- พื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่หยิบภูมิปัญญาการทำนามาร้อยเรียงเป็นองค์ความรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ภายใต้หลักสูตรที่ให้ชื่อว่า ‘ปรัชญาเศรษฐกิจชุมชน’
- เป้าหมายของการออกแบบกิจกรรมต่างๆ นอกจากการเรียนรู้ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือปฏิบัติแล้ว เด็กๆ จะได้ซึมซับความเคารพซึ่งกันและกัน และเห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง รวมถึงเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้เด็กด้วย
- วิทยาศาสตร์ในนาข้าว คือกระบวนการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการหมุนของโลก ลม ข้างขึ้นข้างแรม น้ำขึ้นน้ำลง ฯลฯ
ทำไมก่อนลงเหยียบย่ำในนาข้าวต้องไหว้ขอขมาสิ่งที่มองไม่เห็น?
สิ่งที่มองไม่เห็นคือใคร?
ทำไมต้องมีการดูฤกษ์ยามก่อนดำนา?
คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในห้องเรียนกลางทุ่ง ที่ถ่ายทอดความรู้โดย นริศ เจียมอุย หรือ ลุงจี๊ด เจ้าของแหล่งเรียนรู้ ‘นาบุญข้าวหอม’ ผู้ซึ่งไขปริศนาความเชื่อและภูมิปัญญาในการทำนาแบบดั้งเดิม ด้วยความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เด็กๆ สามารถเชื่อมโยงไปกับความรู้ในห้องเรียน และสนุกกับการได้ลงมือทำด้วยตัวเอง
The Potential พาทุกคนร่วมเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อพูดคุยกับลุงจี๊ด ถึงขั้นตอนการทำนาแบบดั้งเดิมที่แฝงไว้ด้วยกุศโลบายเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ก่อนจะถูกแปลงมาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้นอกห้องเรียนภายใต้ชื่อ ‘หลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจชุมชน’ ที่ต้องการปลูกฝังเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน ผ่านการเรียนรู้ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์
ในพื้นที่การเรียนรู้ที่กว้างสุดลูกหูลูกตานี้ มีกิจกรรมที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถมีส่วนร่วมได้ตามปฏิทินการทำนา เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนสิ้นสุดที่เดือนกุมภาพันธ์ของอีกปี ไม่ว่าจะเป็นการตกกล้า ถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าวด้วยควาย นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมโบราณที่สอดแทรกอยู่ในแต่ละกิจกรรมด้วย โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสรรพ จะเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน แต่ก็ยังมีกิจกรรมการแปรรูปข้าวให้ได้ทำกัน ใครสนใจกิจกรรมในช่วงไหนมาร่วมเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าอยากทราบแนวคิดดีๆ ที่อยู่เบื้องหลังเขยิบเข้าฟังลุงจี๊ดกันได้เลย
ห้องเรียนกลางทุ่ง ‘นาบุญข้าวหอม’
จากจุดเริ่มต้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว นาบุญข้าวหอมค่อยๆ เติบโตสวยงาม ลุงจี๊ดเล่าว่าเป้าหมายแรกคือ การทำข้าวให้ปลอดภัยไร้สารเคมี หลังจากลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จึงพบว่าแท้จริงแล้ววิธีการผลิตข้าวปลอดภัยต้องพึ่งพาภูมิปัญญาโบราณ
“ตัวภูมิปัญญาถ้าเราเข้าใจและเข้าถึงมันเมื่อไร มันสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้มหาศาล ขณะเดียวกันตัวภูมิปัญญาก็ทำให้เห็นกุศโลบายต่างๆ ทุกอย่างมันก็สามารถสร้างให้เกิดการเรียนรู้มิติใหม่ในยุคปัจจุบัน”
จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลุงจี๊ดถอดบทเรียนจากประสบการณ์มาออกแบบกิจกรรมหลายๆ กิจกรรมเพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงวิถีแห่งภูมิปัญญาที่ไม่ได้มีแต่ความเชื่อ ทว่ามีทักษะและองค์ความรู้มากมายที่แฝงอยู่ในทุกขั้นตอนของการทำนา แล้วเปิดให้คนทั่วไปได้มาเยี่ยมชม โดยเฉพาะผู้ปกครองได้พาลูกหลานมาเรียนรู้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี บางคนอาจมองว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้คือภูมิปัญญาโบราณของคนไทย
“พอเราได้หลักการพวกนั้นมาเสร็จปุ๊บ มันก็เลยเป็นที่มาของการอนุรักษ์เรื่องของภูมิปัญญาการทำนา เพราะว่ามันไปสัมพันธ์กับตัวผลผลิตที่เราต้องการ แล้วพอไปค้นคว้ากระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ความเชื่อ พิธีกรรม เรื่องของการดูฤกษ์ยามอะไรต่างๆ มาประกอบกัน จนเป็นคลังความรู้เรื่องของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนา เรามีขั้นตอนทุกอย่างให้เห็นว่าเราไม่ใช้สารเคมี เราลดการใช้ก๊าซคาร์บอนด้วย ทุกอย่างดีต่อสิ่งแวดล้อมหมด มันอาจจะดูช้า แต่มันมีคุณค่า”
ในเรื่องของพิธีกรรมต่างๆ ลุงจี๊ดอธิบายว่า “มันมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งมากที่มันทำให้เกิดชุดความรู้ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งว่า กระบวนการทั้งหมดมันมีกุศโลบายบอกไว้หมดทุกขั้นตอน ตั้งแต่พิธีแรกนาขวัญ การดูฤกษ์ การทำพิธีแรกดำ การมีพิธีแรกเกี่ยว การรับขวัญท้องข้าว สุดท้ายประเพณีบุญลานข้าว หลังจากที่เราเกี่ยวข้าว ตากข้าว นวดข้าวแล้วทั้งหมด พอได้เป็นข้าวเสร็จเรียบร้อยเราก็จะทำพิธีเหมือนกับว่ารับขวัญแม่โพสพ เป็นการบูชาขวัญก่อนที่เราจะเอาข้าวมาเก็บไว้บริโภค ทุกขั้นตอนเราเก็บรวบรวมไว้หมดที่นี่”
หลักสูตรทำนา ฉบับภูมิปัญญา+วิทยาศาสตร์
ตามปฏิทินการทำนาของแต่ละปี บทเรียนแรกจะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน ด้วย ‘พิธีแรกนาขวัญ’ ซึ่งเป็นการทำขวัญเมล็ดพันธุ์ก่อนการเพาะปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล ลุงจี๊ดบอกว่า ที่นี่เป็นที่เดียวในประเทศไทยที่ยังมีพิธีฉบับชาวบ้านอยู่ โดยระหว่างนี้เปิดให้ผู้ปกครองสามารถพาเด็กๆ มาเรียนรู้การทำนา เช่น การตกกล้าหรือการหว่านกล้าลงในแปลงนา ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในช่วงเริ่มต้นทำนาปี และเมื่อต้นกล้าอายุครบ 1 เดือน จะถอนเอามาปักดำในแปลงที่เตรียมไว้สำหรับปลูก
“ตัวหลักสูตรการทำนา เป็นหลักสูตรย่อยที่อยู่ในปรัญชาเศรษฐกิจชุมชน ผู้ปกครองสามารถพาเด็กๆ มาเรียนทักษะชีวิต รวมถึงเรื่องของคุณธรรม
การดำนาเราถอดออกมาเป็นเรื่องของคุณธรรม แบ่งเป็นการเคารพ การช่วยเหลือ การร่วมมือ การเสียสละ ซึ่งเราไม่ได้ให้เด็กๆ เรียนอย่างเดียว ผู้ใหญ่ก็มาเรียนได้”
ที่น่าสนใจคือ ในแต่ละขั้นตอนของการทำนาตามวิถีภูมิปัญญาโบราณนั้น ลุงจี๊ดไม่เพียงอนุรักษ์ไว้ในมิติของการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังอธิบายเชื่อมโยงกับความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังอันเป็นกุศโลบายของคนโบราณมากขึ้นด้วย
