- จากตอนที่แล้ว ภัทรารัตน์ หยิบ หลวิชัย – คาวี มาเขียนในประเด็นความสัมพันธ์ ‘เพื่อน’ อย่างหลวิชัยที่มีคุณสมบัติ คือ มีเส้นกั้นอาณาเขต (boundary) ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นที่ชัดเจน โดยในขณะเดียวกันก็เป็นที่พึ่งให้คาวีได้อย่างที่สุด ในตอนที่ 2 นี้ มาต่อที่ความสัมพันธ์ที่เคารพอาณาเขตของตัวเอง
- สิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพบางลักษณะนั้นมีอาณาเขตระหว่างกันไม่ชัดนัก ทว่ายิ่งไม่มีขอบเขตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกื้อกูลกันอย่างแท้จริงหรือยั่งยืนได้น้อยลงเท่านั้น เพราะจะเป็นการที่มีฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนเป็นผู้ให้อย่างล้นพ้น ในที่สุดจึงเหนื่อยล้าเกินทนเพราะรู้สึกถูกเอาเปรียบหรือถูกเหยียบย่ำ
- เราไม่อาจโทษผู้อื่นอยู่แต่ฝ่ายเดียวหากรู้สึกถูกสูบพลังชีวิตไปแทบหมดสิ้น เพราะเราก็เป็นผู้อนุญาตให้รูปแบบบางอย่างดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน แล้วจะทำอย่างไรดีหากไม่ต้องการความสัมพันธ์แฝงพิษกับมวลมิตรอีกต่อไปแล้ว?
1.
(ความเดิมจากหลวิชัยคาวีตอน 1) ลูกเสือและลูกวัวกำพร้าเดินทางท่องพงไพรไปเจอฤาษี ท่านได้ทราบว่าลูกวัวเคยขอให้แม่วัวให้นมลูกเสือทั้งยังผ่านเหตุการณ์ยากลำบากมาด้วยกันและเป็นมิตรกันผิดวิสัยเสือกับวัวก็ประทับใจ ฤาษีจึงเสกให้สัตว์สองตัวนี้กลายเป็นคนโดยให้เสือชื่อว่า หลวิชัย และวัวชื่อ คาวี สองกุมารเรียนสรรพวิชากับฤาษีจนเติบใหญ่และอยากอยู่ปรนนิบัติฤาษีเพื่อตอบแทนคุณ แต่ฤาษีเห็นว่าผู้มีวิชาความรู้น่าจะออกไปครองเมืองก็จะช่วยผู้คนได้มาก เมื่อทั้งสองเห็นชอบ ท่านจึงทำพิธีถอดดวงใจของทั้งสองใส่ลงพระขรรค์และย้ำว่าห้ามให้ศัตรูได้ขรรค์ไปเด็ดขาด ทั้งสองรับทราบแล้วพากันลาฤาษีออกเดินทางไปในโลกกว้าง
เมื่อสองหนุ่มมาถึงทางแยก หลวิชัยก็ปรารภว่าให้แยกกันไปคนละทิศ แล้วอีก 3 เดือนค่อยกลับมาเจอกันที่เดิมนี้
คาวีเดินทางไปเจอกลองในพระราชวังแห่งเมืองซึ่งร้างไร้ผู้คนแห่งหนึ่ง ในกลองนั้นมีนาง จันท์สุดา ผมหอมจรุงผู้เป็นธิดาของเจ้าเมืองจันทรนคร เมื่อได้ทราบจากนางว่าชาวเมืองรวมถึงบิดามารดาของนางถูกนกอินทรีย์กิน เขาจึงล่อนกมาสังหารเสีย จากนั้นก็ได้สมรสกับนางจันท์สุดาและครองจันทรนครนับแต่นั้น
