- นิทานเรื่อง ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา ดำเนินอยู่บนเรื่องเล่าหลอกหลวง ซึ่งก็ล้อเล่นอยู่กับความกลัวในเราทุกคนที่ไม่อยากรู้สึกด้อยค่าและไม่อยากถูกปฏิเสธที่ทางของเราบนโลกใบนี้
- เมื่อคนเรามักต้องการอาหารใจ ในความสัมพันธ์ที่มีมารยาทสังคมกำกับอยู่นั้นเราทุกคนก็พอรู้ว่าจะต้องให้อาหารใจคนอื่นในลักษณะเดียวกันกับที่เราต้องการ ยิ่งในบริบทที่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ฉลองพระองค์ที่ไม่ดำรงอยู่เลยก็สามารถจะถูกสอพลอว่าสวยงามได้เหมือนที่ผู้คนปั้นแต่งคำสรรเสริญกันว่าวิเศษเลิศเลอแม้น่าเศร้าที่บางทีลับหลังก็พูดถึงกันอีกอย่างหนึ่ง
- การแสดงความเห็นที่เถรตรงเกินไปแม้เราไม่มีเจตนาทำร้ายคนอื่น แต่ผลแห่งการสื่อสารออกไปโดยไม่ถูกที่ถูกเวลาอาจกลับกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่ายอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้รับสารตีความสารของเราในลักษณะที่ไปกระทบเขา
1.
ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ นครซึ่งอาบด้วยชีวิตชีวาของผู้คนมากหน้าหลายตาที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่เสมอ มีพระราชาแฟชั่นนิสต้าอยู่พระองค์หนึ่งที่วันๆ หมกมุ่นอยู่กับการแต่งเนื้อแต่งตัว และพระองค์ก็เริ่มจะได้สนุกยิ่งขึ้นเมื่อนักต้มตุ๋นสองคนเข้ามาเหยียบเยือนถึงในเมือง โดยพวกเขาแอบอ้างว่าเป็นช่างทอผ้าซึ่งไม่เพียงแต่สามารถจะถักทอผืนผ้าอันวิจิตรพิสดารเท่านั้น แต่ผ้าทอฝีมือพวกเขายังสามารถจะหลบลี้จากสายตาของคนโง่บรมและคนที่ดำรงตำแหน่งการงานอันไม่เหมาะสมกับตนเองอีกด้วย
พระราชาได้ฟังคุณสมบัติสุดอัศจรรย์ของผ้าดังกล่าวแล้วก็ชอบใจ จึงตบรางวัลอย่างงามให้ช่างทอกำมะลอไป (แสร้งทำเป็น) ทอผ้าตัดชุดให้ และเมื่อพระราชาส่งเหล่าขุนนางให้ไปดูความคืบหน้า แม้นพวกเขาจะมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ทุกคนก็ต่างเออออไปกับคำลวงของนักตุ๋นในเรื่องความตระการตาของผลงานนั้นเรื่อยไปจนกระทั่งถึงวันที่ฉลองพระองค์พร้อมให้พระราชาได้ทอดลองสวมใส่ และพระราชาเองแม้มองไม่เห็นอะไรเลย แต่ก็ไม่อยากจะเชื่อว่าพระองค์ไม่เหมาะกับยศกษัตริย์หรือเป็นคนเขลา เช่นเดียวกับข้าราชบริพารทั้งหลายที่เลี่ยงความกระอักกระอ่วนด้วยการพร้อมใจกันยกยอความงามของฉลองพระองค์ใหม่เป็นเสียงเดียวกัน แม้จะเห็นเพียงความว่างเปล่าอยู่ตรงหน้า
พระราชาใส่ฉลองพระองค์ล่องหนนี้ไปอวดปวงราษฎร์ ซึ่งต่างก็เคยได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับคุณสมบัติของมัน และพวกเขาก็พร้อมใจชื่นชมว่ามันดีเลิศประเสริฐศรีเพียงไร
แต่แล้วเด็กคนหนึ่งก็ตะโกนขึ้นว่า พระองค์ไม่ได้ใส่เลยอะไรนี่นา
ทันใดนั้นประชาชนกลับเริ่มกระซิบกระซาบข้อเท็จจริงนี้ต่อๆ กันไป จนในที่สุดคลื่นแห่งสรรพเสียงก็หลอมเป็นมติเอกฉันท์ ที่แท้แล้วพระราชาทรงความเปลือยเปล่า
พระราชาเริ่มปั่นป่วนใจ แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ทำได้เพียงก้าวเดินต่อด้วยท่าทีองอาจภาคภูมิกว่าเดิม!
2.
