- ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด ‘ความขี้อาย’ มาจากทางกายภาพคือ ‘ร่างกาย’ โดยตรงด้วยส่วนหนึ่ง สภาวะทางจิตใจ การคิดมาก ขี้กังวล และมองโลกในแง่ลบ รวมถึงปัจจัยแวดล้อม เช่น ประสบการณ์จากการเลี้ยงดูวัยเด็กก็มีผลด้วยเช่นกัน
- พ่อแม่ที่ปกป้องลูกจนเกินจำเป็น มักจำกัดกิจกรรมทางสังคมของลูกในวัยเด็กไปด้วยในตัว จนทำให้เสียโอกาสในการพัฒนา ‘ทักษะการเข้าสังคม’ ไป เมื่อโตขึ้นเรามักจะเลือกทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ จึงทำให้เกิดวงจรความขี้อายขึ้นโดยอัตโนมัติ
- ถึงอย่างนั้นการเป็นคนขี้อายก็มีข้อดีเช่นกัน ทั้งมีนิสัยเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี วิเคราะห์ วิจารณ์สถานการณ์ และเข้าใจอุปนิสัยใจคอคนได้ดีกว่าคนโดยทั่วไป จึงมีทักษะในการทำหน้าที่จำพวกวางแผนหรือพิจารณาความเสี่ยงได้ดี
ทำไมคนเราจึงมีระดับความอายที่จะทำสิ่งต่างๆ มากน้อยไม่เท่ากัน?
ความอายเป็นลักษณะนิสัยตามธรรมชาติของแต่ละคน หรือเป็นสิ่งที่วัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ปลูกฝังไว้ในตัว?
ความอายเป็น ‘จุดอ่อน’ ที่ต้องกำจัดจริงหรือ?
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับ ‘ความอาย’ ที่หลายคนคงอายเกินกว่าจะถาม แต่ก็คงอยากรู้คำตอบ เพราะน่าจะมีประโยชน์กับการใช้ชีวิตอยู่พอสมควร โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กำลังพัฒนาคุณลักษณะประจำตัวขึ้นมาพร้อมกับวัยที่เติบใหญ่ขึ้น
มาดูกันว่าเรา (หมายถึงนักจิตวิทยา) รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความอายครับ
ความอายเป็นลักษณะนิสัยที่พบได้ในวัฒนธรรมทั่วโลก อันที่จริงแล้ว การตกเป็นเป้าสายตาผู้อื่นเป็นเรื่องชวนสติแตกระดับที่เรียกว่า ‘โฟเบีย (phobia)’ ที่มีชื่อจำเพาะว่า กลอสโซโฟเบีย (glossophobia) ซึ่งมักติดอันดับท็อป 10 เสมอเวลามีการสำรวจเรื่องความกลัวจนลนลาน
ในสหรัฐอเมริกาถึงกับมีสถาบันที่ศึกษาเรื่องความอายเป็นเรื่องเป็นราวชื่อว่า สถาบันวิจัยความอาย (Shyness Research Institute) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอินเดียนา คนที่ทำวิจัยเรื่องนี้ไว้มากหน่อยได้แก่ ศ.เบอร์นาโด คาร์ดุกซี (Bernardo Carducci) ก็เคยเป็นผู้อำนวยการของสถาบันนี้ด้วย
เขาให้นิยามคำว่า ‘ความอาย’ ไว้ว่าเป็น “การเกิดปฏิกิริยาความกังวลใจและการตื่นตัวมากเกินไปและการประเมินตัวเองในด้านลบเรื่องการตอบสนองต่อปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงหรือแบบคิดไปเอง โดยเฉพาะการทำให้เกิดความไม่สบายใจจนไปรบกวนการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม”
เขาระบุว่าสามารถตรวจจับอาการได้จาก 3 องค์ประกอบ คือ
(1) มีการเปลี่ยนแปลงทางกาย เช่น อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
(2) มีการการรับรู้แบบตื่นตัวและเกิดความรู้สึกในด้านลบ ขาดความมั่นใจในตัวเอง กังวลใจว่ามีคนจับจ้องอยู่ และกลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาด และสุดท้าย
(3) มีการแสดงออกบางอย่างเพื่อตอบสนอง เช่น การหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ตรงหน้าที่เผชิญอยู่ การไม่กล้าพูด ก้มหน้าและหลบสายตา ฯลฯ
อาการพวกนี้เป็นนิสัยของแต่ละคนที่แตกต่างกันตามธรรมชาติหรือเปล่า?
