- ชวนคุยกับจิตวิทยาของใบหน้ากันว่า ทำไมมนุษย์ถึงแยกแยะได้ว่าใครหน้าตาดีหรือไม่ดี หน้าแบบไหนกันแน่ที่เรียกว่าหน้าตาดี ทำไมคนเราถึงชอบคนหน้าตาดี และคนหน้าตาดีนั้นจริงๆ แล้วดีก็แค่ใบหน้าหรือเปล่า
- คำว่า ‘หน้าตา’ นั้นไม่ใช่แค่ใบหน้า แต่หมายถึงสิ่งที่มองเห็นภายนอกไม่ว่าจะเป็น หุ่น การแต่งตัว การแต่งหน้า รวมถึงบุคลิกท่าทาง ล้วนแต่รวมเป็นภาพที่คนอื่นๆ จะรับรู้ตัวเราทั้งนั้น
- การลำเอียงเพราะหน้าตานั้นมักจะเกิดเพราะเราไม่รู้ข้อมูลของคนคนหนึ่งมากพอ ดังนั้นการพยายามหาข้อมูลให้เพียงพอจะลดอคติตรงนี้ หากครูต้องให้คะแนนรายงานเด็ก ก็อาจจะต้องหาวิธีที่ละเอียดขึ้นว่า คะแนนนี้มาจากส่วนไหนกำหนดไว้ให้ชัดเจน
หากถามว่าในร่างกายของเราส่วนใดนั้นที่เป็นตัวแทนของเราได้ดีที่สุด คำตอบที่หลายๆ คนคงตอบตรงกันคือ ‘ใบหน้า’ ปกติแล้วเวลาเราจะจำใครเราก็จำเขาที่ใบหน้า คงน้อยคนที่จำคนด้วยการจำฝ่ามือหรือหัวไหล่ ใบหน้านั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ให้ความสำคัญมากครับ เนื่องจากแต่ละคนนั้นหน้าตาไม่เหมือนกันและยังมีการแบ่งคนออกเป็นคนที่ ‘หน้าตาดี’ และ ‘หน้าตาไม่ดี’ ถึงแม้ในบทเรียน คติสอนใจ หรือเรื่องราวต่างๆ มักจะสอนเราว่า หน้าตาไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าตานั้นยังเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญเสมอ หากคิดไม่ออก ท่านเคยเห็นคนหน้าตาไม่ดีเป็นพระเอกหรือนางเอกสักกี่คนในชีวิตครับ หรือแม้แต่พิธีกร ดาราในโฆษณา พรีเซนเตอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่หน้าตาดีเกือบทั้งนั้น
หลายๆ คนคงคิดเสมอว่าคนหน้าตาดีก็เหมือนมีทุนดีกว่าคนอื่น ทำอะไรก็ได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ โลกนี้มันช่างลำเอียงเหลือเกิน แล้วในโลกความจริงคนเราลำเอียงในเรื่องนี้หรือเปล่า คำตอบนี้อาจเป็นข่าวร้ายครับ เพราะปกติแล้วมนุษย์มักจะลำเอียงให้คนหน้าตาดีเสมอ มีงานวิจัยสุดคลาสสิกที่ศึกษาและพบว่าครูมักจะมองว่าเด็กที่หน้าตาดีเรียนเก่งกว่าเด็กที่หน้าตาไม่ดีโดยไม่รู้ตัว และศาลนั้นมักจะลงโทษคนหน้าตาดีเบากว่าคนหน้าตาไม่ดีโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน ฟังดูแล้วโลกนี้มันโหดร้ายเสียจริง
ในวันนี้ผมเลยมาชวนคุยกับจิตวิทยาของใบหน้ากันว่า ทำไมมนุษย์ถึงแยกแยะได้ว่าใครหน้าตาดีหรือไม่ดี หน้าแบบไหนกันแน่ที่เรียกว่าหน้าตาดี ทำไมคนเราถึงชอบคนหน้าตาดี และคนหน้าตาดีนั้นจริงๆ แล้วดีก็แค่ใบหน้าหรือเปล่า
