Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Movie
2 April 2022

‘บัซ ไลท์เยียร์’  ไม่ต้องเป็นฮีโร่สำหรับใคร แค่เห็นคุณค่าในตัวเองก็พอ

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • ‘บัซ ไลท์เยียร์’ เป็นหุ่นตำรวจอวกาศสุดไฮเทคในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘Toy Story’ ปรากฏตัวในฐานะของเล่นชิ้นใหม่ของแอนดี้ ซึ่งการมาของบัซทำให้ของเล่นชิ้นเก่าอย่าง ‘วู้ดดี้’ อิจฉาและพยายามเขี่ยเขาให้พ้นทาง
  • ตลกร้ายของบัซคือการไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น ‘ของเล่น’ แต่คิดว่าตัวเองเป็นตำรวจอวกาศ ดังนั้นเมื่อรู้ความจริง บัซจึงผิดหวังอย่างแรง เขาช็อกและตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด
  • ในความอ้างว้างผิดหวัง สิ่งที่น่าประทับใจคือพัฒนาการทางความคิดของวู้ดดี้ ที่สลัดความอิจฉาทิ้ง และมองบัซในฐานะ ‘เพื่อน’ คนหนึ่ง มิตรภาพและคำปลอบโยนทำให้บัซยอมรับความจริงและกลับมามีความสุขอีกครั้ง

ตอนเด็กๆ ผมชอบชวนพี่ชายกับเพื่อนๆ เล่นเป็นซุปเปอร์ฮีโร่สุดเท่ ที่ออกวิ่งไล่จับเหล่าร้ายและปล่อยพลังใส่กันอย่างสนุกสนาน 

แม้จะได้รับบทตัวร้ายมากกว่า แต่ถ้ามีโอกาสเป็นฮีโร่ ผมจะขอรับบท ‘บัซ ไลท์เยียร์’ 

บัซ ไลท์เยียร์ (Buzz Lightyear) เป็นหุ่นตำรวจอวกาศสุดไฮเทคในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘Toy Story’ ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะของเล่นชิ้นใหม่ของหนูน้อยแอนดี้ 

การมาของบัซทำให้ของเล่นชิ้นเก่าหวาดเสียวไปตามกัน โดยเฉพาะ ‘วู้ดดี้’ นายอำเภอคาวบอยที่เป็นของเล่นชิ้นโปรดตัวปัจจุบัน เพราะบัซดูล้ำสมัยสุดๆ แถมยังมีออร่าพระเอก เท่ และดุดันในแบบที่เด็กผู้ชายหลายคนต้องการ

เมื่อย้อนดูภาพยนตร์เรื่องโปรดด้วยสายตาที่โตขึ้น ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงสนุกสนาน แต่ยังแฝงข้อคิดที่เน้นย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งต่างต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่ 

เริ่มจากของเล่นในบ้านที่มีสถานะไม่ต่างอะไรกับลูก ที่มีเจ้าของอย่าง ‘แอนดี้’ เป็นเหมือนพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน 

ดังนั้นความรู้สึกของวู้ดดี้ จึงคล้ายกับลูกคนโตที่เห็นแม่เอาแต่ ‘เห่อน้อง’ และละเลยการเอาใจใส่ ‘ของตาย’ อย่างเขา

วู้ดดี้เก็บงำความน้อยเนื้อต่ำใจเอาไว้มากมาย เขาสังเกตว่าเวลาเล่นของเล่น แอนดี้มักให้บัซรับบทเป็นตัวเอกหรืออะไรก็ตามที่เด่นกว่าเขา ส่วนผนังห้องแอนดี้ที่เดิมติดรูปคาวบอยไว้ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพนักบินอวกาศ 

ความอิจฉาค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจวู้ดดี้และรอวันปะทุ 

อย่างไรก็ตาม บัซก็ไม่ได้เป็นตัวละครที่สมบูรณ์แบบ เพราะตลกร้ายของบัซคือการไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น ‘ของเล่น’ เนื่องจากบัซถูกโปรแกรมป้อนใส่สมองว่าตัวเองเป็นตำรวจอวกาศ แถมยังเข้าใจว่าที่ตัวเองต้องมาอยู่กับแอนดี้ก็เพราะยานอวกาศของเขาดันโชคร้ายตกลงมา ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่าง บัซมักใช้เวลาง่วนอยู่กับการซ่อมยานอวกาศอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น 

กลับมาที่วู้ดดี้ เขาคอยนึกร้อยแปดวิธีเพื่อเขี่ยบัซไปให้พ้นทาง จนวันหนึ่งแอนดี้ต้องเลือกของเล่นชิ้นหนึ่งออกไปเที่ยวด้วยกัน ‘วู้ดดี้ขี้อิจฉา’ จึงสกัดดาวรุ่งด้วยการใช้รถบังคับไล่พุ่งชนจนบัซพลาดท่าตกลงจากหน้าต่างห้องนอน

ขณะเดียวกัน เวรกรรมก็ย้อนสนองวู้ดดี้อย่างรวดเร็ว เพราะบรรดาเพื่อนของเล่นต่างเห็นถึงพฤติกรรมอันเลวร้ายของเขา ทำให้ภาพลักษณ์ของ ‘ลูกพี่ผู้แสนดี’ พังพินาศลง จนวู้ดดี้เข้าหน้าใครไม่ติด 

