- Like Father, Like Son เป็นหนังครอบครัว เขียนและกำกับโดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่น Hirokazu Kore-eda ที่เล่าเรื่องของสองครอบครัวที่ต้องมาเกี่ยวพันกันด้วยเรื่องราวอบอุ่นปนความเจ็บปวดเพราะความสะเพร่าของโรงพยาบาล
- หนังเล่าเรื่องราวครอบครัวของ ‘เรียวตะ’ กับ ‘มิโดริ’ และ ครอบครัวของ ‘ยูได’ กับ ‘ยูคาริ’ ที่มาค้นพบภายหลัง 6 ปี ว่าลูกของพวกเขาสลับตัวกัน
- หนังทำให้เราเห็นว่าการมีเวลาให้กันคือสิ่งสำคัญและครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกัน ซึ่งทำให้เห็นถึงความหลากหลายของรูปแบบครอบครัวที่ไม่จำกัดและตายตัวเสมอไป
หนังครอบครัวที่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังคานส์ เขียนและกำกับโดย Hirokazu Kore-eda ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่มักจะหยิบเรื่องราวของครอบครัวมาเล่าซึ่งเราติดตามดูหนังของเขาแทบทุกเรื่อง และในโอกาสที่หนังของเขาได้มาลง Netflix อีกรอบก็เลยต้องกดดูซ้ำ แล้วก็พบว่าต้องเสียน้ำตาให้กับหนังเรื่องนี้อีกจนได้
หนังเล่าเรื่องของสองครอบครัวที่ต้องมาเกี่ยวพันกันด้วยเรื่องราวอบอุ่นปนความเจ็บปวดเพราะความสะเพร่าของโรงพยาบาล
ครอบครัวแรกคือครอบครัวของ ‘เรียวตะ’ กับ ‘มิโดริ’ เรียวตะเป็นพ่อและสถาปนิกซึ่งให้เวลางานมากกว่าครอบครัว มิโดริเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลา ครอบครัวนี้มีฐานะดีอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ตึกหรูและเป็นครอบครัวที่ดูค่อนข้างจริงจัง มีกฎระเบียบหลายอย่าง ดูจากที่เปิดมาฉากแรกแล้วจะได้เห็น ‘เคตะ’ ลูกชายตัวเล็กๆ อายุ 6 ขวบของพวกเขาต้องสอบสัมภาษณ์เข้าโรงเรียน
ครอบครัวที่สองคือครอบครัวของ ‘ยูได’ พ่อผู้ทำงานเป็นคนขายเครื่องใช้ไฟฟ้า กับ ‘ยูคาริ’ แม่ผู้ทำงานพิเศษที่ร้านขายข้าวกล่อง ครอบครัวนี้มีฐานะปานกลางค่อนไปทางจน มีลูก 3 คนที่ดูสนิทกันและสนุกสนานเสียงดังอยู่ตลอด บรรยากาศของครอบครัวนี้จะชิลๆ ดูจากที่แม้เด็กๆ จะวิ่งหกล้ม พวกเขาก็ไม่ได้ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่และบอกกับครอบครัวของเรียวตะว่า เลือดออกนิดเดียวเดี๋ยวก็หยุด
และเรื่องราวที่ทำให้ทั้งสองครอบครัวต้องมาเกี่ยวพันกันนั่นก็คือ พวกเขาได้ค้นพบว่าลูกชายที่เขาเลี้ยงดูมาถึง 6 ปีไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของพวกเขา เพราะดันถูกโรงพยาบาลสลับตัวตั้งแต่เกิด หลังจากนั้นพวกเขาเลยต้องตัดสินใจว่าจะเลี้ยงดูลูกที่มีสายเลือดของตัวเอง หรือลูกที่พวกเขารู้จักตั้งแต่เกิด
แค่พล็อตเรื่องก็ทำให้รู้สึกถึงดราม่า แล้วตอนมิโดริ(ภรรยาของเรียวตะ)รู้เรื่องนี้จากโรงพยาบาล เธอก็โทษตัวเองว่า “ฉันเป็นแม่ประสาอะไรถึงดูไม่ออก” หรือเรียวตะเองก็มีความสงสัยในใจมาตลอดว่าทำไมเคตะ ลูกชายคนเดียวของเขาถึงไม่มีพรสวรรค์หรือความสามารถที่คล้ายกับเขาเลย
ในตอนแรกทั้งสองครอบครัวตัดสินใจมาเจอกันเพื่อทำความรู้จักกันอาทิตย์ละครั้ง ต่อมาก็ค่อยๆ ให้ เคตะ กับ ‘ริวเซ’ (ลูกชายสายเลือดเดียวกันกับเรียวตะ) สลับกันไปอยู่บ้านของอีกฝ่าย และเมื่อหลายเดือนผ่านไปเรียวตะก็ตัดสินใจเลือกลูกที่มีสายเลือดเดียวกันให้มาอยู่ด้วยแบบตลอดไป แน่นอนว่าเรื่องราวหลังจากนั้นก็ไม่ง่ายดาย
เพราะบรรยากาศการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันมากทำให้ริวเซรู้สึกอึดอัดและไม่เข้าใจ ว่าทำไมเขาถึงจะไม่ได้เจอป่าป๊าหม่าม้าคนเดิม เขาถึงกับหนีออกจากบ้านเพื่อมาหาครอบครัวเดิมของตัวเอง ส่วนเคตะแม้จะปรับตัวได้มากกว่าแต่เขาก็ดูเศร้าอย่างเห็นได้ชัด เด็กทั้งสองคนรวมถึงพ่อแม่ไม่มีใครแฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ตอนที่ดูเราเองก็รู้สึกถูกบีบหัวใจอยู่เรื่อยๆ
แล้วระหว่างทางที่มีทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องการปรับตัวของแต่ละครอบครัว
ก็ได้มีการค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นด้วยว่าเพราะอะไรเรียวตะถึงให้คุณค่ากับสายเลือดมากกว่าความผูกพัน
ตัวเรียวตะเองไม่ค่อยรู้สึกผูกพันกับเคตะเพราะที่ผ่านมาเขามักจะทำงานตลอดเวลา ส่วนใหญ่คนที่ดูแลเคตะก็คือมิโดริ เขาให้เหตุผลที่ตัวเองต้องทำงานตลอดว่า “งานบางอย่างผมก็ให้ใครมาทำแทนไม่ได้” ยูได(พ่อของอีกครอบครัวนึง)ที่ฟังอยู่ก็บอกกับเขาว่า
“แต่นายก็ให้ใครมาเป็นพ่อของลูกแทนนายไม่ได้เหมือนกันนะ”
ประโยคของยูไดนั้นกระแทกเรียวตะให้หน้าหงายเลยจริงๆ เพราะมันทำให้เห็นว่าที่ผ่านมา เรียวตะแค่เลือกงานมาก่อนครอบครัวเสมอ ซึ่งเราก็ไม่ได้มองว่าเขาผิดที่จะทำแบบนั้นเพราะการที่เขาทำงานก็ช่วยให้เขามีอยู่มีกินสะดวกสบาย แต่มันก็คงดีกว่าจริงๆ ถ้าเขาแบ่งเวลาและสมดุลให้ทั้งงานและครอบครัวได้ เพราะเราคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปลูกก็จะค่อยๆ เติบโตออกจากบ้านไป พ่อแม่ก็คงไม่อยากให้สุดท้ายแล้วลูกออกจากอ้อมอกไปด้วยความรู้สึกว่า ไม่ผูกพันกับครอบครัว หรือไม่อยากกลับบ้านหรอกใช่มั้ย
แล้วหนังก็ได้เล่าต่อว่าในอดีต พ่อของเรียวตะนั้นได้แต่งงานใหม่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวซึ่งมีลูกติด เขาเติบโตมาด้วยความรู้สึกไม่ผูกพันกับครอบครัว เขาไม่เคยเปิดใจเรียกแม่เลี้ยงว่า ‘แม่’ เลย ส่วนพ่อของเขาก็ไม่ใช่พ่อที่ให้เวลากับลูกเช่นเดียวกับที่เขาเป็น เรียวตะเคยพูดว่า “การให้เวลาก็ไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้น” แต่ก็ถูกยูไดสวนกลับมาอีกว่า “เด็กวัยนี้น่ะต้องการเวลาที่สุดแล้ว”
แล้วในตอนที่ริวเซหนีออกจากบ้านครั้งนั้น เรียวตะก็ได้ไปรับริวเซกลับมาและเล่าให้มิโดริฟังว่าตัวเองก็เคยหนีออกจากบ้านเหมือนกันเพราะคิดถึงแม่แท้ๆ ของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ถูกพ่อลากกลับมา
ฉากนี้เหมือนฉากที่ทำให้เรียวตะได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองว่า เขากำลังเป็นพ่อแบบเดียวกับพ่อของตัวเองไม่มีผิด
ซึ่งในตอนท้ายยูไดก็ได้พูดกับเขาอีกว่า
“นายไม่ต้องเป็นพ่อแบบที่พ่อนายเป็นก็ได้นะ”
หลายๆ เรื่องทำให้เรียวตะเริ่มเข้าใจสถานการณ์และปมชีวิตของเขา เขาเองก็ไม่รู้สึกผูกพันกับพ่อแม้พ่อจะมีสายเลือดเดียวกันกับเขา เพราะในตอนที่เขาเป็นเด็ก พ่อก็ไม่เคยใช้เวลาร่วมกับเขาเลย
หลังจากนั้นเรียวตะเลยเริ่มพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ เริ่มลดความจริงจังลง เป็นพ่อที่ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น สนุกกับโมเม้นตรงหน้าในช่วงเวลาที่ลูกต้องการพ่อมากที่สุด
เรารู้สึกชอบที่หนังไม่ได้โรแมนติไซส์ว่า ครอบครัวที่ฐานะไม่ร่ำรวยแต่มีเวลาให้คือครอบครัวที่มีความสุขมากกว่า หนังทำให้เราเห็นว่าการมีเวลาให้กันคือสิ่งสำคัญและครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกัน ซึ่งทำให้เห็นถึงความหลากหลายของรูปแบบครอบครัวที่ไม่จำกัดและตายตัวเสมอไป
แต่ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวในครั้งนี้จะจบลงยังไง เรียวตะจะได้กลับมาอยู่กับลูกที่เขาเลี้ยงดูตั้งแต่เกิดมั้ย ก็อยากให้ได้ไปลองลุ้นดูกันเอาเองเนอะ