มนุษย์ทุกคนแยกแยะว่าใครหน้าตาดีหรือไม่ดีออกโดยไม่ต้องให้ใครมาสอนครับ และถึงแม้จะมีความแตกต่างทางรสนิยมบ้าง แต่โดยรวมก็มีใบหน้าที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าหล่อจริงสวยจังอยู่ อย่างเช่นหน้าของดาราที่คนก็มักจะเห็นตรงกันว่าแบบนี้แหละคือสวยหรือหล่อ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นสิ่งใดที่ทำได้โดยไม่ต้องสอนมักจะฝังอยู่ใน ‘ยีน’ หรือรหัสพันธุกรรมของเราเหมือนโปรแกรมสำเร็จรูป และยีนก็เป็นแหล่งที่สะสมข้อมูลวิวัฒนาการของมนุษย์เอาไว้ สิ่งใดที่คนเราชอบมักจะมีเหตุผลหลักๆ สองอย่างคือ ช่วยในการเอาชีวิตรอด และช่วยให้มีคู่สืบพันธุ์ แล้วหน้าตาดีมันช่วยเรื่องใดในสองข้อนี้กัน
นักจิตวิทยาได้วิจัยและพบว่าหน้าตาดีนั้นคือหน้าที่มีสัดส่วนทั้งขนาดรูปร่างของศีรษะและอวัยวะบนใบหน้า ตา หู จมูก ปาก รวมถึงตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ นั้นอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย หรือถ้าเราเอาคนหลายๆ คนมาเฉลี่ยขนาดและตำแหน่งอวัยวะบนใบหน้ากัน เราจะได้คนหน้าตาดีครับ พูดง่ายๆ คือหน้าตาดีคือใบหน้าที่มีสัดส่วนพอดีไม่มีสิ่งใดที่มากไปหรือน้อยไป แล้วหน้าตาเฉลี่ยแบบนี้มันมีประโยชน์อะไร
คำตอบคือความพอดีมักจะแสดงถึงความปกติ ไม่พิการ ไม่บกพร่อง และนั่นแสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะสุขภาพดี สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนแต่ต้องการคู่รักที่มียีนที่แข็งแรง เพื่อลูกที่มีด้วยกันจะได้แข็งแรงอยู่รอดสืบเผ่าพันธุ์ไป แต่คนเราดูยีนไม่เห็น เราเลยดูสิ่งที่สะท้อนมาจากส่วนหนึ่งของยีนก็คือใบหน้านั่นเองครับ ดังนั้นใบหน้าเฉลี่ยๆ แบบนี้แหละที่มนุษย์จะชอบ และมองว่ามันหล่อหรือสวย ความชอบนี้มันฝังอยู่ในยีนของเรามาเป็นแสนปีเป็นอย่างต่ำแล้ว และทำให้เราจำแนกได้ว่าใครหน้าตาดี เพื่อหาพ่อหรือแม่ที่ดีให้ลูกเราเอง
แต่ถึงจะวิวัฒนาการมาเป็นแสนๆ ปี แต่การแยกคนด้วยใบหน้าก็ไม่ได้แยกความแข็งแรงของร่างกายหรือของพันธุกรรมได้แม่นยำเสมอไปหรอกนะครับ มันเป็นเพียงหลักคร่าวๆ นอกจากนี้มนุษย์เราเองก็เลือกคู่ด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาตั้งแต่โบราณแล้วเช่นกัน แต่นี่เป็นการอธิบายว่า เบ้าหน้าพระเอกนางเอกนี่มันทำให้คนทั่วไปรู้สึกชอบด้วยเหตุเบื้องหลังทางวิวัฒนาการแบบนี้นี่เอง แม้ว่าในปัจจุบันด้วยอาหารการกินและความก้าวหน้าของการแพทย์ทำให้มนุษย์มีสุขภาพแข็งแรงได้ถ้วนหน้า แต่สิ่งที่ฝังอยู่ในยีนนั้นมันใช้เวลานานมากเป็นหลักแสนหลักล้านปีในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราก็ยังชอบคนหน้าตา ‘หล่อ’ ‘สวย’ กันแบบนี้ต่อไปอีกนาน
ความชอบนั้นเป็นบ่อกำเนิดของความลำเอียง และคนร้ายก็คือสมองของเราเอง ที่เราคุยกันไปตอนต้นว่ามีงานวิจัยที่บอกว่าคนเรามักจะลำเอียง มองว่าคนหน้าตาดีนั้นเก่งกว่า ฉลาดกว่า เป็นคนดีกว่า สิ่งนี้หลายครั้งมันลำเอียงไปเองโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะสมองของมนุษย์มักจะหาทางที่สะดวกในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ และการตัดสินคนว่าเก่งไหม ดีไหม ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่สมองต้องตัดสินให้ได้
ประเด็นคือเวลาเราไปเจอใครโดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จัก หรือยังไม่สนิท เรามีข้อมูลของคนคนนั้นน้อยมากครับ เขาเก่งไหมเขาดีไหมเราก็ไม่มีข้อมูลเลย สมองเลยหาทางตัดสินให้โดยเลือกจากข้อมูลที่เราพอจะมี แล้วข้อมูลอะไรล่ะครับที่เรามักจะมีเป็นอย่างแรก คำตอบก็คือใบหน้าของคนนั่นเอง พอเห็นว่าหน้าตาดี สมองก็คิดง่ายๆ ว่าอย่างอื่นน่าจะดีไปด้วย นี่ไม่ใช่แค่หน้าตาของคนนะครับ แต่ทุกอย่างนั้นถ้าสวยแล้วด้านอื่นก็มักจะถูกมองว่าดีไปด้วย เหมือนอาหารที่จัดแต่งดีๆ ก็ดูน่ากิน ทั้งๆ ที่หน้าตากับรสชาติมันไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน ทางจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Halo effect’ เหมือนความสวยงามมันกลายเป็นประกายเจิดจรัสให้อะไรก็ดูดีไปหมด
แน่นอนว่าในทางร่างกายแล้ว หน้าตาไม่ได้มีผลอะไรกับสมองและความสามารถอื่นๆ และไม่มีผลต่อจริยธรรมว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ดีด้วย แต่การมีหน้าตาดีนั้นก็มีข้อดีที่แฝงมาทำให้คนที่หน้าตาดีมีความได้เปรียบจริงๆ ไม่ใช่คิดไปเองในบางครั้งด้วยนะครับ แต่มันเป็นผลทางเกิดทางอ้อมผ่านคนรอบๆ ตัวแทน
จากการวิจัยในห้องเรียนนั้น นอกจากจะพบว่าครูมักลำเอียงสนใจเด็กที่หน้าตาดีโดยไม่รู้ตัว มองว่าเด็กหน้าตาดีฉลาดกว่า ตั้งใจเรียนกว่า แล้วเรายังพบว่าเด็กที่หน้าตาดีจะได้รับผลดีจากการลำเอียงของครูในการทำให้ตนเองเก่งขึ้นจริงๆ
เพราะเมื่อครูคาดหวังว่าเด็กคนนี้น่าจะเป็นเด็กดี น่าจะเก่ง ถึงแม้เด็กคนนี้จะไม่เก่งกว่าคนอื่นๆ แต่ด้วยความคาดหวังโดยไม่รู้ตัว ครูก็อาจจะเรียกเด็กคนนั้นตอบคำถามบ่อยกว่าเด็กคนอื่น ทำให้เด็กได้ฝึกฝนมากกว่า หรือถ้าเด็กตอบไม่ได้ ครูก็มักจะพยายามช่วยอธิบายจนเด็กเข้าใจและตอบได้ เพราะลึกๆ คิดว่าเด็กคนนี้น่าจะทำได้สิ แตกต่างจากเด็กหน้าตาไม่ดีที่ครูอาจจะไม่คิดว่าทำได้ และถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่แปลกใจ และไม่ได้พยายามช่วยเป็นพิเศษ ดังนั้นในระยะยาวเด็กที่หน้าตาดีเลยมีโอกาสพัฒนาให้เก่งขึ้นกว่าเด็กหน้าตาไม่ดีตามความคาดหวังจริงๆ ปรากฏการณ์นี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า ‘Self-fulfilling prophecy’ ซึ่งก็คือความคาดหวังหรือผลการทำนายนั้นส่งผลให้คนเราทำอะไรที่เอื้อต่อสิ่งที่ตนคาดหวัง และทำให้ผลนั้นออกมาตามที่หวังได้จริง ๆ
