- ไม่ใช่อัตชีวประวัติโดยย่อ แต่เป็นชีวิตการทำงานของครูจบใหม่จากรั้วจามจุรีในพื้นที่การศึกษาเขต ‘เรดโซน’ ที่น้อยครูนักจะกล้าเข้ามาสอน แค่เดินผ่านยังยากเลย
- สิ่งที่ครูพิงค์สอน ไม่ได้มุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่คือ การทำให้เด็กๆ เห็นคุณค่าว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่มีค่าและประสบความสำเร็จได้ ไม่ให้คะแนนตัวเองเท่ากับ 0 เหมือนที่ผ่านมา
- ครูสาวคนนี้ไม่ได้เข้มแข็งโลกสวยทุกวัน มีหลายวันที่พังไม่เป็นท่า แต่การคิดการเชื่อว่า เด็กๆ มีศักยภาพมากกว่านี้ คือประโยคดีๆ ที่คอยเป่าหูครูพิงค์ให้ปิ๊งตลอดๆ ว่างานนี้ “พี่ไม่ได้มาเล่นๆ นะ”
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
บ่ายสามโมงครึ่งไม่ขาดไม่เกิน ครูพิ้งค์-นีติรัฐ พึ่งเดช ครูอาสาโครงการ ‘Teach for Thailand’ รุ่น 2 เดินลงมาต้อนรับเราที่หน้าตึกเรียนโรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ในชุดเดรสสีดำ กรีดอายไลเนอร์เส้นหนาสีดำขลับ ผมรวบตึงมัดไว้ที่ท้ายทอย ภายนอกเธอดูเรียบร้อย แต่หลังจากเห็นเธอทักทายกับบรรดาลูกศิษย์สุดเซี้ยวก็พอจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมโครงการ Teach for Thailand (TFT) จึงส่งเธอมาประจำโรงเรียนชุมชนที่พ่วงท้ายด้วยคำว่า ‘คลองเตย’ แห่งนี้
อย่างไม่อ้อมค้อม ชุมชนคลองเตยคือหนึ่งในชุมชนแออัดที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหายาเสพติดและแหล่งซ่องสุมของอบายมุขทั้งปวงแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เป็น ‘เรดโซน’ ที่ภาครัฐอยากจะปิดตาทำเป็นมองไม่เห็น หากก็เป็นพื้นที่ในฝันที่ทุกหน่วยงานอยากจะเข้าไปแก้ไขคลี่คลายให้สำเร็จมาเนิ่นนาน
วันที่มาโรงเรียนวันแรก ความรู้สึกของเราต่อเด็กที่นี่คือ มันเหมือนซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง Gokusen ลูกสาวเจ้าพ่อขอเป็นครู ที่แบบ… นักเรียนพกมีด เอาเท้าพาดโต๊ะ พูดจากับครูแบบ ‘เฮ้ย ครูเว้ยเฮ้ย’ อารมณ์นี้เลย
แม้เธอจะปิดท้ายประโยคด้วยเสียงหัวเราะ แต่น้ำเสียงของเธอเด็ดขาด อย่างเดาทางตอนจบของเส้นเรื่องได้ว่า ประสบการณ์เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา… ‘เธอผ่านอะไรมามาก’ อย่างแน่นอน
ที่เกริ่นไว้ว่า พอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมเธอจึงถูกเลือกให้เข้าสอนที่โรงเรียนชุมชนคลองเตย ไม่ใช่แค่น้ำเสียงที่เด็ดขาด แต่เพราะลักษณะการพูดคุย บรรยากาศการต่อรองระหว่างศิษย์และครู กับท่าทีแข็งกร้าวห้าวห้วนของเด็กวัยรุ่น แต่ก็ยอมให้กับครูตัวเล็กคนนี้ ก็ยิ่งเพิ่มอณูความน่าเกรงขามของ ‘ความเป็นครู’ ให้กับครูพิ้งค์อย่างไม่ใช่ครูทุกคนที่ทำได้
