได้หวานเหมือนสมัยนี้ที่มนุษย์ปรับปรุงพันธุ์ ของหวานจึงหายากมาก ส่วนของมันหรือไขมันนั้นส่วนใหญ่จะได้จากไขมันสัตว์ ซึ่งก็ต้องมาจากการล่าสัตว์ซึ่งเป็นงานที่แสนจะอันตราย ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนในสมัยโบราณจะพบปัญหาเรื่องอ้วน หรือการกินไขมันและน้ำตาลเยอะเกินไป
มนุษย์เพิ่งเริ่มมีความมั่นคงทางอาหารจากเกษตรกรรมเพียงหลักหมื่นปี และเพิ่งมีเหลือกินเหลือใช้ในบางพื้นที่แค่หลักพันปีเท่านั้น อวัยวะของมนุษย์วิวัฒนาการมาให้ทนต่อการอดตาย เราสะสมน้ำตาลไว้ในรูปไกลโคเจนที่ตับ และไขมันตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งหากวันไหนไม่ได้กิน แหล่งพลังงานสำรองเหล่านี้จะทำให้เรายังอยู่ได้ แต่ร่างกายของเราพอมาเจอแคลอรีที่มากเกินไปจึงยังไม่มีกลไกในการจัดการการเก็บน้ำตาลและไขมันส่วนเกินที่เยอะขนาดนี้ มันจึงนำไปสู่โรคภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ไขมันพอกตับ ไขมันในเลือดสูง ความดัน ฯลฯ
ผมชอบคำพูดหนึ่งจากหนังสือการ์ตูนความรู้ชุด ‘เจาะจักรวาลชีวิต’ ของ NHK ที่ตัวละครบอกว่า ‘ร่างกายทนต่อการอดตายได้ แต่ทนต่อการอิ่มตายไม่ได้’ ในทางวิวัฒนาการแล้วมันเร็วเกินไปที่อยู่ๆ มนุษย์มีอาหารแคลอรีสูงไว้กินมากมายขนาดนี้ แต่เพราะสมัยก่อนมันเป็นอาหารที่แสนสำคัญ เราจึงอยากกินเหลือเกินทั้งของหวานของมันจนถึงทุกวันนี้
2) เล่นพรรคเล่นพวก ตั้งแต่เด็กๆ เรามักได้รับการสอนมาว่าให้เป็นคนยุติธรรม อย่าลำเอียงเข้าข้างใครหากต้องตัดสินถูกผิด หรือหากมีผลประโยชน์อะไรก็ต้องแบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม คนที่ทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด อย่าไปเข้าข้างเพราะคนคนนั้นคือคนสนิทหรือคนใกล้ตัว แต่ปัญหาความลำเอียงในการเข้าข้างและให้ผลประโยชน์คนใกล้ตัวมากกว่านี้ไม่เคยหายไปจากสังคมมนุษย์เลยครับ
การเล่นพรรคเล่นพวกเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากในสัตว์อื่นๆ เราคงเคยได้ยินสัตว์บางประเภทที่แม้จะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน แต่ถ้าอยู่คนละฝูงก็ไม่มีวันญาติดีกันได้ อย่างเช่น สิงโต นกหรือลิงบางพันธุ์ มนุษย์เองก็เป็นสัตว์สังคมที่มีฝูงเหมือนกัน และที่พิเศษคือมีฝูงขนาดใหญ่มากคือมีจำนวนหลักร้อยทีเดียว ปัญหาของการมีฝูงขนาดใหญ่คือ การแบ่งปันทรัพยากรและหน้าที่ในกลุ่มนั้นยากขึ้นและซับซ้อนขึ้น
