- โรงเรียนทอสีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยครูอ้อน – บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ป้จจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับเด็กก่อนวัยเรียนอนุบาล และประถม โดยประกาศตัวเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
- ไม่ใช่เพียงแค่การนำหลักพุทธศาสนามาปรับใช้กับนักเรียนผ่านวิชาชีวิต แต่รวมถึงการที่คุณครูกับพ่อแม่ต้องมาเรียนรู้วิถีพุทธปัญญาร่วมกัน ภายใต้ความเชื่อที่ว่าสภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมมนุษย์
- ปรัชญาของโรงเรียนทอสีคือ ‘สร้างที่พึ่งแห่งตน เร่งฝึกฝนตนเป็นบัณฑิต’ ดังนั้นบทเรียนแรกของเด็กคือการดูแลตัวเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของวิชาทั้งหลายที่จะทำให้เด็กแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ลึกเข้ามาในซอยปรีดีพนมยงค์ 41 ผมมาถึงโรงเรียนทางเลือกที่ผู้ปกครองหลายคนอยากให้ลูกได้เริ่มต้นเส้นทางการเรียนรู้อย่างมีความสุข ภาพของเด็กประถมที่นำภาชนะจานชามมาล้างท่ามกลางรอยยิ้มและสีหน้าที่สดใส คือความประทับใจแรกระหว่างที่นั่งรอเวลาเพื่อสัมภาษณ์พิเศษ ‘ครูอ้อน’ บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ครูใหญ่โรงเรียนทอสี ถึงความเป็นมาเป็นไปของ ‘วิถีพุทธปัญญา’ ว่ามีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ แค่ไหนภายใต้การเปลี่ยนแปลงพลิกผันของโลกในศตวรรษที่ 21
วิชาสัมมาทิฐิ ‘สุขง่าย ทุกข์ยาก’
โรงเรียนทอสีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยมี ‘ครูอ้อน’ ผู้จบปริญญาโทด้านจิตวิทยาเด็กรับหน้าที่เป็นครูใหญ่ เธอบอกว่าจุดมุ่งหมายแรกของการทำโรงเรียนคืออยากให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้และการมาโรงเรียน
“ตอนเปิดโรงเรียนครั้งแรก มีนักเรียนอยู่ 6 คน จากนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่ปีที่ 6-7 ผู้ปกครองก็เริ่มเรียกร้องให้เปิดแผนกประถมด้วย ซึ่งถ้าถามครู ครูก็อยากเปิดนะ แต่การสอนนักเรียนชั้นอนุบาลกับประถมมันมีความแตกต่างกันพอสมควร ดังนั้นเราจึงจัดประชุมโดยเชิญผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ทางการศึกษา เพื่อนฝูงที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ คนรู้จักที่สนใจมาร่วมวงสนทนาว่าโรงเรียนประถมที่ดีมีคุณภาพควรเป็นอย่างไร”
สิ่งที่ผมสนใจก่อนที่จะข้ามไปสู่บทสรุปของการขยายโรงเรียนสู่ระดับประถม คือครูอ้อนยอมรับว่าตั้งแต่เล็ก เธอแทบไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านพุทธศาสนา เพราะตอนเรียนหนังสือก็เรียนในโรงเรียนคริสต์ กระทั่งพอเปิดโรงเรียนทอสีมาได้พักหนึ่ง ได้เป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ชยสาโร อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จึงได้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา และได้เริ่มปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์ได้เข้าร่วมประชุมและได้อธิบายหลักการพัฒนามนุษย์ตามหลักไตรสิกขาซึ่งครูอ้อนไม่เคยได้ยินมาก่อน ว่าการจัดการการศึกษาที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่จัดการศึกษาแค่เพื่อมีความรู้ไปประกอบอาชีพ แต่ต้องจัดการศึกษาที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม เป็นการพัฒนาทั้งชีวิต ครอบคลุมทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา การศึกษาและพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องเดียวกัน การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้คนมีปัญญา มีสัมมาทิฐิ เป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก ไม่ใช่คนที่สุขยาก ทุกข์ง่าย
“พุทธศาสนามีหลักการที่ชัดเจนว่า เด็กจะมีความสุขที่มั่นคงได้ต้องมีทั้งคุณภาพและสมรรถภาพจิตที่ดี นั่นคือเด็กต้องมีความอดทน ใจสู้ มีสติ มีความใฝ่รู้ใฝ่ดี พากเพียร เป็นต้น
ดังนั้น จากความตั้งใจแรกที่อยากให้นักเรียนมาโรงเรียนอย่างมีความสุข สนุกกับการได้ลงมือทำกิจกรรม แค่นั้นยังไม่พอ เราต้องทำให้เขาเข้าใจด้วยว่าเขามาโรงเรียนทำไม เขามีชีวิตเพื่ออะไร ไม่ใช่แค่เล่น กิน นอน สนุกไปวันๆ แม้ว่าเขาจะยังเล็ก เราต้องทำให้เขารู้ว่า เขาเกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์และความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่น เช่น ฝึกให้เด็กเล็กๆ ดูแลตัวเอง จัดกระเป๋า ถือกระเป๋า ใส่ถุงเท้า ผูกเชือกรองเท้าด้วยตัวเอง พร้อมช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังความสามารถ เราต้องทำให้เขามี mindset ที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กๆ ว่า คนเราใช่ว่าเกิดมาเป็นสัตว์ประเสริฐทันที หากเราจะประเสริฐได้ก็ด้วยการฝึกตน มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉานที่ทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณ ฉะนั้น การฝึกและฝืนตนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากของการเป็นมนุษย์ นี่คือสิ่งที่ครูได้เรียนรู้เมื่อศึกษาพุทธปัญญา”
หลังจากประชุมกับผู้บริหารและได้รับแนวทางจากพระอาจารย์ชยสาโร ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาแล้ว ครูอ้อนจึงตัดสินใจทำโรงเรียนระดับประถมศึกษา พร้อมประกาศว่าโรงเรียนทอสีเป็นโรงเรียนวิถีพุทธในปี พ.ศ.2544
วิชาชีวิต ‘สร้างที่พึ่งแห่งตน’
“เมื่อเด็กเบื่อที่จะเรียนรู้ นั่นคืออันตรายของประเทศชาติ” ครูอ้อนกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง เธอบอกว่าหลักการของพระพุทธเจ้านั้นทำได้จริง ไม่ล้าสมัย และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ทุกวัย
“ปรัชญาของโรงเรียนทอสีคือ ‘สร้างที่พึ่งแห่งตน เร่งฝึกฝนตนเป็นบัณฑิต’ ดังนั้นบทเรียนแรกของเด็กคือการดูแลรับผิดชอบตัวเอง ซึ่งถือเป็นฐานของการเรียนรู้ และถือเป็นเบื้องต้นของบทเรียนในการสร้างศรัทธาในตนเองที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า self esteem สมัยแรกๆ เราไม่ได้สนใจว่า พ่อแม่จะอุ้มลูกมาส่งถึงโรงเรียนและช่วยถอดรองเท้าให้ลูก แต่เมื่อเราศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น ทำให้เราเข้าใจว่าทุกเวลานาทีคือโอกาสของการเรียนรู้และการพัฒนาเด็กให้มีนิสัยหรือพฤติกรรมคุ้นเคยที่ดีงาม เราต้องฝึกให้เด็กรู้จักพึ่งตัวเองตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในโรงเรียน เพราะการที่เด็กทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เขาย่อมเกิดความภาคภูมิใจและเกิดศรัทธาในตัวเอง ซึ่งความศรัทธาเป็นข้อตั้งต้นของหลักพละ 5 คือธรรมอันเป็นกำลังในทางพุทธศาสนา ดังนั้นกิจวัตรในวิถีชีวิต กิจกรรมที่เราทำทั้งหลายในชีวิตประจำวันล้วนแต่มีที่มาที่ไป ที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตทั้งชีวิต จำเป็นต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เล็กๆ”
ครูใหญ่ใจดีอธิบายเพิ่มเติมว่าบทเรียนชีวิตจะต้องเริ่มตั้งแต่เข้ามาในโรงเรียน เด็กทุกคนต้องถือข้าวของแบกเป้ด้วยตัวเอง รวมถึงเรียนรู้การดูแลตัวเองในแบบอื่นๆ เช่น หลังเรียนว่ายน้ำ แทนที่พี่เลี้ยงจะนำชุดว่ายน้ำไปซักและไปตากให้ เด็กทุกคนจะค่อยๆ เรียนรู้วิธีดูแลชุดว่ายน้ำ ซักและตากอย่างไรจึงจะถนอมชุดว่ายน้ำ บทเรียนในวิถีชีวิตเหล่านี้ บูรณาการสารพัดวิชาทั้งภาษา วิทยาศาสตร์ เลข เป็นบทเรียนที่เป็นธรรมชาติ ท้าทายและที่สำคัญยิ่งคือทำให้เขาเห็นศักยภาพของตัวเอง
สำหรับวิชาที่บรรจุในหลักสูตรของนักเรียนแต่ละชั้น นอกจากมีสาระวิชาการตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว วิชาชีวิตดูจะเป็นสิ่งที่โรงเรียนทอสีให้ความสำคัญ จนกลายเป็นที่มาของชื่อหลักสูตรเท่ๆ เช่น หลักสูตรเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ที่มี 12 บทเรียน เช่น ป.1 มีบทเรียนที่ชื่อว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนและหนี้ศักดิ์สิทธิ์’ ส่วนป.6 มีบทเรียนที่ชื่อว่า ‘โลกรอดได้เพราะกตัญญู’ และปิดท้ายด้วย ‘บทเรียนแกะสลักชีวิต’
“การศึกษาที่ผ่านมามุ่งเอาความรู้ทางวิชาการเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตหรือการพัฒนาด้านนอกคือเรื่องพฤติกรรม และการพัฒนาด้านใน คือจิตใจและปัญญาของมนุษย์เป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นการเรียนรู้แบบแยกส่วน คือเรียนรู้แต่สิ่งนอกตัวเท่านั้น ไม่ได้เชื่อมโยงกลับมาที่ตัวผู้เรียนเพื่อพัฒนาชีวิตตนเอง
จึงกลายเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งหมด ทั้งเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม กระทั่งย้อนกลับมาทำลายซึ่งกันและกันอย่างในปัจจุบัน”
หลักสูตรเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวนี้ ผมขออนุญาตหยิบยกมาสัก 2 บทเรียน ที่ผมรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ บทเรียนที่ชื่อว่า กัลยาณมิตร ของนักเรียนชั้นป.2
“อันที่จริงบทเรียนนี้ ครูเองก็เพิ่งได้เรียนรู้เมื่อตอนที่ทำหลักสูตรว่า การเป็นกัลยาณมิตรที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่พูดหรือทำแต่สิ่งที่เพื่อนถูกใจ ในกรณีที่มีสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร กัลยาณมิตรที่แท้ต้องกล้าที่จะบอก เตือน หรือให้เสียงสะท้อนอย่างถูกกาลเทศะด้วยคำพูดที่อ่อนโยน แม้ว่าเขาอาจจะโกรธหรือไม่พอใจเรา เป็นต้น”
และอีกหนึ่งบทเรียนของชั้นป.6 ซึ่งเป็นดั่งปัจฉิมนิเทศและวัคซีนที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางใจแก่เด็กๆ บทเรียนแรกคือเรื่องโลกรอดได้เพราะกตัญญู ท่านพุทธทาสบอกว่า หมุดตัวแรกที่ต้องตอกให้กับเด็กๆ คือความกตัญญูกตเวที ที่เราต้องมีต่อบุพการี และผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย ซึ่งเราเริ่มเรียนมาตั้งแต่ชั้น ป.2 ที่มีชื่อบทเรียนว่า หนี้ศักดิ์สิทธิ์ และก่อนที่เด็กจะจบชั้นป.6 เราก็กลับมาย้ำอีกทีว่า โลกรอดได้เพราะความกตัญญู