The Potential จับเข่าคุยกับครูพิ้งค์ที่โรงเรียนแห่งนี้ ถามเหตุผลว่าทำไมจึงมาเป็นครูอาสา ปัญหาที่พบเจอมีอะไรบ้าง การทำงานกับเด็กในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาอื่นๆ ให้ต้องเร่งแก้ไขไม่แพ้การทำงานด้านวิชาการ กลัวมั้ยที่ต้องทำงานในพื้นที่เรดโซน ปัญหาเรื่องการศึกษาของชุมชนแออัดคืออะไร และอื่นๆ
คำตอบระหว่างบรรทัดของครูพิ้งค์ ชัดเจนว่าไม่ได้ทำหน้าที่โดยอาศัยความอุตสาหะและอุดมการณ์สวยหรูของครูอาสาเพียงเท่านั้น แต่เธอพาเราย้อนกลับไปยังระบบและรากของปัญหาการศึกษา ซึ่งพัวพันกับแก่นของปัญหาสังคมของประเทศไทยเลยทีเดียว
เชิญรับฟัง…
ครูพิ้งค์ ผู้ถูกเลือกในพื้นที่ red zone
ครูพิ้งค์-นีติรัฐ เป็นสาวใต้จากจังหวัดพังงา เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และเข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในคณะจิตวิทยาได้สำเร็จ แต่เธอไม่ใช่เด็กหน้าห้องที่มุ่งแต่ทำคะแนนในห้องเรียนเท่านั้น เธอบอกชัดเจนว่าเธอชอบงานจิตอาสา และทำงานด้านนี้อย่างจริงจังนับแต่เข้ามหาวิทยาลัย
“ตอนที่เข้าโครงการ Teach for Thailand รุ่นที่ 2 เราไม่ได้คิดอยากเป็นครูจริงจัง เพียงแต่สนใจงานด้านเด็กและเยาวชน และเราฝันอยากต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาเด็ก เลยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้เราได้รับความรู้เกี่ยวกับเด็กในเชิงลึก เพราะถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เจอไปเรียนรู้กับเด็กในระยะเวลาหลายปีขนาดนี้ได้จากไหน
“ยิ่งเด็กที่ขาดโอกาส เป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคย เราจะไม่มีทางรับรู้ถึงปัญหาของเขาเลยถ้าเราไม่ได้เข้าไปทำงานกับเขา แต่พออยู่ไปสักพัก เรื่องการศึกษาก็เข้ามาเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเราเอง”
ถามว่าทำไมต้องเจาะจงเลือกพื้นที่ในมุมที่มืดที่สุดของสังคม เธอตอบชัดว่า “เราไม่ได้เป็นคนเลือกค่ะ” แน่นอนว่าเธอจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะและตอบอย่างจริงจังว่า นั่นคือเงื่อนไขของโครงการ Teach for Thailand ที่มุ่งให้ครูได้เข้าไปทำงานอย่างจริงจังกับเด็กที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาจริงๆ เพื่อให้เห็นปัญหาในทุกมิติ โดยมีเงื่อนไขว่า ครูจะเลือกพื้นที่เข้าสอนไม่ได้ และต้องสอนที่โรงเรียนเดิมเป็นระยะเวลา 2 ปี จึงจะจบโครงการ
หากอธิบายอย่างภาษาวัยรุ่น อาจกล่าวในประโยคติดแฮชแท็กได้ว่า #พี่ไม่ได้มาเล่นๆ นะ เพราะเงื่อนไขการทำงานต่อเนื่อง 2 ปี แปลว่าต่อให้คุณจะอยากล้มเลิกกลางคันเพราะสถานการณ์หน้างานไม่ได้สวยอย่างที่ฝัน…แบบนั้นทำไม่ได้