ในสมัยโบราณทุกอย่างล้วนอัตคัด คนในฝูงต้องแย่งผลประโยชน์ เช่น อาหาร หรือคู่รัก เช่น ช่วยกันล่าสัตว์ ปกป้องสัตว์ร้าย แต่พอมีกลุ่มขนาดใหญ่มาก เราจะไปหวังให้เกิดการสมัครสมานสามัคคี และเชื่อใจทุกๆ คนในกลุ่มระดับหลักร้อยนั้นเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามการรู้ว่าใครที่จะคอยแบ่งปันเรายามลำบาก ช่วยเหลือเราได้ตอนมีอันตรายนั้น ส่งผลต่อความอยู่รอดของมนุษย์มากๆ ดังนั้นแทนที่จะอยู่เดี่ยวๆ ในกลุ่มขนาดยักษ์ มนุษย์เลยวิวัฒนาการให้คนเรามีกลุ่มย่อยๆ ภายในกลุ่มหลัก เพื่อให้เป็นพรรคพวกที่คุ้นเคยไว้ใจได้เป็นพิเศษ ตอนได้อาหารมาก็เอามารวมกันและมาแบ่งกันในกลุ่มย่อย คอยช่วยเอาระแวดระวังภัยให้คนในกลุ่มเป็นพิเศษก่อน รวมถึงหากมีการแก่นแย่งทรัพยากรตอนแร้นแค้นภายในกลุ่มใหญ่ คนในกลุ่มย่อยก็จะช่วยกันเองด้วย และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นพวก การเอื้อผลประโยชน์ต่อคนใกล้ชิดและการปกป้องอันตรายนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในสมัยโบราณ
ความยุติธรรมนั้นไม่สำคัญเท่าการไม่อดตายและการรอดตายจากอันตรายในอดีต เพราะถ้าขืนไม่เอาใจ ไม่ปกป้องคนใกล้ตัว ก็อาจจะไม่มีใครอยากอยู่ในกลุ่มด้วย หรือถูกไล่ออกจากกลุ่มย่อยก็ได้ และภาวะโดดเดี่ยวนั้นอาจหมายถึงความตายเลยก็ได้ในโลกสมัยโบราณ
3) แบ่งชนชั้นวรรณะ ปัญหานี้สร้างความร้าวฉานในสังคมมนุษย์มาอย่างช้านาน คนในปัจจุบันอาจมองประเทศที่มีระบบทาส หรือการแบ่งชนชั้นว่าช่างเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมและความยุติธรรมใดๆ อย่างไรก็ตามเราต้องมองผ่านเลนส์ของโลกใน 2 แสนปีที่แล้วครับ จริงๆ ปัญหานี้ก็เกิดจากการมีฝูงขนาดใหญ่ของมนุษย์เช่นกัน และนั่นทำให้เกิดการแก่งแย่งทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะอาหาร และการแย่งคู่กันภายในกลุ่ม มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกหลายประเภทจึงมีระบบที่วิวัฒนาการมาจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้ เพราะจะให้ทะเลาะหรือใช้กำลังตัดสินทุกครั้ง กลุ่มคงไปไม่รอดหรอกครับ
สิ่งหนึ่งที่วิวัฒนาการขึ้นคือการจัดอันดับความแข็งแกร่งอ่อนแอให้กลายเป็นระบบที่ทั้งกลุ่มยอมรับ ใครแข็งแกร่งกว่า ก็จะอยู่อันดับสูงกว่า และในฝูงจะยอมรับว่าอันดับสูงกว่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า รวมถึงได้เลือกคู่ครองก่อน ใครอ่อนแอกว่าก็ต้องจำใจยอมรับสิ่งที่เหลืออยู่จากคนที่อยู่อันดับสูงกว่าตน แต่แน่นอนว่าอันดับนั้นเปลี่ยนแปลงได้หากความแข็งแกร่งเปลี่ยนแปลงไป เรื่องนี้มีให้เห็นชัดเจนในสัตว์สังคมแทบทุกประเภท ที่จะมี ‘จ่าฝูง’ คือตัวที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะมีโอกาสได้อาหารและคู่มากที่สุด ส่วนสัตว์ที่มีกลุ่มขนาดใหญ่ ก็อาจจะมีการแบ่งที่ซับซ้อนขึ้น นอกจากจะมีจ่าฝูงแล้ว ยังมีลำดับความแข็งแกร่งหลายชั้นลดหลั่นกันไป
ในสมัยโบราณความแข็งแกร่งเดียวคือพละกำลัง สมัยโบราณจึงใช้การต่อสู้ตัดสินอันดับ แต่สังคมมนุษย์พัฒนามาให้ซับซ้อนขึ้น เรามีระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แทนถึงอำนาจ เช่น เงินตรา หรือความสามารถในการเข้าถึง ‘สิ่งที่เหนือกว่า’ ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องเทพเจ้า ภูตผี ไปจนถึงศาสนา นอกจากนี้เรายังสร้างระบบการสืบทอดอันดับทางสายเลือด บุคคลที่อยู่ในอันดับสูงเมื่อมีลูก ลูกก็จะอยู่ในอันดับสูงต่อ หรือในสังคมที่รวมคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ เราก็ใช้เผ่าพันธุ์สีผิวจำแนกอันดับ ถึงแม้เราจะมีอารยธรรมจนหลุดออกจากธรรมชาติ แต่เรายังไม่ต่างจากสัตว์ในแง่การอันดับ เพียงแต่เรามีเกณฑ์แตกต่างกันออกไปแค่นั้น จริงอยู่ที่มีสัตว์อีกหลายประเภทที่มีกลุ่มแบบไม่จัดอันดับ ในฝูงนั้นทุกๆ ตัวเท่าเทียมกัน แต่บรรพบุรุษหรือแม้แต่ลิงทั้งพันธุ์ที่มีและไม่มีหางซึ่งเป็นญาติใกล้ตัวของเราไม่ได้วิวัฒนาการมาในแบบนั้น
และเช่นเคยครับ เนื่องจากในสมัยดึกดำบรรพ์อันดับที่ต่ำกว่ามีโอกาสอดตาย หรือหาคู่ไม่ได้มากกว่า เราจึงยังมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก พยายามตะเกียกตะกายอยู่ในอันดับสูงๆ ของสังคม ไม่เพียงเท่านั้น การยอมรับอันดับหรือวรรณะของตนนั้นก็ฝังอยู่ในยีนเราด้วย เพราะสัตว์สังคมที่มีการจัดอันดับ หากไม่มียีนที่ควบคุมให้ยอมรับกฎเกณฑ์ดังกล่าว กลุ่มก็คงโกลาหลชิงตำแหน่งจ่าฝูงตลอดเวลาจนไม่ต้องทำอย่างอื่น แต่นั่นก็ทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะชอบแบ่งชนชั้นวรรณะไปโดยไม่รู้ตัว
4) ขี้นินทา นินทานั้นเป็นนิสัยไม่ดีที่สังคมตีค่าว่าไม่ดีจนบางทีถึงกับมองว่าน่ารังเกียจ แต่ผมก็เชื่อว่าหลายๆ คนยอมรับการนินทาได้บ้าง ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะมันยากจริงๆ ที่จะห้ามไม่คนนินทา หรือห้ามไม่ให้ตัวเราเองนินทาเสียเอง ถึงแม้จะมีภาพลบแค่ไหน แต่เชื่อไหมครับว่าในสมัยดึกดำบรรพ์นั้นการนินทาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์เลยครับ นักจิตวิทยาวิวัฒนาการถึงกับกล่าวว่า “มนุษย์เรานั้นมีภาษาก็เพื่อใช้นินทาโดยเฉพาะ”
อย่างที่เราคุยกันไว้แล้วว่ามนุษย์อยู่เป็นกลุ่ม การหามิตรที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราจะเลือกไปอยู่กลุ่มไหน หรือเราจะหาใครเข้ากลุ่มดี ก็เป็นปัญหาสำคัญ คนในกลุ่มนั้นมีหลากหลาย มีคนที่มีลักษณะเหมาะกับการเป็นมิตรด้วย เช่น ชอบช่วยเหลือ และคนที่ไม่เหมาะกับการเป็นมิตร เช่น ขี้โกง นอกจากหามิตรแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งในทางวิวัฒนาการคือเรายังต้องหาคู่ด้วย เพื่อจะได้สืบทอดเผ่าพันธุ์ของเราต่อไป แต่เราจะหาใครเป็นคู่ดี มีบางคนที่มีลักษณะเหมาะกับการเป็นคู่ เช่น มีอันดับในกลุ่มที่ดี และไม่เจ้าชู้ แต่บางคนก็ตรงกันข้ามและไม่ควรจะเลือกมาเป็นคู่ ปัญหาคือมนุษย์นั้นมีฝูงขนาดยักษ์ การจะไปเห็นกับตาว่าใครเป็นอย่างไร เหมาะกับการรับเข้ามกลุ่มไหม เหมาะกับการเลือกเป็นคู่ไหม เราอาจจะมานั่งพิจารณาทีละคนจนครบทั้งฝูงไม่ได้ครับ และเครื่องมือในการหาข้อมูลแสนสะดวกของมนุษย์ที่วิวัฒนาการขึ้นก็คือการเล่าบอกต่อๆ กันไป ว่าใครเป็นอย่างไร มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับใครบ้าง
