- บทความนี้อ้างอิงเนื้อหาจากสารคดีชุด Losers ตอน Judgement ที่เผยแพร่ทาง Netflix ในปี 2019 เป็นเรื่องราวของเซอร์ยา โบนาลี สุดยอดนักสเก็ตน้ำแข็งผิวสีที่แม้จะเก่งกาจแค่ไหนแต่ก็ไม่เคยคว้าแชมป์โลก
- ความเก่งของเซอร์ยานั้นไม่เพียงแค่การกระโดดหมุนตัวสามสี่รอบกลางอากาศ แต่รวมถึงการเป็นนักสเก็ตน้ำแข็งเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถกระโดดตีลังกากลับหลังด้วยขาข้างเดียวได้ หากทั้งหมดกลับไม่สามารถเอาชนะอคติทางสีผิวและการเมืองของกรรมการได้เลยสักครั้ง
- ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งสุดท้าย เธอกลับสลัดความคิดเรื่องเหรียญทองออกจากสมองและเลือกทำตามเสียงของหัวใจสักครั้ง และนั่นทำให้เธอค้นพบชัยชนะในชีวิตจริง
‘เซอร์ยา โบนาลี’ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูในเมืองไทย แต่สำหรับแฟนสเก็ตลีลาทั่วโลก เธอคนนี้คือราชินีไร้มงกุฎแห่งวงการสเก็ตน้ำแข็ง ผู้คว้าแชมป์ในประเทศบ้านเกิดอย่างฝรั่งเศสถึง 9 สมัย และทะยานคว้าแชมป์ยุโรปอีก 5 สมัย แต่เมื่อขึ้นสู่เวทีระดับโลก เธอกลับเป็นได้เพียงไม้ประดับเก๋ๆ หรือไม่ก็รองแชมป์โลก 3 สมัยที่ทำยังไงก็ไปไม่สุดสักครั้ง
ถ้าพูดถึงความเก่ง ผมมั่นใจว่าหากเซอร์ยาเกิดในศตวรรษที่21 เธอคงคว้าเหรียญทองโอลิมปิกหรือแชมป์โลกไม่น้อยกว่า 2 สมัยแน่นอน ดังนั้นคำถามคือทำไมคนเก่งอย่างเธอถึงได้โชคร้ายอย่างนั้น และในวังวนของความโชคร้าย เธอก้าวผ่านมันมาได้อย่างไร และทำไมนางรองอย่างเธอถึงได้เป็นที่รู้จักมากกว่านางเอกผู้คว้าแชมป์
ถ้าพร้อมแล้วมาร่วมทำความรู้จักเธอไปพร้อมๆ กัน
จากเด็กกำพร้าผิวสี สู่นักกีฬาทีมชาติ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีคนนำเด็กทารกเพศหญิงผิวสีคนหนึ่งมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลทางตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่ทารกน้อยก็กำพร้าไม่นาน เมื่อคู่รักผิวขาวชาวฝรั่งเศสรับเธอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม
“ฉันพูดได้เต็มปากว่าฉันโชคดีมากๆ ที่ได้เป็นลูกบุญธรรม มันเหมือนกับการชนะล็อตเตอรี่เลยล่ะ” เซอร์ยา โบนาลี กล่าวถึงชีวิตวัยเยาว์ของเธอบนเวที TEDxTorino
การชนะล็อตเตอรี่ของเซอร์ยาคือการเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น ยิ่งกว่านั้นด้วยความที่แม่เป็นโค้ชกีฬา หนูน้อยจึงได้ฝึกได้เล่นกีฬาหลากหลายชนิดไล่ตั้งแต่ฟันดาบ กระโดดน้ำ ไปจนถึงยิมนาสติก
ความเก่งกาจของเซอร์ยาฉายแววตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อเธอสามารถคว้าแชมป์ตีลังกาโลกมาไว้ในครอบครอง ซึ่งทักษะการตีลังกานั้นเป็นผลพวงมาจากยิมนาสติกนั่นเอง
หลังได้แชมป์ตีลังกาโลก ก็ถึงเวลาออกจากพื้นที่ปลอดภัยเพื่อหาความท้าทายใหม่ๆ และตอนนั้นเองเซอร์ยาก็ค้นพบว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เธอชอบที่สุดคือการเล่นสเก็ตน้ำแข็งลีลา เธอจึงตัดสินใจฝึกฝนมันอย่างบ้าคลั่งจริงจัง
กระทั่งฤดูร้อนปีหนึ่ง ดิดิเยร์ ไกยาเกต์ โค้ชสเก็ตทีมชาติฝรั่งเศสได้นำทัพนักกีฬามาเก็บตัวที่เมืองนีซ บ้านเกิดของเซอร์ยา ทำให้ลานสเก็ตน้ำแข็งคิวแน่นไปหลายวัน แม่ของเซอร์ยาจึงไปขออนุญาตโค้ชดิดิเยร์เพื่อให้ลูกสาวได้ฝึกซ้อมสักหนึ่งชั่วโมง ซึ่งโค้ชก็ใจดีพอที่จะตอบตกลง เซอร์ยาจึงมีโอกาสลงไปวาดลวดลายท่ามกลางนักกีฬาทีมชาติ แต่ที่โดดเด่นและเข้าตาโค้ชเมืองน้ำหอมสุดๆ คือการฝึกท่า Double Jump (กระโดดหมุนกลางอากาศ 2 รอบ) ซึ่งดิดิเยร์ถึงกับตกตะลึงและให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงสาเหตุที่ชักชวนแชมป์ตีลังกาโลกเข้ามาติดทีมชาติว่า “เพราะเราไม่มีนักสู้ขาลุยแบบนี้ในฝรั่งเศส”
“สามสัปดาห์ต่อมา ฉันแทบจะเก่งกว่านักเรียนของดิดิเยร์แล้ว เขาจึงชวนให้ฉันย้ายไปปารีสเพื่อที่เขาจะได้สอนฉันเพราะฉันเก่งมากทีเดียว”
จากนั้นการเดินทางอันแสนยาวไกลของเซอร์ยา โบนาลีก็เริ่มต้นขึ้น
กำแพงอคติที่ไม่อาจก้าวข้าม
หลังฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 1 ปี เซอร์ยา โบนาลี ก็ติดทีมชาติ และค่อยๆ สร้างผลงานตอบแทนความไว้ใจของโค้ชดิดิเยร์ ไล่ตั้งแต่แชมป์ระดับประเทศ แชมป์เยาวชนโลกปี 1990 ต่อยอดไปถึงแชมป์ยุโรปปี 1992
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เซอร์ยาคว้าแชมป์เป็นว่าเล่นนั่นคือลีลาสุดเร้าใจโดยเฉพาะการตีลังกากลับหลัง ซึ่งเป็นทักษะและผลพลอยได้จากการเป็นแชมป์ตีลังกาโลกสมัยเด็กๆ
“เธอตีลังกากลับหลัง มันบ้ามาก ฉันอาจเรียกตัวเองว่าเป็นนักสเก็ตที่เก่งมาก แต่ไม่มีทางที่ฉันจะลองทำแบบนั้นเด็ดขาด” ทารา ลิพินสกี นักสเก็ตลีลาเหรียญทองโอลิมปิกกล่าว
สื่อของฝรั่งเศสหลายแห่งพยายามประโคมข่าวว่าเซอร์ยาคือคนที่อาจจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้กับประเทศ ส่วนตัวเธอเองหรือแม้แต่โค้ชก็มั่นใจและหวังอยู่ลึกๆ เช่นกัน เพียงแต่ว่าความจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
‘เซอร์ยา’ ไม่เป็นที่ต้อนรับของกรรมการเท่าไร ด้วยสีผิว อคติทางการเมือง เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งต่อการเป็น ‘เจ้าหญิงน้ำแข็ง’ ที่ต้องสวย บอบบาง สง่างาม และผิวขาว
ถึงอย่างนั้น เซอร์ยาก็ไม่สนไม่แคร์ พร้อมก้มหน้าก้มตาฝึกฝนท่วงท่าต่างๆ เพื่อหวังจะสยบคำวิจารณ์ลบๆ ที่มีต่อรูปลักษณ์ของเธอในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1992 ที่บ้านเกิดของเธอจะเป็นเจ้าภาพ
“ฉันหมุน 4 รอบได้ดีมากตอนซ้อม ฉันทำมันได้ติดต่อกันหลายครั้ง ฉันซ้อมหนัก มั่นใจมาก และอยากทำท่านี้ในการแข่งโอลิมปิก ไม่ว่ายังไงฉันก็จะทำ แม้โค้ชจะไม่อนุญาตก็ตาม”
ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ผ่านช่วงวัยรุ่นย่อมรู้ดีว่าพอฮอร์โมนพลุ่งพล่านก็ยากที่ใครจะมาหยุดยั้ง เซอร์ยาก็เช่นกัน เธอเลือกขัดคำสั่งของโค้ช พร้อมกระโดดหมุน 4 รอบ ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมทั้งสนาม แต่แล้วเธอกลับตกม้าตายง่ายๆ กับท่าอื่นๆ ส่งผลให้เธอไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลใดๆ
สำหรับโค้ชดิดิเยร์ การไม่ได้เหรียญเป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่การขัดคำสั่งเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้ครูจอมเก๋ากับลูกศิษย์เลือดร้อนทะเลาะกันอย่างรุนแรงถึงขั้นยุติความสัมพันธ์ เซอร์ยาจึงกลายเป็นนักกีฬาไร้โค้ชท่ามกลางความสนใจจากสื่อฝรั่งเศสที่ตามเล่นข่าวอยู่บ่อยครั้ง
ฝันร้ายในวันที่มีแต่คำว่า ‘แพ้’
ผมไม่รู้ว่าอะไรดลใจให้เซอร์ยาตัดสินใจนำแม่มาเป็นโค้ชสเก็ตประจำตัวคนใหม่ แม้แม่ของเธอจะมีความสุขและขยันขันแข็งกับการเทรนด์ลูกสาว แต่ผมกลับเห็นด้วยกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นว่าแม่คือหนึ่งในปัญหาสำคัญ เพราะแม่ไม่มีใบอนุญาตครูฝึก แถมชอบขลุกอยู่กับเซอร์ยาตลอดเวลา ทำให้บรรดานักออกแบบท่าเต้นที่จ้างมาไม่สามารถโน้มน้าวใจเซอร์ยาให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการตีลังกาหรือกระโดดหมุนตัวได้
และนั่นทำให้เซอร์ยาถูกกรรมการรังแกอีกครั้งในการแข่งขันชิงแชมป์โลกปี 1993 เมื่อเซอร์ยาสามารถกระโดดหมุนกลางอากาศ 3 รอบได้ถึง 7 ครั้ง และทำท่าต่อเนื่องได้อย่างพลิ้วไหว แต่กลับปราชัยต่อ ‘ออคซานา ไบอุล’ นักสเก็ตน้ำแข็งที่กระโดดหมุนได้เพียง 5 รอบ และทำท่าต่อเนื่องได้แค่ครั้งเดียว
พอพลาดแชมป์โลก เซอร์ยาก็พยายามเปิดใจรับคำแนะนำของคนรอบข้างมากขึ้น เพราะกีฬาประเภทนี้ตัดสินกันด้วยความรู้สึกล้วนๆ ไม่เหมือนกับกอล์ฟหรือเทนนิสที่มีบรรทัดฐานในการทำคะแนน แต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น เพราะการแข่งโอลิมปิกในปีถัดมา เธอกลับทำได้แค่ที่ 4 ของการแข่งขัน
“ฉันร้องไห้คนเดียวนานมาก(ตอนรู้ว่าได้ที่4) สาบานได้ว่ามันคือฝันร้ายสำหรับฉัน”
1 เดือนต่อมา นักสเก็ตผิวสีชาวฝรั่งเศสได้ลุกขึ้นสู้อีกครั้งกับการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ปรากฎว่าเซอร์ยาทำผลงานออกมาอย่างไร้ที่ติ แต่กลับแพ้ให้กับนักสเกตเจ้าถิ่นอย่างเฉียดฉิว และแล้วความอดทนที่กลั้นไว้มานานก็ปะทุออก เซอร์ยาไม่อาจควบคุมตัวเองได้อีกต่อไป
“ฉันพยายามทำตัวน่ารักและมีเหตุผลให้ได้สักครั้ง แต่ฉันโกรธมากจริงๆ”
เซอร์ยาปฏิเสธที่จะยืนบนแท่นรับเหรียญ เธอร้องไห้ด้วยความเสียใจและถอดเหรียญเงินที่คล้องคอออกมาท่ามกลางเสียงโห่ร้องจากผู้ชมในสนาม
“มันเศร้าแต่มันคือความจริง เราฝึกซ้อมกันมาหลายปีกับความเหน็บหนาว เมื่อคุณพลาดมันก็น่าท้อใจ ในฐานะนักกีฬาผิวสี ฉันคิดว่าเราต้องทำให้มากกว่าคำว่าดี ดังนั้นหน้าที่ของฉันคือไร้ที่ติ”
ทำตามเสียงหัวใจ ชัยชนะในชีวิตจริง
ว่ากันว่าครั้งแรกกับครั้งสุดท้ายมักเป็นความทรงจำที่ตราตรึงเสมอ เช่นเดียวกับโอลิมปิกครั้งสุดท้ายที่เซอร์ยาสามารถเข้าร่วม(ก่อนอายุเกินกำหนด) แต่แล้วก่อนการแข่งขัน เซอร์ยากลับเอ็นร้อยหวายขาดแต่เธอก็กัดฟันร่วมทีมฝรั่งเศสต่อไป