แต่ภายหลังท้าวสันนุราชผู้ครองกรุงพันธวิสัยได้พบเส้นผมกลิ่นเย้ายวนของนางจันท์สุดาที่ลอยมาตามน้ำจนปรารถนาในตัวนางและประกาศให้รางวัลคนที่ช่วยเหลือได้ ยายทัศประสาทซึ่งเป็นข้าเก่าของพระธิดาจึงวางแผนโดยขอกลับไปรับใช้นางและในระหว่างนั้นก็ได้รู้ความลับว่าหัวใจของคาวีอยู่ในพระขรรค์และคาวีจะตายหากนำขรรค์ไปเผาไฟ ยายจึงหลอกล่อสองคนไปอาบน้ำแล้วให้ฝากของไว้จนได้ขรรค์ไปเผา ซึ่งทำให้คาวีล้มสิ้นสติไป เปิดทางให้ยายเจ้าเล่ห์นำทหารของท้าวสันนุราชเข้ารวบตัวจันท์สุดาไปถวายท้าวเฒ่า
ฝั่งหลวิชัยนั้น เมื่อครบกำหนดเวลา 3 เดือนก็กลับไปเจอคาวีตรงที่จากกัน แต่รอทั้งวันก็ไม่พบ เขาจึงเดินทางเสาะหากระทั่งได้พบกับคาวีที่นิ่งแน่ใกล้เพลิงที่แผดเผาพระขรรค์อยู่ เขาจึงช่วยเอาขรรค์ออกมาจากเปลวเพลิง ทำให้คาวีฟื้นขึ้นและได้ทราบความจากคาวี หลังจากนั้นเขาได้ทราบข่าวว่าท้าวสันนุราชอยากจะกลับไปเป็นหนุ่มและประกาศหาผู้มีวิชาอาคมที่จะสามารถทำพิธีชุบรูปให้ตนได้ เขาจึงปลอมตัวเป็นฤาษีไปหาพระองค์แล้วทำทีช่วย แต่ที่แท้แล้วเขากลับสลับตัวคาวีออกมาหลังทำพิธีกรรม ทำให้ผู้คนเชื่อว่าคาวีเป็นท้าวสันนุราชในเวอร์ชั่นหนุ่ม นั่นทำให้คาวีได้สมรสกับจันท์สุดาอีกครั้ง และได้ครองสองเมืองอย่างเป็นสุข
เมื่อหลวิชัยเห็นดังนั้นก็ลาคาวีเพื่อไปตามทางของตนต่อไป
2.
หลวิชัยเป็นตัวอย่างของคนที่สามารถจะมีมิตรภาพที่เกื้อกูลผู้อื่นได้อย่างสุดซึ้ง ในขณะที่ก็ยังมีอาณาเขตของตัวเองที่ชัดเจนและเคารพอาณาเขตของผู้อื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่ามิตรภาพบางลักษณะนั้นมีอาณาเขตระหว่างกันไม่ชัดนัก ทว่ายิ่งไม่มีขอบเขตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกื้อกูลกันอย่างแท้จริงหรือยั่งยืนได้น้อยลงเท่านั้น เพราะจะเป็นการที่มีฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนเป็นผู้ให้อย่างล้นพ้น ในที่สุดจึงเหนื่อยล้าเกินทนเพราะรู้สึกถูกเอาเปรียบหรือถูกเหยียบย่ำ
ทว่าเมื่อสืบค้นให้ลึกลงไป ฝ่ายที่ยอมและทำตัวเป็นผู้ให้อย่างถึงที่สุดจนไม่มีอะไรเหลือจะให้อีกต่อไปนั้นก็มักกำลัง แลก กับความรู้สึกต่างๆ เช่น รู้สึกไม่ขัดแย้ง หนีความรู้สึกผิด ได้ความสงบ รู้สึกมีค่าและได้รับการยอมรับ หนีความเหงา ฯลฯ แตกต่างกันไป ซึ่งก็ถือเป็นการพึ่งพาคนที่ตนเห็นเป็นผู้รับเช่นกัน
และรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นสามารถมีรากมาได้จากหลายอย่าง เช่น การถูกทำให้เคยชินกับการไม่มีอาณาเขตตามสมควรระหว่างตัวเองและคนในครอบครัว ฯลฯ ตั้งแต่เด็ก หนำซ้ำยังถูกทำให้รู้สึกผิดเมื่อกั้นเขต คนที่โตมาเช่นนี้จะมีอาณาเขตที่ชัดเจนกับคนอื่นได้ง่ายนักงั้นหรือ? หากไม่ได้ทำงานกับโลกภายในของตัวเองก็มักลงเอยด้วยความเคยชินในการเปิดเปลือยให้คนอื่นสนองความปรารถนาใดๆ ของเขาผ่านการล่วงล้ำอาณาเขตของเรา…
อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อสถานการณ์เดียวกันของแต่ละคนสามารถแตกต่างกันกระทั่งเป็นไปในทางตรงข้ามเลยก็ได้ ไม่จำเป็นว่าโตขึ้นมาแบบไหนแล้วจะต้องกลายเป็นแบบไหนตายตัว ที่สำคัญเราทุกคนมีศักยภาพเติบโตก้าวข้ามเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นในวัยเด็กได้ แม้มักจะต้องใช้เวลาทำงานกับภายในตัวเองมากและต้องอาศัยความใจดีกับตัวอย่างที่สุด นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้วไม่มีพ่อแม่คนไหนตั้งใจทำร้ายลูก และแม้การให้อภัยพ่อแม่หรือผู้ดูแลในวัยเด็กมักไม่อาจปลดเปลื้องใจได้ในครั้งเดียวและไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นด้วยกับการกระทำบางอย่างของพวกเขา แต่แปลว่าเราเห็นใจพ่อแม่ได้และพร้อมที่จะทิ้งความหนักอึ้งออกไปจากใจของเรา นี้เองทุกคนจึงมีโอกาสเกิดใหม่ได้เสมอ
4.
หนทางคลาย และการสำรวจตัวเองให้มากขึ้นอีก
เราไม่อาจโทษผู้อื่นอยู่แต่ฝ่ายเดียวหากรู้สึกถูกสูบพลังชีวิตไปแทบหมดสิ้น เพราะเราก็เป็นผู้อนุญาตให้รูปแบบบางอย่างดำรงอยู่ด้วยเช่นกัน แล้วจะทำอย่างไรดีหากไม่ต้องการความสัมพันธ์แฝงพิษกับมวลมิตรอีกต่อไปแล้ว?
1. สร้างขอบเขต (boundary) บางทีเราเองนั่นแหละที่ทำให้คนอื่นเคยชินว่า กับเรานั้นจะทำอย่างไรก็ได้ เราอาจชินกับการพูดว่า “ได้หมดๆ” “ไม่เป็นไร” ดังนั้น ลองกลับมาซื่อตรงต่อความรู้สึกตัวเองอีกหน่อย อะไรที่รู้สึกไม่โอเคก็ไม่จำเป็นต้องพูดว่าไม่เป็นไร ซึ่งการปฏิเสธก็ไม่จำเป็นต้องแข็งกร้าวเสมอไป เพียงแค่บอกอย่างสุภาพว่าเราต้องการหรือไม่ต้องการอะไรตอนไหนคนส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจได้ และถ้าพยายามรักษาน้ำใจอย่างที่สุดไปแล้ว เขาดันไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้เป็นปัญหาของเขาบ้าง เพราะการรักษาความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลนั้นไม่อาจเป็นความพยายามของเราฝ่ายเดียวไปตลอดกาลได้
2. สำรวจความคาดหวังต่อตัวเอง ใช่เราเองหรือเปล่าที่ติดกรอบภาพการเป็นอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะในฐานะส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน ซึ่งทำให้รู้สึกว่าฉันต้องเข้มแข็ง วางตัวสุขุม และแก้ปัญหาทุกอย่างได้เองอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราปิดกั้นตัวเองจากการ “รับ” ความใส่ใจและความช่วยเหลือจากคนอื่นเสียบ้าง?
