- แท้จริงแล้วการสอนสังคมศึกษาล้วนวางอยู่บนเป้าหมายและอุดมการณ์ที่สัมพันธ์กับความรู้และอำนาจเสมอ สังคมศึกษาไม่อาจปลอดการเมืองหรือดำรงอยู่โดยปราศจากชุดคุณค่าใดๆ ได้
- การสอนสังคมศึกษาไม่อาจเริ่มต้นด้วยการควานหาเทคนิควิธีการ หรือไอเดีย active learning แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “เรากำลังสอนสังคมศึกษาไปเพื่ออะไร” หรือ “เรากำลังสอนสังคมบนแนวคิดแบบไหน”
- การสอนของครูสามารถพานักเรียนไปท้าทายและตั้งคำถาม ถึงชุดความรู้กระแสหลักได้ สังคมศึกษาในแง่นี้ จึงเป็นสังคมศึกษาที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับโครงสร้างสังคมที่กดขี่เพื่อนมนุษย์
หลายครั้งการสอนสังคมศึกษาในไทยมักเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่าเทคนิคและวิธีการสอนแบบใดที่จะทำให้นักเรียนได้รับความรู้ที่มีอยู่ในตำราเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สนุกที่สุด
วิธีการต่างๆ อาทิ กิจกรรมการเรียนรู้ นวัตกรรม เกม การใช้สื่อเทคโนโลยี ถูกมองเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพานักเรียนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ราวกับว่าใจความสำคัญของการสอนสังคมฯ เป็นเพียงเรื่องเทคนิควิธีการในชั้นเรียนของครู ดังที่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กระทรวงศึกษาธิการได้หันมาส่งเสริมการเรียนการสอนแบบ Active Learning อย่างจริงจัง ร่วมกับสื่อร่วมสมัยและนวัตกรรมการสอน ไม่ว่าจะเป็นเพลงแร็ป หมอลำ หรือ Animation โดยเฉพาะในวิชาประวัติศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมจิตสำนึกและความรักชาติให้มากขึ้น
หากมองดูผิวเผิน ดูเหมือนว่าการเรียนการสอนสังคมศึกษาของไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าตามทิศทางการศึกษาของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ครูต้องปรับเปลี่ยนบทบาทการสอนจากผู้สอนความรู้ (Teacher) มาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ในการสร้างการเรียนรู้แบบเชิงรุก แต่การสอนสังคมศึกษาเป็นเพียงเรื่องเทคนิควิธีการจริงหรือ?
สังคมศึกษาฯ ที่ (ไม่) ได้รับอนุญาตศึกษา
แท้จริงแล้วการสอนสังคมศึกษาล้วนวางอยู่บนเป้าหมายและอุดมการณ์ที่สัมพันธ์กับความรู้และอำนาจเสมอ สังคมศึกษาไม่อาจปลอดการเมืองหรือดำรงอยู่โดยปราศจากชุดคุณค่าใดๆ ได้ เราจึงไม่อาจมองการสอนสังคมศึกษาในแง่เทคนิควิธีการเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องตั้งคำถามถึงชุดความรู้ที่ปรากฏอยู่ในห้องเรียน ตำราเรียน รวมถึงสื่อการเรียนรู้ที่ครูนำมาใช้ว่ากำลังวางอยู่บนอุดมการณ์ คุณค่า หรือวิธีการมองโลกแบบใด
ตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องกรรมในรายวิชาพระพุทธศาสนา หนึ่งในสาระการเรียนรู้ของสังคมศึกษา หากผู้สอนมีความเชื่อว่ากรรมนั้นนำไปสู่สถานะของบุคคลที่แตกต่างกันตามบุญวาสนา มุ่งเน้นให้ยอมรับสถานะที่เกิดมามากกว่าจะชวนตั้งคำถามหรือวิเคราะห์ความเชื่อทางศาสนา การสอนของครูอาจนำไปสู่การยอมรับความไม่เท่าเทียมในสังคม การเกื้อหนุนให้เกิดระบบอุปภัมภ์และการคอรัปชั่นผ่านแนวคิดมารยาทชาวพุทธ ที่ผู้น้อยน้อยต้องเคารพและตอบแทนผู้ใหญ่ ไปจนถึงเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองและชนชั้นนำมากกว่าประวัติศาสตร์ชาติที่มีการต่อสู้ของประชาชนเป็นส่วนสำคัญ
