- พลังสมอง (Brain power) พลังใจ (Mind power) และ พลังแห่งความเป็นกลุ่ม (Group power) คือสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้กับการใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีกำลังดิสรัปด้วยอัตราเร็วที่น่ากลัวอย่างปัจจุบัน
- ในหมวดพลังสมอง นอกจากความสามารถในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นแล้ว เด็กๆ ควรได้เก็บรักษาความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการเอาไว้ให้ได้ โดยการไม่ตัดสินถูกผิดหรือบีบให้เด็กต้องเปลี่ยนความคิดให้ตรงตามโลกจริงๆ 100% โดยครูและผู้ปกครองเป็นเรื่องสำคัญมาก
- การมีความรับผิดชอบและการมีความซื่อสัตย์ รวมไปถึงการมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีสำนึกในจริยธรรม ก็เป็นพลังใจและเข็มทิศสำคัญให้กับชีวิตได้
- บทความนี้เป็นแค่เข็มทิศชี้ทาง เด็กๆ ต้องเลือกทางเดินด้วยตัวเองต่อไป โดยมีครูอาจารย์และผู้ปกครองคอยช่วยเหลือเติมเต็มสิ่งที่ขาด ไม่ต่างอะไรกับทุกยุคสมัยที่ผ่านมานั่นเอง
คำถามสำคัญมาก แต่ยากจะตอบ และไม่แน่ว่าจะมีคนที่รู้คำตอบจริงๆ บ้างหรือเปล่าก็คือ หากคุณต้องการระบบการศึกษาที่ดีหรือต้องการวางหลักสูตรให้กับเยาวชนในรุ่นปัจจุบัน คุณคิดว่าเด็กๆ ควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง? มีความรู้หรือทักษะอะไรบ้างที่สำคัญและจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้กับการใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีกำลังดิสรัป (disrupt) ไปเสียทุกอย่างในชีวิตด้วยอัตราเร็วที่น่ากลัวมากอย่างปัจจุบัน
เมื่อดูจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ [1–4] ก็พบว่า ไม่ได้แตกต่างจากที่เคยอ่านมาก่อนๆ หน้านี้มากนัก ความแตกต่างอาจมีแค่เพียงคำที่เรียกหรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่โดยสรุปแล้วจะเหมือนกันหมดก็คือ ต้องเสริมสร้างกำลังอำนาจใน 3 ด้านคือ (1) พลังสมอง (Brain power) (2) พลังใจ (Mind power) และสุดท้าย (3) พลังแห่งความเป็นกลุ่ม (Group power)
ในที่นี้นอกจากแบ่งตามด้านทั้ง 3 ด้านดังกล่าวข้างต้นแล้ว ขอแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น 10 ข้อ แต่ก่อนจะกล่าวถึงความสามารถแรกซึ่งแตกต่างมากจากความสามารถอื่นใดในอดีต ต้องตระหนักเสียก่อนว่า เราอยู่ในยุคที่มีข้อมูลมากมายมหาศาลในปัจจุบัน กล่าวคือมีข้อมูลราว 2.5 ล้านล้านล้านไบต์ (หรือ 2.5 x 1018 ไบต์) ต่อวัน ไบต์ก็คือหน่วยทางดิจิทัลที่ใช้คำนวณและเก็บข้อมูล โดยข้อมูลราว 90% ของทั้งหมดในโลกเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่ 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น! [5]
ด้วยเหตุนี้เอง ความสามารถแรกในหมวดพลังสมอง จึงไม่ใช่ความสามารถในการจดจำข้อมูลให้ได้มากๆ ดังเช่นอดีต เพราะกลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เสียแล้วที่เราจะจดจำข้อมูลมากมายมหาศาลเช่นนั้นในชั่วชีวิตเรา แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เด็กรุ่นนี้ต้องมีความสามารถในการค้นหาข้อมูลและต้องวิเคราะห์เป็น (Accessing and Analyzing Ability) สามารถแยกแยะได้ว่า ข้อมูลเหล่านั้นมีระดับความน่าเชื่อถือเพียงใด
คนที่ทำเรื่องนี้ได้กับไม่ได้ จะแตกต่างกันทั้งในเรื่องตัวเลือกวิชาชีพในอนาคต ความรู้ความสามารถอื่นๆ ที่อาจจะเพิ่มพูนขึ้นได้ และระดับรายได้หรือชื่อเสียง ฯลฯ
การฝึกทักษะเรื่องนี้ทำไม่ยาก คุณครูหรืออาจารย์อาจตั้งโจทย์ให้ค้นหาข้อมูลที่มีรายละเอียดจำเพาะมากสักหน่อย เพื่อทดสอบว่าหาเป็นหรือไม่ และให้ค้นในหัวข้อที่มีความคาบเกี่ยวเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ หรือ ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ (pseudoscience) แล้วดูว่าเด็กๆ แยกแยะข้อมูลที่หาได้ดีเพียงใด
ยกตัวอย่าง ให้หาข้อมูลว่าน้ำโมเลกุลหกเหลี่ยมมีจริงหรือไม่? และดีต่อร่างกายจริงหรือ? หรือเราควรดื่มน้ำที่มี pH เป็นด่างจริงหรือไม่? เพราะเหตุใด?
ทักษะที่ 2 และ 3 ซึ่งอยู่ในหมวดพลังสมองเหมือนกันคือ ต้องมีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical thinking) สามารถวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลที่ได้รับว่าดี แย่ มีหลักการที่สมเหตุสมผลแค่ไหน หรือหลอกลวงทั้งเพ กับความสามารถในการคิดแก้ปัญหา (Problem solving) ตรงหน้า แต่โจทย์ปัญหาในชีวิตจริงมักจะซับซ้อนและมีตัวแปรที่มองเห็นยากปะปนอยู่มาก จึงควรต้องหัดคิดและลงมือแก้ปัญหาตั้งแต่เด็ก จึงจะกลายเป็นทักษะที่ติดตัวไปตลอดชีวิตได้
ความคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหาสามารถแทรกอยู่ในวิชาต่างๆ ได้สารพัด ทั้งวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่วรรณคดี ฯลฯ
นอกจากนี้ คุณครูยังอาจสร้างสถานการณ์สมมุติเพื่อให้นักเรียนคิดวิเคราะห์หรือแก้ปัญหา โดยพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาอาจจะต้องนำสิ่งที่เราเรียนรู้จากคลาสต่างๆ มาใช้ได้อย่างไร เช่น หากย้อนเวลากลับไปตอนต้นของการระบาดใหญ่ของโควิด หากได้เป็นนายกฯ จะทำและไม่ทำอะไร ฯลฯ
ทักษะที่ 4 ที่เป็นข้อสุดท้ายในหมวดพลังสมองได้แก่ การเก็บรักษาความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการเอาไว้ให้ได้ โดยธรรมชาติเด็กๆ จะมีความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการมากอยู่แล้ว เพราะต้องการสำรวจโลกรอบตัวและหาความเชื่อมโยงกับความคิดฝันของตัวเอง
แต่ปัญหาใหญ่ที่พบคือ ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง เพื่อนๆ หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาจค่อยๆ ปรับให้แต่ละคนเชื่อมโยงกับโลกความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ดวงอาทิตย์จึงกลายเป็นมีแต่สีเหลือง ดอกทานตะวันก็เช่นกัน กุหลาบสีดำกลายเป็นของประหลาด ฯลฯ
ไม่ใช่เด็กทุกคนที่บอกว่าอยากเป็นนักบินอวกาศหรืออยากไปเหยียบดาวอังคาร จะได้รับการชมเชยหรือยอมรับโดยคนรอบข้าง ยังไม่ต้องไปพูดถึงเด็กที่อยากเป็นซูเปอร์แมน แบทแมน หรือไอรอนแมน
การไม่ตัดสินถูกผิดหรือลงโทษจินตนาการแปลกๆ หลุดโลก หรือบีบให้เด็กต้องเปลี่ยนความคิดหรือจินตนาการให้ตรงตามโลกจริงๆ 100% ไม่ผิดเพี้ยน โดยครูและผู้ปกครองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
แต่แค่กำลังความคิดยังไม่พอ เด็กๆ ควรจะต้องเติบโตพร้อมกับความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้เหมาะสมกับกาลเทศะตามสมควร ความอดทนอดกลั้นต่อความต้องการมักได้รับการอ้างอิงว่าเป็นตัวชี้วัด (indicator) สำคัญสำหรับอนาคตของเด็กแต่ละคน
ดังการทดลองที่เรียกว่า การทดลองสแตนฟอร์ดมาร์ชแมล์โลว์ (Stanford Marshmallow Experiment) โดยนักจิตวิทยาชื่อ วอลเทอร์ มิสเชล (Walter Mischel) ใน ค.ศ. 197 ที่นักวิจัยพบว่าเด็กที่ควบคุมความต้องการตัวเองได้ดี ไม่กินมาร์ชเมลโลว์ที่วางไว้ตรงหน้าในช่วงเวลาหนึ่ง จนทำให้ได้รับ ‘โบนัส’ เพิ่มอีกชิ้นหนึ่งในภายหลัง เมื่อโตขึ้นแล้วมักประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า บางคนก็โยงกว่าเรื่องนี้สอดคล้องกับเรื่องอีคิว (EQ) ด้วยเช่นกัน [6]
