- การที่ต้องคอยอยู่โยงเฝ้าบ้านเลี้ยงลูก ไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้นั้น การหยิบมือถือมาช่วยผ่อนคลายก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่สะดวกดีในช่วงพักสั้นๆ ของพ่อแม่ตอนที่ลูกไม่งอแง หลับ หรือกำลังเล่นของเล่นเพลินๆ
- หากลูกไม่ได้เห็นหน้าจอหรือเห็นแป๊บเดียวก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรกับเด็ก แต่ตอนใช้นั้นมีสิ่งที่ต้องระวังอยู่เสมอ นอกจากอย่าให้ลูกแย่งมือถือเราไปเล่นแล้ว คืออย่าทำให้มือถือแย่งเวลา ความสนใจ แรงจูงใจอื่นๆ จากการเลี้ยงลูกไป
- จริงอยู่ว่าการเลี้ยงเด็กต้องใช้ความทุ่มเท แต่จะทุ่มเกินจนเสียสุขภาพจิตก็จะเป็นผลเสียกับทั้งตัวเองและเด็ก แน่นอนว่าถ้าเลี้ยงลูกอย่างอมทุกข์คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ดังนั้นการหาสิ่งบันเทิงมาทำให้สุขภาพจิตแม่ดีขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ
เกิดมาเป็นแม่คนหรือพ่อคนนั้น นอกจากความปลื้มปิติที่มีแก้วตาดวงใจที่แสนน่ารักแล้ว อีกสิ่งที่ได้มาพร้อมกันคือความเหนื่อยและความเครียด เมื่อมีลูกแล้วหลายๆ คนชีวิตเปลี่ยนไปมาก นอกจากจะต้องทุ่มเทเวลาคอยดูแล หลายสิ่งที่เคยทำได้ก็กลายเป็นทำไม่ได้เพราะเวลาน้อยลง หรือหลายอย่างที่ชอบแต่ไม่ดีกับลูกก็ต้องเลิก อย่างจะออกไปเที่ยวบ่อยๆ เหมือนตอนก่อนมีลูกก็ไม่ได้ จะนั่งดูซีรีส์ต่อเนื่องหลายๆ ชั่วโมงก็ไม่ได้ แถมงานเลี้ยงดูเด็กนั้นนอกจากจะเหนื่อยแล้ว บางครั้งก็น่าเบื่อเหมือนกันเพราะต้องทำกิจกรรมซ้ำๆ อย่างคอยเปลี่ยนผ้าอ้อม คอยโอ๋ตอนลูกร้องไห้ ถ้าเป็นคุณแม่ก็ต้องคอยปั๊มน้ำนมด้วย งานพวกนี้ไม่มีเวลาชัดเจนว่าจะต้องทำกี่โมง ตอนไหน ก็เลยกลายเป็นต้องเฝ้าดูลูกตลอดเวลา หรือพอลูกโตขึ้นหน่อย เด็กก็มักจะติดกับผู้เลี้ยงหนึบ เอะอะก็จะอยู่กับแม่ จะให้คนเลี้ยงอุ้ม จะชวนเล่นด้วยตลอด จะบอกให้นั่งเฉยๆ นะลูก พ่อหรือแม่ขอไปทำอย่างอื่นก่อนแล้วเด็กจะทำตามนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยกับบางคน การที่อยู่แต่กับลูก ลูก และลูกนั้น ก็ไม่แปลกที่จะเบื่อในบางครั้ง
หากพูดถึงความเบื่อแล้ว ผมเชื่อว่าในปัจจุบันไม่ว่าใครตอนกำลังรออะไรอยู่ หรือตอนว่างๆ ไม่มีอะไรทำ สิ่งแรกๆ ที่ต้องหยิบมาแก้เบื่อก็คือโทรศัพท์มือถือ เพราะโทรศัพท์ยุคนี้ทำได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการแชท ดูข่าวสาร ดูวอล/ฟีดของคนรู้จัก หรือคนดัง อ่านอีบุ๊ก ดูคลิป ฟังเพลง สารพัดกิจกรรมรวมอยู่ในเครื่องเดียว การที่ต้องคอยอยู่โยงเฝ้าบ้านเลี้ยงลูก ไปไหนมาไหนไม่ค่อยได้นั้น การหยิบมือถือมาช่วยผ่อนคลายก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่สะดวกดีจริงไหมครับ ช่วงพักสั้นๆ ของพ่อแม่ตอนที่ลูกไม่งอแง หลับ หรือกำลังเล่นของเล่นเพลินๆ ขอเวลาเล่นมือถือแก้เบื่อแก้เครียดหน่อยจะได้ไหม