เราล้วนไม่อยากรู้สึกด้อยค่าและไม่เหมาะสมกับตำแหน่งแห่งที่
นิทานเรื่อง ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา ดำเนินอยู่บนเรื่องเล่าหลอกหลวง ซึ่งก็ล้อเล่นอยู่กับความกลัวในเราทุกคนที่ไม่อยากรู้สึกด้อยค่าและไม่อยากถูกปฏิเสธที่ทางของเราบนโลกใบนี้
เห็นได้ว่าด้วยการยอมรับ เรื่องเล่า เท็จอันหนึ่ง (พูดภาษาบ้านๆ ก็คือ โกหกให้ตัวเองดูดี) พระราชาและทุกคนซึ่งปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ก็สามารถจะรู้สึกควรค่ากับตำแหน่งแห่งที่ต่อไป แม้จะยืนอยู่บนเรื่องลวงนั้นได้อย่างไม่มั่นคงทางใจก็ตามที การสมาทานเรื่องเล่าหลักอันหนึ่งที่ตอบสนองอาหารใจ เช่น ความรู้สึกมีค่า ได้รับการยอมรับและได้เป็นส่วนหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้โลกภายในของแต่ละคนไม่ปั่นป่วนจนเกินไปนัก
ปฏิสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจสื่อสารสิ่งที่ เราคิด ว่าจริง
เมื่อคนเรามักต้องการอาหารใจ ในความสัมพันธ์ที่มีมารยาทสังคมกำกับอยู่นั้นเราทุกคนก็พอรู้ว่าจะต้องให้อาหารใจคนอื่นในลักษณะเดียวกันกับที่เราต้องการ ยิ่งในบริบทที่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ฉลองพระองค์ที่ไม่ดำรงอยู่เลยก็สามารถจะถูกสอพลอว่าสวยงามได้เหมือนที่ผู้คนปั้นแต่งคำสรรเสริญกันว่าวิเศษเลิศเลอแม้น่าเศร้าที่บางทีลับหลังก็พูดถึงกันอีกอย่างหนึ่ง
หากแม้โชคดีได้อยู่ในบริบทที่ไม่ถูกบีบให้ต้องพูดปดมดเท็จใส่กัน อย่างไรเสียเราย่อมล้วนเคยอยู่ใน ห้วงการปฏิสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ เราคิด ว่าจริงกับอีกฝ่ายได้ แม้คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์บางประการ โดยเฉพาะหากมันจะไปกระเทือนตัวตนของอีกฝ่าย (ใช้คำว่าสิ่งที่ เราคิด ว่าเป็น ‘ความจริง’ อาจไม่จริงหรือจริงแค่ในมุมของเรา และใช้คำว่า “ห้วง” ในการสะท้อนชั่วขณะที่รูปแบบนั้นเกิดขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องตายตัวตลอดไป)
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีใครสักคนเป็นเหมือนเด็กน้อยที่ตะโกนความจริงของเขาขึ้นอย่างไร้เดียงสา?
สารสะกิดใจ และการปกป้องตัวเอง
ในปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนอกนิทาน การแสดงความเห็นที่เถรตรงเกินไปแม้เราไม่มีเจตนาทำร้ายคนอื่น แต่ผลแห่งการสื่อสารออกไปโดยไม่ถูกที่ถูกเวลาอาจกลับกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึกอีกฝ่ายอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้รับสารตีความสารของเราในลักษณะที่ไปกระทบเขา เช่น ตีความว่าเราพูดจาลดทอน “คุณค่า” และทำให้รู้สึกว่าเขาไม่ถูกยอมรับ โดยเฉพาะในด้านที่เขาต้องการการยอมรับอย่างมาก
ดังนั้น ถึงแม้ระวังการสื่อสารกันอย่างสุดขีดก็อาจเลี่ยงการกระทบใจอีกฝ่ายไม่ได้หากเขามีรอยแผลบางอย่างอยู่แล้ว เช่น ในวัยเด็ก ใครคนหนึ่งเคยถูกผู้ใหญ่ย้ำบอกว่าเขาโง่กว่าพี่น้อง เมื่อเขาในวัยผู้ใหญ่ได้ยินใครสักคนพูดในทำนองที่ทำให้ เขาตีความ (แปลว่าคนพูดอาจจะไม่ได้เจตนาสื่อแบบนั้น) ตอกย้ำรอยช้ำในอดีตของตน เขาก็สามารถจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ขึ้นมา
หรือบางคนรู้สึกว่าถูกตั้งคำถามกับคุณภาพของการงานอันเชื่อมโยงกับคุณค่าของตน โดยที่ลึกๆ เขาก็ไม่มั่นใจหรือไม่เคารพตัวเองอยู่บางประการ บ้างเคยโดนตำหนิจนฝังใจ (เช่น เคยถูกติว่าไม่มีความรู้หรือถูกเหยียดว่าด้อยความรู้ความสามารถกว่า และได้พยายามพัฒนาตัวเองอย่างสุดแรงมาตลอดชีวิตแล้ว) เมื่อได้รับสารที่ทำให้เขาตีความ เช่นว่า “หาว่าฉันไม่มีวิชาความรู้ และคุณสมบัติอะไรก็ตามพอจะทำงานนี้หรือ?” ก็สามารถจะมีแรงเหวี่ยงขึ้นมาโดยพลัน
ในชีวิตประจำวันเราทุกคนก็อาจเจอสารจี้ใจและรู้สึกสั่นคลอนเช่นนั้นได้
และเมื่อเราถูกเขย่า เราต่างก็มักจะหาทางปกป้องชุด ‘ความจริง’ อันหนึ่งเกี่ยวกับตัวเอง และกลับยิ่งคุ้มกันมันอย่างแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลึกๆ เห็นว่ามันเป็นความเท็จที่อาจถูกเปิดโปง นักต้มตุ๋นเข้าใจหัวอกมนุษย์ทั้งหลายเป็นอย่างดี อีกนัยหนึ่งอัตตาของเราเองรู้ดีว่าจะลวงเราด้วยเรื่องเล่าแบบไหน
3.
การสื่อสารที่กระทบกระทั่งกันและกัน และการเติบโตของทั้งสองฝ่าย
สะเทือน
เวลาที่ เราคิดว่า คนอื่นส่งสารล่วงเกินเรา ในขณะหรือก่อนที่เราจะฟาดฟันกลับไปแบบปกป้องตัวเอง เคยได้ยินเสียงตำหนิตัวเองที่ซ้อนอยู่ไหม? ซึ่งถ้อยคำเฆี่ยนตีตัวเองเหล่านั้นก็สามารถจะเป็นสิ่งที่ได้รับมาจากคนอื่นในอดีตอีกทอดหนึ่ง
แล้วอะไรทำให้เสียงของผู้อื่นไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันมีน้ำหนักมากถึงเพียงนั้น ใช่เรื่องราวในใจของเราเองที่ซ้อนอยู่หรือไม่?
มันเป็นสิ่งที่สามารถนำมาตั้งตำถามแม้แต่กับเสียงที่เราได้ยินในความเงียบในการสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตประจำวัน ซึ่งบางทีเขาก็เพียงชายตามองและไม่ได้พูดอะไรกับเรา หรือมองแต่ทำราวกับว่าไม่เห็นเราไปเลย เขาอาจกำลังอยู่ในห้วงคำนึงของตนเองเช่นเดียวกัน และไม่ได้มีเจตนาจะส่งสัญญาณว่าการดำรงอยู่ของเรานั้นไร้ค่าไร้ความหมายหรือปฏิเสธเราแต่อย่างใด
สำรวจโลกภายในและขยายขอบเขต
เสียงที่มากระทบเราในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับผู้คน อาจเป็นเสมือนเสียงของเด็กน้อยที่โพล่งความจริงของเขาขึ้นมาอย่างไร้เดียงสา สวนกระแส และสั่นสะเทือนคนได้ทั้งเมือง ซึ่งทำให้แต่ละคนสามารถตระหนักถึงขอบเขตและแม้แต่แผลเก่าในใจของตน อีกทั้งสามารถเป็นจุดเริ่มต้นสู่การขยายขอบแดนและการเยียวยาบาดแผลในอดีตด้วย โดยหากรู้สึกสะเทือนจากสารภายนอก ก็อาจเริ่มจากการ
- ฟังเสียง อันมีอารมณ์ความรู้สึก ความรับรู้ ความคาดหวัง ความปรารถนาที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ฯลฯ อันผุดเกิดขึ้นภายใน
- หาโอกาสไดอะล็อกด้วยความรู้สึกที่แท้จริงกับเพื่อนที่ทำเช่นนั้นด้วยได้ อาจช่วยให้ตกผลึกไวขึ้น
- ในบางกรณีสามารถลองเปลี่ยนมุมมองว่า การที่คนอื่นพูดจากระทบเรา เช่น วิจารณ์ สั่งสอน ลดทอนค่า (ซึ่งบางกรณีอาจเป็นเพียงการตีความของเราเอง) มันทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น และมันคือการที่เขาเห็นว่าเราปลอดภัยที่จะพูดสิ่งนั้นด้วย หรือเขาเห็นว่าเราโตพอจะรับมือกับความจริงของเขาได้และเห็นว่าเรามีศักยภาพในการเติบโต จากที่ใช้ได้อยู่แล้วก็สามารถจะยอดเยี่ยมขึ้นไปกว่านั้นได้อีก
เราทุกคนมีโอกาสวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อมีสารบางอย่างมากระแทก มันก็ทำให้เราได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราสมาทานว่าเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเอง และเปิดพื้นที่ให้เราเคลื่อนย้ายภาวะหลักของตัวเองสู่ความกว้างใหญ่ขึ้นได้
หรืออย่างน้อยก็ขับเน้นวิถีของเราให้ชัดเจนมากขึ้นว่า เราไม่ต้องการอะไรในชั่วขณะนั้นๆ