- บาดแผลจากการถูกประจานนั้นร้ายแรง เพราะแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ความรู้สึกไม่ดียังชัดเจนในใจของเด็กเสมอ เด็กบางคนอาจจะเสียความมั่นใจในตัวเองไป และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอสำหรับโลกใบนี้
- การสอนให้เด็ก ‘ขอโทษ’ ‘รับผิดชอบต่อการกระทำ’ และ ‘ไม่ทำผิดซ้ำสอง’ เป็นสิ่งที่ควรทำกว่า ‘การประจาน’ ที่นอกจากจะไม่ได้สอนที่ทำให้เด็กเรียนรู้แล้ว ยังทำร้ายจิตใจและละเมิดความเป็นมนุษย์ของเด็กอีกด้วย
- เด็กทุกคนมีชีวิตและจิตใจ และการเป็นเด็กไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นอย่ามองข้ามและเหยียบย่ำความรู้สึกของพวกเขา เพราะเด็กทุกคนต้องการความรักและโอกาสในการเรียนรู้
‘ในวันที่ถูกประจานให้อับอาย’
ครั้งหนึ่งในวันที่เรียนลูกเสือ
แม้เด็กหญิงจะจัดตารางสอนและมีการเตรียมพร้อมที่ดีมากแล้ว แต่ก็ดันเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจนได้ในมื้อกลางวันก่อนคาบเรียนลูกเสือ
เด็กหญิงดันทำอาหารหกเลอะตัวเอง ผ้าพันคอชุ่มไปด้วยแกงสีเข้มและกลิ่นแรง เพื่อนชวนให้เด็กหญิงถอดผ้าพันคอนั้นไปซักแล้วตากไว้หลังห้องเรียน พอถึงคาบเรียนลูกเสือ คุณครูเข้ามาตรวจทีละนักเรียนทีละหมู่ว่าใครลืมใส่อะไรมา เพื่อนบางคนไม่มีหมวก บางคนไม่มีเข็มกลัด บางคนก็ทำวอกเกิ้ลหาย ส่วนเด็กหญิงคิดว่าถ้าตนเองมีเหตุผลเพียงพอ คุณครูคงไม่ลงโทษอะไร เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นน้ัน คุณครูไม่ฟังเหตุผลใดๆ แล้วให้ออกไปที่หน้ากองเฉกเช่น เพื่อนคนอื่นๆ ที่ลืมใส่บางอย่างมา
“นี่คือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทุกคนอย่าทำตาม” คุณครูชี้มาที่เด็กทุกคนที่ยืนอยู่ ซึ่งในใจของเด็กหญิงตอนนั้นรู้สึกอับอายมากและรู้สึกผิดที่ตนเองไม่สามารถดูแลผ้าพันคอผืนนั้นได้ดี
ในความเป็นจริงแล้ว เด็กแต่ละคนอาจจะมีเหตุผลที่แตกต่างกันที่ไม่ได้ใส่ชุดมาตรงวันหรือใส่ชุดมาไม่ครบ บางคนอาจจะลืมจัดตารางสอนจนลืมจริงๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่รับผิดชอบ หรือตั้งใจลืม เพราะบางคนอาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ไม่มีใส่ และที่แย่ไปกว่านั้นบางคนอาจจะไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะซื้อของหรือชุดเหล่านั้น
แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่ความรู้สึกไม่ดียังชัดเจนในใจของเด็กเสมอ
ผู้ใหญ่ควรหันกลับมาทบทวน 5 บทเรียนสำคัญ
บทเรียนที่ 1 ‘บาดแผลของการทำผิดพลาดแล้วถูกประจานให้อับอาย’
บาดแผลจากการถูกประจานนั้นร้ายแรง เด็กบางคนอาจจะเสียความมั่นใจในตัวเองไป และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอสำหรับโลกใบนี้
ทุกคนแตกต่างกัน แต่ละคนเติบโตมาด้วยต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การรับมือกับปัญหาและความไวต่อความรู้สึกไม่เท่ากัน
บางคนรู้สึกมาก เพราะเขาอาจจะรับเรื่องราวมามากพอแล้ว
บางคนรู้สึกน้อย เพราะเขาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น
บางคนข้ามผ่านความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นไปไม่ได้
แต่บางคนยังมีความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นติดตัวมาจนถึงวันนี้
ดังนั้นดีที่สุดคือการไม่สร้างบาดแผลให้กับใครโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกับเด็กๆ เพราะพวกเขาควรจะมีโอกาสใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อีกนาน
บทเรียนที่ 2 สิ่งที่เด็กทำนั้นเป็น ‘สิ่งที่ผิด’ หรือ ‘แค่ไม่ตรงใจเรา’
กฎกติกาคือสิ่งที่ทุกสถานที่ควรมี และทุกคนควรปฏิบัติตาม ซึ่งกฎกติกาที่ดีควรเป็นไปเพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ด้วยการความเคารพซึ่งกันและกัน
ดังนั้นกฎที่ดีทุกคนควรทำตามได้ เช่น กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ แต่ถ้ากฎกติกานั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าควรปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสมต่อไป
การแต่งกายให้ตรงตามวันหรือการแต่งเครื่องแบบครบส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่?