อย่างไรก็ตามก็มีบทความเยอะมากที่ออกมาพูดถึงข้อเสียของการให้เด็กเล่นมือถือทั้งในแง่ของพัฒนาการ การเรียนรู้ และสังคม ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่จะอันตรายไหมหรือมีข้อเสียอะไรไหม หากผู้เลี้ยงดูนั้นขอเล่นมือถือเอง ไม่ได้ให้เด็กเล่นด้วย จะอันตรายหรือไม่นั้นน่าจะเป็นประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันนัก วันนี้เรามาดูผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันครับ
การที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงยังต้องใช้มือถือนั้นเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก หลายๆ คนก็ยังต้องทำงานไปด้วย ต้องตอบข้อความลูกค้า หรือตอบอีเมลเรื่องงาน และจากชีวิตก่อนมีลูกที่ใช้มือถือเกือบตลอดเวลากลายเป็นต้องเลิกเด็ดขาดตอนมีลูกนั้นมันเป็นไปได้ยากมาก ข่าวดีคือผู้ที่เลี้ยงเด็กก็ยังใช้มือถือได้นะครับ ไม่ถึงกับต้องเลิกเด็ดขาดห้ามใช้ หากลูกไม่ได้เห็นหน้าจอหรือเห็นแป๊บเดียวก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรกับเด็ก แต่ตอนใช้นั้นมีสิ่งที่ต้องระวังอยู่เสมอ นอกจากอย่าให้ลูกแย่งมือถือเราไปเล่นแล้ว คืออย่าทำให้มือถือแย่งเวลา ความสนใจ แรงจูงใจอื่น ๆ จากการเลี้ยงลูกไป และปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเสียด้วย
ก่อนอื่นผมขอพูดถึงธรรมชาติของเด็กเล็กๆ ก่อน เด็กนั้นหากยังเป็นวัยก่อนเข้าโรงเรียน โลกของเขานั้นค่อนข้างแคบครับ และสัดส่วนหลักๆ ของโลกเขาคือคนที่เลี้ยงเขา (ไม่จำเป็นต้องเป็นคุณแม่เสมอไป แต่หมายถึงคนเลี้ยงดูหลัก) และธรรมชาติสร้างเด็กมาให้ติดอยู่กับคนเลี้ยงดูตลอดเวลา เวลาคนเลี้ยงไม่อยู่เด็กจึงร้องไห้ (อ่านเรื่องทฤษฎีความผูกพันเพิ่มเติมใน “Attachment Theory: เหตุใดเราต้องการอยู่ใกล้คนรักตลอดเวลา”: https://thepotential.org/life/attachment-theory) การให้ความสนใจของผู้เลี้ยงนั้น เป็นสิ่งที่เด็กจะใช้สร้างมุมมองต่อโลกว่า “เขาควรค่าต่อการรักใคร และคนอื่นควรค่าต่อการให้เขารักแค่ไหน” หากผู้เลี้ยงให้ความสนใจไม่เพียงพอ เด็กก็อาจจะมีปัญหาในการมองโลกที่ไม่น่าอยู่ในแง่ความรักหรือความสัมพันธ์ และสิ่งนี้จะฝังลึกติดตัวเด็กไปถึงอนาคต ยิ่งเด็กที่พอจะรู้ความ เริ่มเข้าใจการกระทำของคนอื่นแล้วว่ากำลังสนใจฉันอยู่ไหม หากขาดการเอาใส่ใจที่เพียงพอ เด็กอาจจะรู้สึกเหงา เศร้า ไม่พอใจ และสิ่งนี้ปล่อยให้เรื้อรังนานๆ ย่อมไม่ดีกับพัฒนาการของเด็ก
กลับมาที่เรื่องพ่อแม่เล่นมือถือกันต่อ ปัญหาของการเล่นมือถืออยู่ที่บางครั้งมันยากมากที่จะดึงความสนใจออกจากมือถือ เพราะกิจกรรมในมือถือนั้นล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ผู้สร้างแอปหรือคอนเทนต์ต่างๆ พยายามดึงให้เราเล่นต่อเรื่อยๆ อย่างการไถหน้าจอดูฟีด การเล่นเกม หรือดูคลิปที่น่าสนใจ