มีหลักฐานว่าบางคนมีความโน้มเอียงจะเกิดความอายมากกว่าคนอื่น แต่ยังหาความเชื่อมโยงละเอียดลงไปจนถึง ‘ยีนความอาย’ ไม่เจอ งานวิจัยใน ค.ศ. 2012 ระบุว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างนิสัยขี้อายกับสมอง 2 ส่วนคือ อะมิกดาลา (amygdala) กับฮิปโปแคมปัส (hippocampus)
โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ผู้มีสมอง 2 ส่วนนี้แตกต่างจากคนอื่นจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ความล้มเหลวต่อการตอบสนองซ้ำ (habituation failure) ทำให้คนๆ นั้นปรับตัวต่อ ‘ตัวกระตุ้น (stimulus)’ ใหม่ที่เจอไม่ได้
นักวิจัยทดลองแบบนี้ครับ เขาเอารูปใบหน้าที่อาสาสมัครไม่เคยเห็นมาก่อนมาให้ดูซ้ำๆ หลายรอบ สำหรับคนปกติทั่วไป สมอง 2 ส่วนนี้จะตอบสนองเมื่อเป็นใบหน้าใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เมื่อเห็นหลายครั้งเข้า สมองส่วนดังกล่าวก็จะไม่ตอบสนองอีกต่อไป เรียกว่าเกิดความคุ้นชินหรือมีการตอบสนองความซ้ำ (habituation) ขึ้น
แต่สำหรับคนขี้อายแล้ว สมองทั้ง 2 ส่วนทำตัวเสมือนไม่เคยพบเจอใบหน้าเหล่านั้นมาก่อน และยังตอบสนองอยู่ต่อไป ไม่ต่างจากการเห็นใบหน้าใหม่อยู่ตลอดเวลา คนที่แสดงความคุ้นชินกับคนใหม่ๆ ได้ช้า จึงอาจเกิดความตื่นตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น จนอยากจะหลีกเลี่ยงการพบเจอผู้คนไปในที่สุด ตรงข้ามกับคนปกติที่ปรับตัวได้ดีกว่าเมื่อเจอคนใหม่ๆ หรือประสบการณ์ทางสังคมใหม่ๆ
อาการขี้อายจึงมีปัจจัยมาจากทางกายภาพคือ ‘ร่างกาย’ โดยตรงด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้น บางคนจึงเกิดมาพร้อมกับความขี้อายมากกว่าคนอื่น
มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งใน ค.ศ. 2010 ที่ระบุว่า มีคนอยู่ราว 20% ที่เกิดมาพร้อมกับการมี SPS (Sensory Perception Sensitivity) หรือ ‘ความไวในการรับรู้สัมผัส’ สูงกว่าคนอื่น ซึ่งทำให้บางรายแสดงออกด้วยการเป็นคนขี้อายมากกว่าคนปกติ บางรายไปไกลกว่านั้นอีกคือ เป็นคนเก็บตัว (introversion) หรือแม้แต่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety หรือ social phobia)
อันหลังสุดนี่ อาการหนักถึงขั้นต้องรับการรักษาแล้วครับ
คนที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม อาจมีอาการทางกายคือ รู้สึกไม่สบายหากต้องไปพบปะเจอะเจอผู้คน และหัวใจมักเต้นระรัวไม่เป็นจังหวะ ส่วนจิตใจก็กังวลใจอยู่ตลอดเวลา กลัวการจ้องมอง โดยอาจะเชื่อมโยงกับอาการป่วยแบบอื่น เช่น อาการซึมเศร้า ได้ด้วย หากเป็นมากขนาดนี้ ควรพบแพทย์เพื่อรักษาจะดีกว่าครับ
สภาวะทางจิตใจก็ส่งผลทำให้เกิดความขี้อายได้ครับ โดยพบว่า คนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ มักแสดงออกถึงความขี้อายให้เห็น การที่ขนาดตัวเราเองยังไม่ให้คุณค่ากับตัวเอง จึงสะท้อนออกมาด้วยการคิดไปว่า คนอื่นก็คงไม่ให้การยอมรับนับถือเราด้วยแน่ๆ จนทำให้ไม่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่างๆ
การคิดมาก ขี้กังวล และมองโลกในแง่ลบ ก็มีส่วนทำให้เกิดความขี้อายด้วยเช่นกัน
ปัจจัยแวดล้อม เช่น ประสบการณ์จากการเลี้ยงดูวัยเด็กก็มีผลด้วยเช่นกัน
พ่อแม่ที่ปกป้องลูกจนเกินจำเป็น มักจำกัดกิจกรรมทางสังคมของลูกในวัยเด็กไปด้วยในตัว จนทำให้เสียโอกาสในการพัฒนา ‘ทักษะการเข้าสังคม’ ไป เมื่อโตขึ้นเรามักจะเลือกทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ จึงทำให้เกิดวงจรความขี้อายขึ้นโดยอัตโนมัติ
สุดท้ายเลยกลายเป็น ‘คนดู’ ไม่กล้าเข้าไปร่วมในงานหรือโครงการต่างๆ ก็เลยยิ่งแก้นิสัยขี้อายยากขึ้นไปอีก วนเวียนอยู่แบบนี้
วัฒนธรรมรวมๆ ของสังคมก็มีผลมากนะครับ ในสังคมที่การนิ่งเงียบ ยอมรับกฎเกณฑ์โดยง่ายถือเป็นเรื่องดี อย่างสังคมของคนเอเชีย การเป็นคนขี้อายกลับเป็นเรื่องดี ต่างกันกับคนอเมริกันที่ยกย่องคนกล้าแสดงออก ความขี้อายจึงเป็นจุดอ่อนหรือจุดบอดไปได้เช่นกัน
ความขี้อายส่งผลเสียอะไรบ้างหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน?
