- หลายครั้งในชีวิตที่ความกดดัน ความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ความซึมเศร้า และความซ้ำซากจำเจจากการทำอะไรเดิมๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งสามารถนำไปสู่อาการหมดไฟ (Burnout) ภาวะที่ผู้ใหญ่หลายคนพยายามอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น
- และแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็ยังต้องคอยย้ำกับตัวเองว่าอย่าลืมดูแลจิตใจอยู่เสมอ ชีวิตการทำงานอาจทำให้เราเคยชินและหลงลืมการเอาใจใส่ตัวเองไป นับประสาอะไรกับเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งจะเริ่มยืนด้วยขาตัวเอง
- ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ถึงการดูแลตัวเองและการหยุดพักด้วยการออกไปท่องเที่ยวพักผ่อนจิตใจจากวันทำงาน แต่หากลองถอยกลับมามองวัยรุ่นในช่วงยุคนี้จะพบว่าวัยรุ่นก็มีอาการหมดไฟมาจากการศึกษาและในชีวิตด้วยเช่นเดียวกัน
วัยรุ่นในยุคนี้ได้รับภาระหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่ลืมตาดูโลก พวกเขาต้องแบกความคาดหวังของผู้ใหญ่ไว้มากมาย ทั้งยังถูกผลักดันให้ต้องแข่งขันกันอย่างเต็มที่เพื่อที่จะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้เกรดดีๆ หรือกระทั่งได้รับเกียรตินิยม แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ พวกเขายังต้องมีกิจกรรมพิเศษไปพร้อมๆ กันกับมีงานอดิเรกและมีสังคม นอกจากนี้ พวกเขายังต้องมีวิถีการกินและการนอนหลับในรูปแบบของคนสุขภาพดีเพื่อที่จะเป็นมนุษย์วัยรุ่นที่สมบูรณ์แบบ
แต่ในความจริงพวกเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น พวกเขาต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ตัวเองมีคุณลักษณะที่ตรงตามอุดมคติของวัยรุ่นคุณภาพที่ผู้ใหญ่เป็นคนสร้างขึ้น เหล่าวัยรุ่นต้องตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียน ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมชมรมหรือการเรียนพิเศษรวมเวลาราวแปดชั่วโมงต่อวัน ก่อนจะกลับบ้าน พักกินข้าว จากนั้นใช้เวลาอีกสี่ถึงห้าชั่วโมงในการทำการบ้านจึงจะได้เข้านอนเพื่อตื่นไปโรงเรียนในตอนเช้าของวันถัดไป วัฏจักรนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ห้าวันต่อสัปดาห์เป็นเวลาหลายปี ตารางชีวิตแบบนี้ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจไม่ว่าจะต่อมนุษย์ในช่วงวัยไหนก็ตาม
ผลกระทบจากโควิด-19 สู่ภาวะหมดไฟ
ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองยังเป็นปกติ เราอาจไม่ทันได้สังเกตเห็นอาการหมดไฟในเหล่าวัยรุ่น เนื่องจากผู้ใหญ่มักมองข้ามปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟเพราะเข้าใจว่า การใช้ชีวิตแบบในข้างต้นเป็นเหมือนมาตรฐานทางสังคมมากกว่า และเป็นหน้าที่ของเด็กๆ เองที่จะต้องผลักตัวเองให้ถึงอุดมคติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 ได้เข้ามามีบทบาทอย่างรุนแรงในสังคมโลก ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเสมือนการเน้นให้เห็นถึงภาวะนี้ เราอาจพบว่าการปิดสถานศึกษาและการเรียนออนไลน์มีผลทำให้เหล่าวัยรุ่นของเราเริ่มมีปัญหาพฤติกรรมทางอารมณ์เพิ่มขึ้น ทั้งความเครียดและภาวะหมดไฟในการเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น การทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุอาจทำให้เราเข้าใจภาวะหมดไฟในวัยรุ่นวัยฝันได้ดีขึ้น