สังเกตว่าตอนเราเล่นมือถือเพลินๆ เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราอาจจะคิดว่าขอแค่นิดเดียว เดี๋ยวก็กลับไปดูลูกต่อแล้ว แต่บางมีมันเลิกไม่ได้ มันติดลม พอเล่นมือถือเลยเสี่ยงกับการให้ความสนใจกับเด็กน้อยไป
นอกจากความสนใจแล้ว อีกเรื่องที่ต้องระวังคือการรบกวนของมือถือ คนเรานั้นทำกิจกรรมหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ หรือที่เราเรียกว่า ‘multitask’ แต่ถ้ามีสิ่งใดที่ดึงสมาธิมาก อีกสิ่งก็จะด้อยไป เราอาจจะดูหน้าจอไม่นาน แต่สมาธิเราจดจ่อไปกับเนื้อหาที่จะอ่านต่อ คลิปที่อยากดูต่อ หรือรอฟังเสียงข้อความเด้ง รอเสียงแจ้งเตือนว่ามีออเดอร์ใหม่ สิ่งเหล่านี้ไปดึงสมาธิที่ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องใช้ในการทำความเข้าใจเด็ก เด็กนั้นมีทักษะการสื่อสารไม่สมบูรณ์ บางทีเด็กเองก็ไม่รู้ว่าจะแสดงความรู้สึกอย่างไร จนบางครั้งแสดงออกเป็นรูปแบบที่เขาทำได้แทนอย่างการร้องไห้หรือการกรี๊ด พ่อแม่ต้องเดาเองว่าลูกเป็นอะไร ต้องการอะไรอยู่ หรือไม่สบายตัวหรือใจตรงไหน พวกนี้เป็นทักษะที่ผู้เลี้ยงเรียนรู้ได้จากการคอยใส่ใจ สังเกต ทำความเข้าใจเด็กมาเป็นระยะเวลานาน การถูกมือถือดึงสมาธิในส่วนนี้ไปก็อาจจะลดประสิทธิภาพในการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในตัวเด็กตามไปด้วย
อีกปัญหาคือคนเรานั้นมี ‘โหมด’ ในการตอบสนองกับสิ่งต่างๆ แตกต่างกันครับ ตอนเลี้ยงลูกเรามักจะอยู่ในโหมดใจเย็น อบอุ่น แต่ตอนอยู่กับมือถือก็ขึ้นกับว่าทำอะไร ถ้าใช้ทำงานก็จะอยู่ในโหมดเคร่งเครียดกว่าหน่อย ถ้าคุยกับเพื่อนก็อาจจะโหมดสนุกสนานอารมณ์ขึ้นลงได้มากกว่าหน่อย แต่พอทำสองสิ่งพร้อมกันปัญหาที่ตามมาคือบางทีเราเปลี่ยนโหมดไม่ทัน เช่น ถ้าเรากำลังแชทกับเพื่อน เราก็มักจะไม่ได้อยู่ในโหมดใจเย็นเหมือนตอนคุยกับลูก เพราะกับเพื่อนสนิทจะพูดอะไรก็ใส่ไม่ยั้งอยู่แล้ว แต่พอลูกมาสะกิดกวนใจจนเราต้องหันไปหา แต่โหมดที่จะใจเย็นเพื่อลูกมันสับสวิตช์ไม่ทัน ก็อาจจะทำให้เราเผลอหงุดหงิด แสดงท่าทีรำคาญใส่ลูกได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าเราหงุดหงิดกับกิจกรรมบนมือถืออยู่แล้ว เช่น ลูกค้าส่งข้อความมาต่อราคาแถมเรื่องมาก อ่านข่าวการเมืองก็มีแต่เรื่องขัดใจ หุ้นก็ราคาตก เล่นเกมก็แพ้ หรือนิยายอยู่ในช่วงคร่ำเครียด พอเราพักจากหน้าจอไปหาลูก การจะปรับโหมดอารมณ์ไปเป็นแม่หรือพ่อที่ใจเย็นไม่เผลอเอาเรื่องหงุดหงิดมาใส่ลูกนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา จะมาปรับไปปรับกลับทันทีเหมือนเปลี่ยนช่องทีวีคงไม่ได้ ดังนั้นการดูลูกไปด้วย เล่นมือถือไปด้วยเลยจะมีปัญหาตรงนี้