“ส่วนบทเรียนสุดท้ายของชั้นป.6 มีชื่อว่า แกะสลักชีวิต ครูจะเล่าเรื่องงานแกะสลักม้าอันโด่งดังของไมเคิล แองเจโล่ ซึ่งมีคนถามเขาว่าทำไมถึงแกะม้าได้งดงามเพียงนี้ ไมเคิลก็ตอบเพียงสั้นๆว่า เขาเพียงแค่แกะส่วนที่ไม่ใช่ม้าออกไป ดังนั้นคนเราก็เช่นเดียวกัน หากเราอยากจะให้ชีวิตของเรางดงาม ประสบความสำเร็จ เราก็ต้องแกะสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกไป ไม่ว่าจะเป็นนิสัยขี้เกียจขี้คร้าน นิสัยขี้อิจฉา ขี้โมโห ความใจร้อนหรือแม้แต่ขี้น้อยใจและอื่นๆ อีกมากมาย ไม่จำเป็นที่คนเราจะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิต เพราะสิ่งไม่ดีงามเหล่านี้ มันจรเข้ามาเพราะเราต้อนรับเขา เด็กป.6 จึงต้องทำสมุดพัฒนาตนว่าเขาจะพัฒนาอะไร อย่างไร วางแผนและลงมือทำอย่างจริงจัง”
สำหรับ วิชาชีวิต ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโรงเรียนนั้น ก็คือการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจและปัญญาตามหลักไตรสิกขา ซึ่งแปลงเป็นสัญลักษณ์ 3 อย่าง คือ 0, ∞, ? (ประธานกรรมการวัดวิมุตติ ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นผู้มอบสัญลักษณ์นี้ให้เป็นของขวัญแก่ครูอ้อน)
“สัญลักษณ์แรก คือ 0 หรือเลขศูนย์ หรือ Zero Harm หมายถึงการไม่เบียดเบียนกันด้วยกายวาจา
สัญลักษณ์ ∞ หรือ Infinite Compassion หมายถึงการพัฒนาจิตใจ การฝึกขยายความเมตตาในวงกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะพรรคพวกตนเอง การมองทุกคนเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เป็นลูกหลานญาติมิตร ให้ความเอ็นดู ความเมตตา และการฝึกเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน
ส่วนสัญลักษณ์สุดท้าย ? หรือ เครื่องหมายคำถาม คือ เมื่อเกิดอะไรขึ้น เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่ และเราจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่เอาแต่เพ่งโทษผู้อื่น”
ตัวอย่างกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีวิตอย่างสุดท้ายที่ขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังคือ กิจกรรมการเปิดวงกลม ซึ่งที่โรงเรียนทอสีจะมีวงกลม 4 วง ได้แก่ วงกลมระดมรู้, วงกลมระดมคิด, วงกลมคลายปม และวงกลมกัลยาณมิตร เช่น ก่อนกลับบ้านจะมีการเปิดวงกลมกัลยาณมิตรให้เด็กๆ ขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชม หรือตักเตือนกันและกันได้ในช่วงนี้ หรือเป็นโอกาสของการทบทวนเรื่องศีลว่าสามารถรักษาศีลข้อใดได้หรือไม่ได้อย่างไร เป็นต้น
“วงกลมนี้จะช่วยสอนให้เด็กๆ กล้าเปิดใจ กล้ายอมรับผิด รู้จักขอโทษ เด็กที่นี่จึงขอบคุณเป็น ขอโทษเป็น และรู้จักที่จะให้โอกาสเพื่อน ให้โอกาสตนเอง นอกจากนี้เราฝึกให้เด็กทอสี ชื่นชมผู้อื่นเป็น ที่เรียกว่าการแสดงมุทิตา ซึ่งถ้าคนไทยทำสิ่งนี้เป็น ความอิจฉาริษยาก็ย่อมจะลดลงไปเองโดยธรรมชาติ”
บทเรียนกัลยาณมิตร ‘เด็ก-ครู-ผู้ปกครอง จูงมือไปด้วยกัน”
ที่โรงเรียนทอสี การบ่มเพาะขัดเกลาเด็กสักคนไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ครูประจำชั้นเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน ที่ต้องทำหน้าที่เป็นครู
“แม้กระทั่งแม่ครัวก็คือครูที่สอนในเรื่องการทำอาหาร ตลอดจนกิริยามารยาทได้ เพราะเราให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงจำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องเข้าใจแนวคิดของโรงเรียน และมีส่วนร่วมฝึกลูกตามแนวทางที่โรงเรียนกำหนด อย่างนี้จึงจะเห็นผล และในความเป็นจริง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคือผู้ปกครอง ซึ่งเป็นครูคนแรกของลูก จึงจำเป็นที่ผู้ปกครอง ครูและโรงเรียนจะต้องจับมือกันอย่างเหนียวแน่นในการพัฒนาเด็ก ไม่ใช่ที่โรงเรียนฝึกอย่าง ที่บ้านทำอีกอย่าง อย่างนั้นจะเป็นการสูญเปล่าที่น่าเศร้า”
สำหรับการคัดเลือกคุณครู โรงเรียนทอสีมีเกณฑ์การคัดเลือกที่ไม่เหมือนใคร “คุณสมบัติข้อแรกๆ คือ ต้องมีอุดมการณ์ที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา และมีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาตนเอง ทั้งในเรื่องการสอน และที่สำคัญยิ่งคือการพัฒนาชีวิตและสังคม ซึ่งเราถือว่า ศีล 5 เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและมีความสุข นี่จึงเป็นคุณสมบัติที่เราคาดหวังจากผู้สมัครมาเป็นครู ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน ไม่ใช่พูดอย่างทำอีกอย่าง ต่อหน้าและลับหลังต้องเหมือนกัน ความเคารพนับถือ ให้เกียรติกันระหว่างครูกับลูกศิษย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
ดังนั้น การจัดการศึกษาที่นี่ จึงไม่ได้มุ่งพัฒนาเด็กนักเรียนแต่อย่างเดียว ครูและบุคลากรทุกคนรวมถึงผู้ปกครองต้องพัฒนาตนเองไปพร้อมกันกับเด็กๆ ด้วย เราอยากให้คนในชุมชนของเรามีความเป็นนักศึกษาตลอดชีวิต
สมัยแรกๆ ที่เราเปิดประถม การคัดเลือกครูจะโหดมาก เพราะครูต้องมีความสามารถรอบด้าน เรามีสอบร้องเพลง เคลื่อนไหวตามจังหวะ สอบสมรรถภาพทางกายด้วยการให้วิ่งขึ้นลงบันได ด้านศิลปะด้วยการวาดรูปการประดิษฐ์ ด้านการจัดการเช่นให้จัดเตรียมแซนวิช หรือแม้แต่การซักผ้า เราก็เอามาทดสอบเพื่อดูกระบวนการคิด การทำงาน ความละเอียดของผู้สมัคร ก่อนถึงด่านสุดท้ายที่ผู้สมัครทุกคนจะต้องเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 7 วัน 6 คืนที่ยุวพุทธ แต่ตอนนี้ไม่เข้มข้นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”
หลังจากเข้ามาทำหน้าที่คุณครู นอกจากวิชาการที่คุณครูต้องมีความรู้แล้ว สิ่งสำคัญคือครูต้องมีความเป็นกัลยาณมิตรที่แท้จริงกับนักเรียน ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องพยายามเข้าใจเหตุปัจจัยของเด็กแต่ละคน เพราะเด็กทุกคนล้วนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง
“สัมพันธภาพระหว่างครูและนักเรียนสำคัญมาก ความเคารพ ให้เกียรติรับฟังซึ่งกันและกัน การไม่ด่วนตัดสิน เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เราปลูกฝังอย่างจริงจัง
ครูอ้อนไม่เชื่อว่าเด็กที่เรียนเก่งจะต้องประสบความสำเร็จเสมอไป มีถมเถไปที่ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ที่ทอสีเราจึงเน้นที่ความรู้ไม่ท่วมหัวเอาตัวรอดได้