- ความกังวลเรื่องการเรียน
แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ว่าวัยรุ่นมีความกังวลว่าพวกเขาจะไม่สามารถรักษาผลการเรียนไว้ได้เพราะเขาขาดแรงกระตุ้นและไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือการบ้านได้ดีเท่าตอนที่ยังต้องไปโรงเรียน
- ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนและครูน้อยลง
มาตรการเรียนออนไลน์ทำให้การสื่อสารของวัยรุ่นกับกลุ่มเพื่อนมีอุปสรรคมากขึ้น การทำการบ้านไปจนถึงการทำงานกลุ่มกลายเป็นเรื่องยากอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้ การขอความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากครูเองก็ลำบากไม่น้อยเพราะมีเทคโนโลยีเป็นกำแพงกั้น สาเหตุข้อนี้อาจทำให้เกิดภาวะหมดไฟในกลุ่มครูผู้สอนได้ด้วยเช่นเดียวกัน
- ความไม่พร้อม
บรรยากาศที่บ้านไม่ใช่สภาพการณ์ที่เหมาะแก่การศึกษา ซ้ำร้ายการเรียนออนไลน์ยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงจนบางครัวเรือนอาจไม่สามารถจ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาที่จำเป็นต้องมี เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต โทรศัพท์ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟและค่าหอที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้วัยรุ่นหลายคนจำต้องยอมแพ้ต่อการศึกษาด้วยการพักการเรียนหรือลาออกไปหางานทำก่อนวัยอันควรทีเดียว
สัญญาณการหมดไฟ
ผู้ใหญ่อาจมองว่าปัจจัยดังกล่าวไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดอาการหมดไฟ แต่สำหรับวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวเอง นี่เป็นช่วงวัยที่เขาจะได้สนุกกับชีวิตอย่างเต็มที่และมีความทรงจำสุขสันต์ให้กลับมานึกถึง การใช้ชีวิตกับการศึกษาอยู่ที่บ้านตลอดเวลาจึงถือเป็นวงจรชีวิตที่ซ้ำซากน่าเบื่อ ทั้งยังไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูงก็ทำให้ไม่ได้ผ่อนคลายชีวิตที่รัดตึง แนวโน้มอาการหมดไฟจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากสังเกตพบว่าวัยรุ่นของคุณมีอาการดังต่อไปนี้ คุณอาจต้องเตรียมรับมือและหาหนทางช่วยเหลือพวกเขาจากภาวะหมดไฟหมดฝัน
- ซึมเศร้า
พวกเขาสูญเสียความสนใจในสิ่งที่พวกเขาชอบทำ ไม่สามารถจดจ่อหรือทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีเหมือนเคย มากไปกว่านั้นพวกเขาอาจไม่อยากทำอะไรเลยก็เป็นได้
- วิตกกังวล
มีความกังวลโดยไม่มีสาเหตุและไม่สามารถปล่อยใจสบายๆ ได้จนอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ร่วมเพราะฝันร้ายบ่อยและไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ
- พฤติกรรมผิดปกติ
ในด้านร่างกาย พวกเขาอาจกินมากขึ้นหรือน้อยลงจากเดิม หรือในทางจิตใจ พวกเขาอาจอ่อนไหวผิดปกติ ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ อาจโกรธง่าย กลัวง่าย และเศร้าง่ายกว่าปกติมาก
- สุขภาพร่างกายผิดปกติ
วัยรุ่นอาจมีอาการปวดคอหรือปวดหลังจากการเรียนออนไลน์ ทั้งยังรวมไปถึงประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีอาการปวดท้องและเวียนหัว
- มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การลองมีเพศสัมพันธ์หรือเสพยา
