- การเปรียบเทียบตนเองกับสิ่งต่างๆ และเล่าเรื่องผ่านบัตรคำในชีวิตประจำวันวัน เป็นกิจกรรมแรกๆ ที่นักเรียนไทใหญ่และพม่าที่เข้าร่วมชั้นเรียนวิจัยจำนวน 5 คน ได้สะท้อนความคิด ความรู้สึก และนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่ลึกขึ้นผ่านการสนทนา
- เรื่องราวที่ปรากฏขึ้นในกิจกรรมไม่ใช่แค่เพื่อทำความรู้จักกับนักเรียน แต่ทำให้เห็นนักเรียนที่อยู่ตรงหน้าไปมากกว่า “ชื่อที่ปักบนอกเสื้อ” การเล่าเรื่องของนักเรียนค่อยๆ เผยให้เห็นว่า ตัวเขาอยู่ตรงไหนของสังคมนี้ เขาถูกกระทำอย่างไร เขาและเพื่อนเขามีความคิดความฝันแบบไหน หรือกำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่
- ภายใต้ความแตกต่างด้านเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ เพศ ชนชั้น ร่างกาย และอื่นๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นคำตอบให้ครูได้สร้างบทเรียน หลักสูตร การสอน ที่ยืนเคียงข้างนักเรียน เพื่อท้าทายกับความไม่ยุติธรรม และร่วมสร้างสังคมที่คนเท่ากัน
“ร้องเพลงชาติไม่ดัง เดี๋ยวก็จับส่งกลับพม่าไปเลย”
เสียงตะโกนตำหนิจากครูคนหนึ่งถึงนักเรียนพม่าที่ร้องเพลงชาติไทยด้วยเสียงที่ไม่ดังพอ ในระหว่างการเข้าแถวทำกิจกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ยังคงชัดเจนในความทรงจำของผม เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ประโยคที่ปรากฏไม่ใช่แค่คำสั่งการหรือคำขู่เท่านั้น แต่ได้เผยให้เห็นอคติทางชาติพันธุ์ที่ทำงานอย่างเข้มข้นอยู่ในโรงเรียนไทย อย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าหลักสูตรที่ผ่านมาของไทยกำลังทําหน้าที่ผลิตซ้ำอคติบนแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง จนไม่มีพื้นที่ว่างที่จะมองเห็นความแตกต่างในฐานะคนเท่ากัน ทั้งยังสร้างความชอบธรรมให้กับการกดขี่และการเลือกปฏิบัติต่อความแตกต่างจนกลายเป็นเรื่องปกติ
เมื่อห้องเรียนกำลังมอง (ไม่) เห็นนักเรียนบางคน
โรงเรียนรัฐบาลขยายโอกาสแห่งนี้มีนักเรียนอยู่เพียง 200 กว่าคน แต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของเด็กกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนไทย ม้ง กระเหรี่ยง พม่า และไทใหญ่ หากมองไปที่คนสองกลุ่มหลังในภาพกว้าง พวกเขาถูกมองเห็นหรือรับรู้ในมิติทางเศรษฐกิจว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่คอยเสี่ยงอันตราย หรือเป็นพวกหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็เท่านั้น หากแต่ในมิติทางสังคม สิทธิความเป็นพลเมืองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของพวกเขากลับถูกปฏิเสธ ชีวิตในประเทศไทยจึงมีสถานะเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง นักเรียนไทใหญ่และพม่าในโรงเรียนของผมในเวลานั้น บางคนอพยพจากบ้านเกิดเข้ามาในไทยพร้อมกับครอบครัว และเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งงาน แต่บางคนก็เกิดและเติบโตที่นี่ ที่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด พวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่พยายามเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ในโรงเรียน ซึ่งก็รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาชาติด้วย
ณ จุดนั้น ผมในฐานะครูเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึงหลักสูตรและห้องเรียน แทนที่นักเรียนจะได้เปล่งเสียง (Voice) บนฐานประสบการณ์ของตนเองเพื่อบอกเล่าสิ่งที่พบเจอ พวกเขากลับถูกละเลยและมองข้าม ถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้เล่าที่เป็นเจ้าของเรื่องราวให้เป็นเพียงผู้ฟังที่ดี นั่งหลังตรง เพื่อฟังเรื่องที่ปราศจากความทรงจำและเรื่องราวในชีวิตของพวกเขาเอง
ทำไมหลักสูตรจึงไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้นําเอาประสบการณ์ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็นพลเมืองชั้นสองของสังคมมาเป็นประเด็นสำคัญในการเรียนรู้
เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นพื้นที่เปล่งเสียงและเล่าเรื่อง
ผมได้เริ่มต้นสร้างหลักสูตรเล็กๆ ผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการในช่วงปีสุดท้าย โดยหยิบยืมแนวคิดของเปาโล แฟร์ นั่นคือ “การศึกษาแบบตั้งปัญหา”(Problem-posing education) ซึ่งมุ่งเน้นนำเอาเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นแก่นของการเรียนรู้ เพื่อพาทุกคนในชั้นเรียนไปทำความเข้าใจว่าตัวเราถูกกระทำจากปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ด้วยความคิด คุณค่า โครงสร้างสังคมแบบใด และคิดหาหนทางสร้างการเปลี่ยนแปลง
การเปรียบเทียบตนเองกับสิ่งต่างๆ และเล่าเรื่องผ่านบัตรคำในชีวิตประจำวันวัน เป็นกิจกรรมแรกๆ ที่นักเรียนไทใหญ่และพม่าที่เข้าร่วมชั้นเรียนวิจัยจำนวน 5 คน ได้สะท้อนความคิด ความรู้สึก และนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่ลึกขึ้นผ่านการสนทนา
อย่างไรก็ตามในข้อเขียนนี้มีพื้นที่จำกัด ผู้เขียนจึงขอเล่าผ่านเรื่องราวของเด็กหญิงเอ (นามสมมติ) เป็นหลัก เด็กหญิงเอ (ณ เวลานั้น) อายุห่างจากเพื่อนร่วมชั้น 1 ปี เธอมีเชื้อสายไทใหญ่ พ่อและแม่เธอ เป็นแรงงานรับจ้างเฝ้ารีสอร์ทและทําสวน บ้านของเธอตั้งอยู่ในรีสอร์ท แม่ของเอเล่าให้เธอฟังว่า ถึงแม้จะได้ทํางานในรีสอร์ทและสวนที่ดูเหมือนจะสบาย แต่รายได้นั้นไม่เพียงพอและยังต้องเหนื่อยจากการทํางานมากขึ้น เอเป็นเด็กที่กล้าแสดงออกและชอบตั้งคําถามในชั้นเรียนอยู่เสมอ เธอมีความฝันอยากเป็นสถาปนิก จึงไม่แปลกที่เธอเปรียบตนเองเป็นเหมือน ‘วงกลม’ ที่ไม่สามารถหยุดนิ่งได้ เธอบอกว่าตนเองชอบเปิดรับและเรียนรู้สิ่งใหม่
เมื่อเธอเริ่มขยายความเรื่องของตัวเองผ่านบัตรคำว่า ‘การเดินทาง’ น้ำเสียงของเอก็เปลี่ยนไป เธอเล่าถึงประวัติศาสตร์ของครอบครัวตนเองผ่านชีวิตของปู่ ปู่ของเธอเป็นคนเชื้อสายจีนที่มีชีวิตในช่วงระหว่างสงคราม ด้วยสภาวะสงครามทําให้ปู่ของเธอต้องหนีเอาตัวรอดเข้ามาในไทย ชีวิตของปู่ไม่ต่างจากชีวิตของพ่อแม่เธอนัก เพราะต้องอยู่ภายใต้ชะตากรรมของการหนีปัญหาสงครามและท้ายที่สุดก็ต้องย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดมา การเข้ามาอยู่ในไทยของพ่อแม่ทำให้พวกเขาพบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ทั้งภาษา การเป็นคนไร้บัตร และการถูกกดค่าจ้างจากการทํางาน สิ่งที่เกิดขึ้นกับปู่ พ่อและแม่ ส่งผลต่อตัวเธอทั้งในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล การย้ายโรงเรียน ไปจนถึงการแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่ที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
เรื่องราวที่ปรากฏขึ้นในกิจกรรมทั้งสองจึงไม่ใช่แค่กิจกรรมเพื่อทำความรู้จักกับนักเรียน แต่มันทำให้ผมเห็นนักเรียนที่อยู่ตรงหน้าไปมากกว่า ‘ชื่อที่ปักบนอกเสื้อ’ การเล่าเรื่องของเอ ส่งผ่านน้ำเสียงที่บรรจุความทรงจำ และตัวตน ซึ่งทั้งหมดนั้นค่อยๆ เผยให้เห็นว่า ตัวเขาอยู่ตรงไหนของสังคมนี้ เขาถูกกระทำอย่างไร เขาและเพื่อนเขามีความคิดความฝันแบบไหน หรือกำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ ภายใต้สังคมการเมืองของการศึกษาที่กระทำต่อพวกเขาบนความแตกต่าง