“TFT บอกเอาไว้แต่แรกว่าให้เตรียมใจนะ เพราะเขาจะส่งเราไปลงในพื้นที่ที่มีปัญหาจริงๆ ประมาณว่าอาจเจอคนเดินดมกาวระหว่างทาง หรือโดนกระชากกระเป๋า ซึ่งพอลงมาในพื้นที่มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ภาพคนถือถุงกาว เดินดมกาว ตัวผอมๆ แห้งๆ เป็นภาพปกติของที่นี่
“คนข้างนอกหรือเด็กในโรงเรียน กทม. ด้วยกันเองก็จะเรียกที่นี่ว่าชุมโจร ซึ่งเด็กในโรงเรียนนี้ก็เฮี้ยวกันจริงๆ ตอนเข้ามาวันแรก เด็กเอาขาพาดบนโต๊ะ เรียกเราแบบ ‘เฮ้ย ว่าไงครู’ หรือไม่ก็เอามีดพกมาโชว์ให้เราดู แล้วถามว่า ‘เท่มั้ย ผมพกมาป้องกันตัว’ บางคนก็เอายามาขาย เอาจริงๆ ตอนนี้เรารู้ยาจักชนิดของยาเสพติดพอๆ กับตำรวจเลย (หัวเราะ) อย่างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีตำรวจเข้ามาจับนักเรียน เพราะผู้ใหญ่ฝากให้เด็กเอายามาขายในโรงเรียน เพื่อนก็เมากัน หลังจากโดนจับก็ต้องพาหมอมาบำบัด”
นี่คือสภาพปัญหาที่เธออธิบายไว้เพื่อให้เห็นภาพสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่รูปประโยคเช่นนี้ย่อมมีคำว่า ‘แต่’ ตามมา ครูพิ้งค์บอกว่า แม้จะมีปัญหาแบบนั้น อย่างที่ทำให้วิญญาณความเป็นครูของเธอพร้อมจะ ‘พัง’ อยู่เสมอ และอยากจะบอกเลิกกับสัญญาของตัวเองได้ทุกเมื่อ หากเธอยืนยันว่า…
“ที่นี่ก็มีมุมดีๆ คือเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา เขาทำอาชีพที่ไม่สุจริตก็จริง แต่ก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ แบบว่า…เขาจะรู้ว่าเราเป็นครูของลูกเขา เวลาเราเดินเข้าไปในชุมชนก็ทักเรา ‘ครูหวัดดี’ ‘ครูกินข้าวยัง’ หรืออย่างคนดมกาวเดินเข้ามาหาเรา คนในชุมชนก็จะห้ามปรามกันว่า ‘มึงอย่าไปยุ่งกับครูเขานะ’ คือเขาก็มีมุมน่ารักของความเป็นชาวบ้าน มีศักดิ์ศรีที่เขายึดถือกันอยู่”
แต่แน่นอนว่า บรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือการทำให้คนในวัฒนธรรม ‘นักเลง’ รักนั้น ต้องแลกมาด้วยความจริงใจและ ‘เอาจริง’
ครูเรียนรู้ศิษย์ เรียนรู้ชุมชน
“ตอนเข้าไปใหม่ๆ เราไปเยี่ยมบ้านนักเรียน แต่ก็ไปกับมูลนิธิและตำรวจ ประเด็นคือตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครทำแบบนี้เลย พ่อแม่หรือคนในชุมชนตกใจกันมาก มองเราด้วยสายตาไม่เป็นมิตร แต่หลังจากนั้นเขาจำเราได้ว่า อ๋อ…นี่คือครูนะ แต่นอกเหนือจากนั้นมันทำให้เราเข้าใจปัญหา และรู้ว่าเลยว่าชุมชนแออัด มันแออัดแค่ไหน”
ไม่ใช่แค่ทำงานร่วมกับผู้ปกครองหรือคนในชุมชน ด่านแรกที่เธอต้อง ‘ชนะใจ’ ให้ได้ก็คือ ลูกศิษย์ตรงหน้า เราถามว่า ด้วยระยะเวลาที่สั้นเพียง 2 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมากสำหรับการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง และยิ่งสั้นมากขึ้นไปอีกหากเทียบกับปัญหาเฉพาะของชุมชน เธอตั้งเป้าหมายตลอด 2 ปีต่อตัวเองและต่อนักเรียนเอาไว้อย่างไร?
ก่อนจะตอบคำถามนั้น ครูพิ้งค์ขออธิบายสภาพปัญหาเฉพาะพื้นที่ก่อนว่า
“ต้องเท้าความก่อนว่าที่นี่เป็นสลัม ส่วนใหญ่พ่อกับแม่จะไม่มีเวลาดูแลลูก หรือเหมือนคลอดลูกทิ้งไว้ อายุหนึ่งขวบก็ปล่อยทิ้งไว้อยู่บ้านคนเดียวแล้ว ความอนาถมันถึงขั้นที่ว่าเด็กบ้างคนกินขี้ตัวเอง
“พวกเขาโตมาด้วยสารอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นพวกจังค์ฟู้ด อย่างเฟรนส์ฟรายส์หรือไส้กรอกทอดเป็นหลัก ฉะนั้น เขาจะไม่ได้รับสารอาหารที่ส่งเสริมพัฒนาการการเติบโต โดยรวมๆ พวกเขาจึงมีไอคิวต่ำ แน่นอนว่าคนที่ฉลาดๆ ก็มี แต่มีสักประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถผลักดันได้ แต่ส่วนมากเป็นเด็กพัฒนาการช้า มีความบกพร่องในการเรียนรู้ Learning Disabilities (LD) การอ่านการเขียนช้า มีปัญหาเรื่องการคิดวิเคราะห์
ด้วยสภาพปัญหาสังคมที่ส่งผลต่อพัฒนาการ แน่นอนว่านั่นเป็นปัจจัยหนึ่ง ฉะนั้น จากตอนแรกที่เราวางแผนว่าเข้ามาแล้วเราจะทำงานกับเด็กทุกด้าน เราต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่หมด เริ่มแรกคือต้องให้เขาเห็นความสำคัญในตัวเอง ให้รู้ก่อนว่าเรียนไปเพื่ออะไร
เธอเล่าว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่นี่อ่านหนังสือไม่คล่อง อีก 10 เปอร์เซ็นต์อ่านหนังสือไม่ออก ทำให้เธอได้ข้อสรุปว่า การจะมุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Achievement: AA) ต่อนักเรียนกลุ่มนี้อาจไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ แต่บันไดขั้นแรกคือ การสร้างคุณลักษณะชีวิตของเด็ก (Characteristic: CS) และทักษะที่เด็กควรจะมีเพื่อให้อยู่ในสังคมได้ (Essential Skill)
สิ่งที่เด็กเราไม่มีเลย คือการเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นคุณค่าว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่มีค่าและประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น เขาจึงไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีความพยายาม และพอเห็นชีวิตตัวเองไม่มีค่า เขาก็จะมองว่าคนอื่นไม่มีคุณค่าด้วย เขาจึงใช้ความรุนแรงใส่ใครก็ได้โดยที่ไม่รู้สึกผิด ขั้นแรกเราจึงต้องลดงานด้านวิชาการที่เราเคยตั้งไว้แต่แรก 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ คือทำอย่างไรให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเองและคนรอบข้างก่อน
“ปัญหาส่วนใหญ่คือ เรื่องความรุนแรง เราก็ต้องสร้าง CS ให้แข็ง และที่สำคัญคือ สร้างการศึกษาให้เป็นคุณค่าหลักในชีวิตของเขาให้ได้”
โพสต์อิทที่ติดอยู่ตามฝาห้อง เป็นข้อความของคำถามที่ว่า ‘ทำไมจึงต้องเรียนภาษาอังกฤษ?’ ส่วนข้อความบนกระดานแสดงกติกาการอยู่ร่วมกันในห้อง และเด็กๆ ที่ถูกขอให้นั่งรออยู่ในห้องก่อน ขณะที่เพื่อนๆ ทยอยกลับบ้านไปแล้ว เพราะก่อนหน้าพวกเขา ‘เจี๊ยวจ๊าว’ มากไปนิดในชั่วโมงที่ครูพิ้งค์เชิญ เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม เชฟชื่อดังเข้ามาพูดคุยกับนักเรียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งครูพิ้งค์อธิบายว่า
“อย่างการเชิญเชฟแพมเข้ามา ก็เพราะอยากให้เขาเห็นโลกข้างนอก ซึ่งอาจจะสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้เขาได้”
ทั้งหมดนั้น คือภาพบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการเรียนที่เธอพยายามออกแบบให้เกิดขึ้น
“ทุกต้นเทอม เราจะทำ ‘Why English?’ กับเด็กทุกห้องที่เราสอน เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ ให้ค้นหาว่าเราจะเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปทำไม เพราะเมื่อเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เขาก็จะไม่เห็นความสำคัญ แต่เราจะชวนให้เขาคิด เปิดคลิปคนดังๆ ที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เช่น แจ็คหม่า จา พนม หรือจีจ้า ให้พวกเขาเห็นว่าคนเหล่านี้ไปได้ไกลขนาดนี้เพราะภาษานะ แล้วเราเคยมองตัวเองไหมว่าจะใช้ภาษาอังกฤษไปเพื่ออะไร
“โพสต์อิทตรงนั้นก็คือ สิ่งที่เด็กๆ เขียน บางคนเขียนแค่ว่า อยากเรียนภาษาอังกฤษเพื่อเป็นนักแคชเกมในยูทูบ บางคนบอกว่าเรียนภาษาอังกฤษเพื่อไปเป็นนักบอล ตอนแรกผมก็อยากเป็นแค่นักบอลในไทย แต่พอครูบอก ผมก็อยากไปเตะต่างประเทศ หรือบางคนอยากได้ภาษาอังกฤษเพื่อคุยกับพี่เขยที่เป็นฝรั่ง
เราก็สอนแค่นี้ล่ะ ให้เขาหาเหตุผลด้วยตัวเองว่า พวกเขามานั่งเรียนในห้องเพราะอะไร ทำให้เขารู้สึกอยากเรียน
หมดยุคไม้เรียว
“ครูใน กทม. ส่วนใหญ่ยังสอนในลักษณะเลคเชอร์ คือเขียนขึ้นกระดาษ ‘นักเรียนทุกคนเปิดสมุดลอกตาม อ่ะ…อ่านตามครู จำนะคะจำ จำไม่ได้ ฟาด อธิบายไปสามรอบแล้วยังไม่เข้าใจอีกเหรอ ตี เด็กยกมือถาม ตี’ ยังเป็นแบบนั้นเยอะ
“ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวครูนะ สำคัญมากว่าครูจะสามารถดึงความสนใจของนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันไม่ใช่ยุคเลคเชอร์แล้ว เด็กทุกวันนี้สมาธิก็สั้นลงด้วยเทคโนโลยี แล้วเราจะมาสอนแบบ ‘นักเรียนเปิดหนังสือค่ะ อ่านตามค่ะ ท่องตามค่ะลูก’ ไม่ได้แล้ว สอนแบบแห้งๆ ไม่มีภาพ ไม่มีคลิปก็ไม่ได้ ซึ่งครูส่วนใหญ่เป็นแบบนี้”