ฟากบัซหลังร่วงกระเด็นออกไปนอกบ้าน เขาโกรธมากและหาทางปีนขึ้นรถของแอนดี้ได้สำเร็จ…

เมื่อของเล่นคู่แค้นพบกันบนรถ ทั้งสองก็เปิดฉากทะเลาะกันอย่างหนักและพลาดตกลงจากรถ (ระหว่างแวะเติมน้ำมัน) จากนั้นก็มีเหตุการณ์พลิกผันให้ทั้งคู่ไปอยู่ในบ้านของ ‘ซิด’ เด็กชายผู้ชอบทำลายของเล่นเป็นชีวิตจิตใจ

ณ บ้านของซิด บัซได้เห็นโฆษณาตัวเองบนทีวี เขาทั้งช็อกทั้งผิดหวังเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นแค่ ‘ของเล่นหน้าโหล’ ที่ผลิตในไต้หวัน ส่วนความเชื่อฝังหัว (ว่าเป็นตำรวจอวกาศ) ก็เป็นเพียงเรื่องไร้สาระเรื่องหนึ่ง 

บัซตกอยู่ในสภาพช็อกและตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด ความจริงเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ ประกอบกับที่ผ่านมาเขาได้ให้คุณค่าตัวเองในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์จักรวาล’ จนไม่เหลือพื้นที่สำหรับความผิดหวัง

เมื่อยอมรับความจริงไม่ได้ บัซก็ใช้ชีวิตอย่างขาดสติ 

ผมรู้สึกสงสารตัวละครโปรดตอนพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองบินได้ แต่กลับร่วงลงมาจนแขนหลุด

ในความอ้างว้างผิดหวัง สิ่งที่น่าประทับใจคือพัฒนาการทางความคิดของวู้ดดี้ ที่สลัดความอิจฉาทิ้ง และมองบัซในฐานะ ‘เพื่อน’ คนหนึ่ง 

วู้ดดี้ชี้ให้บัซเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยอธิบายว่าบัซเป็นของเล่นที่สุดยอดและน่าอิจฉามากแค่ไหน ส่วนบัซเองก็ค่อยๆ เปิดใจยอมรับความจริง จนสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้น และกลายเป็นของเล่นที่มีความสุข

“นายพูดถูกมาตลอด ฉันไม่ใช่ตำรวจอวกาศ ฉันเป็นแค่ของเล่นงี่เง่าไร้ความหมาย” บัซ ตัดพ้อ

“ไม่เอาน่า การเป็นของเล่นดีกว่าเป็นตำรวจอวกาศตั้งเยอะ ดูนายสิ นายคือบัซ ไลท์เยียร์ ของเล่นชิ้นไหนต่างก็ยอมสละชิ้นส่วนที่ขยับได้เพื่อเป็นอย่างนาย นายมีปีก นายเรืองแสงในที่มืด นายพูดได้ แถมหมวกก็ยังเปิดปิดได้อีก นายเป็นของเล่นที่โคตรเท่ จนฉันคิดว่าฉันจะทำอะไรได้เมื่อเจอบัซ ไลท์เยียร์ เพราะฉันทำได้เพียง (วู้ดดี้เอามือดึงเชือกรอกของตัวเอง) “มีงูอยู่ในรองเท้าบูทฉัน” “

การยอมรับความจริงของบัซทำให้เขาปล่อยวางอดีต และเริ่มต้นใหม่กับการเป็นของเล่นที่สร้างความสุขแก่เจ้าของ จากนั้นบัซกับวู้ดดี้ก็หาทางลอบหนีออกจากบ้านหลังนั้น และกลับไปเป็นของเล่นคู่หูชิ้นโปรดของแอนดี้ในตอนจบ

สำหรับผม ‘บัซ ไลท์เยียร์’ อาจไม่ใช่ฮีโร่ที่เด็กทั่วโลกใฝ่ฝันเท่าซุปเปอร์ฮีโร่ประเภทพลังเหนือโลก แต่บัซคือ ฮีโร่ที่เท่ที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขาสามารถเรียนรู้ถึงคุณค่าของตัวเอง คุณค่าของมิตรภาพ และคุณค่าของการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความสุข

Toy Story เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในแฟรนไชส์ Toy Story ของค่าย Pixar (ภายหลังถูก Disney ซื้อไปในปี 2006) โดยนอกจากจะเป็นภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกสูงสุดในปี 1995 (ราว 373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แล้ว Toy Story ยังถือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งเจ้าของ Pixar ขณะนั้นคือ ‘สตีฟ จอบส์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ผู้ผลิตไอโฟนที่คนทั่วโลกใช้นั่นเอง

Tags:

เพื่อนการ์ตูนToy StoryBuzz Lightyearฮีโร่มิตรภาพ

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Weaponized-Incompetence-1
    Relationship
    Weaponized Incompetence: ทำไมการ ‘แกล้งทำไม่เป็น’ เพื่อโยนงานให้คนอื่น ถึงเป็นเรื่องท็อกซิกในความสัมพันธ์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Skip and loafer: วิธีมองโลกแบบ ‘มิทสึมิจัง’ ใจดีกับตัวเองและคนอื่น

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Book
    คาบเรียนจริยปรัชญา: เมื่อคำถามชีวิตตอบในการ์ตูน

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป

  • How to enjoy life
    โลกร้ายๆ ยิ่งต้องการคนใจดี: เรียนรู้ ‘ความใจดี’ ผ่านการ์ตูน กับ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel