Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Dear Parents
6 April 2023

แค่ผมเรียนไม่เก่ง(เท่าที่คาดหวัง)…พ่อกับแม่เลยไม่ภูมิใจใช่ไหม

เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เมื่อพ่อแม่ใช้เกรดเป็นตัวชี้วัดคุณค่าในตัวลูก และใช้คำพูดเหน็บแนม เปรียบเทียบ เพื่อหวังกระตุ้นให้เขาเป็นไปอย่างที่คาดหวัง ผลลัพธ์คือบาดแผลในใจที่สร้างความเจ็บปวดไม่สิ้นสุด และเป็นที่มาของจดหมายที่กลั่นความรู้สึกถึงพ่อแม่ ด้วยความหวังว่าหากผู้ใหญ่คิดถึงหัวอกหัวใจของเด็กสักนิด คงไม่มีเด็กคนไหนยอมสูญเสียโลกอันสดใสและความรักในตัวเอง

“ขอให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ” 

สำหรับหลายคน ประโยคนี้อาจหมายถึงคำอวยพรของพ่อแม่ แต่สำหรับผม ประโยคนี้คือ ‘คำสั่ง’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งให้ความรู้สึกหนักอึ้งทุกครั้งที่ได้ยิน    

พ่อกับแม่ของผมมีความเชื่อฝังหัวว่า ‘ลูกที่ดีคือลูกที่เรียนเก่ง’ และ ‘ลูกที่เรียนไม่เก่งคือลูกที่ไม่ได้เรื่อง’ ดังนั้นผมจึงไม่แปลกใจสักนิดที่พ่อมักเปรียบเปรยให้ผมฟังว่า 

“ถ้าให้เลือกระหว่าง ลูกที่เป็นคนดีแต่เรียนไม่เก่งหาเงินไม่ได้ กับลูกที่นิสัยไม่ดีแต่เรียนเก่งหาเงินเก่ง…กูขอเลือกอย่างหลัง”

เมื่อคำอวยพรอันหวังดีของพ่อแม่กลายสภาพเป็น ‘คำสั่งสอน’ ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประกอบกับทัศนคติของพ่อแม่ที่มองว่า ‘ค่าของลูกอยู่ที่ผลของเกรด’ ดังนั้นเกรดแต่ละเทอมจึงเป็นดั่งตัวชี้วัดว่าผมเป็นเด็กดีที่เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่มากแค่ไหน

3.20 คือระดับเกรดเฉลี่ยของผมในช่วงประถมถึงมัธยม บอกตรงๆ ว่าผมรู้สึกพอใจในเกรดของตัวเองมาก หลายวิชาผมทำคะแนนได้ดี มีเพียงคณิตศาสตร์เท่านั้นที่น่าเป็นห่วงและคอยฉุดรั้งเกรดเฉลี่ยรวมของผมให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แต่น่าเสียดายที่ความพอใจของผมกลับไม่เคยเพียงพอสำหรับพ่อแม่ นั่นเพราะพี่ของผมที่เรียนโรงเรียนเดียวกันดันมีผลการเรียนในระดับดีเยี่ยม เกรดเฉลี่ยของพี่ไม่เคยน้อยกว่า 3.60

เช่นนี้ ผมจึงตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งเวลาที่อยู่โรงเรียน คุณครูหลายคนพากันบูลลี่ว่าผมไม่ฉลาดเหมือนพี่ แถมกลับมาบ้านก็ไม่วายถูกพ่อกับแม่ตำหนิบ่อยๆ ว่าผมโง่ 

“ทำไมมึงไม่ทำให้กูสบายใจเหมือนกับพี่ของมึงบ้าง(เรื่องผลการเรียน)”พร้อมสรรหาบทลงโทษสารพัด เช่น การให้กินข้าวช้ากว่าคนอื่นหนึ่งชั่วโมงและให้เล่นวิดีโอเกมได้ไม่เกินสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งหากผมขัดขืนตามประสาเด็กแสบ ผมก็จะถูกพ่อตบสองสามทีเพื่อเรียกสติ 

ผมรู้สึกเครียดมากที่พ่อกับแม่ทำแบบนี้กับผม เพราะถ้าเกรดผมน้อยกว่า 3.00 อันนี้ผมพอจะเข้าใจ แต่นี่เล่นเอาผมไปเปรียบกับพี่ที่ต่อให้ไม่อ่านหนังสือก็ยังสอบได้คะแนนดีกว่าผมที่อ่านหนังสือแทบตายก็สอบได้เท่าเดิม

ผมมักแอบร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ พอหยุดร้องไห้ ผมก็จะนั่งโอดครวญว่าทำไมพ่อกับแม่ถึงใจร้ายกับผมขนาดนี้ ที่สุดแล้วผมก็กลายเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่หลายคนนิยามว่า ‘หน้าเหมือนคนอมทุกข์ตลอดเวลา’   

อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดกลับไม่มีผลกระทบในใจมากนักเมื่อเทียบกับวันรวมญาติ ที่พ่อแม่นำผมกับพี่มาเปรียบเทียบให้ลุงป้าน้าอาฟังราวกับพี่ของผมเป็นอภิชาตบุตร ต่างกับผมที่ถูกเหน็บแนมว่ารอยหยักในสมองน้อยไปบ้าง หรือการเห็นพ่อกับแม่บลัฟกันไปมาว่าที่ผมเรียนไม่เก่งเป็นเพราะผมได้ดีเอ็นเอจากใคร ทำเอาคนในวงหัวเราะกันลั่น…แต่น่าเสียดายที่ผมกลับไม่รู้สึกตลกด้วยสักนิด

เมื่อถูกพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่กึ่งแซวกึ่งบูลลี่บ่อยๆ ผมก็เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนโง่ และอึดอัดทุกครั้งที่ไปงานรวมญาติ  

เคราะห์กรรมของผมยังไม่จบเท่านี้ แถมยังหนักหน่วงมากขึ้น ในช่วงปิดเทอมใหญ่สมัยม.3 ผมจำได้ว่าโรงเรียนจะให้ผมเลือกแผนกการเรียน แน่นอนว่าผมผู้ไม่ชอบคณิตศาสตร์ย่อมเลือกแผนก ‘ศิลป์ภาษา’ แต่พ่อกับแม่ยังคงมีชุดความเชื่อแบบผิดๆ อีกประการหนึ่ง นั่นคือเชื่อว่า “พวกศิลป์ภาษาคือพวกไม่เอาไหนและเรียนหนังสือไม่เก่ง”

ดังนั้น ไม่ว่าผมจะอธิบายเป้าหมายหลังจบมัธยมว่าอยากเรียนต่อคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งเรียนศิลป์ภาษาก็สอบเข้าได้ แต่พ่อแม่ก็ไม่สนไม่แคร์และยังคงด่าทอผมเสมอยามที่เห็นคะแนนเน่าๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ และเกรดเฉลี่ยรวมที่ยังขึ้นๆ ลงๆ ในระดับ 3 ต้นๆ

“มึงมันโง่เป็นควาย หัดเอาพี่มึงเป็นตัวอย่างบ้างสิ ถ้าเอ็นทรานซ์ไม่ติดไม่ต้องมาขอตังค์กูเรียนเอกชนนะ ปวดหัวจริงๆ มีลูกแบบมึงเนี่ย”

ทุกวันนี้ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าทำไมพ่อกับแม่ถึงพูดประโยคข้างต้นกับผม ผมจำได้แค่ว่าตอนนั้นผมน้ำตาร่วงออกมาแบบไม่รู้ตัว ความรู้สึกข้างในมันแหลกสลายไปหมด และตั้งแต่วันนั้นพ่อกับแม่ก็ไม่ใช่บุคคลที่ผมรักมากที่สุดในชีวิต

ผมรวบรวมความกล้าไประบายความรู้สึกกับพ่อแม่ แต่คำตอบที่ได้กลับมาคือ “เรื่องจิ๊บๆ แค่นี้อย่ามาตอแหล” ดังนั้นเมื่อการพูดคุยไร้ประโยชน์ ผมจึงลองไปปรึกษาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจหลายท่าน บางคนบอกให้ผมลืม “ปล่อยวางเถอะ อย่าโกรธพ่อแม่เลย เดี๋ยวจะตกนรกเปล่าๆ”  บางคนบอกให้ผมทำใจ “พ่อแม่เอ็งมันถูกเลี้ยงแบบโบราณ เขารักเอ็งนะ ยังไงก็อย่าคิดมากเลย” ซึ่งคำปรึกษาต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้ผมดีขึ้นสักนิด  แถมถ้าผู้ใหญ่ที่ฟังเรื่องของผมคนไหนนำสิ่งที่ผมปรึกษาไปฟ้องพ่อแม่ ผมก็จะถูกพ่อตบหน้าราวกับเป็นลูกทรพี

พ่อครับ แม่ครับ ทำไมพ่อกับแม่ถึงให้ค่าผมจากผลการเรียน

พ่อครับ แม่ครับ ผมเป็นคนเรียนไม่เก่งจริงๆ หรือแค่เรียนไม่เก่งเท่าที่พ่อกับแม่คาดหวัง

พ่อครับ แม่ครับ ทุกครั้งที่ด่าผมหรือเอาเรื่องผมไปเล่ากับญาติๆ พ่อกับแม่เคยคิดถึงความรู้สึกของผมบ้างไหม…

หรือแค่ผมเป็นลูก พ่อกับแม่จะนึกจะทำอะไรก็ได้ 

ผมเสียใจจริงๆ ที่พ่อกับแม่ทำลายความสุขในวัยเด็กของผม

Tags:

dear parentsการศึกษาการเลี้ยงดูแรงกดดันพ่อแม่

Author:

illustrator

อัฒภาค

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Extended family-no logo
    Family Psychology
    ‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear Parents
    แทนที่พ่อจะสอนผมเรื่องความกตัญญู ช่วยทำให้ดูก่อนดีไหม?

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear ParentsMovie
    Survival of the thickest – แด่ผู้รอดชีวิตจาก toxic parents

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  •  The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel