- เด็กๆ 7 คน หรือ ‘แก๊งขี้แพ้’ ได้เผชิญหน้าและเอาชนะปีศาจ ‘เพนนีไวส์’ หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า ‘มัน (It)’ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนพวกเขาเป็นผู้ใหญ่ ‘มัน’ ก็ได้กลับมาอีกครั้ง จนสุดท้ายพวกเขาก็หาทางเอาชนะด้วยวิธีการสบประมาทให้ ‘มัน’ ตัวเล็กลง เหมือนที่มันเคยทำกับพวกเขามาก่อน
- บางครั้งคนเราก็ไม่รู้ตัวว่ามีรูปแบบซ้ำๆ ของการหดตัวเองให้เล็ก โดยการด้อยค่าตัวเองให้ดูกระจอก ไม่ให้อภัยตัวเอง ลงโทษและกัดกร่อนตัวเองจากภายในด้วยวิธีการมากมาย
- ความกลัวและรู้สึกลบอันเกิดจากบาดแผลบางอย่างในวัยเด็กที่เราแกล้งลืมไป จะหาจังหวะโผล่ขึ้นมาหลอกหลอนเราอีก จนกว่าเราจะก้าวข้ามมันได้จากข้างในจริงๆ
1.
แก๊งขี้แพ้ (พวกเขาเรียกตัวเองแบบนั้น) ประกอบด้วยเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองแดรี่ 7 คน บิล, เอ็ดดี้, ริชชี่, ไมค์, สแตน, เด็กหญิงเบฟเวอลี่
และเบน เด็กชายเจ้าเนื้อซึ่งดูอ่อนแอและตกเป็นเป้าการถูกรังแกจากพวกเด็กโตขี้แกล้ง คล้ายคลึงกับเด็กๆ คนอื่นในกลุ่ม
พวกเขาเคยเผชิญหน้ากับปิศาจตัวตลกกินเด็กชื่อ เพนนีไวส์ ซึ่งได้หลอกหลอนเมืองแดรี่มานาน โดยเรียกปีศาจที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตอันไกลโพ้นตัวนี้ว่า ‘มัน (It)’ มันฆ่าน้องชายของบิลและตามล่าแต่ละคนในแก๊งค์ขี้แพ้ โดยปรากฏกายได้หลากหลายรูปแบบเป็นสิ่งที่พวกเขากลัว
แต่ในที่สุดกลุ่มเด็ก 7 คนก็เอาชนะมันได้ อย่างไรก็ตาม เบฟเห็นนิมิตว่าพวกเขาจะต้องสู้กับมันอีกตอนโต พวกเขาสัญญากันว่าจะกลับมาที่เมืองแดรี่อีกครั้ง ถ้า ‘มัน’ โผล่มาอีกเด็กๆ ในแก๊งขี้แพ้ต่างแยกย้ายกันไปเติบโต และบัดนี้พวกเขาคือผู้ใหญ่วัยสี่สิบต้นที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาเหมือนจะลืมความทรงจำโหดร้ายในวัยเด็กไปแล้วแต่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งรบกวนในใจบางอย่างราวกับว่าสิ่งที่อยากลืมกำลังร้องบอกถึงส่วนเสี้ยวสำคัญของตัวตนพวกเขา บิล กลายเป็นนักเขียนดังซึ่งยังคงหงุดหงิดเพราะตอนจบของเรื่องแต่งของเขามักจะถูกวิจารณ์ ส่วน เบน เด็กชายจ้ำม่ำก็กลายเป็นสถาปนิกหนุ่มหุ่นงามแต่ยังเป็นคนโสดเหงาๆ ฯลฯ 27 ปีผ่านไปนับแต่เหตุการณ์สยองในเมืองแดรี่จบลงในครั้งก่อน ในที่สุดก็เกิดเหตุฆาตกรรมลึกลับขึ้นอีก
ไมค์ซึ่งเป็นคนเดียวในกลุ่มที่ยังอยู่ในเมืองแดรี่จึงแจ้งให้เพื่อนทุกคนกลับมาที่เมืองในวัยเด็ก
คนในกลุ่มเกือบทั้งหมดกลับเมืองแดรี่ทั้งที่รู้สึกกลัว ในที่สุดพวกเขาก็ทราบว่าเพนนีไวส์กลับมาแล้ว! และได้พากันเดินทางไปยังโพรงหินใต้บ้านร้างอันเป็นที่ซ่อนของมัน และในขณะเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง บิล ถูกบีบให้เผชิญว่าเขาแกล้งป่วยในวันมรณะของน้องชาย ลึกๆ เขาเชื่อว่าตนมีส่วนในความตายของน้อง อีกทั้งมันปรามาส เบน ว่าเป็นแค่เด็กอ้วนที่ต้องเปลี่ยวใจไร้คู่ไม่ว่าจะทำอะไรสำเร็จมามากแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ในที่สุดบิลก็ให้อภัยตัวเองได้ และคนในแก๊งขี้แพ้แต่ละคนก็ค่อยๆ ทำงานกับความกลัวของตัวเองได้แม้หนึ่งในพวกเขาได้ถูกฆ่าตายไป
