Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
10 July 2023

หน้าตาของความกลัวในรั้วโรงเรียน

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บ่อยครั้งความกลัวถูกทำให้ดูเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่คู่ควรที่จะมีในระบบการศึกษา เพื่อใช้ควบคุมหรือสร้างบรรยากาศให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง
  • บทความนี้เล่าถึงประสบการณ์ ‘ความกลัว’ ในความทรงจำของ ครูพล – อรรถพล ประภาสโนบล ผู้เขียน จากนักเรียนประถม มัธยม สู่การเป็นน้องใหม่ เป็นความกลัวที่ทำให้นักเรียนคนหนึ่งต้องเผชิญประสบการณ์ทางลบ
  • “ผมเชื่อว่าความรู้สึกของความกลัวที่ถูกบอกเล่าจากนักเรียนจะช่วยให้ครูอย่างเราๆ เกิดคำถามว่า ห้องเรียน โรงเรียน ระบบการศึกษามันควรมีหน้าตาอย่างไร บทบาทครูที่มีต่อนักเรียนควรวางอยู่บนความสัมพันธ์แบบไหน และอะไรกันแน่คือสภาพแวดล้อมการเรียนที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง”

เรามีความกลัวอะไรกันบ้าง เมื่ออยู่ในโรงเรียน?

ความกลัวเหล่านั้นมีหน้าตาแบบไหน แล้วมันส่งผลอย่างไรกับเราบ้าง?

สำหรับผมแล้ว หน้าตาของความกลัวเป็นแบบนี้…..

ช่วงที่เรียนโรงเรียนประถม ความกลัวของผม (ซึ่งอาจจะเหมือนกับที่ใครหลายๆ คนเคยเป็น หรือยังเป็นอยู่ตอนนี้) คือเมื่อครูทำท่าจะเดินผ่านมาที่โต๊ะ ทั้งผมและเพื่อนที่นั่งข้างๆ จะใช้มือปิดสมุดแบบฝึกหัดที่กำลังทำอยู่ทันทีเหมือนเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติของร่างกาย ผมไม่อยากให้ครูเห็นคำตอบ กลัวครูจะดุ ตำหนิ หรือต่อว่า ห้องเรียนจึงเป็นสถานที่ที่ผมไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้เท่าไรนัก การจะยกมือตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่ขออนุญาตทำอะไรสักอย่างดูจะเป็นอะไรที่ ‘น่ากลัว’ เอาเสียมากๆ สำหรับผมในตอนนั้น

ตอนอยู่ ป.3 มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกแย่ที่สุด คาบเรียนในบ่ายวันหนึ่ง ผมต้องเข้าเรียนในวิชาของครูกอไก่ (นามสมมติ) ซึ่งต่างเป็นที่รู้กันดีว่าครูคนนี้ค่อนข้างเข้มงวดและลงโทษนักเรียนเป็นปกติวิสัย บรรยากาศในห้องเรียนวิชาครูกอไก่เต็มไปด้วยความกลัวและทำให้ผมหวาดระแวงอยู่เสมอ ผมกลัวว่าหากทำอะไรไม่ถูกต้องตามที่ครูคาดหวังขึ้นมา อาจจะถูกลงโทษได้ ดังนั้น การนั่งนิ่งโดยไม่ส่งเสียงและตั้งใจทำตามที่ครูบอกเท่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ผมเลือกทำมาโดยตลอดเพื่อให้อยู่รอดในรายวิชานี้ แต่ในบ่ายวันนั้นผมรู้สึกปวดฉี่ขึ้นมาในระหว่างที่ครูกำลังสอนอยู่ แต่เพราะกลัวครูมากจนไม่กล้ายกมือขออนุญาตครูไปเข้าห้องน้ำ ผมจึงพยายามกลั้นอย่างเต็มที่เพื่อรอให้หมดชั่วโมงเรียน แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ฉี่แตกกลางห้องเรียนจนได้ แน่นอนว่าผมรู้สึกอับอายมาก

หลายคนอาจคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเด็กคนหนึ่งที่ไม่กล้าขออนุญาตครู แต่สำหรับผม หากมองย้อนกลับ มันเป็นความกลัวที่เด็กชายมีต่อครูนั้นมากจนตัวเองไม่สามารถจะบอกสิ่งที่ตัวเองรู้สึกเป็นคำพูดได้ ความกลัวที่ทำให้เด็ก ป.3 อย่างผมในวันนั้นเลือกที่จะเงียบและยอมทนฝืนจนถึงที่สุด เพื่อที่จะ “เอาตัวรอด” ไปให้ได้ (แต่สุดท้ายก็ไม่รอด)

