- Aftersun เป็นภาพยนตร์ดรามาสัญชาติอังกฤษที่สื่อหลายสำนักทั่วโลกยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปี 2022
- ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของคุณพ่อยังหนุ่มที่ตัดสินใจพาลูกสาวไปพักร้อนที่ประเทศตุรกี โดยที่ลูกไม่รู้เลยว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้พบกับพ่อ
- เสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ชม เช่น หากดูด้วยสายตาของลูกสาวในวันนั้น ก็ถือเป็นภาพยนตร์ฟีลกู๊ด ทว่าหากชมภาพยนตร์ผ่านสายตาของพ่อ Aftersun คือภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยความรันทดและแหลกสลาย
[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์]
ว่ากันว่าทุกความทรงจำมักมีจุดบอดเสมอ โดยเฉพาะความทรงจำในวัยเด็กที่นักจิตวิทยาหลายคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “มนุษย์มักเลือกจำในสิ่งที่อยากจำมากกว่าการจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด”
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เวลาผมชวนเพื่อนหรือคนรู้ใจสักคนคุยเรื่องอดีตแบบเจาะลึก ผมเดาได้เลยว่าระหว่างการสนทนาจะต้องมีใครสักคนอุทานขึ้นว่า “ถ้าไม่เล่าเรื่องนี้ก็คงลืมไปแล้ว” หรือไม่ก็ “เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นด้วยเหรอ…ไม่เห็นจะจำได้เลย”
ผมหวนคิดถึงประโยคเหล่านี้อีกครั้ง หลังจากได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Aftersun ที่สื่อต่างประเทศหลายสำนัก อย่าง BBC, The Guardian, Vogue, The telegraph และอีกมากมาย ยกย่องว่านี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของปี 2022 และน่าทึ่งยิ่งขึ้นเมื่อพบว่า Aftersun เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรกของผู้กำกับสาววัย 35 อย่าง Charlotte Wells ที่ได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากที่เธอค้นเจออัลบั้มรูปเก่าๆ ของตัวเองในวัยเด็กและพบว่าพ่อของเธอในตอนนั้นดูหนุ่มกว่าที่เธอคิด
นอกจากอัลบั้มรูป ผู้กำกับสาวได้ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่าเธอยังพบเทปบันทึกการแข่งขันหมากรุกระหว่างเธอกับพ่อ แต่น่าเสียดายที่ในหนึ่งชั่วโมงนั้นกลับมีแต่ภาพของกระดานหมากรุก ดังนั้นเธอจึงเก็บความรู้สึกของการไขว่คว้าและอยากไล่ตามใครบางคนที่สูญหายไปมานำเสนอ
“…หัวของเราทุกคนจะลอยออกจากหน้าจอ เพราะกระดานหมากรุกน่าสนใจกว่า ฉันคิดว่ามันทั้งสมบูรณ์แบบและน่าเศร้าของในแบบของมัน”
-1-
Aftersun บอกเล่าเรื่องราวของ ‘โซฟี’ สาววัยกลางคนที่พบเทปม้วนหนึ่งที่เคยถ่ายไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเทปม้วนนั้นคือเทปบันทึกเหตุการณ์ครั้งสุดท้ายที่เธอได้พบกับพ่อ
