- เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเหงา เราจึงไม่จำเป็นต้องเหงา!
- ความเหงาส่งผลเสียได้มากทั้งทางกายและใจ ยิ่งรู้สึกเหงานานเท่าใดก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนป่วยง่ายขึ้น
- 6 วิธีรับมือกับความเหงา คือ เริ่มชวนคุยกับคนอื่นก่อน บอกเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้สึกเหงากับคนอื่น ฝึกเขียนขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในแต่ละวัน หาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมแบบหมู่เหล่า ออกกำลังกายและนอนหลับให้เพียงพอ ลดความเร็วในการใช้ชีวิต มีสติและสมาธิในการทำสิ่งที่เราชอบ
ความเหงาเป็นศัตรูความสุขที่ร้ายกาจที่สุดแบบหนึ่งของคนส่วนใหญ่ทีเดียว วัยรุ่นที่โดนกลั่นแกล้งและโดนโดดเดี่ยวจากเพื่อนๆ รอบตัวอาจรู้สึกเหงาถึงขั้นรู้สึกอยากฆ่าตัวตายก็มี แต่ไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้น คนในวัยทำงานหรือแม้แต่คนที่เกษียณอายุแล้ว ก็อาจรู้สึกเหงาได้ไม่แตกต่างกัน
ความเหงาเกิดจากอะไรกันแน่? และเราจะรับมือกับความเหงาได้อย่างไรบ้าง?
ความเหงานี่แปลกนะครับ มันเป็นอารมณ์ที่เกิดกับใครก็ได้ เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เวลาเราถอยห่างจากกันทางกายภาพหรือจำเป็นต้องอยู่ห่างไกล ไม่ได้ติดต่อพบปะกับเพื่อนฝูงญาติมิตร แต่ความเหงาก็มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก เราอาจรู้สึกเหงาขณะที่อยู่ท่ามกลางคนรอบตัวเต็มไปหมด อย่างในรถไฟฟ้า สนามกีฬา หรืองานปาร์ตี้ก็ได้!
แถมคนสองคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันมาก เช่น ครอบครัวคล้ายๆ กัน ทำงานแบบเดียวกัน และมีแวดวงเพื่อนฝูงไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก แต่คนหนึ่งอาจรู้สึกสุขสบายดี ขณะที่อีกคนอาจรู้สึกเหงาแทบขาดใจ!
มีปัจจัยมากมายที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความเหงาได้ และแม้สิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่จู่ๆ เราก็อาจรู้สึกเหงาจับจิตจับใจขึ้นมาได้เช่นกัน
ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องแน่นอนคือ สภาพจิตใจในตอนนั้นเป็นอย่างไร การเผชิญกับปัญหาใหญ่ในชีวิตสักอย่าง เช่น โดนให้ออกจากงานหรือทำธุรกิจแล้วล้มละลาย แล้วไม่มีใครที่เราคิดว่าจะพูดคุยปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้เลย ย่อมทำให้เกิดความเหงาได้ไม่ยาก เพราะเราจะรู้สึกว่าโดดเดี่ยวไร้คนพึ่งพาได้
ในอีกมุมหนึ่งคนอื่นอาจไม่ได้สังเกตหรือรับรู้เลยว่า เรากำลังเหงาแทบตายและตกที่นั่งลำบากอยู่
ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง เช่น การสูญเสียก็ทำให้เกิดเหงาได้มาก ตั้งแต่การสูญเสียความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการโดนบอกเลิก การหย่า หรือการเสียชีวิตของสามีหรือภรรยาหรือคนในครอบครัวที่เรารู้สึกผูกพันด้วยเป็นอย่างมาก หรือหากเป็นเด็กก็อาจจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นหลักชีวิต
การถึงจุดเปลี่ยนสำคัญบางอย่างของชีวิตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหงาได้มาก ไม่ว่าเป็นการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่ทำงาน การเกษียณ หรือการย้ายที่อยู่จนทำให้ไม่อาจสานต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวได้ง่ายดังเดิม แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเลือกทำเองก็ตาม