นอกจากนี้ทักษะในการเข้าสังคมของคนหน้าตาดีนั้นมักจะดีกว่า เพราะคนก็จะเป็นมิตรกับคนหน้าตาดีมากกว่าโดยไม่รู้ตัวเพราะ Halo effect ทำให้สมองคิดว่าคนหน้าตาดีน่าจะเป็นคนดี น่าคบหา และพอคนมักจะพูดกับคนหน้าตาดีแบบเป็นมิตรมากกว่า คนหน้าตาดีก็เลยมีแนวโน้มที่จะมีโอกาสฝึกฝนทักษะการเข้าสังคมมากกว่า เลยดูเป็นมิตรขึ้นจริงๆ ส่วนคนหน้าตาไม่ดีนั้นพอคนไม่ค่อยเข้าไปคุยด้วยก็ยิ่งทำให้โอกาสฝึกฝนมีน้อยไปอีก และทำให้ดูเป็นมิตรน้อยกว่า ดังนั้นหน้าตาดีนั้นจึงเป็นเหมือนทุนและข้อได้เปรียบที่ช่วยส่งเสริมเจ้าของใบหน้าทางอ้อมได้เหมือนกัน
อ่านถึงตรงนี้แล้วอาจจะรู้สึกว่าโลกช่างไม่ยุติธรรมเลย แล้วจะทำอย่างไรถ้าเราไม่ได้เกิดมาหล่อสวยโดดเด่น แบบนี้ไม่เท่ากับว่าต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมที่แย่กว่าคนหน้าตาดีหรือ ชีวิตอาจจะไม่ได้แย่ถึงขนาดแก้ไขอะไรไม่ได้ครับ แน่นอนว่าศัลยกรรมอาจเป็นทางแก้ที่ดูตรงจุดที่สุดหากคนไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตน และยุคสมัยใหม่ก็คงไม่ได้มองว่านี่เป็นสิ่งที่ผิดแปลกอีกแล้ว แต่ก็คำนึงถึงผลดีหรือผลเสียก่อนที่จะทำให้ดีแล้วกันนะครับ แต่ถ้าไม่มีเงินหรือไม่ได้รู้สึกเกลียดใบหน้าตนเองขนาดนั้น แต่แค่รู้สึกว่าฉันอยากได้โอกาสแบบคนหน้าตาดีบ้าง มีวิธีอื่นๆ อีกไหม แน่นอนว่ามีครับ
คำว่า ‘หน้าตา’ นั้นไม่ใช่แค่ใบหน้า แต่หมายถึงสิ่งที่มองเห็นภายนอกไม่ว่าจะเป็น หุ่น การแต่งตัว การแต่งหน้า รวมถึงบุคลิกท่าทาง ล้วนแต่รวมเป็นภาพที่คนอื่นๆ จะรับรู้ตัวเราทั้งนั้น
จริงอยู่ว่าใบหน้านั้นเป็นสิ่งที่เด่นที่สุดเป็นธรรมชาติ แต่คนเราก็มักจะมองอะไรเป็นภาพรวมไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นแม้ใบหน้าไม่ได้สวยหล่อมาก แต่หุ่นดี แต่งตัวก็ดูเก๋ บุคลิกก็ดูเท่ สิ่งเหล่านี้ช่วยขับให้หน้าตาของคุณดูดีขึ้นได้เหมือนกันด้วย Halo effect เจ้าเก่า ที่พอมีอะไรดีสักอย่าง อย่างอื่นมันจะดีตามไปด้วย และไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาหุ่น การแต่งตัวให้เหมาะ หรือปรับบุคลิกให้ดูดี เป็นสิ่งที่เราปรับเปลี่ยนเองได้หากพยายามจริงไหมครับ