ในวันแข่งขัน แม้นักสเก็ตทั่วโลกต่างวาดลีลาลวดลายที่สวยงามถูกใจกรรมการ แต่เซอร์ยากลับทำสิ่งที่เหนือกว่านั่นคือการร่ายมนตร์ผ่านการตีลังกากลับหลังด้วยขาข้างเดียว
ตามกติกาสเก็ตลีลา การตีลังกากลับหลังเป็นการละเมิดกฎ ดังนั้นการกระทำของเซอร์ยาถือเป็นการท้าทายกรรมการอย่างแรง แต่สำหรับเซอร์ยา เธอไม่ได้แคร์เหรียญทองใดๆ อีกแล้ว
เพราะสิ่งเดียวที่เธอแคร์มีเพียงเสียงข้างในหัวใจ เธอหลุดจากกับดักของชัยชนะที่เกิดจากอคติของกรรมการ หลุดจากกรอบที่ใครบางคนกำหนดว่านักสเก็ตที่ดีต้องเป็นแบบนี้ และหลุดจากพันธนาการทั้งปวงที่ฉุดรั้งศักยภาพที่แท้จริงของเธอ
“คนดูถูกใจสุดๆ คนดูลุกขึ้นยืนปรบมือให้ฉันก่อนฉันแสดงจบเสียอีก คนดูชอบมาก ยกเว้นกรรมการ ผู้คนบ้ากันชั่วข้ามคืน ฉันเดินเข้าไปในหมู่บ้านโอลิมปิก ได้ยินพวกนักสกี นักฮอกกี้ พูดว่า โอ้พระเจ้ามันเป็นอะไรที่เจ๋งที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา”
เส้นทางใหม่ที่ไม่มีคำว่า ‘แพ้’
หลังการแข่งขันโอลิมปิก เซอร์ยาผันตัวสู่การเล่นสเก็ตอาชีพ และเธอก็ค้นพบว่าแม้คณะกรรมการจะไม่ให้เธอชนะในสนามแข่ง แต่บนเวทีโลก เธอนั่นแหละคือผู้ชนะและราชินีตัวจริงแห่งวงการสเก็ตน้ำแข็ง
“ความสำเร็จอยู่ที่ไหน มันอยู่ในชั่วขณะหรือมันอยู่ในช่วงชีวิตอันยืนยาว
เธอสามารถควบคุมคนดูได้หรือเปล่า ผมเป็นคนเน้นเรื่องช่วงชีวิต ถ้าคุณสามารถยืนหยัดได้เป็นเวลานาน และให้ความสุขกับคนดูได้ ทำให้พวกเขารอคอยที่จะดูคุณได้ก็ถือว่าทำได้ดีครับ…ไม่เคยมีใครควบคุมเซอร์ยาได้ สำหรับเธอการเล่นมืออาชีพคืออิสรภาพ มันคือการปลดเปลื้อง” สก็อต ฮามิลตัน อดีตนักสเก็ตเหรียญทองโอลิมปิกที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์กล่าว
ปัจจุบัน เซอร์ยาผันตัวมาเป็นโค้ชให้นักสเก็ตเยาวชนในสหรัฐฯ บ่อยครั้งที่เธอที่เชิญไปแชร์ประสบการณ์ชีวิตเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน
“การแข่งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เธอไม่ต้องรอให้เหรียญมาเปลี่ยนชีวิตเธอ เหรียญมันก็ดีแต่มันไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เหรียญมันแค่เรื่องผิวเผินไม่จริงแท้ ถ้าเธอเต็มที่ 100% แล้ว จงรู้สึกดีกับมัน จงคิดบวกและก้าวต่อไป
…ดังนั้น พยายามเป็นคนดี นักกีฬาที่ดี โดยไม่ต้องพยายามคว้าเหรียญ เพราะบางครั้งมันจะทำลายเธอและทำให้เธอผิดหวังมาก บางครั้งอาจทั้งชีวิตเลยและมันไม่ดี”
หลังจากดูสารคดีของเซอร์ยาแล้ว ผมรู้สึกถึงแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น และการยืนหยัดต่อสู้ด้วยพลังความสามารถทั้งหมดที่มีแม้รู้ทั้งรู้ว่าต้องปราชัยต่อกรรมการ แต่เธอก็ไม่เคยยอมแพ้และกลายเป็นแชมป์ในใจผู้ชมทั่วโลก(ไม่เว้นแม้แต่เกาหลีเหนือ)เซอร์ยาทำให้ผมตระหนักว่ามนุษย์ต่างมีศักยภาพที่เปี่ยมล้น เพียงแต่ว่าหลายคนอาจอยู่ผิดที่ผิดเวลาหรืออยู่ในกรอบการแข่งขันที่ผู้อื่นกำหนดขึ้น ดังนั้นผมขอให้กำลังใจทุกท่านว่า อย่าปล่อยให้เสียงของใครดังกว่าเสียงในหัวใจคุณ เพราะเสียงๆ นั้นอาจนำคุณไปสู่อิสรภาพและคำตอบที่คุณตามหามาชั่วชีวิต