ประเด็นสุดท้ายที่ต้องระวังคือเรื่องของ ‘แรงจูงใจ’ ชีวิตคนเรานั้นมีสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ หรือเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างภาระหน้าที่ และสิ่งที่ ‘อยากทำ’ คือทำแล้วสนุก มีความสุข การเลี้ยงลูกนั้นคงมีทั้งสองสิ่งคือต้องทำและอยากทำ แต่การเล่นมือถือนั้นมักจะมีสิ่งที่อยากทำในสัดส่วนเยอะกว่าอย่างเล่นแอป เสพสื่อ เล่นเกมต่างๆ พอเรามีสิ่งที่ล่อใจอยู่ใกล้ๆ ตัว การพยายามหาความสุขจากลูกเลยน้อยลง การเลี้ยงลูกเลยให้ความรู้สึกว่าเป็นภาระหรืองานมากขึ้นเพราะมีกิจกรรมที่มอบแต่สิ่งบันเทิงอย่างมือถือมาเทียบ
สิ่งนี้เลยไปลดความสุขในช่วงสำคัญของการเป็นแม่คนหรือพ่อคน อย่างการมองข้ามการได้เห็นลูกค่อยๆ เรียนรู้ เติบโต เปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยไป ความสุขในช่วงนี้อบอุ่น น่าประทับใจ แต่มันมักจะไม่จัดจ้านและดึงความสนใจเราเท่ามือถือ การพลาดความสุขตรงนี้ไปเลยเป็นเรื่องน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า คงยากที่จะเลิกใช้มือถือเด็ดขาด และหลายๆ คนก็จำเป็นต้องใช้อยู่ทั้งเรื่องงานหรือเรื่องอื่นๆ การจะให้เลิกใช้ไปเลยอาจจะไปกระทบชีวิตของเรามากเกินไป นอกจากนี้การเลี้ยงเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ทั้งเหนื่อย ทั้งหนัก ทั้งน่าเบื่อ ทั้งเหงา แหล่งเยียวยาบรรเทาอารมณ์เหล่านี้หากมีไว้ก็จะเป็นผลดีอยู่ไม่น้อยครับ เช่น คนที่แต่เดิมชอบออกไปสังสรรค์กับเพื่อน อย่างน้อยก็ยังมีมือถือไว้แชทแก้เหงา ไม่มีเวลาดูหนังโรงที่ชอบ ก็ขอดูคลิปสั้นๆ แก้เบื่อ จริงอยู่ว่าการเลี้ยงเด็กต้องใช้ความทุ่มเท แต่จะทุ่มเกินจนเสียสุขภาพจิตก็จะเป็นผลเสียกับทั้งตัวเองและเด็ก แน่นอนว่าถ้าเลี้ยงลูกอย่างอมทุกข์คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ดังนั้นการหาสิ่งบันเทิงมาทำให้สุขภาพจิตแม่ดีขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ
การใช้เวลากับมือถือมากเกินไปมักจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือรู้ตัวอยู่เสมอว่ามือถือนั้นพร้อมจะดึงความสนใจและเวลาของเราไปเยอะกว่าที่เราคิด แนะนำว่าอย่าเปิดเสียงแจ้งเตือนมากนัก เพราะมันจะยิ่งดึงดูดความสนใจจากเราตลอดเวลา ขอให้เปิดเสียงแจ้งเตือนแค่สิ่งที่สำคัญจริงๆ และค่อยหาจังหวะไปดูย้อนเองไล่หลังจะดีกว่า และถ้าเป็นไปได้ขอให้ใช้แอปพวกโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือเกมเท่าที่จำเป็น เพราะแอปพวกนี้ดึงความสนใจเราอย่างยิ่ง และมักจะถอนตัวเลิกเล่นยาก
นอกจากนี้คุณแม่หลายๆ ท่านที่รู้สึกเหนื่อยๆ ก็อย่าเปิดสิ่งที่ตนเองโหยหาจะทำ หากดูแล้วรู้สึกพอเติมเต็มที่อยากได้ก็ดูได้นะครับ แต่หากเปิดแล้วมันอยากทำกว่าเดิม หรือรู้สึกแย่เพราะไม่ได้ทำ เช่น อยากไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วหากเปิดรูปทิวทัศน์แล้วอยากจะไปแทบใจจะขาด ไม่อยากเลี้ยงลูกแล้ว แบบนั้นขอให้ปิดเถอะครับ หาสิ่งอื่นที่ดูแล้วอารมณ์ดี ดูแล้วเรารู้สึกมีแรงในการใช้ชีวิตของเราได้ดีกว่า นอกจากนี้ตอนดูเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมก็ระวังว่าอย่าไปเปรียบเทียบชีวิตของการเลี้ยงเด็กกับชีวิตของคนที่ไม่ต้องเลี้ยงเด็ก เพราะแน่นอนว่าอิสระของเราย่อมถูกลดไปบ้างตอนมีลูก ถ้าดูชีวิตคนอื่นแล้วมีแต่ความอิจฉา ความรู้สึกแย่กับชีวิต ก็หยุดดีกว่า