การปรับเปลี่ยนวิธีการสอนมาสู่ Active learning ที่ดูเหมือนก้าวหน้าทันกระแสโลกนั้น เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจยอมรับได้ ตราบใดที่เทคนิควิธีการเหล่านี้ยังเป็นพาหนะที่บรรจุเนื้อหา คุณค่า และเป้าหมาย เพื่อรักษาสถานะและตอกย้ำอำนาจที่ไม่เท่าเทียมของสังคมให้มั่นคงมากขึ้น
เช่นเดียวกับคำถามท้ายแบบเรียนที่จะได้รับอนุญาตให้ถามได้ก็ต่อเมื่อคำถามเหล่านั้นไม่ได้สั่นคลอนหรือท้าทายอำนาจของพวกเขา ดังที่อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การรับรู้ประวัติศาสตร์ได้ก่อร่างความทรงจำร่วมบางอย่างของสังคมขึ้นมา แต่ทว่าความทรงจำที่ผู้มีอำนาจกระทำความรุนแรงต่อประชาชนในบางเรื่อง กลับกลายเป็นสิ่งต้องห้ามที่จะจดจำ ตั้งคำถาม และถูกแทนที่ด้วยความกลัว ซึ่งยิ่งตอกย้ำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและความไม่ยุติธรรมในสังคมดำรงอยู่ต่อไป จึงไม่แปลกที่เราแทบไม่เคยเห็นการส่งเสริมสังคมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมหรือสิทธิมนุษยชนในห้องเรียนของไทย
สังคมศึกษาต้องไปให้ไกลกว่า Active Learning
การสอนสังคมศึกษาไม่อาจเริ่มต้นด้วยการควานหาเทคนิควิธีการ หรือไอเดีย Active Learning แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “เรากำลังสอนสังคมศึกษาไปเพื่ออะไร” หรือ “เรากำลังสอนสังคมบนแนวคิดแบบไหน” แนวคิดอย่างการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical pedagogy) พหุวัฒนธรรมศึกษา (Multicultural education) และการสอนเพื่อความยุติธรรม (Teaching for social justice) เห็นตรงกันว่า นัยยะหนึ่งของการสอนสังคมศึกษาเป็นไปเพื่อรักษาโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมเอาไว้ ด้วยการหล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำ อคติ การเหมารวม และการเลือกปฏิบัติ ผ่านชุดความรู้บางอย่างที่หลายครั้งก็ถูกผลิตซ้ำอยู่ในตำราเรียนฉบับทางการ ผ่านบทบาทครูในชั้นเรียน ขณะเดียวกัน แม้จะถูกการผลิตซ้ำการรับรู้ ความเข้าใจ
แต่อีกนัยยะหนึ่ง การสอนของครูก็สามารถพานักเรียนไปท้าทายและตั้งคำถาม ถึงชุดความรู้กระแสหลักได้เช่นกัน สังคมศึกษาในแง่นี้ จึงเป็นสังคมศึกษาที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับโครงสร้างสังคมที่กดขี่เพื่อนมนุษย์
ในคาบเรียนพระพุทธศาสนา แทนที่การเทศนาเรื่องบุญกรรมหรือเล่นเกมตอบคำถามหลักธรรมเพื่อท่องจำคำสอน ครูสามารถสร้างบทเรียนที่พานักเรียนกลับมาตั้งคำถามและวิเคราะห์ความเชื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เช่น ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ เพศ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ตัวอย่างห้องเรียนของครูแนท ครูในเครือข่าย Thai civic education ที่นำประเด็นความเชื่อเรื่องศาลพระภูมิ ณ ทางโค้งของถนน หรือ การขอหวย มาเป็นคำถามตั้งต้น เพื่อชวนคุยถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มากไปกว่านั้น ครูแนทได้ยังได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ถกเถียงถึงประเด็นทางศาสนาร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น เช่น การห้ามขายเหล้าในวันพระ กลุ่มศาสนาสุดโต่ง หรือการไม่นับถือศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อชวนคุยในมิติเรื่องเพศ ครูอาจให้นักเรียนค้นหาข้อมูลและเปรียบเทียบสิทธิของผู้หญิงและ LGBT+ ในศาสนาต่างๆ ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และความเชื่อเหล่านั้นนำไปสู่สังคมแบบใดได้อีกด้วย