หากไม่ได้กระทบขนาดนั้น เรายังควรมองว่าเด็กทำผิดร้ายแรงหรือ? ในทางกลับกัน หากเด็กทำผิด ผู้ใหญ่ควรให้ความช่วยเหลือก่อนจะสอนเขา เพราะการสอนรอได้เสมอ
บทเรียนที่ 3 โรงเรียนควรเป็นบ้านหลังที่สองที่เด็กๆ อยากมาเรียนรู้ ไม่ใช่หวาดกลัวที่จะมา ที่สำคัญโรงเรียนและบ้านควรสื่อสารและเป็นทีมเดียวกัน
โรงเรียนควรเป็นที่จุดประกายให้เด็กอยากเรียนรู้และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ที่สำคัญเพื่อจำลองการใช้ชีวิตในสังคมให้กับเด็กๆ ก่อนก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวในวัยทำงาน
ดังนั้นผู้ใหญ่ควรตั้งเป้าหมายให้ตรงกันเสียก่อนว่า ‘เราควรทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน ไม่ใช่หวาดกลัวโรงเรียน’
‘โรงเรียน’ ควรสื่อสารกับ ‘บ้าน’
การสื่อสารที่ดีคือเครื่องมือที่ทรงพลัง หากบ้านและโรงเรียนมีการสื่อสารกันเสมอ
พ่อแม่และคุณครูจะเข้าใจกันมากขึ้น เราสามารถแบ่งเบาภาระทางใจกัน
เมื่อเกิดปัญหา เราจะเลือกที่จะหันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออก ไม่ใช่ใส่อารมณ์กันและกัน เพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบและกลายเป็นเครื่องรองรับอารมณ์ของผู้ใหญ่ทุกคน คือ ‘เด็ก’
การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อทุกฝ่ายช่วยกัน
ความเห็นอกเห็นใจคือหัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างพ่อแม่และคุณครู
บทเรียนที่ 4 วินัยสร้างได้ แม้จะไม่ได้แต่งกายเหมือนกัน เพราะวินัยอยู่ในวิถีชีวิต
คำถาม 1 : วินัยคืออะไร?
คำตอบ 1 : วินัย คือ สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี กล่าวคือ มีสุขภาพกายท่ีแข็งแรง มีสุขภาพใจที่ดี ซึ่งวินัยมีส่วนช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและความหมายทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น
คำถามที่ 2 : วินัยที่สำคัญสำหรับเด็กคืออะไร?
คำตอบที่ 2 : วินัยที่สำคัญสำหรับเด็ก คือ การฝึกฝนดูแลตัวเองและรับผิดชอบตนเองตามวัย เพื่อพัฒนาไปสู่การดูแลและรับผิดชอบสิ่งที่มากขึ้นในอนาคต เช่น สำหรับเด็กปฐมวัย งานที่ต้องทำคือ การฝึกช่วยช่วยเหลือตัวเองและดูแลของที่ตัวเอง ใช้ เช่น เก็บของเล่น เช็ดโต๊ะหลังกินข้าวเสร็จ ล้างจานของตัวเอง และอื่น ๆ
สำหรับเด็กโต งานที่ต้องทำคือ กิจวัตรประจำวันอย่างการช่วยเหลือตัวเองและงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น การบ้าน งานบ้าน เวรทำความสะอาดในห้องเรียน และอื่น ๆ
เมื่อดูแลตัวเองได้ ตัวเองก็จะไม่เป็นภาระต่อสังคม และค่อยๆ แผ่ขยายไปสู่การดูแล หน้าที่ของตัวเองในสังคมต่อไป
คำถาม 3 : ต้องสอนอย่างไร?
คำตอบ 3 : ทำให้ดู ทำด้วยกันและให้ทำด้วยตนเอง โดยมีเราทำอยู่เคียงข้าง ที่สำคัญต้องใช้เวลาในการสร้างวินัยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงข้ามคืน ช่วงแรกแม้จะเหนื่อยหน่อย แต่เมื่อวินัยเกิดในตัวของเด็ก ๆ แล้วจะเกิดขึ้นไปตลอดชีวิต เพราะวินัยกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของเด็กๆ แล้ว
‘วินัย’ เป็นเรื่องของคนทุกคน
สภาพแวดล้อมมีผลกับเด็กเป็นอย่างมาก ผู้ใหญ่ทำเช่นไร เด็กๆ มีแนวโน้มจะเลียนแบบการกระทำของเรา ดังนั้นหากต้องการให้เด็กๆ มีวินัย เราควรทำให้เขาเห็น เป็นให้เขาดู และลงมือทำไปด้วยกัน
บทเรียนที่ 5 ถ้าสิ่งที่เด็กทำนั้นผิดจริง ผู้ใหญ่ควรสอนเขา ไม่ใช่ลงโทษให้อับอายหรือหวาดกลัว
การประจานไม่ใช่การสอนที่ทำให้เด็กเรียนรู้ แต่การประจานทำร้ายจิตใจและละเมิดความเป็นมนุษย์ของเด็กเสียด้วยซ้ำ บาดแผลที่ผู้ใหญ่สร้างในหัวใจเด็กในวันนั้นไม่เคยจางหายไปไหน ดังนั้นอย่าทำเช่นนั้นเลย
เมื่อเด็กทำผิดพลาด แล้วทำให้ผู้ใหญ่มีอารมณ์โกรธ เราควรถอยออกตั้งสติ ขอเวลานอกให้ตัวเองก่อนจะกลับไปสอนเด็กอีกครั้ง
ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กทำผิดต่อผู้อื่น เราควรสอนให้เด็ก ‘ขอโทษ’ ‘รับผิดชอบต่อการกระทำ’ และ ‘ไม่ทำผิดซ้ำสอง’
‘การขอโทษ’ คือขั้นแรกของการรับรู้ว่า ‘สิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ผิด’ แต่ ‘การรับผิดชอบต่อการกระทำ’ คือการรู้สึกสำนึกผิดและพยายามชดเชยอย่างสุดความสามารถเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น แม้การรับผิดชอบต่อการกระทำด้วยการทำอะไรบางอย่างเพื่อชดเชยในสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่ทำลงไปแล้วได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ความรู้สึกผิดในใจเราและความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นของอีกฝ่ายเบาบางลงไปบ้างเท่าน้ันเอง
ขั้นสุดท้ายที่สำคัญที่สุดของการสำนึกผิดอย่างแท้จริงคือ ‘การไม่ทำผิดซ้ำสอง’ นั่นเอง
คำถาม : ทำไมเราไม่ควรลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อให้เด็กหยุดทำสิ่งที่ผิด
คำตอบ : แม้การลงโทษที่รุนแรงจะทำให้เด็กหยุดทำพฤติกรรมในทันที แต่เด็กไม่ได้หยุดเพราะเรียนรู้ เขาหยุดด้วยความกลัวถูกลงโทษ ดังนั้นการลงโทษที่รุนแรงทำได้ เพียงหยุดไว้ชั่วคราว เขาอาจจะไม่ทำพฤติกรรมนั้นต่อหน้าเรา พอไม่มีเราอยู่ตรงนั้น ลับหลังเขาอาจจะแอบทำเมื่อมีโอกาส ที่สำคัญการลงโทษที่รุนแรงนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมที่รุนแรง เด็กอาจจะนำไปใช้กับเพื่อนหรือคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเขาได้
สิ่งที่ดีที่สุดคือการสอนเด็กให้ทำพฤติกรรมที่เหมาะสม
ทำให้ดู
พาเขาทำ
ทำด้วยกัน
ปล่อยเขาทำเอง
ฝึกฝนเป็นประจำ
ทำได้ด้วยตัวเองแล้วอย่าลืมชื่นชมเขา
(6) ทางเลือกที่ดีกว่าการลงโทษให้เด็กฟัง คือการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเขาตั้งแต่ต้น
การสอนเด็กที่ดีที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์กับเขา
สายสัมพันธ์ที่มีอยู่จริง ทำให้เขามองเห็นตัวเขาเองและตัวผู้ใหญ่ที่อยู่ตรงนั้น เด็กจะ อยากฟังเพราะเขารับรู้ได้ว่า ‘เสียงของเรามีอยู่จริง’ และเขาอยากจะทำตาม เพราะ ‘เขารู้สึกรักและผูกพันกับเรา’
ที่สำคัญอยากให้เด็กเป็นเช่นไร เราควรเป็นเช่นนั้นก่อน
อยากให้เขาเคารพเรา เราควรเคารพเขาเช่นกัน
อยากให้เขาฟังเรา เราก็ควรฟังเขาด้วย
ไม่ใช่ให้ตามใจหรือปล่อยปละละเลย แต่ให้เป็นแบบอย่าง ทำไปกับเขา และสอนเขาเมื่อทำผิด
เด็กเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมั่นคง
เด็กทุกคนมีชีวิตและจิตใจ การเป็นเด็กไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกน้อยกว่าผู้ใหญ่
ดังนั้นอย่ามองข้ามและเหยียบย่ำความรู้สึกของพวกเขา เพราะเด็กทุกคนต้องการความรักและโอกาสในการเรียนรู้
ผู้ใหญ่ทุกคนควรช่วยกันปกป้องหัวใจของเด็กทุกคน