- ‘อเล็กซี อีวาโนวิช’ ตั้งคำถามว่า ‘เงินในตัวมันเองคืออะไรสำหรับเธอ’ เพราะเขารู้สึกว่า‘โพลีนา’ หญิงสาวที่เขาสานสัมพันธ์ด้วยนั้น ปฏิบัติกับเขาราวกับทาสที่ไร้ความสำคัญ จึงรู้สึกว่าถ้ามีเงิน เขาจะกลายเป็น ‘คน’ ผู้มีศักดิ์ศรีเสมอกับหญิงสาวและไม่ใช่ผู้ต่ำต้อยกว่าในสายตาเธออีกต่อไป
- เงินมีความสามารถเล่นแร่แปรธาตุกลายเป็นสิ่งต่างๆ ในโลกซึ่งหมุนไปด้วยเงินที่แม้จะเปลี่ยนโฉมไปเรื่อยๆ ไม่แปลกที่เราจะเผลอให้คุณค่าตัวเองผ่านมูลค่าเงินที่หาได้
- ความรู้สึกไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ และรู้สึกผิดในเรื่องต่างๆ สามารถนำพาให้เกิดความรู้สึกว่าต้องทำงานให้คนอื่นฟรีหรือไม่สมควรได้รับเงินตอบแทนจำนวนที่ รู้สึกว่า ‘มากไป’ ทั้งที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลเป็นความขาดแคลนในการดำรงชีวิตประจำวัน
1.
อเล็กซี อีวาโนวิช เป็นสุภาพบุรุษผู้มีการศึกษาแต่ขาดทุนรอน เขาได้รับการจ้างจากนายพลรัสเซียให้มาเป็นครูประจำครอบครัวซึ่งมีสาวสวยอย่าง โพลีนา อเล็กซานดรอฟนา อาศัยอยู่ด้วย อเล็กซีและโพลีนาสานสัมพันธ์กัน แต่อเล็กซีรู้สึกว่าเธอปฏิบัติกับเขาราวกับทาสที่ไร้ความสำคัญ
อยู่มาวันหนึ่ง สาวที่อเล็กซีลุ่มหลงต้องการให้เขาเล่นพนันหาเงินแทนเธอ เขาจึงตั้งคำถามว่า “เงินในตัวมันเองคืออะไรสำหรับเธอ” มันย่อมต้องมีจุดหมายบางอย่าง เพราะเขาเองรู้สึกว่าถ้ามีเงิน เขาจะกลายเป็น ‘คน’ ผู้มีศักดิ์ศรีเสมอกับหญิงสาวและไม่ใช่ ‘ทาส’ ผู้ต่ำต้อยกว่าในสายตาเธออีกต่อไป
เมื่อเขาได้เงินมหาศาลจากการชนะพนัน ไม่เพียงแต่เขาจะได้รับความเบิกบานล้ำลึกในความสำเร็จ เขายังกลายเป็นคนสำคัญที่ได้รับการจับจ้อง เขาได้เห่อเหิมและได้เสพอำนาจจากความสามารถโยนเงินเป็นฟ่อนๆ ไปให้ผู้คนอื่นโดยไม่ต้องกระเหม็ดกระแหม่
สำหรับอเล็กซีนั้น เงินเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งอื่น เช่น ความรู้สึกชนะ อำนาจ ความเคารพอย่างมนุษย์คนหนึ่ง ฯลฯ
น่าคิดต่อว่าโลกภายในของเราเองเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเงินอย่างไรบ้าง? นอกจากนี้ เรามีวิถีการรับเงินค่าตอบแทนการทำงาน ฯลฯ อย่างไร?
บางคนก็มีปัญหากับการรับเงินเหมือนกันนะ
2.
ยูวัล ฮารารี (Yuval Noah Harari) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเซเปียนส์อันโด่งดัง กล่าวได้น่าสนใจว่าเงินเป็นเรื่องทางจิต ซึ่งเกี่ยวกับการ ‘สร้างความเป็นจริงระหว่างกัน อันดำรงอยู่เพียงในจินตนาการร่วมของผู้คนเท่านั้น’ เงินอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ คนต่างศาสนามีพระเจ้าคนละองค์ก็เชื่อเงินร่วมกันได้เพราะ ‘ในขณะที่ศาสนาขอให้เราเชื่ออะไรบางอย่าง เงินเพียงขอให้เราเชื่อว่า คนอื่นเชื่อในอะไรบางอย่าง‘ ‘ทุกคนต้องการเงิน เพราะคนอื่นก็ต้องการเงิน’ (อ้างอิง Money โดย Yuval Noah Harari)
เงินมีความสามารถเล่นแร่แปรธาตุกลายเป็นสิ่งต่างๆ ในโลกซึ่งหมุนไปด้วยเงินที่แม้จะเปลี่ยนโฉมไปเรื่อยๆ ไม่แปลกที่เราจะเผลอให้คุณค่าตัวเองผ่านมูลค่าเงินที่หาได้(แม้มูลค่าจะเป็นคนละอย่างกับคุณค่า) แต่หากเราตั้งสมการว่าเรามีคุณค่ามากเมื่อหาเงินได้มาก เมื่อไหร่ที่เราหาเงินไม่ได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ มันก็อาจจะกระทบค่าภายในของเราขึ้นมา
อุปสรรครับเงินต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มันก็มีคนที่เริ่มต้นจากจุดที่ไม่ให้ค่าตัวเองมากพอ
ความรู้สึกไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ และรู้สึกผิดในเรื่องต่างๆ สามารถนำพาให้เกิดความรู้สึกว่าต้องทำงานให้คนอื่นฟรีหรือไม่สมควรได้รับเงินตอบแทนจำนวนที่ รู้สึกว่า ‘มากไป’ ทั้งที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างยิ่ง และสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลเป็นความขาดแคลนในการดำรงชีวิตประจำวัน
เขาอาจเติบโตมากับการถูกเฆี่ยนตีด้วยมาตรฐานสูงมาก เมื่อใดที่ทำงานและสิ่งต่างๆ ไม่ได้ตามมาตรฐานเลิศลอยที่วางไว้ ก็ไม่ค่อยอยากรับค่าตอบแทนมากนัก หรือมีปูมหลังที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีลำดับขั้นทางสังคมต่ำกว่าคนอื่น เช่น มีร่างกายไม่แข็งแรง ถูกทำให้เป็นชายขอบในทางใด ฯลฯ ซึ่งบ้างก็เสริมการด้อยค่าตัวเองและกระทบกับจำนวนเงินที่อนุญาตให้ตัวเองได้รับสำหรับหยาดเหงื่อแรงงานที่เสียไปให้คนอื่น หรือเขาเชื่อมโยงเงินกับเหตุการณ์เจ็บปวดบางประการ หรือใช้การไม่รับเงินเป็นการลงโทษตัวเอง
หรือเขามีความเชื่อทางศาสนาหรืออุดมการณ์บางลักษณะหรือมีกลไกการปกป้องตัวเองที่ยกย่องให้ความยากจนเป็นความสูงส่ง หรือเชื่อว่าการไม่ยอมรับเงินตอบแทนเป็นความดีงาม หรือเชื่อไปเองว่าคนรวยต้องเป็นคนไม่ดี
หรืออีกกรณี เขารู้สึกผิดกับอภิสิทธิ์บางอย่าง และการไม่อนุญาตให้ตัวเองได้เงินและอื่นๆ มากไปก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ ‘ตัวเล็ก’
ทุกกรณีที่กล่าวมารวมถึงที่ไม่อาจกล่าวไว้หมดในที่นี้ เมื่อเกิดความตระหนักรู้ ก็เปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าต้องการจะเปลี่ยน
3.
+ เปิดรับ
เวลาเราอยากให้อะไรคนอื่น แล้วเขาไม่รับ รู้สึกติดขัดอยู่ภายในไหม?
ถ้ามีคนอยากให้เงินและสิ่งอื่นๆ ตอบแทนที่เราทำงานให้หรือเพื่อเหตุใดก็ตาม แต่เราไม่พร้อมรับ สิ่งเหล่านั้นก็พร้อมจะไหลไปที่อื่น ส่วนการพร้อมรับเงินอย่างเบิกบาน ขอบคุณและรู้ตัวก็เปิดทางให้ความอุดมสมบูรณ์ไหลมาเทมาได้ และให้โอกาสคนที่อยากให้ได้เติมเต็มความรู้สึกด้วย
มันอาจมีสุขภาวะกว่าการที่ เราทำงานและทำอะไรๆ ให้คนอื่นไปฟรีๆ จนเหือดแห้ง และเมื่อเจอใครสักคนที่เราเอาอะไรจากเขามาฟรีๆ ได้ ก็เอาจากคนนั้นๆ มาให้ตัวเองอย่างตะกละโดยเราอาจ ‘ไม่รู้ตัว’ และโดยที่จริงๆ แล้วคนอื่นเขาก็ไม่ได้อยากให้เราฟรีขนาดนั้น หรือมันน่าจะยั่งยืนกว่าการที่เราส่งต่อวิธีการปล้นตัวเองไปปล้นคนในครอบครัวหรือทีมงานที่ต้องทำงานฟรีเพราะเรา อย่างเกินสมควร โดยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของ ‘คนดี’ มีน้ำใจหรือไม่? (ไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรมีน้ำใจ แค่ถามว่าเกินควรจนกลายเป็นการปล้นตัวเองและคนใกล้ชิดหรือไม่ บางคนเขาไม่ได้มีรายได้จากงานประจำหรือบำนาญ ฯลฯ นะ)
ไม่ได้มีคำตอบตายตัว คนแต่ละกลุ่มย่อมมีวิถีต่างกัน แค่ตั้งคำถามเท่านั้น
4.
ถ้าสังเกตชีวิตประจำวัน ก็พอจะเห็นได้ว่าความสามารถที่จะให้เงินตอบแทนคนอื่นที่มาทำงานให้เราโดยให้ได้อย่างสมเนื้องานอันมีคุณภาพของเขา มักต้องเริ่มจากการที่เราอนุญาติให้ตัวเองรับเงินตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อที่เราได้ทำงานอย่างทุ่มเทและมีคุณภาพ โดยไม่เอาเปรียบตนเองก่อน
ยิ่งถ้าคนอื่นเขาพอใจอยากให้เราอยู่แล้ว ก็รับไว้เถิด
อ้างอิง
นักพนัน (Gambler) โดย ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ แปลโดย ร.จันเสน
Money โดย ยูวัล (Yuval Noah Harari)