ครูพิ้งค์ย้ำว่า ไม่ใช่ว่าเธอจะเข้มแข็งโลกสวยอยู่ทุกวัน ยังมีวันที่เธอ ‘พัง’ ไม่เป็นท่า แต่ถ้าตัดเรื่องอารมณ์และการดีลกับนักเรียนออกไปก่อน มองเฉพาะปัญหาของครู เธอเชื่อว่าวิธีการสอนของครูไทย ยังเป็นปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะครูที่เจอปัญหาเชิงระบบ เช่น ระบบการอบรมครูที่ไม่ได้ติดอาวุธให้ครูสอนแบบใหม่ ต้องจมอยู่กับปัญหาเดิมอย่างไม่รู้วิธีแก้ไข พอเจอมากเข้าๆ ก็เชื่อว่าปัญหาตรงหน้าแก้ไขไม่ได้ จนเกิดอคติ หรือเชื่อว่าปัญหานั้นยากเกินเยียวยา
เมื่อก่อนครูจะชอบพูดว่าเด็กเป็นปัญหา คือเขาสอนเต็มที่ แต่เด็กไม่เอา แล้วถามจริงๆ ว่าครูเต็มที่ขนาดไหน คือตะโกนโหวกเหวกกลางห้องแบบนั้นใช่ไหม แล้วถามว่าครูเคยมีความสามารถดึงความสนใจเขาไหม แต่บางทีก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า
เด็กที่นี่เฮี้ยวจริงๆ ด่าครู พกมีด เสพยา การที่ครูเจออะไรอย่างนี้ทุกวันแล้วไม่ได้รับการเยียวยาเลย หันไปหาเพื่อน เพื่อนก็พังเหมือนกัน มันก็บั่นทอน หมดไฟได้ง่ายๆ เหมือนกัน
“พอครูเจอเด็กแบบนี้บ่อยๆ ก็มีความคิดแบบ ‘fixed mindset’ คือคิดว่าเด็กก็เป็นแบบนี้ สอนอะไรไปก็ได้ อีกปัญหาหนึ่งคือการอบรมครูของ กทม. ก็ไม่โอเคด้วย คือการอบรมเรื่องการสอนยังล้าหลังและไม่ได้มีอะไรใหม่เลย ซึ่งมันเป็นปัญหา”
สิ่งที่เธอทำคือ การทำสถิติ เขียนรายงานทุกอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหาให้กับเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งหมดนี้ครูพิ้งค์สรุปว่า ‘ปัญหาทุกอย่างแก้ได้’ มีคนทำงานจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพจะเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ขั้นตอนการปรับตัวย่อมมีแรงปะทะบางอย่างซึ่งคนที่นำการเปลี่ยนแปลงต้องทนให้ได้ ครูพิ้งค์บอกว่า เคล็ดลับอยู่ที่ ‘กระบวนการเยียวยา’
“ครูจาก Teach for Thailand จะมีประชุมกันบ่อยๆ แต่ละคนก็มากันแบบพังๆ เราจะมานั่งเล่าปัญหากัน เยียวยากัน คิดหาวิธีการสอนใหม่ๆ ซึ่งสำคัญมากๆ ในการทำงานแบบนี้ ไม่อย่างนั้นครูจะหมดไฟได้ง่ายๆ แต่สำหรับครูในระบบ อาจไม่มีกระบวนการเลย อาจทำได้แค่เล่าให้เพื่อนครูด้วยกันฟัง แล้วเขาก็พังเหมือนกันอีก”
หยุดคิดแบบ fixed mindset อคติฝังหัว
เอาจริงๆ เด็กได้อิทธิพลจากครูเยอะ คือเขาไม่ได้มี mindset อะไรเลยในตอนเริ่มนะ แต่ fixed mindset ที่เด็กๆ มีก็ได้มาจากครูที่หมดไฟแล้ว เจอครูแบบนี้ทุกวัน วันละห้าชั่วโมง วิชานี้ก็ด่า วิชานั้นก็ด่า คนนี่ก็บอกว่าโง่ ก็เลยกลายเป็น fixed mindset ฝังหัวไปว่าพวกเขาโง่ ไม่มีดี