ในภายหลัง พวกเขาตระหนักว่าต้องทำให้ ‘มัน’ ตัวเล็กเพื่อปราบมัน โดยพวกเขาใช้ถ้อยคำสบประมาทดูแคลนกระทั่งตัวมันหดเล็กคล้ายที่มันเคยทำกับพวกเขา กระทั่งมันดูอ่อนแรงราวกับหนูน้อยหมดทางสู้
มันหัวเราะดังและกล่าวว่า พวกเขา ‘โตแล้ว’
ผองเพื่อนขยี้หัวใจเพนนีไวส์และปลิดชีพมันได้ในที่สุด แล้วก็รีบหนีออกจากบ้านร้างอันเป็นส่วนควบของรังมันซึ่งกำลังพังทลายลงไปตามเจ้าของ พวกเขากลับไปยังลำน้ำที่เคยแหวกว่ายด้วยกัน เบนกับเบฟจุมพิตกันในกระแสน้ำแห่งมิตรภาพนั้น เบนตระหนักว่าตนเองคู่ควรกับความรัก
2.
‘เพื่อน’
แก๊งค์ขี้แพ้อยู่เคียงข้างกันเสมอมาและพากันเอาชนะความกลัวของตัวเองได้
อีกทั้ง พวกเขาไม่จำเป็นต้องหดตัวให้เล็กเพื่อที่จะมี ‘เพื่อน’
หดตัวเองตัวให้เล็ก แล้วรอดจริงหรือ?
อย่างไรก็ตาม บางครั้งคนเราก็ไม่รู้ตัวว่ามีรูปแบบซ้ำๆ ของการหดตัวเองให้เล็ก โดยการด้อยค่าตัวเองให้ดูกระจอก ไม่ให้อภัยตัวเอง ลงโทษและกัดกร่อนตัวเองจากภายในด้วยวิธีการมากมาย เหมือนที่บิลและเบนเคยทำกับตัวเอง
ในวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่เราเองก็อาจจำไม่ได้แล้ว การทำตัวเล็ก อาจเป็นวิธีหนึ่งที่เราเคยใช้เพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ เช่น ถ้าเรายอมและหดจ๋องแบบนั้นแล้วคนอื่นจะเลิกข่มเหงเรา หรือเป็น ‘เพื่อน’ (ใส่เครื่องหมายเพื่อตั้งคำถาม) กับเรา และบางทีเราก็ใช้มันอยู่จวบจนบัดนี้โดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ไม่จำต้องเป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว หรือเราอาจยังต้องการการยอมรับจาก ‘เพื่อน’ ในวัยเด็กคนนั้นๆ ที่เคยเข้ามาด้อยค่าเรา เราคิดไปเองว่าตอนเด็กเราคงจะทำอะไร ‘ผิด’ หรือมีบางอย่างบกพร่อง และในวัยผู้ใหญ่เราก็อาจดึงคนแบบนั้นเข้ามาเป็นระยะๆ โดยไม่รู้ตัว เราคิดไปเองโดยไม่รู้ตัวเช่นกันว่าสักวันที่เราหดตัวให้รันทดได้มากพอต่อหน้าคนลักษณะนั้นแล้วเขาจะโอเคกับเรา หรืออยากเป็นเพื่อนชิดเชื้อกับเราแบบที่เราอยากเป็นเพื่อนกับเขาในที่สุด
แต่ก็เหมือนที่ตัวตลกกินเด็กทำกับเบนและบิล ยิ่งพวกเขาด้อยค่าตัวเอง รู้สึกผิดและลงโทษตัวเองตามที่มันต้องการ ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งต่างๆ จะคลี่คลายไปในทางดีขึ้น อีกทั้ง บางสิ่งในใจเราเองที่คอยเฆี่ยนตีให้เราให้ร้ายตัวเองและทำตัวเล็ก ก็คล้ายกับเพนนีไวส์ที่ทำให้เรารังแกตัวเองกันได้อย่างสาหัสกว่าใคร ทั้งที่เราไม่มีวันจะพูดกับเพื่อนในทางลบแบบนั้นได้เลย
3.
