- ล้อต๊อก คือเด็กชายผู้เกิดมาในครอบครัวตลก พ่อจึงหมายมั่นปั้นมือให้เขากลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ตลกคนใหม่ของเมืองไทย แต่ล้อต๊อกกลับสะกดให้คนดูเงียบกริบด้วยมุกสุดแป้ก
- นอกจากความเสียใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นแสดงแล้ว ล้อต๊อกมักน้อยใจพ่อที่คอยพูดจาให้เขาอับอายเป็นประจำ ทั้งยังดูภาคภูมิใจกับน้องสาวที่มีดีเอ็นเอตลกมากกว่า ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อไม่รักเขาเลยสักนิด
- ทุกครั้งที่ถูกพ่อล้อเลียนเรื่องความฝืดต่อหน้าคนอื่น มันเจ็บยิ่งขึ้นเมื่อพ่อ ‘เปรียบเทียบ’ ศักยภาพด้านตลกของเขากับน้องสาวโดยไม่แคร์ความรู้สึกของเขาเลยสักนิด
ว่ากันว่าตอนเป็นวัยรุ่น เรามักฝังความทรงจำบางอย่างไว้กับเพลงหรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับชีวิต และ ‘บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้)’ คือหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ผมชื่นชอบที่สุดในยุคนั้น
บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้) บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ล้อต๊อก’ เด็กป.6 ผู้เป็นทายาทอันดับหนึ่งของคณะตลก ‘พาเพลิน’ ซึ่งพ่อของเขาหวังจะปั้นให้เขากลายเป็นดาวตลกดวงใหม่ของวงการ แต่ล้อต๊อกกลับดับฝันของพ่อตั้งแต่เล็ก ด้วยการปล่อยมุกฝืดที่ไม่ว่าจะพยายามยังไงก็สูญเปล่า เขาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นแสดงกับคณะพาเพลินอีกเลย
ก่อนเขียนบทความชิ้นนี้ ผมไปสำรวจทิศทางลมของแฟนๆ ที่เคยรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในเว็บกระทู้ชื่อดัง ปรากฏว่าเกินครึ่งซาบซึ้งกับความรักของพ่อ โดยเฉพาะฉากที่พ่อเอาไม้เรียวตีขาตัวเองต่อหน้าล้อต๊อกจนเลือดซิบ หลังจากที่ล้อต๊อกไปกรุงเทพแล้วไม่กลับบ้านในคืนนั้น
แต่ผมกลับไม่ได้อินกับฉากหวดขาตัวเองเท่าไหร่ เพราะฉากที่ผมอินส่วนมากจะเป็นฉากที่กระตุ้นความทรงจำที่คล้ายกับประสบการณ์ร่วมบางอย่างของผมกับล้อต๊อก
ล้อต๊อกรู้สึกว่าพ่อไม่รักเขา หรือลึกๆ อาจจะรู้ว่ารักแต่ก็รักไม่เท่ากับ ‘ม่อน’ น้องสาวที่ทั้งน่ารักและมีดีเอ็นเอของดาวตลกจนได้ขึ้นเวทีแสดงร่วมกับคณะพาเพลิน
ผมเข้าใจสายตาและความรู้สึกของล้อต๊อกทุกครั้งที่ถูกพ่อล้อเลียนเรื่องความฝืดต่อหน้าคนอื่น และมันเจ็บยิ่งขึ้นเมื่อพ่อ ‘เปรียบเทียบ’ ศักยภาพด้านตลกของเขากับน้องสาวโดยไม่แคร์ความรู้สึกของเขาเลยสักนิด
ถึงตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างฉากที่คณะพาเพลินถูกเชิญให้ไปแสดงตลกที่ร้านหมูกระทะยิ้มยิ้ม ปรากฏว่าวันนั้นล้อต๊อกดันพานางเอกมาทานมื้อเย็นที่ร้านเดียวกัน ทำให้ล้อต๊อกพยายามก้มตัวต่ำๆ ระหว่างมื้ออาหาร ทว่าพ่อกลับเห็นเข้า และเรียกล้อต๊อกขึ้นมาร่วมโชว์บนเวที
บนเวที ล้อต๊อกก็ยังเป็นพ่อหนุ่มมุกแป้กคนเดิม เขาเล่นมุกฝืดที่ไม่มีใครขำ ทั้งยังสามารถสะกดเสียงพูดคุยของลูกค้าให้เงียบกริบโดยมิได้นัดหมาย สุดท้ายพ่อจึงพูดบนเวทีว่า “ขอเชิญไว้อาลัยให้กับมุกลูกชายผมหน่อยครับ” จากนั้นน้องสาวของเขาจะมาช่วยเล่นมุกตลกเพื่อเรียกเสียงหัวเราะกลับมา ทำให้พ่อพูดออกไมค์ว่า “ขอเชิญทุกท่านสรรเสริญให้กับมุกลูกสาวผมหน่อยครับ” ก่อนหันไปเล่นมุกกันต่อโดยไม่สนใจล้อต๊อก