จริงอยู่ที่การเล่าต่อๆ กันนั้นก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีข้อมูลตัดสินใจเลย และด้วยสังคมในอดีตที่การเลือกกลุ่มและเลือกคู่คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คนจึงมียีนที่อยากฟังข่าวคนอื่นและชอบเล่าเรื่องติดตัว ดังนั้นเราจึงอดใจลำบากเหลือเกินที่จะไม่เมาท์ หรืออดหูผึ่งไม่ได้เวลาที่คนมาเล่าเรื่องชาวบ้าน
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง การนินทาได้ในบทความ “ได้ยินทีไรหูผึ่งทุกที: จิตวิทยาของการซุบซิบ”)
5) เจ้าชู้/ขี้หึง สองอย่างนี้ต่างเป็นสิ่งที่มองว่าไม่ดีในทั้งคู่ สื่อต่างๆ โดยเฉพาะวรรณกรรม ภาพยนตร์ และละครจำนวนมากที่มีเนื้อเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าการเป็นคนเจ้าชู้นั้นคือคนไม่ดีที่สุดท้ายต้องพบกับปัญหา และการขี้หึงเองก็ทำให้คู่รักไม่ชอบใจหรือรำคาญ และสร้างปัญหาในชีวิตคู่ แต่หลายๆ คนก็อดไม่ได้ที่จะเจ้าชู้หรือกลายเป็นคนขี้หึง และเช่นเคยครับ ทั้งสองอย่างนี้คือเครื่องมือสำคัญทางวิวัฒนาการ
นิสัยเจ้าชู้นั้นวิวัฒนาการมาเพื่อการเพิ่มโอกาสให้ยีนตัวเองถ่ายทอดไปสู่รุ่นต่อๆ ไปได้มากขึ้นหรือแน่นอนขึ้น โดยผู้ชายจะเน้นปริมาณ คือมีลูกกับผู้หญิงหลายๆ คน เมื่อมีลูกเยอะ โอกาสที่ยีนตัวเองจะสืบต่อไปก็เยอะขึ้น ส่วนผู้หญิงนั้นจะเน้นเรื่องคุณภาพ โดยผู้หญิงอาจจะเลือกมีลูกกับคนหนึ่ง แต่กลับไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนอื่นที่มีอันดับในกลุ่มดีกว่าแทน เพราะมนุษย์เรานั้นต้องช่วยกันเลี้ยงลูก การมีพ่อเด็กที่อันดับสูงกว่าย่อมทำให้ลูกของตนมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า
แต่การได้คบกับคนเจ้าชู้นั้นไปลดโอกาสที่ยีนของคนถูกสวมเขาจะถูกส่งต่อไป ผู้ชายที่คบกับผู้หญิงเจ้าชู้จะต้องเสี่ยงกับการเลี้ยงลูกคนอื่นที่ไม่มียีนตัวเองเลย สมัยโบราณนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับที่ฝ่ายชายจะรู้ว่านั่นคือลูกตนจริงๆ ไหม เพราะมันไม่มีวิธีพิสูจน์ที่ชัดเจน ส่วนผู้หญิงเองก็ต้องระวังที่จะไปคบผู้ชายเจ้าชู้ เพราะผู้ชายเจ้าชู้มีโอกาสที่พอทำตนเองท้องแล้วจะทิ้งไปอยู่กับผู้หญิงคนอื่น ซึ่งการเลี้ยงลูกคนเดียวเป็นเรื่องลำบากมากในสมัยโบราณ โอกาสที่ลูกจะไม่รอดจะสูง หรือบางครั้งแม่เองก็ไม่รอดด้วย ความระมัดระวังเหล่านี้กลายเป็นความขี้หึงที่ไม่อยากให้คนที่ตนชอบหรือคู่ของตนไปยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นๆ
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง ความผูกพันและความหึงได้ในบทความ Attachment Theory: เหตุใดเราต้องการอยู่ใกล้คนรักตลอดเวลา?)