ขณะที่บางคนก็เชื่อมโยงความมุ่งมั่นแบบนี้เข้ากับเรื่องกริต (Grit) ที่มีนักจิตวิทยาชื่อ แองเจลา ดั๊กเวิร์ธ (Angela Duckworth) วิจัยเพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในคนหลากหลายอาชีพ แล้วพบว่า “กริต” หรือความมุ่งมั่นและความสามารถในการควบคุมตัวเอง ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ มีกรอบความคิดที่เติบโตได้คือ ไม่กลัวล้ม ล้มแล้วลุกได้เสมอ มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความสำเร็จในชีวิต [7]
นอกจากการควบคุมตัวเองได้แล้ว การมีความรับผิดชอบและการมีความซื่อสัตย์ (Responsibility and Integrity) รวมไปถึงการมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีสำนึกในจริยธรรม (Sympathy and Ethical Awareness) ก็เป็นพลังใจและเข็มทิศสำคัญให้กับชีวิตได้ การอ่านประวัติชีวิตคนสำคัญมีส่วนช่วยในเรื่องพวกนี้มาก ขณะที่การฝึกหัดให้มีการเล่นบทบาทสมมุติ (Role play) และการสลับบทบาทกันของแต่ละคน ก็เป็นกิจกรรมที่ทำได้ในห้องเรียนและส่งเสริมคุณลักษณะนิสัยแบบนี้เช่นกัน
มาถึงหมวดสุดท้ายคือ เรื่องของทักษะทางสังคมหรืออำนาจของกลุ่ม ประกอบไปด้วยทักษะการสื่อสาร (Communication skill) ทักษะความร่วมมือ (Collaboration skill) และสุดท้ายคือทักษะในการปรับตัว (Adaptability skill)
มนุษย์มีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสำคัญมากต่อความอยู่รอดและความเป็นอยู่ที่ดี ในการนี้การสื่อสารระหว่างกันย่อมมีความสำคัญมาก ทักษะการฟังและจับใจความสิ่งที่คนอื่นพูด และอาจรวมไปถึงสิ่งที่ไม่ได้พูด แค่ดูจากท่าทางก็พอคาดเดาได้ว่า คนผู้นั้นคาดหวังอะไรไว้ในใจจึงมีความสำคัญมาก ในทางกลับกัน ทักษะการนำเสนอผ่านการพูดหรือการเขียนตอบ ก็สำคัญมากๆ เช่นเดียวกัน เพราะอาจทำให้เราได้งานหรือตกงาน มีสัมพันธภาพที่ดีหรือแย่กับผู้อื่น ฯลฯ
การฝึกพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำด้วยระดับเสียงที่ดังพอดี ไม่เบาจนเหมือนกระซิบหรือดังราวกับตะโกน ความเร็วในการพูดที่พอดิบพอดี ท่วงทำนองการพูดที่มีจังหวะจะโคนและน่าฟัง รวมไปถึงท่าทางขณะพูด การส่งสายตาให้กับคนฟัง การใช้มือช่วยประกอบการอธิบายอย่างสอดคล้องกัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สอนและเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น และหากทำได้ดีก็จะกลายเป็นทักษะสำคัญที่ติดตัวไป ทำให้ได้เปรียบในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน
การเรียนภาษาที่ 2 และแม้แต่ภาษาที่ 3 หากชอบหรือสนใจ ภาษาที่มีคนทั่วโลกใช้มากก็ทำให้สามารถเข้าถึงความรู้และปัญญาจากแหล่งอื่นมากกว่าเพียงภาษาไทย ภาษาสหประชาชาติอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน สเปน สเปน และอาหรับ มีประโยชน์เพราะเข้าถึงคนจำนวนมากในหลากหลายดินแดน นอกจากนี้ ยังอาจนับรวมเอาภาษาคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า เรียนโค้ดดิ้ง (coding) ไว้ได้ด้วยเช่นกัน
ในขณะที่การร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ แบบกลุ่ม การได้เรียนรู้บทบาทความเป็นผู้นำหรือผู้ตามที่ดี การผ่อนหนักผ่อนเบา การโดนเอาเปรียบหรือหักหลัง ล้วนเป็นบทเรียนชีวิตสำคัญที่ต้องเรียนรู้
