- ข้างหลังภาพ เล่าเรื่องราวความรักระหว่างคุณหญิงกีรติกับนพพร ที่มีฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทว่า รักของทั้งคู่ เป็นความรักที่ดูจะ ‘ผิดที่ผิดทาง’ มาตั้งแต่ต้น
- เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชั้นครูของไทย ที่นับได้ว่าเป็นนิยายรักที่โรแมนติกและงดงามที่สุด ไม่ว่าจะนับเฉพาะวรรณกรรมไทยหรือวรรณกรรมสากล
- บางคนถึงกับกล่าวว่า รักที่ไม่สมหวัง คือ รักแท้ในอุดมคติอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลว่า เป็นความรักที่ให้ไป โดยไม่เกี่ยงว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมา
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
ประโยคข้างบนนี้ นอกจากจะเป็นหนึ่งในวรรคทองของวรรณกรรมไทยแล้ว ยังเป็นประโยครักที่ตราตรึงใจนักอ่านมากที่สุดอีกประโยคหนึ่ง
และประโยคที่ว่านี้ มาจากนวนิยายเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมยกให้เป็นนิยายรักที่โรแมนติกและงดงามที่สุด ไม่ว่าจะนับเฉพาะวรรณกรรมไทยหรือวรรณกรรมสากล
ในเดือนที่ความรักลอยอบอวลอยู่ในมวลอากาศ เราจะหยิบยกเรื่องราวความรักของ ‘คุณหญิงกีรติ’ และ ‘นพพร’ จากนวนิยายเรื่องนี้ มาคุยกันครับ
รักที่ไม่สมหวัง คือ รักในอุดมคติ?
ข้างหลังภาพ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชั้นครูของไทย เป็นเรื่องราวความรักระหว่างคุณหญิงกีรติกับนพพร ที่มีฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทว่า รักของทั้งคู่ เป็นความรักที่ดูจะ ‘ผิดที่ผิดทาง’ มาตั้งแต่ต้น
คุณหญิงกีรติ เป็นหญิงสาวอายุมากกว่าเด็กหนุ่มนักศึกษาอย่างนพพร สถานภาพทางสังคมก็แตกต่างกัน และที่สำคัญที่สุด คุณหญิงกีรติ สมรสแล้วกับเจ้าคุณอธิการบดี ผู้เป็นเพื่อนสนิทของบิดาของนพพร
หลากหลายปัจจัย ทำให้ทั้งคู่ใกล้ชิดสนิทสนม จนกลายเป็นความรักต้องห้าม ที่เป็นเหมือนเส้นขนาน ที่ไม่มีวันมาบรรจบพบกันได้
ฉากสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ เกิดขึ้นขณะที่คุณหญิงกีรติและนพพร ได้เดินทางไปเที่ยวภูเขามิตาเกะ ความงดงามของธรรมชาติ ณ ที่แห่งนั้น บวกกับความเป็นหนุ่มเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อความรัก แต่มีหัวใจเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก นพพรเอ่ยปากบอกความในใจออกไป และพยายามคาดคั้นคำตอบจากคุณหญิงกีรติว่า รู้สึกเช่นเดียวกับตนหรือไม่
แม้ว่าจะไร้เดียงสาต่อความรักไม่ต่างจากนพพร แต่ด้วยความเป็นผู้หญิง ที่ถูกผูกมัดด้วยกรอบจารีต ศีลธรรม รวมถึงสถานภาพทางสังคม คุณหญิงกีรติ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม และขอให้นพพรลืมเหตุการณ์ในวันนั้นเสีย
หลังจากนั้น ทั้งคู่ต่างแยกย้ายไปบนเส้นทางชีวิตของตน คุณหญิงกีรติเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมเจ้าคุณอธิการบดี ขณะที่นพพร ยังอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อเรียนต่อ กาลเวลาที่ผ่านไป ทำให้ความรู้สึกที่นพพรมีต่อคุณหญิง ค่อยๆจืดจางลง บวกกับการที่ชายหนุ่มเข้าใจว่า หญิงสาวไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับเขา
กว่าที่นพพรจะได้รู้ว่า คุณหญิงกีรติรักเขาเช่นกัน ทุกอย่างก็สายเกินไปเสียแล้ว นพพรแต่งงานกับคู่หมั้นที่ผู้ใหญ่ตระเตรียมไว้แต่แรก ขณะที่คุณหญิงกีรติ ล้มป่วยหนักจนเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต
คุณหญิงกีรติ ได้มอบของขวัญวันแต่งงานแก่นพพร เป็นภาพวาดสีน้ำ ชื่อ ‘มิตาเกะ’ ซึ่งเธอวาดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่นพพรได้เอ่ยปากบอกรักเธอ ภาพวาดที่ฉากหน้าเป็นแค่ลายเส้นระบายสีน้ำฝีมือธรรมดา ทว่า ข้างหลังภาพ อัดแน่นด้วยความรักและความทรงจำอันแสนอ่อนหวาน
“จำได้ไหม นพพร ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น”
“ความรักของผมเกิดขึ้นที่นั่น” นพพรตอบ
“ความรักของเรา นพพร” พูดแล้วเธอหลับตา และพูดต่อไปอย่างแผ่วเบาเหลือเกิน “ความรักของเธอเกิดที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังจะแตกดับ”
และในการพบกันครั้งสุดท้ายของทั้งคู่ คุณหญิงกีรติ ได้เขียนข้อความบนกระดาษเพื่อแทนคำบอกลาครั้งสุดท้ายแก่นพพร ข้อความนั้นเขียนว่า
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
ฉากจบที่แสนรันทด หากงดงาม ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ ทะยานขึ้นหิ้งวรรณกรรมแห่งความรัก เทียบชั้นกับวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง Romeo and Juliet นิยายรักร่วมสมัยอย่าง Atonement รวมถึงภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจผู้ชมทั่วโลกอย่าง Titanic
หลายคนอาจสังเกตเห็นว่า จุดร่วมของเรื่องราวความรักที่ตราตรึงใจเหล่านี้ ก็คือ ความรักที่ไม่สมหวัง (Unrequited Love)
ซึ่งบางคนถึงกับกล่าวว่า รักที่ไม่สมหวัง คือ รักแท้ในอุดมคติอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลว่า เป็นความรักที่ให้ไป โดยไม่เกี่ยงว่าจะได้รับสิ่งตอบแทนกลับมา
ขณะที่บางคนมองว่า ความรักที่สมหวังแล้ว เป็นเหมือนภารกิจที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว จึงอยู่ในสภาพหยุดนิ่ง ต่างจากความรักที่ไม่สมหวัง ซึ่งเปรียบดังภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น จึงมีพลวัตรที่ขับเคลื่อนความรักนั้นต่อไป
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะไม่สมหวัง รักนั้นจึงยังคงอยู่
นอกจากนี้ เรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง ยังมีแง่มุมที่คล้ายคลึงกับโศกนาฏกรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของละคร หรือภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด
รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ระบุว่า การที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง เป็นเพราะความรักที่รวดร้าวในหนังสือหรือในภาพยนตร์ ช่วยให้พวกเขาหันกลับมาทบทวนและปรับปรุงความสัมพันธ์ หรือความรักของตัวเอง
“เรื่องราวที่จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ทำให้เราอารมณ์ดี และรู้สึกว่าทุกอย่างโอเค ไม่มีอะไรต้องวิตก ขณะที่เรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง จะทำให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเอง และพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น” รองศาสตราจารย์ซิลเวีย น็อบล็อค-เวสเตอร์วิค ผู้จัดทำรายงานการวิจัย กล่าว
แม้จะเป็นความรักที่ซาบซึ้งตรึงใจ แต่ในทางจิตวิทยามองว่า ความรักที่ไม่สมหวัง ถือเป็นความเจ็บปวดทางอารมณ์ (emotional pain) ซึ่งจะส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง
และผลกระทบที่ว่านั้น คงอยู่ได้นานตั้งแต่หลายเดือน ไปจนถึงชั่วชีวิตคนๆหนึ่ง หากคนๆนั้นไม่ตัดสินใจมูฟออนออกจากความสัมพันธ์นั้น
ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบทางจิตใจ ยังอาจลุกลามจนส่งผลต่อสุขภาพกาย ดังเช่นคุณหญิงกีรติ ซึ่งอาการป่วยยิ่งทวีความรุนแรง หลังจากทราบข่าวว่า นพพรกำลังจะแต่งงานกับหญิงคู่หมั้น ที่เธอไม่เคยรับรู้มาก่อน
กรอบจารีตสังคม ที่อยู่ข้างหลังภาพ
ครั้งแรกที่พบหน้ากัน คุณหญิงกีรติ มีอายุ 35 ปี ขณะที่นพพร เป็นเด็กหนุ่มวัย 22 ปี แม้ว่าทั้งคู่จะมีช่วงอายุที่ห่างกัน แต่ก็ยังถือเป็นวัยหนุ่มสาวใกล้เคียงกัน หากเทียบกับช่องว่างระหว่างวัยของคุณหญิงกีรติ กับเจ้าคุณอธิการบดี ผู้เป็นสามีวัย 50 กว่าปี
และการพบเจอกันครั้งนั้น ถือเป็นรักครั้งแรกของทั้งคู่ รักที่แสนบริสุทธิ์และร้อนแรง โดยเฉพาะกับหญิงสาวที่ไม่เคยพบเจอความรักมาก่อน ด้วยความที่ถูกเลี้ยงดูอยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด จนเหมือนนกน้อยที่ขังในกรงทอง
“ฉันก็เหมือนกับคนทั้งหลาย ย่อมปรารถนาใฝ่ฝันถึงความรักและการแต่งงาน ฉันปรารถนาที่จะพูดถึงและรู้สึกด้วยตนเองในเรื่องราวของชีวิตในโลกใหม่… ฉันปรารถนาที่จะมีบ้านขอบตัวเอง ที่จะติดต่อสมาคมกับโลกภายนอก… ยังมีความปรารถนาที่งดงามอีกหลายอย่างที่ฉันย่อมจะบรรลุได้ ถ้าเพียงแต่ฉันได้พบความรัก”
คำพูดของคุณหญิงกีรติในฉากนี้ สะท้อนถึงค่านิยมของสตรีไทยในยุคสมัยนั้น (ราวปี 2475 – 2480) ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้หญิงจะมีตัวตนได้ ก็ด้วยสถานภาพที่อิงอยู่กับผู้อื่นเท่านั้น นั่นคือ สถานภาพ ‘ภรรยา’ และ ‘แม่’ ดังนั้น การแต่งงาน จึงนับเป็นความฝันของผู้หญิง ที่จะสร้างตัวตนของตัวเอง
ทว่า คุณหญิงกีรติ อาจเป็นหญิงไทยในวรรณกรรมคนแรกๆ ที่ค้นพบว่า สถานภาพความเป็นภรรยา ไม่ได้ทำให้เธอมี ‘ตัวตน’ ขึ้นมาเลย เธอแค่เปลี่ยนสถานภาพ จากนกน้อยในกรงทองของพ่อ กลายมาเป็นนกน้อยในกรงทองของสามี
ตัวคุณหญิงกีรติเอง ก็ดูจะยอมรับสถานภาพของผู้หญิง ที่ถูกผูกติดอยู่กับผู้ชาย ในสังคมปิตาธิปไตย หรือสังคมที่ชายเป็นใหญ่
“เราเกิดมาโดยเขากำหนดให้เป็นเครื่องประดับโลก ประโลมโลก มันเป็นหน้าที่ของเรา”