เรื่องนี้แตกต่างกันได้มากในแต่ละคน แต่ที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนก็คือ คนขี้อายมักหลีกเลี่ยงจะต้องไปมีบทบาทอยู่ใต้ ‘สปอตไลต์’ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว ฯลฯ ในกรณีของคนที่มีความใฝ่ฝันจะทำสิ่งเหล่านั้น จึงต้องทำลาย ‘เครื่องกีดขวาง’ นี้ลงให้ได้เสียก่อน
อันที่จริงมีดาราหลายคนทำได้นะครับ บางคนอาจแปลกใจที่ดาราบางคนมีชีวิตส่วนตัวที่เงียบเชียบ ไม่เป็นข่าว และหลีกเลี่ยงการเป็นข่าวเป็นอย่างมาก คนเหล่านี้อาจมีลักษณะขี้อาย แต่พออยู่หน้ากล้องก็จัดการกับจิตใจตัวเอง ทำให้ตัวเองมีความกล้าพอจะทำภารกิจให้สำเร็จได้ แต่พอถึงชีวิตส่วนตัว ก็อยากมีชีวิตแบบเก็บตัวเงียบๆ สบายๆ เท่านั้น
มีคำแนะนำเรื่องวิธีการจัดการกับความขี้อายหรือไม่?
อันที่จริง นิสัยขี้อายไม่ได้เป็นความผิดปกติถึงกับต้องรักษา แต่หากกังวลใจมากจนถึงกับไม่กล้าเข้าสังคม แบบนี้ต้องรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วนะครับ ซึ่งก็มีหลายวิธี วิธีการที่เรียกว่า CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ก็ใช้การได้ดี อีกวิธีหนึ่งก็คือ Social Fitness Model ลองไปอ่านดูได้ที่ shyness.com
คำแนะนำง่ายๆ รวมๆ ดูได้ในเอกสารอ้างอิง [2] ซึ่งเหมาะสำหรับคนขี้อายที่คิดว่าอยากปรับปรุงบุคลิกภาพ ประกอบไปด้วย
(1) สร้างความมั่นใจผ่านการฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(2) ลองทำเรื่องใหม่ๆ พาตัวเข้าไปในสถานการณ์ใหม่ๆ ดูบ้าง
(3) บอกกับตัวเองว่า ความขี้อายเป็นแค่นิสัยแบบหนึ่ง ไม่ได้เป็นสิ่งกำหนดตัวตนและชีวิตทั้งหมดของคุณ
(4) ปรับวิธีคิดขณะเข้าสังคม คิดถึงจุดแข็งของตัวเองเข้าไว้ เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี และสุดท้าย
(5) มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ล่องลอยไปกับความคิดกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น จะช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย และมีสมาธิกับเรื่องตรงหน้ามากขึ้น
จำไว้ว่าการเป็นคนขี้อายก็มีข้อดีเช่นกัน โดยพบว่า
คนขี้อายมักมีนิสัยการเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี เพราะฝึกฝนมาเยอะ เป็นคนเฝ้าดู วิเคราะห์ วิจารณ์สถานการณ์ และเข้าใจอุปนิสัยใจคอคนได้ดีกว่าคนโดยทั่วไป จึงมีทักษะในการทำหน้าที่จำพวกวางแผนหรือพิจารณาความเสี่ยงได้ดี
และยังมักตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ในชีวิตได้ดี เพราะมีใจจดจ่อกับมันมากกว่าคนทั่วไปที่มักหลุดไปเข้าเรื่องซุบซิบนินทาที่สนุกกว่าในสังคมกลุ่ม [3]
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ แม้คนขี้อายอาจจะดูเหมือนมีเพื่อนน้อย แต่ก็มักจะเป็นเพื่อนที่ไว้วางใจกันได้ และคบกันได้นานๆ
สุดท้าย จำไว้ว่าขี้อายเป็นนิสัยแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่สิ่งกำหนดตัวตนและวิถีชีวิตทุกอย่างของเรา เราแค่ยอมรับว่า เราขี้อายกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป แต่ก็มีคุณค่าและเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ไม่ต่างจากคนอื่นเลย
เอกสารอ้างอิง
Julie Bassett. What Makes Us Shy? Psychology Now, vol. 2, 2022.