“เช่น การใช้ฤกษ์งาม ฤกษ์ตามฤดูกาลต่างๆ อย่างที่นาบุญข้าวหอมเราใช้ฤกษ์ตกกล้า ซึ่งมันเป็นความเชื่อที่มีตำรา ทีนี้เราก็ไปค้นคว้าว่า ฤกษ์มันแม่นยำยังไง ก็ไปเจอว่าการทำฤกษ์ตกกล้ามันอธิบายได้ด้วยมิติทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลม ข้างขึ้นข้างแรม น้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเราใช้ฤกษ์ตามตำราที่เขาบันทึกไว้ ทดลองมาทั้งหมด 9 ปี มีความแม่นยำสูงมากในสิ่งที่มันเกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราดูฤกษ์ในการตกกล้าหรือหว่านกล้า เพื่อจะนำกล้าลงในนาข้าว ขณะที่ต้นกล้ามันโตมาระยะหนึ่งแล้ว น้ำในนาจะแห้ง แล้วมันก็จะมีช่วงเวลาการเดินทางของฝน ช่วงที่น้ำแห้งแล้วพืชมันต้องการน้ำ ฝนจะตกพอดี การดูฤกษ์ในการตกกล้าทำให้เราไม่ต้องอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ เข้ามาช่วย
ซึ่งเมื่อเราอธิบายไปลึกๆ จะเห็นว่า ฤกษ์มันไม่ได้เกิดจากการเดา แต่เกิดจากการเก็บข้อมูลซ้ำๆ ไว้ บันทึกไว้ส่งต่อกันมา มันเป็นการตกผลึกเรื่องตารางการหมุนของโลก น้ำขึ้นน้ำลง ข้างขึ้นข้างแรม ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด มีการบันทึกเป็นตำราไว้ และมีความแม่นยำสูง เพราะฉะนั้นตัวฤกษ์มันไม่ใช่เรื่องของความงมงาย แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์”
ทั้งนี้ ลุงจี๊ดบอกว่าฤกษ์ในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน แต่สัมพันธ์กับการหมุนของฤดูกาลและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การทำนาตามฤกษ์นอกจากจะไม่จำเป็นต้องสูบน้ำจากแหล่งอื่นเพื่อมาใช้ในนาข้าวแล้ว ยังได้กระแสลมช่วยเบี่ยงเบนแมลงที่จะมารบกวนต้นข้าวได้ด้วย
“เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่เราถอดออกมาไป สัมพันธ์ในเรื่องของการเคารพดิน เราจะมีการบูชาดิน ฟังดูเผินๆ อาจเป็นเรื่องงมงาย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมีกุศโลบายหมด”
ที่สำคัญ หลักสูตรปรัชญาเศรษฐกิจชุมชนฉบับนาบุญข้าวหอมยังให้ความสำคัญกับคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น โดยเชื่อมโยงทรัพยากรนั้นเข้ากับความต้องการของตลาด โดยหนึ่งในโครงการดีๆ ที่ลุงจี๊ดภูมิใจนำเสนอคือ ‘คนกินเปลี่ยนคนปลูก’ เป็นการใช้กระแสของผู้บริโภคยุคนี้ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม มาปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการลดใช้สารเคมีอย่างยั่งยืน
“เราใช้วิธีการขายข้าวล่วงหน้า เป็นการจองตั้งแต่แปลงข้าว ซึ่งมีการจองออเดอร์เข้ามาเยอะมาก เพราะว่าเราสื่อสารให้เขาเห็นว่าการทำนาโดยใช้วัฒนธรรมภูมิปัญญาโบราณของเราปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มจากการขายข้าวปกติด้วยเท่าตัว”
เรียนรู้ที่จะ ‘เคารพ’ และ ‘เห็นคุณค่า’ ของสรรพสิ่ง
นอกจากเป้าหมายแรกเริ่มที่อยากจะปลูกข้าวปลอดภัย จนมาเจอว่าภูมิปัญญาการทำนาโบราณนี่เองที่จะทำให้ได้ข้าวในแบบที่ต้องการ สิ่งที่นาบุญข้าวหอมอยากจะมอบให้ผู้คนที่มาเยือนนั่นคือ การเคารพและเห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง
“ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เราพาเด็กไปดำนาหรือกิจกรรมอื่นๆ ทุกครั้งก่อนที่เราจะเดินลงไปในนา เราจะต้องทำพิธีขอขมาสิ่งที่มองไม่เห็น
สิ่งที่มองไม่เห็นในความหมายนี้คือ จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นอาหารของต้นข้าว และเขาคือเจ้าของที่ ก่อนเราจะไปเหยียบย่ำเราต้องไปขอขมา เหล่านี้เราปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็ก ทำให้คนได้เห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้น”
และระหว่างที่เราเตรียมพื้นที่ทุกครั้ง เช่นในพิธีแรกนาขวัญ คือการเอาวัวหรือควายไปทำพิธีไถ่เวียนซ้าย 3 รอบ นี่เป็นพิธีชาวบ้าน แต่ถ้าเป็นพิธีหลวงจะเวียนซ้าย 3 ขวา 3 ก่อนที่เราจะลงไปไถเราก็บอกควายวัวที่จะช่วยงานว่า เริ่มต้นฤดูกาลแล้วนะ เดี๋ยวเราจะต้องมาช่วยกันทำนา เป็นการบอกกล่าว ทำขวัญกัน ก่อนที่เราจะเดินลงไปในพื้นดินที่เป็นพระแม่ธรณีเราก็ต้องบอกกล่าวก่อน”