สำหรับเศรษฐศาสตร์ที่บ่อยครั้งมักถูกมองเป็นเพียงสอนให้นักเรียนเข้าใจระบบเศรษฐกิจและการทำงานของระบบตลาด ผู้คนในฐานะคนทำงานต่างถูกมองเป็นเพียงตัวเลขแรงงานในปัจจัยการผลิต มากกว่าจะมีการกล่าวถึงสิ่งที่ผู้คนต้องเผชิญภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ อย่างความเหลื่อมล้ำ ความหิวโหย ความเครียด การเข้าไม่ถึงทรัพยากร ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และอื่นๆ อีกทั้งการเกิดขึ้นของอาชีพแบบใหม่ หรือที่เราเรียกว่า แรงงานเฟลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ส่งอาหารที่ถูกกดขี่จากระบบการจ้างงานแบบไร้หลักประกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องราวสำคัญที่ครูสามารถดึงเข้าไปเป็นประเด็นหลักในการเรียนเศรษฐศาสตร์ได้ ด้วยการนำบทสัมภาษณ์ของคนทำงานต่างๆ มาให้นักเรียนอ่านและวิเคราะห์ถึงความไม่ธรรมร่วมกับมุมมองทางกฎหมาย
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ห้องเรียนของครูแนน จากกลุ่มครูขอสอน ที่ได้หยิบยกซีรีสย์ชื่อดังอย่าง Squid Game มาชวนคุยพร้อมกับคำถามที่ว่า “เงื่อนไขทางสังคมแบบไหน ที่ทำให้ผู้คนต้องแลกร่างกาย ชีวิต แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์เพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้” ซึ่งเป็นเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนกลับมาตั้งคำถามถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ให้ลึกลงไปถึงชีวิตผู้คนในฐานะมนุษย์
ในทำนองเดียวกัน วิชาภูมิศาสตร์ในสังคมศึกษาที่เราพบได้ทั่วไปก็ไม่ได้เอ่ยถึงชีวิตผู้คนในพื้นที่ต่างๆ เขตแดน เส้นแบ่ง พิกัด ถูกสอนในฐานะสัญลักษณ์ที่ว่างเปล่า มากกว่าจะชวนศึกษาว่าผู้คนที่ถูกดำรงอยู่ในเส้นสมมติต่างๆ กำลังต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมอย่างไร ดังเช่นกรณีของแม่น้ำโขง ที่ผู้เรียนมักถูกสอนให้จดจำว่า แม่น้ำไหลผ่านทิศทางใด ในพื้นที่ประเทศไหน จังหวัดใด มากกว่าจะเป็นการเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่เกี่ยวพันกับอำนาจรัฐและทุน ที่ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ของชาวบ้านริมโขงกับการเกิดขึ้นของเขื่อนและโรงไฟฟ้า
Active Learning จึงคงไม่ใช่คำตอบสำหรับการสอนสังคมศึกษาที่ควรจะเป็น แต่เป็นแนวคิดและความเป็นไปได้ของการสอนสังคมศึกษาเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมต่างหาก ที่จะพาเราไปรับรู้ สัมผัส ได้ยิน มองเห็น และรู้สึกร่วมกับเพื่อนร่วมสังคมเดียวกับเรา ที่ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ และวิพากษ์พร้อมกับจินตนาการถึงสังคมที่ดีกว่า
อ้างอิง
1. คำถามท้ายบทเรียนเป็นอำนาจที่รัฐอนุญาตให้ถาม กับการลาออกของ ‘ครูพล’ ชวนเด็กล้ำเส้นนอกบทเรียน
2. ถอดรื้อแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย กำกับด้วยความรัก-กลัว ความมั่นคงของชาติ
https://prachatai.com/journal/2019/07/83588
3. Civic Classroom : Rethinking การสอน (พระพุทธ)ศาสนาที่ควรจะเป็น
รพีพรรณ จักรสาน สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง
4. Civic Classroom ตอนที่ 1 : เมื่อพหุวัฒนธรรม ความเป็นธรรม พลเมืองโลกสอนผ่านประเด็นศาสนา
https://www.facebook.com/media/set/?vanity=thaiciviceducationcenter&set=a.2901346853274980
5. Civic Classroom ตอนที่ 20 : บทเรียนวิชาสังคมที่ว่าด้วยเรื่องเพศ ศาสนา และความไม่เป็นธรรม