แม้จะยอมรับสถานภาพดังกล่าว แต่ลึกๆ ในใจ คุณหญิงกีรติยังมีสิ่งที่โหยหาและขาดหายมาตลอด ก็คือ ความรัก จนกระทั่งได้มาพบและได้รับการเติมเต็มจากนพพร และความรักนั่นเอง ทำให้เธอค้นพบตัวเองในฐานะ ‘คุณหญิงที่รักของผม’
ทว่า ถึงที่สุดแล้ว คุณหญิงกีรติ ก็ยังไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง ด้วยกรอบของศีลธรรม จารีตประเพณี และค่านิยมความเป็นกุลสตรีไทยในสมัยนั้น ทำให้เธอไม่ยอมปริปากให้นพพรรับรู้ถึงความรู้สึกในใจ
จนกระทั่งในตอนที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันช่วงนาทีสุดท้าย ก่อนที่คุณหญิงกีรติจะเดินทางกลับเมืองไทยพร้อมเจ้าคุณอธิการบดี เธอก็ยังไม่ยอมปริปาก
“คุณหญิงรักผมไหม?” นพพรกระซิบถามเป็นครั้งสุดท้าย
“รีบลงไปเสียเถิด นพพร” พูดแล้วเธอยกมือขึ้นปิดหน้าชั่วขณะหนึ่ง “รีบไปเสีย ฉันแทบใจจะขาด”
แม้ว่าคุณหญิงกีรติ จะไม่ได้เอ่ยคำว่า ‘รัก’ ออกจากปาก แต่ความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลของเธอ ถูกแสดงออกผ่านหยดน้ำที่คลอตา ทว่า ชายหนุ่มกลับไม่รับรู้ เพราะสิ่งที่เขาต้องการ มีเพียงแค่ถ้อยคำที่ประกาศชัดออกจากปาก
ด้วยความไร้เดียงสาของวัย บวกกับความเป็นผู้ชาย ที่มักไม่เข้าใจความซับซ้อนทางอารมณ์ หรือมีความละเอียดอ่อนในเรื่องความรู้สึกเท่ากับผู้หญิง ทำให้นพพร เข้าใจผิดไปว่า การที่คุณหญิงกีรติ ไม่เอ่ยคำว่า ‘รัก’ แปลว่า เธอไม่มีความรู้สึก ‘รัก’ ให้แก่เขา
อาจกล่าวได้ว่า จารีตประเพณี รวมถึงค่านิยมของสังคม คือ กรอบที่ปิดกั้นไม่ให้คุณหญิงกีรติ เปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงออกไป และกรอบอันนั้นเอง ที่ขังเธอไว้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
สมมติว่า ถ้าคุณหญิงกีรติ ไม่ถูกกรอบกฎเกณฑ์ของสังคมครอบทับไว้ อะไรจะเกิดขึ้น
เธออาจเปิดเผยความในใจให้นพพรได้รับรู้ ตั้งแต่หลังเหตุการณ์มิตาเกะ หรืออาจจะหลังจากที่เจ้าคุณอธิการบดีถึงแก่กรรมไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ทั้งคู่ก็อาจสมหวังในความรัก ท่ามกลางเสียงซุบซินนินทาของผู้คนในสังคม
หรือเรื่องราวทั้งหมดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเลย เพราะหญิงสาวชื่อกีรติ ตัดสินใจไม่แต่งงานกับเจ้าคุณอธิการบดี และใช้ชีวิตสาวโสดอย่างมีความสุข แม้ว่าเธออาจจะไม่ได้พบกับ ‘ความรัก’ เลยก็ตาม
และเธอก็คงไม่ได้เขียนข้อความลงบนกระดาษว่า
“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”
อ้างอิง
The 11 reasons we fall in love : https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-mysteries-love/201701/the-11-reasons-we-fall-in-love
Unrequited Love: What it means and how to move on : https://psychcentral.com/health/unrequited-love-meaning
งานวิจัย สถานภาพสตรีไทยในวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 โดยนางฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
Smiling through the tears: Study shows how tearjerkers make people happier : https://www.sciencedaily.com/releases/2012/03/120326132533.htm