6) วิตกกังวลเกินเหตุ นิสัยสุดท้ายของบทความนี้ เราจะมาดูนิสัยที่ไม่ทำให้เจ้าตัวรู้สึกดีด้วยซ้ำ แถมยังสร้างปัญหาสุขภาพจิตมากมาย แต่ทำไมนิสัยขี้กังวลถึงแก้ยาก และมนุษย์เราจะมียีนที่สร้างความกังวลมาทำไมให้เป็นทุกข์
ความวิตกกังวล นั้นเปรียบง่ายๆ คือการกลัวสิ่งที่จะเกิดในอนาคต สิ่งนั้นอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ แตกต่างจากความกลัวปกติที่อันตรายนั้นอยู่ตรงหน้า ประเด็นคือทำไมคนเราถึงต้องกลัวสิ่งที่ยังไม่เกิดและอาจจะไม่เกิดด้วย ลองนึกภาพว่าคนหนึ่งกังวลว่าอาจจะมีอันตราย กับอีกคนสบายๆ ไม่แคร์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าคนแรกย่อมพยายามทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เรียกได้ว่ากันไว้ดีกว่าแก้ก็ได้ครับ การไวต่ออันตรายที่จะเกิดในอนาคตนั้นช่วยลดความเสี่ยงในการเผชิญกับอันตรายมากกว่า และตามธรรมชาติของมนุษย์โบราณ คำว่าอันตรายคือถึงตาย คนที่กังวลเก่งมีโอกาสรอดมากกว่าคนที่ไม่กังวลอะไรเลย การกังวลอันตรายที่ไม่มีจริง ทำให้มีชีวิตรอดกว่าการไม่กังวลอันตรายที่มีจริง ยีนความกังวลเลยมีชีวิตรอดและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความกังวลนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ แต่ปัญหาคือในสังคมปัจจุบันสิ่งที่น่ากังวลซึ่งส่งผล ‘ถึงตาย’ มีน้อยมาก ด้วยสังคมที่ซับซ้อนขึ้น มนุษย์เองก็เรียนรู้การให้คุณค่าสิ่งอื่นๆ นอกจากการมีชีวิตรอดเพิ่มด้วย สิ่งที่กังวลที่ทำให้ไม่ถึงตายเพิ่มมาอีกหลายอย่าง อย่างเช่น กลัวสอบตก กลัวแฟนทิ้ง กลัวถูกลดเงินเดือน กลัวการเข้าสังคม ฯลฯ ปัญหาคือสังคมสมัยใหม่มีสิ่งให้กังวลมากมายและมีอยู่ถี่ๆ จนคนที่กังวลง่ายอยู่ได้ยาก เพราะต้องทนทุกข์กับความกังวลตลอดเวลา กลายเป็นผลเสียแทน ร่างกายของมนุษย์เองที่ไม่ได้วิวัฒนาการมาพบกับเรื่องกังวลสารพัดหยุมหยิมมากขนาดนี้เลยรับมือไม่ไหว เกิดความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจเกินไปจนกลายเป็นโรคแทน
เราได้รู้ไปแล้วว่านิสัยเสียที่แก้อย่างไรก็ไม่หายนั้นมักจะติดมากับยีนของเรา จะบอกว่าเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์ก็ว่าได้ แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่ตามธรรมชาติ ตามทุ่งหญ้า ป่าเขา เหมือนสัตว์อื่น ๆ ทั่วไปอีกแล้ว เราจึงพบว่าธรรมชาติของเรานั้นหลายๆ อย่างไม่เข้ากับชีวิตสมัยใหม่ ถ้าเกิดเรายังดึงดันไปทำตาม ก็จะสร้างผลเสียให้กับตัวเราเองหรือคนรอบตัวแทน
บางคนอาจจะคิดว่า การปล่อยไปตามธรรมชาติคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความถูกต้องหรือจริยธรรมของมนุษย์นั้นแตกต่างจากธรรมชาติที่มีกฎของความอยู่รอดมากๆ ครับ เรามีเรื่องคุณงามความดี และมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเหมือนกฎสำหรับโลกสมัยใหม่ให้มนุษย์ในสังคมปัจจุบันอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีใครเดือดร้อนจนเกินไป สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งเคยมีประโยชน์ตอนนี้อาจไม่มีประโยชน์อีกแล้ว เช่น การเล่นพวกเคยเป็นเรื่องดีเพราะทำให้คนอยู่รอด แต่การเล่นพวกในปัจจุบันสร้างความไม่ยุติธรรมในสังคม และอาจจะกลายเป็นการทุจริตคอรัปชั่นหากเกิดในการปกครอง ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้คนจำนวนมาก หรือมนุษย์เรายังเปลี่ยนการให้คุณค่าความหมายของชีวิตไปจากเดิม เราไม่ได้เกิดมาเพื่อสืบเผ่าพันธุ์เท่านั้น แต่เรายังมีสิ่งที่มีคุณค่าอื่นๆ ในชีวิต เราไม่ต้องเอาเป็นเอาตายที่จะส่งต่อยีนของตัวเองจนทำให้คนรอบตัวเดือดร้อน เช่น การเป็นคนเจ้าชู้ มนุษย์เราไม่ได้อยู่กันเป็นเผ่าหลักร้อยคนเหมือนยุคโบราณ แต่เราอยู่ในสังคมเมืองที่มีคนเป็นแสนเป็นล้าน มีระบบระเบียบซับซ้อนกว่าเดิม หากคนเอาแต่ทำตามสัญชาตญาณแบบ 2 แสนปีที่แล้ว สังคมคงวุ่นวายจนเกินควบคุม การที่หลายๆ คนฝืน ‘นิสัยเสีย’ หลายๆ อย่างของตนเองได้ จะทำให้สังคมราบรื่นขึ้น
นอกจากนี้ การที่ร่างกายเราเองมียีนไม่ต่างจากมนุษย์ใน 2 แสนปีที่แล้ว แต่กิจวัตรประจำวันของเราไม่เหมือนกันเลยสักนิด เราเลยปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ กินตามอยาก อะไรอร่อยก็กินเอากินเอาไม่ได้ เพราะมันจะส่งผลเสียต่อร่างกายที่วิวัฒนาการมาเพื่อป้องกันการอดตาย ไม่ใช่เพื่อการกินเยอะเกิน หรือร่างกายเราอาจจะมีกลไกอย่างความวิตกกังวลที่ทำงานเยอะเกินเหตุในสังคมปัจจุบัน เราก็ต้องหาทางจัดการไม่ให้กลไกดังกล่าวทำให้เราเครียดและทุกข์จนเกินไป มนุษย์เรา ‘ฝืนธรรมชาติ’ มาไกลมากแล้ว เราจึงต้องฝืนปรับนิสัยตามไปด้วยในการอยู่ในสังคมสมัยใหม่ให้รอดและมีความสุข มันยากครับกับการฝืนสิ่งที่ติดตัวเรามา แต่ก็ต้องถือว่าแลกกัน เพราะความฝืนธรรมชาติของมนุษย์นี้ก็สร้างสังคมสมัยใหม่ที่มอบความสุข ความสนุก ความสบายให้เราไม่น้อย ก็เรียกได้ว่าได้อย่างเสียอย่าง แต่ถ้าถามผม ผมคงไม่อยากกลับไปอยู่ในสังคมที่ต้องอดอยาก หรือไม่รู้ว่าจะโดนสัตว์ร้ายฆ่าตายวันไหนแบบเดิมอีกแล้วล่ะครับ ถ้าเทียบกันแล้วการฝืนนิสัยเสียนั้นยังสบายกว่าเยอะ
หนังสืออ้างอิงและหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับผู้สนใจ
โกะโระ เองุจิ (2536). เจาะจักรวาลชีวิต เล่ม 2 (ทัศนีย์ วรจรรยาวงศ์, แปล). กรุงเทพฯ , อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
ชัชพล เกียรติขจรธาดา (2554). เรื่องเล่าจากร่างกาย. กรุงเทพฯ , อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
ชัชพล เกียรติขจรธาดา (2556). 500 ล้านปีของความรัก 01. กรุงเทพฯ , ชัชพลบุ๊คส์
ชัชพล เกียรติขจรธาดา (2557). 500 ล้านปีของความรัก 02. กรุงเทพฯ , ชัชพลบุ๊คส์
ดิแลน อีวานส์. (2552). แกะรอยวิวัฒนาการ (แทนไท ประเสริฐกุล, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.
Larsen, R. J., & Buss, D. M. (2008). Personality psychology: Domains of knowledge about human nature. New York: McGraw-Hill.