สำหรับเด็กๆ สมัยนี้ เมื่อพูดถึงแม่ธรณีอาจจะนึกภาพไม่ออก ลุงจี๊ดอธิบายต่อว่า แม่ธรณีในที่นี้เราเชื่อมโยงไปถึงบรรดาไส้เดือน และพวกจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน เสมือนเจ้าที่ ทุกครั้งที่มีการเหยียบย่ำลงไปในดินจึงต้องขอขมา เพราะเป็นการบุกรุกพื้นที่
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น คือคุณธรรมพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็กที่เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจ ต้นข้าวเป็นสิ่งมีชีวิต ทุกครั้งที่เราลงมือกระทำการใดที่ทำให้เขาได้รับผลกระทบ เราต้องขอขมา
เห็นไหมว่าทุกสิ่งมันเป็นคุณธรรมพื้นฐานง่ายๆ ที่เราควรจะอธิบายลงไป แล้วพอถึงการเก็บเกี่ยว สุดท้ายคือการทะนุถนอม เราทะนุถนอมเมล็ดข้าวมันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ มันเป็นเรื่องของการขอบคุณเมล็ดข้าวที่ให้ชีวิตเรา”
ลุงจี๊ดแถมท้ายด้วยเรื่องเล่า ‘ข้าวเมล็ดเดียว’ ซึ่งให้ข้อคิดได้ดีมาก พร้อมบอกว่าถ้าเป็นไปได้อยากจะนำมาเล่าต่อในฉบับการ์ตูนด้วย
“เล่ากันว่าข้าวเมล็ดเดียวเลี้ยงคนได้ทั้งโลก ฟังดูแล้วไม่มีใครเชื่อ แต่ข้าวหนึ่งกอนั้นโตมาจากข้าวแค่เมล็ดเดียว เมื่อแตกออกมา 1 รวง ก็จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 150-200 เมล็ด จากข้าวเมล็ดเดียวเราก็จะสามารถได้ข้าวกลับมามากมาย แล้วเราก็เอาข้าวที่ได้ไปปลูกอีกครั้งหนึ่ง ข้าวเมล็ดเดียวมันจึงมีความหมายมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจเรื่องของความหมายและความสำคัญแล้ว ทุกเมล็ดที่เราทำมากับมือมันจึงมีคุณค่าสูงมาก”
กิจกรรมนอกห้องเรียน เสริมทักษะชีวิตให้เด็ก
การได้ออกมาเรียนรู้หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เลอะเทอะ ได้ทำอะไรที่ไร้กรอบบ้าง นอกจากจะทำให้เด็กๆ ได้สนุกกับการลงมือทำแล้ว ยังได้ตระหนักถึงคุณค่าของข้าว อาหารหลักของเราอีกด้วย ซึ่งลุงจี๊ดเองมองว่า ประสบการณ์จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก
“การที่เด็กได้มาเรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมไปถึงทักษะชีวิต ทำให้เข้าใจเรื่องของธรรมชาติ การที่เด็กเรียนรู้ธรรมชาติมันจะช่วยให้สังคมและสิ่งแวดล้อมงดงามอยู่ได้ ถ้าเขาเข้าใจธรรมชาติทุกอย่างมันเป็นเรื่องของการเกื้อกูลกันทั้งหมด สิ่งที่สำคัญคือต้องกลับมาเข้าใจธรรมชาติ เรียนรู้และอยู่กับมัน”
นอกจากกิจกรรมการเรียนรู้การทำนาตามฤดูกาลแล้ว ในทุกๆ เช้าวันเสาร์ที่นาบุญข้าวหอมจะมีกิจกรรมตักบาตรข้าวใหม่พระสงฆ์ และพื้นที่ลานกว้างๆ ก็จะเต็มไปด้วยร้านรวงขายสินค้าจากชุมชนละแวกนี้ ส่วนกิจกรรมการแปรรูปข้าว จะมีการทำขนมครก ข้าวเกรียบงา ข้าวเม่า เป็นต้น
สำหรับผู้ที่สนใจพาเด็กมาท่องเที่ยวเรียนรู้ ที่นี่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก อาทิ ทริปจักรยานเรียนรู้วิถีชุมชน โดยจะปั่นจักรยานชมทุ่งนาและแวะไปทำกิจกรรมตามฐานในชุมชนที่ถูกจัดไว้ตลอดเส้นทาง
“กิจกรรมที่มีตอนนี้คือ ไปดื่มน้ำมะพร้าวจากสวน ดื่มน้ำตาลสดจากกระบอก ไปกินกล้วยปิ้ง แล้วก็กลับมาทานข้าวห่อใบบัว เป็นทริปครึ่งวันจริงๆ แต่ต้องจองมาล่วงหน้าก่อน เพื่อที่เราจะได้เตรียมกิจกรรม”
หากใครสนใจอยากจะมาเรียนรู้ที่นาบุญข้าวหอม เข้าไปสอบถามรายละเอียดของกิจกรรม ค่าใช้จ่าย และจองคิวกันได้ที่เพจเฟซบุ๊ก นาบุญข้าวหอม และ เพจ ตาหลาดนาพาเพลิน