ขยายเรื่องลบและปิดบังเรื่องดีๆ ของตัวเอง
มีคนที่ไม่อนุญาตให้เรื่องดีบางอย่างเกิดกับขึ้นตัวเอง เหมือนกับที่ เบน คิดลบกับตัวเองและไม่อนุญาตให้ตัวเองมีแฟนทั้งที่อยากมี
และมีคนที่โดยไม่รู้ตัว ขยายเรื่องลบที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ใหญ่ในบางเรื่องพร้อมกับปิดเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเมื่ออยู่กับคนบางลักษณะ จนเมื่อวันที่เพื่อนที่เขาให้ความสำคัญเริ่มจะเชื่อเรื่องเล่าบัดซบนั้น โดยเริ่มมีบรรยากาศความเหนือกว่าหรือดูแคลน หรือพูดจาซ้ำเติมเขาขึ้นมา…
เขาจึงตื่นรู้โดยพลัน และตั้งคำถามว่า เขากำลังทำอะไรอยู่? และทำไปเพื่ออะไร?
คนที่เป็นเพื่อนจริงๆ ต้องการให้เขาด้อยค่าและพูดจาให้ร้ายตัวเอง หรืออยากพูดแบบนั้นกับเขาจริงหรือ?
ในอดีตพฤติกรรมแบบเพนนีไวส์อาจจะอยู่ข้างนอกก็ได้ แต่ตอนนี้บางอย่างในใจเขาเองนั่นแลที่สร้างมันขึ้นมา
ความกลัวและรู้สึกลบอันเกิดจากบาดแผลบางอย่างในวัยเด็กที่เราแกล้งลืมไป จะหาจังหวะโผล่ขึ้นมาหลอกหลอนเราอีก จนกว่าเราจะก้าวข้ามมันได้จากข้างในจริงๆ
เราทุกคนคู่ควรกับอะไรที่มีสุขภาวะกว่านั้นนะ
4.
เมื่อตระหนักว่ามีเสียงภายในที่คอยจ้องทำร้ายตัวเอง เขาก็มีโอกาสเปลี่ยนรูปแบบอันนี้ พร้อมกับเริ่มตระหนักชัดขึ้นว่านับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มีผู้คนหลากเพศหลายวัยที่ชื่นชม เป็นห่วงเป็นใยเขาอย่างแท้จริง ทั้งคอยเกื้อกูล ผลักดันและยินดีกับสิ่งดีๆ ที่เขาได้รับอยู่มากมายเพียงใดโดยเขาไม่ต้องทำตัวหม่นหมองอะไรเลย
เขาให้เวลามากขึ้นไปเองกับผู้คนที่คอยทอแสงเกื้อหนุนและหวังดีมาตลอด และก็เริ่มเปิดรับความชื่นชมและการที่คนอื่นให้ค่าเขาได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการยอมรับความเรืองรองหอมนวลที่ผู้คนมอบให้เช่นนี้ ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการให้ความเคารพผู้คนที่หวังดีกับเราเหล่านี้ด้วย
อ้างอิง
อิทภาคสอง (It Chapter two) ทำมาจากนวนิยายเรื่อง It ของสตีเฟน คิง (Stephen King)