การสร้างวงรอบความสัมพันธ์ใหม่กับคนใหม่ๆ เพื่อชดเชยสิ่งที่มีอยู่เดิมจำเป็นต้องใช้เวลา และสำหรับหลายคนช่วงเวลาระหว่างกลางนั้นก็อาจเกิดความเหงาได้อย่างท่วมท้น
สำหรับบางคนความเหงาก็โยงใยกับเทศกาลหรือเหตุการณ์พิเศษบางอย่างของปีเป็นพิเศษ เช่น คนที่โดนบอกเลิกวันวาเลนไทน์อาจจะมองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป คนที่ไม่มีครอบครัวให้กลับไปหาในช่วงสงกรานต์ ตรุษจีน หรือเช็งเม้ง ย่อมเหงาได้ไม่ยาก และเด็กที่ไม่มีพ่อหรือแม่หรือตัวแทนไปร่วมงานวันพ่อหรืองานวันแม่ที่โรงเรียน ก็ย่อมรู้สึกว่าโดนคนรอบตัวโดดเดี่ยวตัวเองอยู่
คนบางกลุ่มอาจจะมีโอกาสเหงาได้มากกว่ากลุ่มอื่น เช่น คนสูงอายุ โดยเฉพาะที่ช่วยตัวเองได้น้อยหรือแทบไม่ได้ วัยรุ่นที่ไม่มีเพื่อนสนิทสักคน เนื่องจากจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามผู้ปกครอง แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีพรรคพวกคอยช่วยเหลือประคับประคองด้วยอีกแรงหนึ่ง คนพิการบางส่วนที่โดนตัดขาดโลกภายนอก เพราะออกไปพบปะผู้คนได้ลำบากจากหลายๆ สาเหตุ คนส่วนน้อยหรือคนต่างชาติที่ต้องไปทำงานหาเงินในสถานที่ห่างไกลบ้านเกิดหรือในประเทศอื่นที่ไม่อาจสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ได้ง่ายนัก เพราะพูดกันคนละภาษา ฯลฯ
แต่ความเหงาก็อาจโจมตีใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ แค่ชั่วคราวหรือเป็นประจำก็ได้ไม่แตกต่างกัน เพราะมันเป็นเรื่องของใจโดยแท้
ความเหงาส่งผลเสียได้มากทั้งทางกายและใจ ในทางกายมีหลักฐานชัดเจนว่า ยิ่งรู้สึกเหงานานเท่าใดก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนป่วยง่ายขึ้น [1]
ปัจจัยเรื่องพันธุกรรมก็มีความเกี่ยวข้อง ภายใต้สภาวะคล้ายๆ กัน คนหนึ่งอาจไม่รู้สึกอะไร แต่อีกคนอาจกลับรู้สึกเปลี่ยวเหงาแบบจับจิตจับใจได้ บางคนก็ชอบพูดคุยใช้ชีวิตสังคมกับเพื่อนฝูง ขณะที่บางคนก็อาจไม่รู้สึกว่าจำเป็นมากขนาดนั้น
แนวโน้มความเป็นคนขี้เหงาตั้งแต่เกิดจึงเป็นเรื่องจริง แต่กรรมพันธุ์ส่งผลมากน้อยเพียงใดหรือต้องมีตัวกระตุ้นในสิ่งแวดล้อมเป็นอะไรหรืออย่างไร ยังต้องศึกษาอีกมาก [2]
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสังคมสมัยใหม่ทำให้เราสร้างสายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นได้ง่ายขึ้นผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกมาพบปะต่อหน้ากันได้ แต่การทำงานร่วมกันแบบอยู่ต่อหน้ากันก็ยังมีความสำคัญอยู่มาก งานวิจัยของ Human Dynamics Lab ของ MIT ทำให้รู้ว่า 35% (หรือราว 1 ใน 3) ของผลงานที่ทำได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจำนวนครั้งของการพูดคุยกันแบบต่อหน้า [3]
ส่วนโซเชียลมีเดียก็อาจส่งผลได้ทั้งดีและร้ายกับคนที่รู้สึกเหงา ในด้านหนึ่งก็เป็นลู่ทางให้เกิดสายสัมพันธ์และลดความรู้สึกเหงาได้ แต่ในด้านตรงข้าม การมองเห็นภาพหรือคลิปที่คนอื่นมีความสุขกายสบายใจ ก็ทำให้อาจรู้สึกเหงามากขึ้นไปอีกได้ง่ายๆ เหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติที่คนเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ถ้าเกิดความรู้สึกเหงาขึ้น จะมีวิธีการง่ายๆ อะไรบ้างที่ช่วยให้หายเหงา?