จากกิจกรรมเริ่มแรกผ่านเรื่องราวของเด็กทั้ง 5 คน ได้เกิดเป็นบทเรียน 4 คำ (4 Theme) ในชีวิตประจำวันที่ถูกนำมาใช้ในการเรียนรู้ ประกอบด้วย ‘ย้าย บ้าน คนต่างด้าว และทำงาน’ ซึ่งกลายเป็นแกนหลักในบทสนทนาถึงความสัมพันธ์ในมิติทั้ง 4 เชื่อมร้อยกับความรู้ ความคิด การถูกกระทำจากอคติ ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสและสิทธิที่ไม่เป็นธรรม ในบทเรียนหนึ่ง ภายใต้ธีมหลักคือคำว่า ‘ทำงาน’ เอสรุปบทเรียนว่า
ปลายทางสุดท้ายของปัญหาการทํางานที่ครอบครัวของเธอ (และเพื่อน) เผชิญอยู่ ส่งผลให้พวกเธอตกอยู่ภายใต้วงจรของการเป็นหนี้ มีชีวิตที่ไม่มั่นคง “เรียนจบทํางานที่ดีๆ ก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นวงจรชีวิตของพวกหนูแล้ว เขามีกฎหมายไว้แล้ว เรียนจบก็ทํางานไม่ได้ ต้องกลับไปทํางานแบบที่พ่อแม่ทํา ต้องทํางานหนักเพื่อใช้หนี้ หาเงินมาก็ใช้หนี้”
เธอและเพื่อนอีก 4 คน มองเห็นสาเหตุของปัญหาผ่านคำเหล่านั้นที่กำลังสนทนากันอยู่คือ รัฐบาล กฎหมาย ศาล สื่อ และการศึกษา นั้นมีส่วนสำคัญในการกําหนด กระทำ และเลือกปฏิบัติต่อพวกเขาบนความแตกต่าง ในตอนท้ายเอเสนอว่า การปรับเปลี่ยนในทางกฎหมายจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการรวมตัวของคนที่มีปัญหาแบบเดียวกันเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลง “ลองไปพูดคุยกับคนที่ไม่มีบัตรมันจะยิ่งดี เวลาเราเข้าไปในศาลเขาพูดอะไรมาก็ไม่รู้อะไรเลย เราก็ไม่รู้เรื่อง เราต้องศึกษากฎหมายตลอด แล้วก็ดูข่าวสารการเมือง เพื่อจะได้รู้ว่ามันเป็นแบบนี้”
บทสนทนาระหว่างทางของเอและเพื่อนๆ ที่ถูกเปล่งเสียงเล่าออกมาจึงเป็นการเรียนรู้ในตัวมันเอง พวกเขาตีความร่วมกันจากประสบการณ์เพื่อสร้างความรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงค่านิยมทางสังคมและความเชื่อที่ส่งผลต่อพวกเขา
ทั้งหมดนี้จึงเสมือนเป็นหลักสูตรที่ให้พวกเขาได้กลับมาอธิบายและกําหนดความหมายให้กับชีวิตอย่างมีความหวังเพื่อท้าทายการกดขี่ ซึ่งต่างจากหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ถูกเล่าและผลิตซ้ำให้ผู้เรียนเชื่อว่า อคติ ความไม่เป็นธรรม และการเข้าไม่ถึงโอกาสนั้นเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ
นักเรียนของเราเป็นใคร
ผมหวังว่า บทเรียนเล็กๆ จากงานวิจัยระดับปริญญาตรีในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ช่วยให้ครูได้กลับมาตั้งคำถามถึงชั้นเรียน หลักสูตร และการสอนของตัวเองว่ากำลังมองนักเรียนจากมุมมองแบบใด ใครคือนักเรียนของเราบ้างในห้องเรียน พวกเขาเป็นใคร มีเรื่องราว และความทรงจำต่อชีวิต ต่อสังคมแบบไหน มีความเจ็บปวดและบาดแผลที่ถูกกระทำอย่างไร พวกเขาถูกรับรู้ หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร ภายใต้ความแตกต่างที่ไม่เพียงแค่ด้านเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ แต่ยังรวมถึงเพศ ชนชั้น ร่างกาย และอื่นๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นคำตอบให้ครูอย่างเราได้สร้างบทเรียน หลักสูตร การสอน ที่ยืนเคียงข้างนักเรียน เพื่อท้าทายกับความไม่ยุติธรรม และร่วมสร้างสังคมที่คนเท่ากัน
*ข้อเขียนนี้มาจากส่วนหนึ่งของการวิจัยช่วงฝึกสอนของผู้เขียน ในหัวข้อ “ผลการจัดการเรียนรู้แบบตั้งปัญหาในวิชาสังคมศึกษา: ภาพสะท้อนเรื่องเล่าของกลุ่มนักเรียนพหุวัฒนธรรม” |