ครูมองว่ามันมีทั้งเรื่องของพรสวรรค์และพรแสวง ต่อให้มีพรสวรรค์ แต่ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียร ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนพวกพรแสวงก็สามารถประสบความสำเร็จได้ หากมีฉันทะ มีความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ที่จะ ‘ฝึกตน อดทน สู้สิ่งยาก’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังให้เด็กทุกคนมี
สิ่งที่มักจะเป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความท้อแท้คือการเปรียบเทียบ โรงเรียนเน้นย้ำให้เด็กแข่งกับตัวเองมากกว่าแข่งกับผู้อื่น เราวันนี้กับเราเมื่อวาน เราเมื่อเดือนที่แล้ว มีอะไรที่พัฒนา อะไรที่ยังไม่พัฒนา อย่างนี้เรียกว่าเปรียบเทียบเป็น แล้วก็ฝึกพิจารณาเหตุปัจจัย อะไรที่ดีก็เพียรรักษา อะไรที่ไม่ดีก็เพียรละ เราต้องปลูกฝังวิธีคิดแบบนี้ตั้งแต่เล็กๆ”
นอกจากหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เป็นคุณครูแล้ว ผมสนใจแนวคิดของครูอ้อนที่แม้จะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ก็ทำให้รู้ว่าเธอไม่ได้มองว่าครูเป็นแค่ลูกจ้าง แต่เป็นทั้งเพื่อนร่วมทาง เป็นกัลยาณมิตร เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นผู้ที่มีบุญคุณต่อเธอ ผ่านการจัดเตรียมอาหารเช้าไว้ให้ครูทุกท่าน การช่วยตักเตือนซึ่งกันและกัน รวมถึงการบอกให้ครูกลับบ้านตามเวลา
“ที่ต้องให้คุณครูกลับบ้านตามเวลา เพราะนอกรั้วโรงเรียน คุณครูเองก็มีหน้าที่ของความเป็นพ่อแม่และความเป็นลูกด้วย ดังนั้นทุกคนต่างมีภาระส่วนตัว ซึ่งครูก็ไม่ปรารถนาให้คุณครูทอสีสอนลูกคนอื่นได้ดี แต่ครอบครัวตัวเองกลับมีปัญหา เรื่องแบบนี้ไม่ควรให้เกิดขึ้น”
ส่วนการทำงานกับผู้ปกครองเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ครูอ้อนให้ความสำคัญและยอมรับว่า ‘ยาก’ เพราะต่อให้เด็กดื้อไม่เชื่อฟังก็ยังหาวิธีปรับจูนกันได้ แต่สำหรับผู้ปกครองนั้น ผมรู้สึกได้ถึงคำว่า ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ จากสายตาของครูใหญ่ท่านนี้
“การสอนเด็กในยุคนี้จะมีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเด็กที่เป็นลูกคนเดียว เป็นหลานคนเดียว พ่อแม่บางบ้านกว่าจะทำกิฟต์ (GIFT) ได้ลูกมาแทบแย่ ดังนั้นหลายบ้านจึงเลี้ยงลูกชนิดยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ทำให้เขาเข้าใจผิดว่าเขาคือศูนย์กลางของจักรวาล ครูเองก็เห็นใจผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกไม่เป็น บางครอบครัวมีวิธีการเลี้ยงชนิดคนละขั้ว เช่น พ่อใจเย็นแต่แม่ใจร้อน เด็กก็จะสับสน ดังนั้นโรงเรียนทอสีจึงต้องมี ‘ห้องเรียนครูคนแรก’ ที่ผู้ปกครองทุกท่านจะต้องเข้าร่วม 4 ครั้ง (ครั้งละ 3 ชั่วโมง) เพื่อให้การอบรมบ่มเพาะเด็กของผู้ปกครองและครูเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งยังป้องกันไม่ให้เด็กมีสองบุคลิก เพราะเด็กบางคนมาโรงเรียนแล้วน่ารักมาก แต่พออยู่บ้านกลับเป็นเจ้าตัวแสบ ซึ่งครูคิดว่าไม่โอเค เมื่อเขาน่ารักกับครูที่โรงเรียน เขาควรต้องน่ารักกับพ่อแม่และทุกคนที่บ้านด้วย เพราะทุกคนมีบุญคุณกับเขามากมาย”
ครูอ้อนกล่าวเพิ่มเติมว่า “เด็กทุกคนต่างถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อม ซึ่งสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่สำคัญที่สุดคือ สถาบันครอบครัว ดังนั้นถ้าที่บ้านมีปัญหา พ่อแม่ไม่ร่วมมือกัน ต่อให้โรงเรียนดีแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้”