จูลี แบสเซตต์ (Julie Bassett) นักจิตวิทยาให้คำแนะนำไว้ในนิตยสาร Psychology Now [4] ว่ามีอย่างน้อย 6 วิธีที่คุณอาจนำมาใช้รับมือกับความเหงาได้
วิธีการแรกเป็นการแก้ไขปัญหาแบบตรงไปตรงมาที่สุดคือ ในเมื่อรู้สึกเหงา ก็หาทางต่อติดกับคนอื่นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มชวนคุยกับคนอื่นก่อน การส่งอีเมลหรือข้อความผ่านทางอินบ็อกซ์ของโซเชียลมีเดียเจ้าต่างๆ
วิธีการต่อไปก็ออกจะตรงไปตรงมาเช่นกันคือ บอกเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้สึกเหงากับคนอื่น อาจจะเป็นเพื่อนที่พอรู้สึกว่าสนิทด้วยหรือคนในครอบครัว หรือถ้าหาไม่ได้จริงๆ แค่เขียนระบายลงในสมุดบันทึกก็พอจะช่วยได้บ้าง และอันที่จริงสำหรับคนไทย เดี๋ยวนี้เรามีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราสามารถโทรไปปรึกษาได้เช่นกัน
วิธีที่ 3 อาจดูไม่น่าเกี่ยวมากนัก แต่ก็ได้ผลสำหรับหลายคนคือ ฝึกนิสัยการเขียนขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเองในแต่ละวัน อาจจะสัก 3 อย่าง ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เมื่อเขียนออกมาเราก็จะเห็นได้เองและได้เตือนตัวเองว่า เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่ ไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่เรารู้สึกจริงๆ การเขียนก็ให้เขียนอะไรก็ได้ จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ เช่น คุณ ก ไม่เคยทักทายกับเราเลย แต่เช้านี้ยิ้มให้เราด้วย ส่วน ข ที่ปกติเฉยๆ วันนี้ใจดีให้ยืมพาวเวอร์แบงก์ด้วย ฯลฯ
วิธีการต่อไปคือ หาโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมแบบหมู่เหล่ากับคนอื่น อาจจะไปร่วมชมรม สมาคม หรือกลุ่มอะไรสักอย่าง ซึ่งมีกันอยู่เป็นร้อยๆ แบบ เลือกเลยตามความสนใจ กลุ่มนักอ่าน ชมรมคนชอบดูหนัง คนรักการถ่ายภาพ หรือคนชอบออกกำลังกาย
โดยเฉพาะการออกกำลังกายนี่สำคัญ แม้ใจเป็นนายกายเป็นบ่าวก็จริง แต่เรื่องหนึ่งที่พอสรุปได้อย่างไม่น่าผิดเพี้ยนก็คือ ทุกคนสามารถใช้การออกกำลังกายและการนอนหลับให้เพียงพอเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้จิตใจดีขึ้นจาก ‘สภาวะลบ’ ต่างๆ ในหัวให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น และหากทำเป็นประจำก็จะลดอาการความเครียดและความรู้สึกเหงาได้ด้วย
การลดความเร็วในการใช้ชีวิตก็อาจช่วยให้เหงาน้อยลงได้ด้วยเช่นกัน พยายามผ่อนคลาย ทำกิจกรรมเบาๆ อย่างการออกไปเดินอย่างมีสมาธิ เช่น อาจจดจ่อกับจำนวนก้าว การเล่นโยคะ หรือแม้แต่การอาบน้ำอุ่นก็ช่วยลดความเครียดและแม้แต่จะช่วยให้เหงาน้อยลงได้ด้วย
เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไปทำให้เราเกิดความรู้สึกในทางบวกกับตัวเองมากขึ้น
วิธีสุดท้ายนี่เน้นเกี่ยวกับสติและสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เราชอบ เช่น ทำใจจดจ่อกับการทำอาหาร อ่านหนังสือ ต่อจิ๊กซอว์ เดินเล่นในสวนหรือในป่า ฯลฯ โดยทำหัวโล่งๆ หรือจอจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือสิ่งที่เราเลือกขึ้นมาเป็นหลักให้ใจเกาะยึดเหนี่ยวไว้ชั่วคราว เช่น ขั้นตอนต่างๆ ของการทำอาหาร เนื้อหาในหนังสือ หรือจำนวนก้าวที่เดิน ฯลฯ
การทำดังนี้จะช่วยให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับโลกรอบตัวหรือลดความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือเหงาลงได้
เรื่องที่สำคัญก็คือ คุณต้องเลือกสิ่งที่จะทำเอง เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องที่เราชอบและจมดิ่งอยู่กับมันได้นานๆ ก็ย่อมไม่เหมือนกัน ลองเลือกเอาวิธีการที่คิดว่าทำได้ไม่ยุ่งยากจนเกินไป น่าทำและอยากทำ ไปลองทำดูเวลาเกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมานะครับ
จำไว้อย่างเดียว เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเหงา เราจึงไม่จำเป็นต้องเหงา!
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.heartandstroke.ca/articles/loneliness-isolation-and-your-heart-health
[2] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25910391/
[3] https://www.washingtonpost.com/sf/brand-connect/hilton/the-science-of-being-there/
[4] Psychology Now (2022) Vol. 3, 110-111