- การพูดคำไหนคำนั้นและการสัญญา มีความหมายกับเด็กๆ มาก ไม่ใช่แค่เพียงความคาดหวังของเขาที่มีต่อคำพูดเหล่านั้น แต่เพราะผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญในชีวิตเขาเป็นผู้พูดและให้คำมั่นสัญญา
- ในกรณีที่ลูกต่อรองเวลาในการเล่น การพูดคำไหนคำนั้น จึงหมายถึง “เมื่อทำข้อตกลงหรือกติกาใดไว้ ควรทำตามข้อตกลง หรือกติกานั้น” ความยืดหยุ่นที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถทำได้ คือ “การเผื่อเวลาให้กับเด็กๆ”
- การที่พ่อแม่จะสัญญาอะไรกับลูกควรพิจารณาว่า สัญญานั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับวัยของลูก ไม่เกินวัย เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ ไม่เกินกำลัง และไม่เกินจริง เพราะสิ่งที่เลวร้ายที่สุดจากการไม่การรักษาสัญญาหรือไม่พูดความจริงคือ “ลูกจะไม่ไว้ใจพ่อแม่”
พ่อแม่พูดคำไหนคำนั้น พูดความจริง และรักษาสัญญาเสมอ
‘เมื่อคำพูดของเราไม่เพียงพอต่อการสอน การกระทำคือการสอนที่ชัดเจน’
- ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ 1
เด็กชายบอกคุณแม่ว่า “หิวแล้ว อยากกินขนม”
คุณแม่บอกเด็กชายว่า “กินข้าวก่อน แล้วค่อยกินขนมได้”
เด็กชายทำเป็นไม่ได้ยินแล้ววิ่งไปหยิบถุงขนมเตรียมจะเปิดกินด้วยตัวเอง
คุณแม่พูดบอกอีกครั้ง “แม่บอกว่าไง เราจะกินข้าวก่อน เอาขนมไปเก็บ”
เด็กชายไม่ฟังแล้วแกะถุงขนมทันที จากนั้นก็หยิบขนมเข้าปากไปคำโต
คุณแม่ยอมแพ้ แล้วบอกเด็กชายว่า “กินชิ้นเดียวนะ แล้วเก็บ”
แต่เด็กชายก็ยังกินต่อไปจนพอใจ แล้วจึงวางถุงขนมลง
เวลาที่เด็กเล็กทำ การสอนเด็กเล็ก จึงไม่ควรสอนโดยการพูดบอกเพียงอย่างเดียว แต่ตัวเราต้องเข้าไปถึงตัวของเขา สอนโดยการทำให้ดู พาเขาทำ และถ้าทำไม่ได้ก็จับมือ
ถ้าสิ่งที่เด็กกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เราก็ควรเข้าไปหยุดถึงตัว
(1) ย่อตัวลง
(2) สบตาลูก
(3) จับมือลูก
(3) พูดชัดเจน “ทำไม่ได้” และ “อะไรทำได้”
(4) พาเขาทำ
(5) ทำด้วยกัน
(6) ปล่อยเขาลองทำเอง
ในกรณีนี้ คุณแม่ต้องเข้าไปถึงตัวเด็กชาย แล้วขอถุงขนมกลับมา พร้อมกับบอกชัดเจน ว่า “เรากินข้าวเสร็จแล้ว ถึงจะกินขนมได้” ถ้าเด็กชายไม่ให้คืน คุณแม่ต้องยืนหยัด หยิบถุงขนมออกจากมือ แม้จะทำให้เด็กชายไม่พอใจ และร้องไห้โวยวายออกมา เมื่อสิ่งนั้นไม่เหมาะสม เราไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ลูกไม่พอใจได้
ในวัยที่ลูกยังยับยั้งช่างใจไม่ได้ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ต้องสอนให้เขาเรียนรู้ว่า “เขาจำเป็นต้องรอคอยและ ทำสิ่งที่ควรทำก่อน” นั่นก็คือ “กินข้าวให้เสร็จจึงจะกินขนมได้”
‘เมื่อเราไม่พูดคำไหนคำนั้น คำพูดของเราจะไม่ศักดิ์สิทธิ์’
- ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ 2
แม้จะถึงเวลาอาบน้ำแล้ว แต่เด็กหญิงยังไม่อยากอาบน้ำ เพราะยังอยากเล่นต่อ คุณแม่เตือนว่า “ได้เวลาอาบน้ำแล้วนะ”
เด็กหญิง “ขออีก 5 นาทีนะคะ”
คุณแม่ลังเลก่อนจะยอมให้เด็กหญิงเล่นต่ออีก 5 นาที แม้จะหมดเวลาแล้ว เมื่อครบ 5 นาทีคุณแม่มาเรียกอีกครั้ง
คุณแม่ “ครบ 5 นาทีแล้ว ไปอาบน้ำเร็ว”
เด็กหญิง “ขออีก 5 นาทีนะคะ เมื่อกี้มันเร็วไป”
เธอต่อรองขออีก 5 นาที ครานี้คุณแม่เริ่มหงุดหงิดแล้ว จึงเสียงแข็งว่า “ไปอาบน้ำ” เด็กหญิงยอมไปอาบน้ำในวันนี้
ในวันต่อมา เด็กหญิงเริ่มใช้การต่อรองขอเวลาเพิ่มในการทำทุกๆ อย่าง “ขอเล่นอีก 5 นาทีนะ”
“ขอดูอีก 5 นาทีนะ”
“ขอนอนต่ออีก 5 นาทีนะ”
และทุกครั้งที่ครบ 5 นาที เธอจะขอต่อเวลาเช่นนี้เสมอ ซึ่งมักจะจบลงที่ความหงุดหงิด ระหว่างแม่ลูก
นานวัน ไม่ใช่แค่การต่อรองเวลา เด็กหญิงเริ่มใช้การต่อรองกับสิ่งอื่น เช่น การซื้อของ เล่น และการขอทำสิ่งที่อยากทำก่อนสิ่งที่ไม่อยากทำ
การพูดคำไหนคำนั้น จึงหมายถึง “เมื่อทำข้อตกลงหรือกติกาใดไว้ ควรทำตามข้อตกลง หรือกติกานั้น”
ความยืดหยุ่นที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถทำได้ คือ “การเผื่อเวลาให้กับเด็กๆ” เช่น
• การใช้ ‘กฎ 5 นาที’ เราจะเตือนเด็กๆ ก่อนหมดเวลาทำกิจกรรมหรือก่อนเวลาจะต้อง ทำอะไรเป็นระยะเวลา 5 นาที เพื่อให้พวกเขามีเวลาเตรียมตัว ‘Cool down’ หรือ ‘Warm up’ ก่อนจะกิจกรรมจะจบลงหรือต้องเริ่มทำกิจกรรมใด
• การทำตารางเวลาร่วมกัน ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสกำหนดสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำหรือ รู้ลำดับของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น เด็กๆ จะมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจมากขึ้น
• การให้ตัวเลือกที่เหมาะสม เช่น ลูกจะอาบน้ำก่อน หรือ ทำการบ้านก่อน ลูกเลือกได้ แต่ถ้าทำสองสิ่งนี้เสร็จแล้วลูกสามารถเล่นอิสระหรือฟังนิทานได้ก่อนจะถึงเวลานอน
การพูดคำไหนคำนั้น ผู้ใหญ่จึงไม่ใช่ผู้สั่งการ แต่เป็นผู้รักษากติกา และช่วยเด็กๆ ให้ทำตามหน้าที่ของตน เมื่อเด็กๆ เลือกที่จะไม่ทำตามกติกาหรือไม่ทำตามหน้าที่ ให้ผู้ใหญ่ ทำตามขั้นตอน ดังนี้
(1) ให้การเตือนก่อนหมดเวลา 5 นาที เช่น “อีก 5 นาทีเตรียมเก็บของ/ปิดทีวีนะ” (2) พูดทวนกติกาหรือสิ่งที่ต้องทำต่อไป เช่น “หมดเวลาแล้วค่ะ ได้เวลาอาบน้ำแล้วนะ”
(3) ถ้าลูกโวยวาย/ต่อรอง ให้ย้ำคำเดิมว่า “หมดเวลาแล้ว ไปอาบน้ำค่ะ”
(4) ลูกไม่ยอมไป
ในกรณีเด็กเล็กให้พาเขาไปด้วยกัน อาจจะใช้การอุ้มหรือจูงมือเดินไปด้วยกัน ในกรณีเด็กโต (เราอุ้มไม่ไหว) ใช้การคุยกับเขาชัดเจนว่า “เราตกลงกันไว้แล้ว ถ้าลูกไม่ ไป กิจกรรมต่อจากนี้ที่เราอยากทำจะไม่เหลือเวลาท”