กิจกรรมในชั้นเรียนที่เน้นการทำงานแบบกลุ่มที่ ‘ทำด้วยกัน’ จริงๆ ไม่ได้ตัดแบ่งงานเป็นส่วนๆ จึงมีส่วนฝึกฝนให้คุ้นเคยและเข้าใจถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ เด็กๆ ควรจะได้รับโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มในรูปแบบต่างๆ และครูอาจารย์ต้องหมั่นสังเกตและตรวจสอบว่า ไม่มีคนที่โดนแกล้ง (bully) หรือบอยคอตต์จากกลุ่ม ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นคนเก็บตัว (introvert) หรือเป็นคนเปิดเผยกล้าแสดงออก (extrovert) ก็ตาม
สุดท้ายคือ ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ยิ่งทำได้ไว และยิ่งมีความยืดหยุ่นสูงในเรื่องนี้ ก็จะทำให้รับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงซึ่งมีมากขึ้นและรวดเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เด็กที่มีจิตใจพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไม่มองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายตลอดเวลา แต่ปรับตัวได้ มองเห็นโอกาสที่อาจฉวยจับได้จากสถานการณ์อันยุ่งยากและหนักหนานั้น ก็ย่อมประสบความสำเร็จได้มากกว่า
จะสังเกตได้ว่าทั้ง 10 ข้อที่ว่ามา ไม่ได้กล่าวถึง hard skill คือ วิชาต่างๆ ในกลุ่มสะเต็ม (STEM) เลย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพราะหากมี soft skill ดังที่ว่ามาคือ มีพลังสมอง พลังจิตใจ และพลังกลุ่ม ดังที่ว่ามาแล้ว ไม่ว่าจะเรียนวิชาหรือสาขาอะไร ก็ล้วนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นไม่แตกต่างกัน โรงเรียนและครูเองก็ต้องปรับตัวมาส่งเสริมทักษะเหล่านี้มากขึ้น เพราะสำคัญและจำเป็น ไม่แพ้ hard skill ต่างๆ ในแต่ละสาขาวิชา ยิ่งนำไปใช้กับการเรียน STEM ก็ยิ่งดี
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกบางเรื่องที่หลายคนคิดว่าจำเป็นมากๆ เช่น ความรู้ด้านการเงินและการลงทุน รวมไปถึงจิตวิทยาเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน เช่น เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ฯลฯ อีกด้วย
ทั้งหมดนั้นไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ แต่แทบทั้งหมดรวบรวมจากความเห็นของผู้บริหารในบริษัทธุรกิจ หน่วยงานไม่แสวงผลกำไร และนักวิชาในสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายร้อยคนที่มาช่วยให้ความเห็นว่า ในสายตาของพวกเขาเหล่านั้น ทักษะใดที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญและจำเป็น [1]
บทความนี้เป็นแค่เข็มทิศชี้ทาง เด็กๆ ต้องเลือกทางเดินด้วยตัวเองต่อไป โดยมีครูอาจารย์และผู้ปกครองคอยช่วยเหลือเติมเต็มสิ่งที่ขาด ไม่ต่างอะไรกับทุกยุคสมัยที่ผ่านมานั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.teachthought.com/the-future-of-learning/skills-students-need/
[2] https://www.umassglobal.edu/news-and-events/blog/what-is-21st-century-learning
[3] https://www.cambridge.org/elt/blog/2019/05/30/prepare-students-future/
[4] https://www.edutopia.org/blog/prepare-students-challenges-of-tomorrow-judy-willis
[6] https://en.wikipedia.org/wiki/Stanford_marshmallow_experiment