หากลองเปิดใจ ก็มักเห็นได้ว่ามีหมู่มิตรจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเกื้อกูลเราอยู่ในยามที่เราตกทุกข์ เพียงแค่เราต้องสื่อสาร แต่หากเราเคยมีประสบการณ์ในการถูกซ้ำเติมและตัดสินมาในอดีต แล้วปัจจุบันเลือกที่จะไม่ขอความช่วยเหลือใครเอง มันก็คือการตัดสินใจของเราเอง หาใช่ความผิดของคนอื่นไม่
3. สำรวจความคาดหวังต่อคนอื่น ทุกคนย่อมมีชีวิตไปตามครรลองของตัวเองและย่อมมีจังหวะที่ไม่อาจเกื้อกูลคนอื่นได้ตลอด หากลองสำรวจตัวเองให้ละเอียดและเป็นกลางขึ้นก็อาจพบว่า เราเองก็ไม่ได้พร้อมเกื้อกูลคนอื่นในตอนที่เขาต้องการเสมอไปหรือถึงอยากช่วยเหลือเกินแต่ก็ไม่มีความสามารถที่จะช่วยผู้อื่นได้ในหลายเรื่อง หรือบางครั้งเราก็ทำอะไรตามอำเภอใจโดยอาจไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนเท่าที่เราคิดเหมือนกัน
หากเป็นเช่นนั้น เรายังคาดหวังอะไรเกินจริงจากคนอื่นได้อีกล่ะหรือ?
4. สำรวจว่าตัวเองว่ามีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอยู่หรือเปล่า? มันมาจากความต้องการตอบสนองความปรารถนา (yearning) อะไรในตัวเอง? ถึงปล่อยให้ตัวเองพยายามกับความสัมพันธ์หรือเสียสละอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่คนอื่นทำตัวอย่างไรกับคุณก็ได้จนดูไร้ขอบเขต แล้วคุณเห็นคุณค่าของตัวเองมากน้อยเพียงไหนกัน?
การเห็นตัวเองมากขึ้นช่วยปลดล็อครูปแบบบางอย่างได้ มิตรภาพที่มีการให้และรับอย่างเสมอกันนั้นดีต่อใจ หาไม่แล้วก็ต้องซื่อตรงต่อตัวเองว่ารับได้จริง ไม่เช่นนั้นความใจดีก็ต้องมีขอบเขตบ้าง เราจะหายใจออกไปเรื่อยๆ ได้อย่างไรถ้าไม่หายใจเข้าเลย และการหายใจเข้าออกนี้เองสะท้อนว่าคนส่วนหนึ่งในชีวิตก็สามารถผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาและออกไปตามจังหวะชีวิตของทุกฝ่ายที่ก็ผันแปรไปเรื่อยเช่นกัน และเมื่อเราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว ก็ขอให้ระลึกไว้ว่าสุดท้าย
ผู้คนย่อมมาหาเรา และจากไป ในเวลาที่สมควร
นี่คือถ้อยคำของครูด้วง อาจารย์สอนวาดรูปตอนเด็ก ที่เมื่อโตขึ้นก็ใคร่ครวญได้ความหมายมากมายหลายชั้นทีเดียว
อ้างอิง
*หมายเหตุ เนื้อเรื่องของหลวิชัยคาวีมีความหลากหลาย ในที่นี้ได้ผสานเนื้อหาจากสามแหล่งคือ จาก “นิทานเรื่องคาวี” ใน บทละครนอก โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พิมพ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ สำนักพิมพ์กรมศิลปากร; “คู่พระใหญ่พระน้อยในนาฏกรรมไทย” โดย ไพโรจน์ ทองคำสุก ใน วารสารราชบัณฑิตยสภา ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑ ม.ค.-มี.ค. ๒๕๕๙ และ เสือโคคำฉันท์ ต้นฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร จากห้องสมุดดิจิตอลวชิรญาณ
บทความทางโหราศาสตร์และจิตวิทยาเกี่ยวกับดาวเนปจูนในเรือน 11 อีกทั้งลักษณะเด่นของราศีกรกฏ และแง่มุมท้าทายต่างๆ ในเรือน 4
บทสนทนากับอจ.ด้วง ศักดิ์สิน เมื่อครั้งเรียนวาดรูป ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๔๒