ซึ่งในเด็กวัยรุ่นหรือเด็กที่โตมากๆ ผู้ใหญ่จะไม่สามารถทำเช่นนี้ได้อีก เพราะเขาโตเกินกว่าจะฟังสิ่งที่เราพูดแล้ว ดังนั้นควรสอนเรื่องวินัยหรือสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เล็ก
(5) ถ้าลูกโวยวายขั้นสุด (Tantrum) ให้พาเขามานั่งที่สงบและปลอดภัย รอเขาสงบ แล้ว จึงพูดย้ำว่า “แม่รู้ว่าลูกไม่อยากอาบน้ำ แต่ยังไงเราก็ต้องอาบน้ำ เราไปอาบน้ำกันนะ” แล้วพาเขาไปอาบน้ำ ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องพูดบ่น อธิบายอะไรยืดยาว แค่เพียงบอกเขาด้วยน้ำเสียงสงบ แต่ชัดเจนว่าต้องทำอะไร ก็เพียงพอแล้ว เราไม่จำเป็นต้องใส่อารมณ์เข้าไป หากเราเหนื่อยมากในวันนั้น ให้พูดให้น้อย จะช่วยลดการเกิดอารมณ์ทั้งของลูก และของเราเอง
(6) เมื่อทำสิ่งที่ควรทำได้สำเร็จ ให้กอดเขาและบอกอีกครั้งว่า “แม่รู้ว่าหนูไม่อยากทำ แต่เราจำเป็นต้องทำ และวันนี้หนูก็ทำได้”
‘เมื่อเราไม่รักษาสัญญาและไม่พูดความจริงกับลูก เขาจะไม่ไว้ใจเรา’
- ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ 3
พ่อแม่สัญญากับเด็กชายว่าจะพาไปซื้อหุ่นยนต์บังคับวิทยุถ้าเขาช่วยเฝ้าหน้าร้านขายของของที่บ้านครบหนึ่งเดือน
เมื่อครบหนึ่งเดือนเด็กชายทวงสัญญาจากพ่อแม่ แต่พ่อแม่กลับบอกเขาว่าไม่เคยสัญญา อะไรแบบนั้น
สาเหตุที่พ่อแม่ปฏิเสธว่าไม่เคยสัญญาอะไรแบบนั้น เพราะตอนนี้เงินในบัญชีของทั้งคู่แทบไม่มีเหลือ แต่ไม่อยากบอกความจริงให้เด็กชายรับรู้
เด็กชายร้องไห้โวยวาย และพยายามทวงสัญญาดังกล่าว
พ่อแม่เห็นท่าไม่ดีจึงบอกว่า ถ้าเขาทำงานอีกหนึ่งสัปดาห์ พ่อแม่จะซื้อให้ทันทีเลย ในครานี้เด็กชายไม่ยอมทำอีกต่อไป
ในกรณีนี้ การที่พ่อแม่จะสัญญาอะไรกับลูกเราควรพิจารณาว่าสัญญานั้น (1) เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับวัยของลูก ไม่ใช่สัญญาที่ทำอะไรเกินวัยของลูก เช่น ลูกวัย 6 ปี อยากได้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง อันนี้ก็ไม่เหมาะสมนัก (2) เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่เกินกำลังของเรา ไม่เกินกำลังทรัพย์ และไม่เกินจริง
ในเหตุการณ์พ่อแม่อาจจะให้สัญญากับเด็กชายเพราะ ณ เวลานั้นพ่อแม่อาจจะพอมี กำลังทรัพย์ถึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทางบ้านไม่เหลือเงินในบัญชี ตรงจุดนี้พ่อแม่ควรพูดความจริงกับลูกให้เขารับรู้ แต่เราจะอธิบายให้เขาเข้าใจตามวัย เช่น
“พ่อแม่สัญญากับลูกว่าถ้าลูกทำงานบ้านครบหนึ่งเดือน เราจะซื้อหุ่นยนต์ให้ลูก แต่ตอนนี้บ้านของเรามีเงินเหลือน้อยมาเลยลูกทำให้เราอาจจะซื้อของเล่นนี้ไม่ได้เหมือนตอนแรกที่สัญญา ซึ่งเป็นความผิดของพ่อแม่ที่ไม่สามารถรักษาสัญญาได้ พ่อแม่ขอโทษนะลูก จะเป็นไปได้ไหมที่พ่อแม่จะทำบางอย่างที่พ่อแม่สามาถทำได้เพื่อชดเชยให้ลูก หรือ ขอเวลาพ่อแม่เก็บเงินก่อนได้ไหมลูก”
ซึ่งถ้าลูกอาจจะผิดหวัง แล้วรู้สึกโกรธหรือเสียใจ ให้เรายอมรับและเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับลูก แม้การพูดความจริงอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกเสียใจและผิดหวัง แต่ดีกว่าการผิดสัญญากับลูกโดยไม่อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นให้เขาฟัง และปล่อยให้เขาเข้าใจผิดต่อไป
คำสัญญาที่เรามอบให้กับลูก มีความสำคัญมากๆ เพราะเขาจดจำสัญญานั้นได้เสมอ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่ามองข้ามคำสัญญานั้น และรักษาสัญญาเสมอ
การพูดความจริง แม้จะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดในบางครั้ง แต่อย่างน้อยยิ่งพูดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีเวลาทำใจมากเท่านั้น เพราะหากลูกมารู้ความจริงทีหลังด้วยตัวเขาเอง เขาอาจจะรู้สึกผิดและเจ็บปวดกว่านั้นนัก
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากไม่รักษาสัญญาหรือการไม่พูดความจริงคือ “การที่ลูกจะไม่ไว้ใจพ่อแม่”
ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่เราไม่ได้มั่นใจว่า เราสามารถทำสิ่งนั้นได้ แต่ก็คิดว่าอาจจะมีแนวโน้มทำได้บ้าง และเราไม่อยากให้เด็กน้อยผิดหวัง เราสามารถบอกเขาว่า “แม่จะลองพยายามสุดความสามารถ แต่ถ้าเกิดแม่ทำไม่ได้ในครั้งนี้ อยากให้ลูกให้อภัยแม่ และในครั้งต่อไปแม่จะพยายามต่อไป”
เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ว่า “ความคาดหวัง” ครั้งนี้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะได้เผื่อใจไว้บ้าง เมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังหวัง อย่างน้อยเขาจะไม่เสียใจจนเกินไป
**********
สุดท้ายการรักษาคำพูดด้วยการพูดคำไหนคำนั้น และการสัญญานั้นมีความหมายกับเด็กๆ มาก เพราะไม่ใช่แค่เพียงความคาดหวังของเขาที่มีต่อคำพูดเหล่านั้น แต่เพราะผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญในชีวิตเขาเป็นผู้พูดและให้คำมั่นสัญญา เด็กๆ พัฒนาความเชื่อใจ และเชื่อมั่นในสภาพแวดล้อมจากผู้ใหญ่ที่เขารัก เป็นบุคคลที่เขาสามารถเชื่อใจได้
เด็กๆ ที่เติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เขาเชื่อใจได้ มีแนวโน้มจะเติบโตเป็น ผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในตนเองและรักษาคำพูดเช่นกัน
ไม่ใช่แค่เพียงเด็กที่ต้องการสภาพแวดล้อมหรือบุคคลที่เขาสามารถเชื่อใจได้ ผู้ใหญ่อย่างเราก็เช่นกัน เราจึงควรพูดคำไหนคำนั้น พูดความจริง และรักษาสัญญาเสมอ