ผมรู้สึกร้อนวูบวาบที่ขอบตา เพราะผมก็เคยโดนพ่อเปรียบเทียบเรื่องผลการเรียนของผมกับญาติคนอื่นๆ เป็นประจำในวันรวมญาติ จนต้องก้มหน้าแดงๆ ด้วยความอับอาย
เมื่อพ่อของล้อต๊อกให้ความสำคัญกับมุกตลก และพ่อของผมให้ความสำคัญกับเกรด ดังนั้นผมกับล้อต๊อกจึงกลายเป็นลูกที่รู้สึกว่าพ่อไม่รักหรือรักน้อย เพราะถ้าพ่อแม่รักและใส่ใจอีกนิด…ก็คงไม่เอาเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะเด็กทุกคนต่างก็มีความ ‘พิเศษ’ ในแบบฉบับของตัวเอง
ต่อมาคือช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เราล้วนต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคมมากที่สุด โดยเฉพาะการยอมรับจากเพื่อนและเพศตรงข้าม ทำให้ในกรณีของล้อต๊อกดูน่าสงสารขึ้นสามเท่า เพราะนอกจากจะเสียใจที่มุกตัวเองไม่ได้เรื่อง ปวดใจกับพ่อที่ฉีกหน้าเขาบนเวที ล้อต๊อกยังอับอายที่เรื่องทั้งหมดดันเกิดขึ้นต่อหน้าผู้หญิงที่เขาแอบรัก
อีกฉากที่อยากพูดถึงคือฉากต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่ร้านหมูกระทะ ล้อต๊อกทั้งโกรธทั้งอับอายจนไปรัวหมัดใส่แผ่นสังกะสีจนเป็นแผลทั่วมือ เมื่อกลับบ้าน พ่อก็สังเกตเห็นสีหน้าและบาดแผลของเขา จึงพยายามง้อ ทว่าการง้อของพ่อนั้นไม่ต่างอะไรกับการดับไฟด้วยน้ำมัน
“บุรุษหนุ่มมาดเท่ ไม่มีใครทราบว่าเขาเป็นลูกใครเหล่าเต้า และมาจากเด้าแดนใด แม้แต่โลงเน่าอันพังผุก็ไม่ระบุชื่อของเขาว่าคือใคร เนื้อตัวเขามีร่องรอยบาดแผล ซึ่งเกิดจากการต่อสู้มาอย่างโชกโชน เขาเก็บความแค้นไว้แน่นอก นานนับสิบปีเต็มๆ วันนี้แหละจะเป็นวันที่เขาชำระแค้น…”
ฉากนี้ ผมสังเกตว่าพ่อพยายามพูดตลกๆ ตามสไตล์ตัวเองเพื่อหวังให้ล้อต๊อกขำแล้วคืนดีกัน เพราะพ่อมองว่า เรื่องแค่นี้เองจะคิดมากทำไม คล้ายกับพ่อของผมที่บางครั้งเวลารู้ตัวว่าตัวเองทำไม่ดีกับผมแล้วเห็นผมไม่คุยด้วย ก็มักจะคิดว่าผม ‘เล่นใหญ่’ ก่อนพยายามพูดกับผมอย่างสุภาพกว่าปกติ หรือไม่ก็ ‘ให้เงินพิเศษ’ ไปซื้อของที่อยากได้เพื่อให้เรื่องมันจบๆ ไป ซึ่งผมเข้าใจว่านี่คือวิธีการง้อของพ่อ
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมกับล้อต๊อกต้องการที่สุดคือ ‘คำขอโทษ’ จากใจของพ่อ หรือถ้าพูดไม่เป็นก็ไม่จำเป็นต้องพูด แต่อาจแสดงออกด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การกอด การยื่นมือมาแตะไหล่ หรือการแสดงสีหน้าแววตาที่รู้สึกผิดอย่างจริงใจ
ในทางกลับกัน พ่อแม่ควรคิดว่าหากลูกเป็นฝ่ายพูดจาหักหน้าตนต่อหน้าคนอื่นเยอะๆ โดยมองว่าเรื่องแค่นี้เองจะคิดมากทำไม…ตนจะรู้สึกและตอบโต้ลูกอย่างไร
ดังนั้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา อยากให้ลูกปฏิบัติกับพ่อแม่ยังไง พ่อแม่ก็ควรปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างต่อลูกอย่างนั้น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของความสัมพันธ์ภายใน ‘ครอบครัว’ ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้) เป็นภาพยนตร์แนวตลกครอบครัวของค่าย GTH ในปี 2010 ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยได้สองผู้กำกับอย่าง วิทยา ทองอยู่ยง และเมษ ธราธร นอกจากนี้บท ‘เพลิน’(พ่อ) ยังส่งให้นักแสดงอย่าง จาตุรงค์ มกจ๊ก คว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีเฉลิมไทยอวอร์ดอีกด้วย |