วิถีพุทธปัญญา ‘วัคซีนชีวิต ทางรอดของสังคม’
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ผมถามครูอ้อนตรงๆ ว่าการที่ผู้ปกครองและครูสอนเด็กไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้เด็กที่จบออกไปแล้ว ‘โลกสวย’ หรือรับมือกับโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งครูอ้อนตอบอย่างมั่นใจว่า บทเรียนชีวิตที่โรงเรียนและครอบครัวร่วมกันฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ จะช่วยให้พวกเขารับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีสติและรู้เท่าทัน
“โรงเรียนนี้ไม่ใช่ทุ่งลาเวนเดอร์ แต่เป็นสถานที่ที่ต้องการให้ทุกคนมีอุดมการณ์ที่จะอดทนสู้สิ่งที่ยาก ถ้าเขาพบเจอแต่สิ่งที่ง่าย ที่ถูกใจในชีวิต เขาจะได้ฝึกตนเองอย่างไร
ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ทุกคนจะต้องศึกษาให้เข้าใจหลักการและแนวทางของโรงเรียน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิตทั้งที่บ้านและโรงเรียน ไม่ใช่แค่เชื่อว่าดีหรือด้วยการพูด
ในโรงเรียนก็ยังมีนักเรียนทะเลาะกันบ้าง พูดจาไม่น่ารักบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ครูก็จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนในเรื่องภาษา เช่น ประโยคนี้แต่ละคนฟังแล้วรู้สึกอย่างไร ประโยค/คำพูดแบบใดที่จะไม่เป็นพิษแก่ผู้ฟัง บทเรียนชีวิตที่เกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ การสืบสาวหาเหตุปัจจัย ล้วนแต่เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าต่อชีวิตเขา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือบ่มเพาะสิ่งที่ดีงามต้องเริ่มตั้งแต่เล็กๆ ไม้อ่อนย่อมดัดง่าย เราจึงต้องปลูกฝังวิถีพุทธปัญญา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลและประถม เพราะนี่เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด”
ในมุมมองของครูอ้อน แม้โลกจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่หลักคิดในพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมไม่เคยล้าสมัย ยัง ‘ล้ำสมัย’ และเป็น ‘ทางรอด’ ให้กับสังคม
“ที่สำคัญคือหลักพุทธธรรมสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองทั้งด้านใน ด้านนอก และหากไม่มีสิ่งนี้ เราจะเป็นทุกข์ได้ง่าย ไม่มีที่พึ่งใดดีไปกว่าธรรมะ ลองนึกภาพดูว่า หากทุกคนหันกลับมาทบทวนตัวเอง และพัฒนาตนเองก่อนที่จะเพ่งโทษผู้อื่น ครอบครัวหรือสังคมจะน่าอยู่เพียงใด”
ก่อนจากกันวันนั้น ผมถามครูใหญ่โรงเรียนทอสีว่าวางบทบาทความเป็นครูของตัวเองไว้อย่างไร ซึ่งคำตอบคือบทสรุปว่าทำไมโรงเรียนแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่โรงเรียน ‘ทางเลือก’ แต่เป็นโรงเรียน ‘ควรเลือก’ อีกโรงเรียนหนึ่ง
“ครูมองว่าเราเป็นเสมือนเพื่อนร่วมทางของเด็กๆ เราลงเรือลำเดียวกัน ต้องช่วยกันพาย ช่วยกันประคับประคอง ให้กำลังใจกัน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ฟันฝ่าคลื่นลมมรสุมในทะเล เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุด คือ ‘พุทธปัญญา’ ให้ได้”