ตอนนั้นโซฟีอายุ 11 ขวบ เธอได้รับอนุญาตจากแม่ผู้เป็นหม้ายให้ไปพักร้อนช่วงปิดเทอมที่ประเทศตุรกีกับพ่อที่ใกล้จะอายุ 31 ในอีกไม่กี่วัน
พ่อของโซฟีมีชื่อว่า ‘แคลัม’ แม้ในเรื่องจะไม่ได้บอกว่าทำไมเขาถึงหย่าร้างกับภรรยา แต่การเงินที่ขัดสน รวมถึงนิสัยที่ใช้ชีวิตไปวันๆ แบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ก็พอจะทำให้เดาเหตุผลได้ส่วนหนึ่ง
สารภาพว่าตอนชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก ผมดูด้วยความสบายๆ ไม่คิดอะไรมาก จึงรู้สึกถึงแค่ความรักอันเรียบง่ายระหว่างพ่อลูก และ ‘ไม่มีอะไรพิเศษ’ ไปกว่าการที่โซฟีต้องมาใช้ชีวิตกับพ่อในโรงแรมเกือบทั้งทริป โดยมีกิจวัตรประจำวันซ้ำๆ อย่างการนอนอาบแดด ว่ายน้ำ เล่นพูล กินข้าว หรือไม่ก็ออกไปดำน้ำดูปะการังบ้างในบางวัน ฯลฯ
เมื่อโซฟีต้องทำกิจวัตรสุดจำเจ เธอก็เริ่มเบื่อหน่าย ประกอบกับฮอร์โมนที่กำลังจะพาเธอก้าวสู่การเป็นสาวน้อย ทำให้เธอเริ่มมีความสนใจพฤติกรรมต่างๆ ของกลุ่มวัยรุ่นในโรงแรม มากกว่าจะสนใจพ่อที่ยังหนุ่มยังแน่นแต่กลับทำตัวเหมือนคนแก่ที่อยากพักผ่อนไปวันๆ
ในทางกลับกัน ถึงพ่อจะดูน่าเบื่อไปบ้าง แต่อีกใจโซฟีก็รู้สึกว่าพ่อของเธอเป็นคนอบอุ่น แม้จะมีบางเวลาที่พ่อชอบทำตัวแปลกๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญเท่ากับความสุขที่เธอได้รับจากพ่อ
“พ่ออยากให้ลูกรู้ไว้ว่าตอนลูกโตขึ้น ลูกคุยกับพ่อได้ทุกเรื่องนะ ไม่ว่าจะเรื่องเพศ ยาเสพติดหรืออะไรก็ตาม…พ่อลองมาหมดแล้ว”
-2-
อาจเพราะความสงสัยที่คั่งค้างในบางฉาก ทำให้ผมตัดสินใจกลับไปดู Aftersun อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ผมเลือกที่จะโฟกัสกับอารมณ์และความแปลกของแคลัมเป็นหลัก
ผมพบว่าแม้แคลัมมักส่งยิ้มให้โซฟีบ่อยๆ แต่ภายใต้รอยยิ้มนั้นกลับเจือด้วยร่องรอยของความขมขื่นราวกับแบกรับโชคชะตาอันโหดร้ายของชีวิต
ฉากแรกที่อยากพูดถึงคือตอนไปถึงตุรกีใหม่ๆ โซฟีได้คุยโทรศัพท์กับแม่ จากนั้นแม่ก็ขอคุยกับแคลัม ซึ่งดูเหมือนว่าเธอจะบอกเรื่องข่าวดีบางอย่างของเธอ ทำให้แคลัมหน้าเจื่อนไปวูบหนึ่งแล้วรีบพูดขึ้นว่า “ช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน ผมยินดีกับคุณด้วยจริงๆ …โอเค รักคุณนะ บาย”
เมื่อวางสายโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ แคลัมพบว่าโซฟีแอบฟังการสนทนา เขาจึงฝืนยิ้มให้กับลูกสาว ซึ่งภายหลังเธอตัดสินใจถามผู้เป็นพ่อว่าทำไมต้องบอกรักแม่ในโทรศัพท์ ทั้งๆ ที่ทั้งคู่เลิกรากันไปแล้ว
“ลูกเองก็ต้องบอกรักลุงป้าน้าอาอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ…ยังไงแม่ก็เป็นครอบครัวของเรานะ” แคลัมเอ่ยด้วยน้ำเสียงหนักแน่นท่ามกลางความงุนงงของโซฟี
จากสองฉากนี้ ผมรู้สึกว่าแคลัมยังคงรักอดีตภรรยา แต่อาจมีเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่เลิกกัน ซึ่งอาจมาจากหลายๆ เหตุผล ทั้งฐานะทางการเงินที่ชักหน้าไม่ถึงหลังของแคลัม การใช้ชีวิตล่องลอยไม่เป็นที่เป็นทาง หรืออาจเป็นการติดเหล้าและสารเสพติด ที่แม้ภาพยนตร์จะไม่อธิบายแน่ชัด แต่จากคำพูดของแคลัมที่พูดกับพนักงานบนเรือว่า “ผมนึกภาพตัวเองตอนอายุ 40 ไม่ออกด้วยซ้ำ แค่รอดมาจน 30 ก็แปลกใจมากแล้ว” ทำให้ผมเข้าใจได้ว่าแคลัมเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ล้มเหลว และไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
ถ้าไม่นับคำพูดและสีหน้าของแคลัมแล้ว บางครั้งภาพยนตร์ก็แสดงให้เห็นว่าแคลัมมีความทุกข์ที่ยากจะแบกรับ อย่างเช่น ฉากที่โซฟีถามแคลัมว่าตอนวันเกิดสมัยเด็กๆ เขาเป็นยังไง คิดภาพว่าตัวเองตอนอายุ 31 จะเป็นอย่างในปัจจุบันไหม
สำหรับผม ความน่าสนใจของฉากนี้ไม่ได้อยู่ที่คำตอบของแคลัม หากอยู่ที่โฟกัสของกล้องที่จับไปที่กองหนังสือสี่ห้าเล่ม ซึ่งล้วนแต่เป็นหนังสือประเภทการทำสมาธิและการฝึกบริหารลมปราณแบบไทชิ (ไทเก็ก) ทำให้พอตีความได้ว่าแคลัมพยายามจะใช้วิชาเหล่านี้เยียวยาความรู้สึกอันหนักอึ้งในใจตัวเอง
หรือฉากที่สองพ่อลูกไปร่วมกิจกรรมตอนกลางคืนที่ทางโรงแรมเปิดให้ผู้เข้าพักมาร่วมแข่งขันชิงรางวัล ซึ่งกล้องได้จับไปที่สีหน้าแววตาของแคลัมที่นั่งเหม่อด้วยสายตาล่องลอยไร้ชีวิตชีวา โดยมีเสียงเพลง Unchained Melody เป็นดั่งคำอธิบายความรู้สึกในจิตใจ
“โอ้ที่รัก…ยอดรักของฉัน ฉันกระหายที่จะได้รับการสัมผัสจากเธอ เวลาแห่งความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวนี้มันช่างเนิ่นนานเหลือเกิน…”
-3-
หลังจากดู Aftersun ไปสองรอบ ผมบังเอิญไปเจอบทสัมภาษณ์ของพระเอกหนุ่ม Paul Mescal ที่รับบท ‘แคลัม’ โดยประเด็นที่ผมรู้สึกสนใจเป็นพิเศษคือการพูดคุยถึงหนึ่งในฉากสำคัญของเรื่อง อย่างตอนที่โซฟีชวนแคลัมไปร้องคาราโอเกะด้วยกันบนเวที แต่แคลัมกลับปฏิเสธคำขอนั้นจนนำมาสู่ความขัดแย้งในภายหลัง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องกับเหตุการณ์ที่แคลัมได้ฟังเพลง Unchained Melody ที่ผมกล่าวไว้ในย่อหน้าก่อน
“คุณจะเห็นได้ว่าเขา (แคลัม) เป็นคนที่สามารถยืนหยัดต่อหน้าฝูงชนและมีความมั่นใจ เป็นตัวละครที่สนุกกับการลุกขึ้นเต้นต่อหน้าฝูงชน แต่ในขณะนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับเขาที่ห้ามไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ภายในของเขากำลังกรีดร้องให้เขานั่งลงและอยู่นิ่งๆ และเขาไม่ต้องการให้ใครรับรู้หรือมองเห็นเขาในช่วงเวลานั้น
แน่นอนว่ามันเจ็บปวดที่เห็นลูกสาวต้องการบางอย่างจากคุณโดยที่คุณไม่สามารถให้ได้”
โซฟีออกไปร้องเพลงด้วยความรู้สึกเศร้าๆ หนำซ้ำยังร้องผิดคีย์เสียงเพี้ยน ทำให้แคลัมตื่นจากภวังค์แห่งความทุกข์ของตัวเองชั่วคราว ก่อนพยายามแซวโซฟีว่าเขาจะส่งเธอไปเรียนร้องเพลง แต่สุดท้ายคำตอบของโซฟีกลับตอกย้ำปมในใจของเขาให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
“…เขาถามเธอว่าต้องการเรียนร้องเพลงไหม เธอพูดว่า “หยุดเลยพ่อ พ่อจะส่งหนูไปเรียนทำไม ในเมื่อตัวพ่อไม่สามารถจะจ่ายได้” นั่นเป็นความอัปยศที่แท้จริงสำหรับแคลัมที่เขาไม่สามารถให้สิ่งที่เธอต้องการเพียงเพราะเขาไม่สามารถจ่ายมันได้ สำหรับผมแล้วประเด็นที่โซฟีหยิบมาพูดทำให้หัวใจของแคลัมแตกเป็นเสี่ยงๆ”
นักแสดงชาวไอริชกล่าวเพิ่มเติมว่าเขามองว่าแคลัมเป็นพ่อที่ดี 95 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่หักออกไปคือผลลัพธ์จากฉากนี้ ที่สองพ่อลูกต่างคนต่างไปสงบสติอารมณ์ ซึ่งแคลัมเลือกทิ้งให้ลูกอยู่คนเดียวในงานคาราโอเกะคืนนั้น
“ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกรังเกียจหรืออับอายกับตัวตนของเขาจริงๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็สะท้อนถึงการต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับสุขภาพจิตของเขาเอง
อย่างไรก็ตามในความคาดหวังต่อความสัมพันธ์เช่นพ่อกับลูก คนเป็นพ่อย่อมอยากเป็นความทรงจำที่ดีของลูก แต่ในท่าทีที่ปกติเหล่านั้น ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขาซ่อนความเจ็บปวดไว้แค่ไหน เพราะกรอบความสัมพันธ์นี้ทำให้พ่อไม่สามารถแสดงความอ่อนแอต่อหน้าคนรักโดยเฉพาะกับลูกสาว ซึ่งถ้าดูผ่านๆก็ไม่มีอะไร แต่ผมสัมผัสถึงความเจ็บปวดที่แทรกอยู่ระหว่างบรรทัด” Paul Mescal กล่าวกับ GQ
-4-
สำหรับผม…หากแคลัมเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ผมอยากบอกเขาว่าเราไม่จำเป็นต้องพยายามเข้มแข็งตลอดเวลาก็ได้ อีกทั้งการกดทับความรู้สึกนั้นรังแต่จะสร้างรอยร้าวให้กับใจมากขึ้น
จริงอยู่ที่พวกเราต่างไม่อยาก ‘อ่อนแอ’ ต่อหน้าคนที่เราอยากให้ชื่นชม โดยเฉพาะลูก แต่การแสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็นในวันที่เราไม่ไหวจริงๆ เช่น การร้องไห้ระบายความรู้สึกออกมาก็ทำให้เราผ่อนคลายขึ้น อีกทั้งอ้อมกอดจากลูกก็สามารถเยียวยาหัวใจให้กลับมามีพลังอีกครั้ง
ในทางกลับกัน การแสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็นยังสามารถเป็น ‘บทเรียนชีวิต’ ให้ลูกได้ตระหนักว่าความผิดหวังเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ เพียงแต่ต้องเปิดใจยอมรับและรู้จักรับมือกับความผิดหวังนั้นอย่างถูกวิธี
นอกจากนี้ มากไปกว่าการมีพ่อที่เข้มแข็งหรืออ่อนไหว เด็กทุกคนคงอยากมีพ่อที่รักและเข้าใจลูกจากหัวใจ