“แต่ถ้าเจอครูที่เขามี ‘growth mindset’ เชื่อว่าเขามีศักยภาพนะ ทุกอย่างก็ไปได้ ไม่มีปัญหา ซึ่งโดยทั่วไปครูที่เพิ่งจบใหม่ก็ย่อมจะมี growth mindset แต่พอโดนอะไรแบบนี้มากเข้าๆ ก็กลายเป็น fixed mindset ตามไปด้วย”
ภาษาวิชาการเรื่อง Growth Mindset และ Fixed Mindset ที่ครูพิ้งค์พูดถึงนั้น อาจอธิบายให้เห็นภาพได้ด้วยฉากในห้องเรียนเช่นนั้นทั้งหมด เพราะความคิดของครูที่เปลี่ยนแปลงไป จากการทำงานที่หมดไฟ จากการถูกบั่นทอน จากการไม่มีระบบตัวช่วยหรือเยียวยา ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยทำให้ครูที่เคยมีความตั้งใจดี มีพลังบวก มีความเชื่อในการพัฒนาศักยภาพของคน ก็พาลหมดไฟ หรืออย่างศัพท์วัยรุ่นฮิตๆ ที่เรียกกันว่า Burn Out ได้
ก่อนจะจากกัน เราถามครูพิ้งค์ต่อว่า สำหรับตัวเธอเองจะจัดการกับภาวะ (ที่เธอชอบใช้คำว่า) ‘พัง’ ไม่ปล่อยให้ตัวเองหมดไฟ หรือเชื่อว่าปัญหาตรงหน้า ‘มันไม่มีทางแก้ได้หรอก’ อย่างไร?
เราเชื่อว่าเด็กทุกคนต้องการแค่โมเมนต์หนึ่ง หรืออะไรสักอย่างที่มัน ปัง…กระแทกใจ แล้วกลายเป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น ก้าวไปข้างหน้า และครูสามารถเป็นโมเมนท์นั้นได้
“TFT เขาหยิบยกภาพหนึ่งมาดูก่อนที่เราจะเข้ามาสอนที่นี่ เป็นภาพคนเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ เขาอธิบายว่า คุณจะมีความสุขมากๆ และดิ่งลงมากๆ ภายในเวลาไม่กี่นาทีหรือแค่ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งก็จริง ถ้าครูควบคุมอารมณ์ไม่ได้ นั่งร้องไห้ เพราะถูกเด็กก่อกวน แบบนี้ก็คงไปต่อไม่ได้
“ครูต้องรู้จักให้อภัย ไม่ใช่แค่เห็นอกเห็นใจ แต่ต้องเข้าอกเข้าใจ ต้องรู้ว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน เราต้องรู้จักเด็กแต่ละคน รู้ว่าพฤติกรรมของเขามาจากอะไร เป็นการเข้าหาพวกเขาอีกแบบ ซึ่งจะทำให้เราสอนต่อไปได้ ไม่เป็นไบโพลาร์ ไม่เป็น depression”
อย่าปล่อยให้ตัวเอง ‘พัง’ ไปเสียก่อน เธอสรุปง่ายๆ ก่อนจะเดินไปเปิดประตูห้องให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งที่มารอครูพิ้งค์สอนพิเศษภาษาอังกฤษนอกเวลาหลังเลิกเรียน
“อย่างเด็กกลุ่มนี้คือตั้งใจมาก เขาไม่เก่งนักหรอกถ้าเทียบกับเด็กโรงเรียนสาธิตทั่วไป แต่เขาเชื่อว่าตัวเองจะพัฒนาและออกไปจากชีวิตเดิมๆ แบบนี้ได้ ถ้าเขาพร้อมจะเรียน เราก็สอนเขาได้เหมือนกัน”
ครูพิ้งค์ว่าไว้เช่นนั้น ก่อนจะทำงานของเธอต่อไป