มือถือเองบางครั้งก็เป็นตัวช่วยที่ดี พ่อแม่มือใหม่ในครอบครัวเดี่ยวที่ไม่ได้อยู่กับญาติผู้ใหญ่หลายๆ ครั้งมีปัญหาเกี่ยวกับลูกหรือการเลี้ยงลูกที่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร โลกออนไลน์ก็เป็นแหล่งข้อมูลใหญ่ๆ ที่เราได้ค้นคว้าเปิดหาข้อมูลได้รวดเร็ว แต่ขอให้เลือกแหล่งข้อมูลที่ดูน่าเชื่อถือ หรือถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ถ้าเราค้นหาแล้วพบว่าอาการของลูกมีแนวโน้มที่จะอันตราย ก็อย่าเอาแต่หาทางแก้ไขจากโลกออนไลน์จนไม่ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนะครับ (เว็บไซต์ให้ความรู้ที่ดีมักจะเตือนเรื่องนี้เสมอหากเป็นปัญหาที่สำคัญ) นอกจากนี้เรายังใช้มือถือหาข้อมูลสูตรอาหารใหม่ๆ สำหรับลูก หรือการของเล่นหรือทำสื่อการสอนเองแบบง่ายๆ เพื่อช่วยให้เรามีอะไรทำเป็นกิจกรรมแก้เบื่อแถมยังเป็นผลดีกับลูกๆ ด้วยก็น่าสนใจทีเดียว
การได้แชทคุยกับคนเป็นพ่อแม่คน หรือคนที่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงก็อาจจะเป็นวิธีที่ดี เพราะเขาอาจจะเข้าใจเราดี เราอาจจะใช้มือถือส่งข้อความหาคนรักที่ทำงานอยู่นอกบ้าน เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ยังคงมีความหวานแม้จะเหนื่อยสายตัวแทบขาดกับการดูลูก นอกจากนี้เราอาจจะหาสื่ออย่างการ์ตูนสั้นๆ แบบหน้าเดียวจบ หรือนิยายที่เราแยกอ่านเป็นช่วงสั้นๆ ได้ เอาแบบที่พร้อมจะกดปิดหน้าจอได้ตามต้องการ และอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น หรือรู้สึกเหมือนได้พักเหนื่อยบ้าง
ชั่งน้ำหนักให้พอเหมาะระหว่างลูก มือถือ และสุขภาพจิตของเรา ความพอดีคือสิ่งสำคัญเสมอ อะไรที่พอดีก็มักจะมีประโยชน์เสมอไม่ว่าเรื่องไหนครับ หากใครรู้สึกว่ายังหาสมดุลไม่ได้ก็อาจจะต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป อย่าหักดิบเลิกทุกสิ่งที่เคยทำจนมันเป็นภาระทางใจ เพราะตัวลูกเองถ้าเขาเลือกได้ เขาก็คงไม่อยากให้เราทุกข์เพราะต้องเลี้ยงเขาหรอกจริงไหมครับ
รายการอ้างอิง
Duggan, M., Lenhart, A., Lampe, C., & Ellison, N. B. (2015). Parents and social media. Pew Research Center, 1-37.
Kushlev, K., & Dunn, E. W. (2019). Smartphones distract parents from cultivating feelings of connection when spending time with their children. Journal of Social and Personal Relationships, 36(6), 1619-1639.
McDaniel, B. T. (2019). Parent distraction with phones, reasons for use, and impacts on parenting and child outcomes: A review of the emerging research. Human Behavior and Emerging Technologies, 1(2), 72-80.