เติมไฟเพื่อเยียวยา
ในฐานะผู้ปกครอง เราอาจช่วยเรื่องการเรียนการศึกษาโดยตรงไม่ได้เท่าไรนัก แต่ยังมีอีกหลายหนทางที่เราจะช่วยให้วัยรุ่นของเรายังไม่หมดไฟและยังมีฝันได้
- ผ่อนคลายกฎในครอบครัว
ปล่อยให้ลูกได้ติดต่อพบปะกับเพื่อนบ้างตามความเหมาะสม การใช้เวลานอกบ้านหรือร่วมกิจกรรมสามารถทำได้ใต้เงื่อนไขการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และหมั่นล้างมือ หรืออาจอนุญาตให้ใช้โซเชียลมีเดียระหว่างวันเพื่อพักผ่อนจิตใจจากการนั่งเรียนออนไลน์ได้
- สอนให้พวกเขาดูแลตัวเอง
ลองปล่อยให้เขาได้หาหนทางรักษาจิตใจห่อเหี่ยวจากอาการหมดไฟดู ไม่ต้องเป็นการทำอะไรที่ยากเย็น อาจเป็นแค่การอาบน้ำนานๆ เผื่อว่าอาการเหนื่อยล้าจะไหลลงท่อตามน้ำไปบ้าง หรืออาจเป็นแค่การปล่อยให้เขาดูรายการโทรทัศน์เบาสมอง ฟังหรือร้องเพลงเสียงดัง ออกไปเดินเล่นหรือวิ่งบ้างเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย กิจกรรมง่ายๆ เล็กน้อยเหล่านี้อาจช่วยให้เขาค้นพบวิธีรับมือกับความเครียดที่พบเจอได้
- หมั่นพูดคุยเปิดใจแต่ไม่ลืมที่จะให้พื้นที่ส่วนตัว
การไถ่ถามทั่วไป เช่น “เหนื่อยไหมลูก” หรือ “หิวไหม อยากกินอะไร” เป็นการเริ่มบทสนทนาที่ดีและยังเป็นการบอกเหล่าวัยรุ่นอ้อมๆ ว่าพวกเขาไม่ได้ตัวคนเดียว การไม่จริงจังจะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจมากขึ้นและเขาอาจแบ่งปันความกังวลในหัวออกมาบ้าง แต่อย่ารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เพราะแน่นอนว่าความเป็นวัยรุ่นจะต้องการพื้นที่ในการคิดการจินตนาการเพื่อหาตัวเอง
แม้ว่าภาวะหมดไฟในวัยรุ่นจะยังเป็นหัวข้อที่ใหม่และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่เราอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูผู้สอน กระทั่งเพื่อนฝูงรับฟังและใส่ใจความรู้สึกของวัยรุ่นเหล่านี้ดูบ้าง เพราะช่วงวัยของพวกเขาเป็นช่วงสำคัญของการเจริญเติบโต พยายามทำความเข้าใจพวกเขาด้วยการย้ำเตือนตัวเองเกี่ยวกับภาวะอารมณ์ที่ผกผันว่าครั้งหนึ่งสมัยที่เรายังเป็นวัยรุ่น เราเองก็มีอาการแบบนี้เช่นเดียวกัน และลองคิดว่าหากเราในช่วงเวลานั้นไม่ได้ออกไปเที่ยวเล่น พบปะเพื่อนฝูง หรือนอนหลับพักผ่อนเต็มที่เราจะเป็นอย่างไร
โลกในปัจจุบันที่หมุนด้วยความรวดเร็วเร่งรีบทำให้การใช้ชีวิตแบบค่อยๆ เจริญเติบโตนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย วัยรุ่นหลายคนที่หมดไฟยอมแพ้ก็จะต้องเคว้งคว้างโดดเดี่ยวเพราะไม่สามารถไปถึงเป้าหมายในอุดมคติของสังคมได้
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ เราไม่ควรกดดันวัยรุ่นมากจนเขาต้องประสบกับภาวะหมดไฟเพราะพวกเขาจะไม่มีโอกาสได้ออกไปพักผ่อนเพื่อรักษาจิตใจจากแบบแผนชีวิตที่รัดตึง ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิต พวกเขาอยู่ตรงกลางในความเดียงสาและไม่แก่กล้าพอจะยืนหยัดด้วยตัวคนเดียว โปรดใส่ใจพวกเขาและคอยให้กำลังใจเพื่อที่วัยรุ่นของเราเหล่านั้นจะยังคงมีไฟมีฝัน สามารถก้าวผ่านความลำบากในช่วงเวลานี้และได้เติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
10 Signs Your Teenager Is at Risk of Burnout
National Poll: Pandemic Negatively Impacted Teens’ Mental Health
Pandemic has teens feeling worried, unmotivated and disconnected from school