อีกประเด็นคือการจะดูว่าคนไหนหน้าตาดีหรือไม่ดีนั้น มันยังมีเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคลมาเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งเราจะพบว่าบางคนเรามองว่าไม่ได้หล่อสวยระดับพระเอกนางเอก แต่ก็ดูใช้ได้ทีเดียว แต่พอไปถามเพื่อน เพื่อนกลับส่ายหน้ารัวๆ ว่าไม่เห็นดีเลย นั่นแปลว่าบางคนอาจจะไม่ได้หล่อหรือสวยโดดเด่นในสายตาคนส่วนใหญ่เหมือนดารา แต่อาจจะหน้าตาดีในสายตาของบางคนก็ได้ และนอกจากนี้ที่ชัดสุดๆ คือเรื่องของเชื้อชาติ คนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ก็มีรสนิยมในการชอบใบหน้าที่ต่างกันพอสมควร เราอาจจะหน้าตาไม่ดีเท่าไรในประเทศหนึ่ง แต่เราอาจจะหน้าตาดีขึ้นในสายตาของคนประเทศอื่นก็ได้
นอกจากนี้ต่อให้หน้าตานั้นเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญเหลือเกิน แต่พอคนเรารู้จักกันไปนานๆ เข้า ข้อมูลในส่วนอื่นๆ มันจะทำให้คนรู้ว่าคนนี้ดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่งในเรื่องไหน น่าคบหรือไม่ หน้าตาจะมีผลมากๆ แค่ตอนรู้จักใหม่ๆ ตอนยังไม่สนิท แต่พอสนิทขึ้น รู้จักในด้านอื่นๆ มากขึ้น ข้อมูลเหล่านั้นจะมาแทนที่ข้อมูลปลอมๆ จาก Halo effect ให้หายไป และด้านที่ดีหรือไม่ดีอื่นๆ จะมีผลในการประเมินหรือตัดสินคนคนนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผลของใบหน้าจะค่อยๆ ลดไปตามเวลา
เราคงมีเพื่อนหรือคนสนิทที่ไม่ได้หน้าตาดี แต่เป็นคนที่เราอยากไปไหนมาไหนด้วย พูดคุยแล้วถูกคอเพราะนิสัยดีหรือมีสิ่งอื่นๆ ที่ดี และหากสังเกตแล้วคนดังหลายๆ คนก็ไม่ได้หน้าตาดี แต่ดังด้วยความสามารถ คู่รักที่รักกันยาวนานหลายคู่มักจะบอกว่าชีวิตคู่นั้น หน้าตาไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับนิสัยเลย และที่สำคัญ คนเรามีความเคยชิน ต่อให้หน้าตาดีแค่ไหน เห็นทุกวันมันก็เบื่อได้ครับ และไม่มีใครอยากคบกับคนนิสัยไม่ดีแต่หน้าตาดีหรอกครับ หรือไม่มีใครอยากจ้างคนที่หน้าตาดีแต่ไม่เก่งจริงๆ หากงานนั้นมันไม่เกี่ยวกับการใช้ใบหน้า
สุดท้ายเรามาย้อนมาดูเรื่องความลำเอียงกันอีกครั้ง ในเมื่อเรารู้ว่าหน้าตานั้นจะทำให้เราลำเอียงมองว่าคนสวยหรือหล่อดีกว่าความเป็นจริง เราจะทำอย่างไรถ้าเราอยู่ในตำแหน่งที่ต้องตัดสินคนอย่างยุติธรรม เช่น เราเป็นครู เป็นหัวหน้า ทำงานในศาล หรือตอนเราเลือกตั้ง การลำเอียงเพราะหน้าตานั้นมักจะเกิดเพราะเราไม่รู้ข้อมูลของคนคนหนึ่งมากพอ ดังนั้นการพยายามหาข้อมูลให้เพียงพอจะลดอคติตรงนี้ หากครูต้องให้คะแนนรายงานเด็ก ก็อาจจะต้องหาวิธีที่ละเอียดขึ้นว่า คะแนนนี้มาจากส่วนไหนกำหนดไว้ให้ชัดเจน เช่น เนื้อหาครบถ้วนแค่ไหน มีจุดผิดพลาดมากน้อยเพียงใด หรือหัวหน้าเวลาจะปฏิบัติกับลูกน้อง ก็อาจจะต้องมานั่งพิจารณาให้รอบด้านว่าลูกน้องแต่ละคนมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ดูให้ละเอียดขึ้น เอาให้รู้ว่าเราชอบไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจตรงไหน เพราะอะไร และมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องใบหน้าหรือเปล่า ถ้าทำได้ก็ช่วยลดความลำเอียงไปได้บ้างครับ
สังคมอาจจะไม่ค่อยยุติธรรม หน้าตาดีอาจจะได้เปรียบ แต่นั่นก็เพราะคนเราแตกต่าง และเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ความแตกต่างนั้นทำให้โลกไม่น่าเบื่อ มีความหลากหลายและสวยงาม ถ้าไม่มีคนหน้าตาไม่ดีไว้เปรียบเทียบ ก็ไม่มีคนหน้าตาดีให้รู้สึกชื่นชมหลงใหลเช่นกัน ทุกคนต่างมีคุณค่าในตัวของตัวเองจริงไหมครับ
อ้างอิง
Dion, K., Berscheid, E., & Walster, E. (1972). What is beautiful is good. Journal of personality and social psychology, 24(3), 285.
Eagly, A. H., Ashmore, R. D., Makhijani, M. G., & Longo, L. C. (1991). What is beautiful is good, but…: A meta-analytic review of research on the physical attractiveness stereotype. Psychological bulletin, 110(1), 109.
Efran, M. G. (1974). The effect of physical appearance on the judgment of guilt, interpersonal attraction, and severity of recommended punishment in a simulated jury task. Journal of Research in Personality, 8(1), 45-54.
Langlois, J. H., Roggman, L. A., & Musselman, L. (1994). What is average and what is not average about attractive faces?. Psychological science, 5(4), 214-220.
Langlois, J. H., Kalakanis, L., Rubenstein, A. J., Larson, A., Hallam, M., & Smoot, M. (2000). Maxims or myths of beauty? A meta-analytic and theoretical review. Psychological bulletin, 126(3), 390.
Little, A. C., & Perrett, D. I. (2002). Putting beauty back in the eye of the beholder. The Psychologist.
Perrett, D. I., Burt, D. M., Penton-Voak, I. S., Lee, K. J., Rowland, D. A., & Edwards, R. (1999). Symmetry and human facial attractiveness. Evolution and human behavior, 20(5), 295-307.
Snyder, M., Tanke, E. D., & Berscheid, E. (1977). Social perception and interpersonal behavior: On the self-fulfilling nature of social stereotypes. Journal of Personality and social Psychology, 35(9), 656.
Thorndike, E. L. (1920). A constant error in psychological ratings. Journal of applied psychology, 4(1), 25-29.