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม ตอนนั้นกฎระเบียบของโรงเรียนบังคับให้นักเรียนชายต้องตัดผมเกรียนขาวทั้งสามด้าน และผมด้านหน้าต้องไว้ให้สั้นตามที่โรงเรียนกำหนด นักเรียนอย่างเราๆ ไม่ว่าใครก็ตามจะต้องถูกตรวจผมในตอนเช้าช่วงเข้าแถวทุกต้นเดือน บางครั้งโรงเรียนก็มักจะสุ่มตรวจ หรือหากมีครูฝ่ายปกครองผ่านมาเห็นแล้วพิจารณาว่าผมยาวก็มีโอกาสถูกทำโทษได้ ภาพการทำโทษจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีวิธีการตั้งแต่การใช้กรรไกรตัดผมให้แหว่ง ไปจนถึงการไถผมออกบางส่วนให้เห็นเป็นขั้นบันได ซึ่งหากใครถูกไถหัวตั้งแต่ช่วงเช้าก็จะต้องแบกความอับอายนั้นไปจนกว่าจะเลิกเรียน

ผมจำได้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกอึดอัดมาก ผมอยากไว้ผมให้ยาวขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองเวลาไปเจอเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ผมในตอนนั้นไม่ได้คิดว่าอยากจะไว้ผมยาวให้หล่อเท่แต่อย่างใด แค่ไม่ต้องตัดผมเกรียน แต่ตัดแบบหวีรองเบอร์ 1 (ที่เด็กๆ ในช่วงเวลานั้นนิยมกัน) ก็เท่านั้น เพื่อนบางคนถึงขั้นที่ใช้สีดำมาทาหัว เพื่อพลางตาให้คนอื่นเห็นว่าเขาไม่ได้หัวเกรียน

ความกลัวว่าจะถูกครูทำโทษเมื่อไรก็ตามที่ลงความเห็นว่าผมยาว ทำให้ทุกๆ 2 สัปดาห์ ผมต้องไปร้านตัดผมเจ้าประจำ เพื่อให้มั่นใจว่าผมสั้นเกรียนอยู่ตลอดเวลา แต่ปรากฏว่าโรงเรียนเลื่อนกำหนดการตรวจระเบียบทรงผมมาเร็วขึ้น ตอนนั้นผมกลัวมากว่าจะถูกลงโทษ ทั้งที่ตัวเองก็รู้ดีว่าเพิ่งตัดมา แต่สุดท้ายก็ถูกตักเตือนไปว่าให้รีบไปตัดเพราะครูมองว่ามันยาวแล้ว เมื่อความกลัวเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แทบทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน ผมจะขอให้แม่ตรวจดูว่าผมยาวหรือไม่ หากยาวแม่จะใช้กรรไกรตัดออกหรือใช้เครื่องตัดผมที่ซื้อมาไถออกให้ จนบางครั้งแม่จำเป็นต้องพูดให้ผมรู้สึกสบายใจขึ้นมาว่ามันยังไม่ยาว ไม่ถูกลงโทษแน่นอน เหล่านี้กลายเป็นความทรงจำที่ชัดเจนเมื่อพูดถึงโรงเรียนที่มาพร้อมกับความรู้สึกที่ไม่ดีเอาเสียเลย เพราะตัวผมในวัยมัธยมกลายเป็นเด็กที่แพนิคเรื่องทรงผมอยู่ตลอดเวลา

ถึงแม้จะเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่ความกลัวก็ไม่ได้หายไปไหน มันแค่มีหน้าตาอีกแบบ ผมถูกบังคับให้เข้าร่วมการรับน้องแบบโซตัส ในพิธีกรรมตลอดช่วงปี 1 ผมต้องห้อยป้ายชื่อขนาดใหญ่ รุ่นพี่มักจะสั่งทำโทษให้ผมและเพื่อนหมอบไปกับพื้นซีเมนต์ร้อนๆ บ้าง บางครั้งก็สั่งให้เดิน ลุกนั่ง วิดพื้น ทำเก้าอี้ลมบ้าง ใช้เสียงดังตะคอกใส่เพื่อสั่งให้เราทำตาม และมีบางกิจกรรมเราถูกสั่งให้คลานตามรุ่นพี่ไป ทุกวันๆ ชีวิตน้องใหม่ของผมจึงวนเวียนอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ ผมกลัวมาก จำได้ว่าถึงขนาดที่เมื่อต้องเดินทางไปต่างอำเภอ ผมยังคงห้อยป้ายชื่ออยู่เพราะกลัวรุ่นพี่สักคนจะเห็นและสั่งลงโทษ บางครั้งผมถึงขั้นรู้สึกอยากจะลาออกเสียให้พ้นๆ เมื่อใครคนหนึ่งมีปัญหากับกิจกรรมเหล่านี้ พวกรุ่นพี่จะสั่งสอนเราว่า “หากแค่นี้ยังทนไม่ได้ จะไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้อย่างไร” 

นี่คงไม่ต่างจากประโยคทำนองเดียวกันกับที่โรงเรียนจะมักใช้กล่าวอ้างเมื่อมีนักเรียนไม่ทำตามด้วยการบอกว่า “นี่มันเป็นกฎหากรับไม่ได้ก็ไปอยู่ที่อื่น” อันที่จริงประโยคนี้ผมก็ได้ยินอีกครั้งเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

ผมไม่รู้ว่าผู้ที่กำลังอ่านอยู่นี้มีประสบการณ์และมองเห็นความกลัวในแง่ไหนอีกบ้าง แต่สำหรับผมสิ่งที่เกิดขึ้นในความทรงจำ จากนักเรียนประถม มัธยม สู่การเป็นน้องใหม่ มันเป็นความกลัวที่ทำงานลึกลงไปถึงร่ายกาย ที่ในตอนนั้นผมใช้มือปิดสมุดเพราะไม่อยากให้ครูเห็นคำตอบ ยกมือไม่ขึ้น ไม่กล้าเปล่งเสียงออกจากลำคอ จนกระทั่งฉี่แตกในห้องเรียน ความกังวลที่ต้องตัดผมแทบทุกสัปดาห์ ต้องห้อยป้ายชื่อและทนทำตามที่รุ่นพี่สั่งเพราะกลัวเขาจะตะคอกใส่ ล้วนแล้วแต่เป็นความกลัวที่ทำให้เราสยบยอมต่อความไร้เหตุผลทั้งสิ้น

บ่อยครั้งความกลัวถูกทำให้ดูเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่คู่ควรที่จะมีในระบบการศึกษา มันถูกเห็นเป็นเทคนิควิธีการสำคัญเพื่อใช้ควบคุมหรือสร้างบรรยากาศให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง หรือเพื่อให้มนุษย์คนอื่นๆเป็นไปตามคุณสมบัติที่วางไว้ 

เมื่อใครคนใดคนหนึ่งพยายามที่จะตั้งคำถามกับมันก็จะยิ่งถูกทำให้กลัวมากขึ้น จนบางครั้งผู้คนก็หลงลืมอีกด้านหนึ่งของความกลัว ว่ามันกำลังทำให้นักเรียนคนหนึ่งต้องเผชิญประสบการณ์ทางลบอย่างไร

บางทีเราอาจจำเป็นต้องกลับมาคิดทบทวนกับความกลัวอย่างจริงจัง ว่าที่ไหนบ้างในชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งที่มีความกลัวเกิดขึ้น เขาแต่ละคนกำลังกลัวอะไรบ้างในแต่ละวันของการมาโรงเรียน กลัวไม่อิ่มท้อง กลัวสอบตก กลัวถูกเปรียบเทียบตัดสิน ฯลฯ ผมเชื่อว่าความรู้สึกของความกลัวที่ถูกบอกเล่าจากนักเรียนจะช่วยให้ครูอย่างเราๆ เกิดคำถามว่า ห้องเรียน โรงเรียน ระบบการศึกษามันควรมีหน้าตาอย่างไร บทบาทครูที่มีต่อนักเรียนควรวางอยู่บนความสัมพันธ์แบบไหน และอะไรกันแน่คือสภาพแวดล้อมการเรียนที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

Tags:

ครูโรงเรียนความกลัว (Fear)นักเรียน

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Social Issues
    ไม่ยุบ ไม่ควบรวม แต่ร่วมกันพัฒนา ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ของชุมชน เพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทย

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Social Issues
    ระบบการศึกษาที่ “อะไรอะไรก็ครู” ไว้ก่อน

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Unique Teacher
    ‘ครูงอกงามจากเด็ก’ พรสวรรค์ ศิริวัฒน์: ครูเกษียณผู้ใช้จิตศึกษาและ PBL เปลี่ยนมายเซ็ตให้ทั้งครูและเด็กเป็นนักเรียนรู้

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Character building
    ฝันให้ ‘โรงเรียน’ เปลี่ยนจากโรงงานปลากระป๋อง สู่โรงสอนคิดและสร้างคาแรคเตอร์

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel